วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ (ปกติ) ลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม กับลายพระหัตถ์ (พิเศษ) ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ได้รับประทานแล้ว

ดีใจที่ไม่ลงพระทัยเชื่อตำนานการสร้างตุกตาศิลาซาย ๔ คู่ เกล้ากระหม่อมได้ทราบตำนานแต่เล็กมาแล้ว และก็ไม่เชื่อมาแต่เล็กเหมือนกัน เพราะเหตุที่เกล้ากระหม่อมรักศึกษาการช่างแต่เล็กมา รู้เสียแล้วว่ากระบวรช่างทางไทยกับทางลาวนั้นผิดกัน ตุกตา ๔ คู่นั้นจะหาว่ามีกระบวรช่างทางลาวติดแกมอยู่ แม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มีเลยจึงไม่เชื่อ ต่อไปนี้จะกราบทูลความเห็นขณะนี้เมื่อแก่แล้ว ตุกตา ๔ คู่นั้นสำคัญมิใช่น้อย นับตั้งแต่คิดว่าจะทำรูปอะไรลงมาทีเดียว ย่อมประกอบด้วยปัญญาอย่างฉลาดที่สุด ที่กะให้ทั้ง ๔ คู่ดูรูปร่างแปลกตาต่าง ๆ กัน และเลือกเอาจำเพาะแต่ที่ผู้ดูจะรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีใครบอกว่าเปนรูปอะไร เช่นว่าถ้าทำรูปพระไชยเชฐกับนางสุวินชาแล้วจะเปนปัญหาที่โจษกันไม่รู้จบว่านี่รูปอะไร ข้อนี้เห็นว่าเกินปัญญาที่เจ้าลาวจะคิดได้และเกินปัญญาใครหมดในยุคนั้นเท่าที่รู้ เห็นว่าจะเปนความคิดของคนอื่นไม่ได้ นอกจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถัดลงมาอีกข้อหนึ่ง เจ้าลาวคิดทำถวายเองแล้วจะไปเอาหินที่ไหนมา ก้อนใหญ่มิใช่น้อย ต้องเปนผู้มีอำนาจที่จะสั่งให้หัวบ้านหัวเมืองเลือกหาศิลาขนส่งเข้ามาจะต้องเปนพระบรมราชโองการเท่านั้นจึงจะสำเร็จผล ประการที่สุดรูปนั้นก็มิใช่สักแต่ว่าเปนรูปเท่านั้น มีท่วงทีเปนกระบวรช่างไทยอย่างงามที่สุดในยุครัชชกาลที่ ๓ ซึ่งถึงเปนครูได้ด้วย ไม่ใช่คนฝีมือต่ำ ๆ จะทำได้ เกล้ากระหม่อมสังเกตเห็นท่วงทีคล้ายรูปภาพฝีมืออาจารย์ใจ ซึ่งเปนหลวงพรหมพิจิตรเข้าไปมาก อาจารย์ใจผู้นี้เปนช่างเขียน คือผู้ที่เขียนหนังพระนครไหวซึ่งร่ำลือกันมากนัก และรูปภาพจำหลักศิลาเรื่องรามเกียรติ์ที่พะนักรอบพระอุโบสถวัดพระเชตุพนนั้น อาจารย์ใจผู้นี้ก็เปนนายด้านกำกับการทำ เข้าใจว่าตัวอาจารย์ใจเปนผู้เขียนให้ช่างฉลัก แต่งานที่ว่านี้ เปนงานครึ่งเขียนครึ่งฉลัก อาจารย์ใจจึงเข้าดูแลกำกับการได้ถนัด ส่วนการทำรูปภาพ ๔ คู่นั้นเปนงานช่างหุ่นซึ่งอยู่นอกทางของช่างเขียน แต่ก่อนจะทำก็คงต้องอาศัยช่างเขียนเขียนรูปขึ้นถวายตัวก่อน ว่าอย่างนี้จะโปรดหรือยัง ถ้าโปรดแล้วรูปเขียนนั้นก็จะต้องไปเปนอย่างให้ช่างหุ่นทำ คนเขียนก็จะต้องไปดูกำกับช่างหุ่นคอยร้อง “อ้าว” บ้าง “เออ” บ้างไปวันยังค่ำ เพื่อให้ทำถูกตามความคิดที่ตนเขียนอย่างขึ้น เห็นว่าจะพ้นจากอาจารย์ใจไปไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น อันวิชาช่างเขียนนั้นอยู่เหนือวิชาช่างทั้งปวง ถ้าเขียนเปนแล้วก็สามารถที่จะเอื้อมไปทำการปั้นแกะฉลักได้บ้าง เว้นแต่งุ่มง่ามทำได้ไม่คล่องแคล่วเหมือนช่างที่หัดชำนาญมาในทางปั้นแกะฉลักจริง ๆ แต่ถ้าช่างเขียนผู้นั้นฉลาดกว่าช่างปั้นแกะฉลักจริง ๆ แล้ว ผลที่ทำได้ในที่สุดย่อมดีกว่าช่างปั้นแกะฉลักจะทำเสียอีก ถ้าหากว่ารูปภาพ ๔ คู่นั้นอาจารย์ใจเปนผู้เขียนอย่างแล้ว อาจารย์ใจคงมีมือเอื้อมเข้าไปฉลักด้วยบ้าง อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Finishing touch เจ้าลาวเห็นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับรูป ๔ คู่นี้ไม่ได้เลย แต่ก็อาจไม่ใช่ไม่มีมูลเสียเลย อาจเปนเจ้าลาวรู้ว่าต้องพระราชประสงค์รูปฉลักศิลาโปรดให้ทำขึ้น ตัวเองทำเปนอยู่บ้าง จึงฉลักแมงกะชอนอะไรตัวเล็ก ๆ ขึ้นถวายตัวหนึ่ง ทรงพระกรุณาเห็นน้ำใจสามิภักดิและก็ติดโทษมานานแล้ว จึงโปรดปล่อย รูปที่เจ้าลาวฉลักนั้นอาจเปนตัวอะไรตัวหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตามเขามอ อันเคยสังเกตเห็นอยู่ว่าไม่ใช่ตุกตาจีนก็มี หากเปนคราวเดียวกันกับทำรูปภาพ ๔ คู่นั้น ผู้เล่าประวัติหลงเอามาปนกันเข้าก็เปนได้

รูปพระโพธิสัตวในพิพิธภัณฑสถานซึ่งตรัสอ้างถึงนั้น รู้จักจำได้ดี ที่ขนเอาไปหมกไว้ในถ้ำในป่านั้นเห็นจะแปลว่าเมื่อจัดตกแต่งเมืองลพบุรีคราวใดคราวหนึ่งปรารถนาจะกำจัดศาสนาพราหมณ์ให้สูญสิ้นเสีย จึงขนเอาเทวรูปออกไปเสียจากเมือง รวมทั้งพระพุทธรูปที่ชำรุดด้วย พระโพธิสัตวนั้นเขาเข้าใจว่าเปนเทวรูปทางศาสนาพราหมณ์ จึงขนไปทิ้งเสียด้วย ก็ยังดีดอกที่ไม่ได้ทุบทำลายเสีย การแปลงพุทธสถานเปนพราหมณสถานและแปลงพราหมณสถานเปนพุทธสถานนั้น เปนการที่ทำกันอยู่เสมอในนครธม ตามคราวที่ความนับถือเวลานั้นหนักไปทางศาสนาไหน

ตำราราชาภิเษกครั้งกรมขุนพรพินิตนั้น เปนคำให้การข้าราชการที่เห็นการครั้งกรุงเก่า เขียนถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ถูกตามที่ทรงจำได้เช่นนั้นแล้ว เหตุที่เกล้ากระหม่อมดูหนังสือนั้น เพราะพระยาเทวาเขาพูดถึงพระเต้าเบญจครรภ ในคำพูดอ้างว่ามีมาแล้วแต่ครั้งกรุงเก่า เกล้ากระหม่อมก็อยากรู้ขึ้นมา ว่าพระเต้าเบญจครรภครั้งกรุงเก่าทำด้วยอะไร รูปร่างเปนอย่างไร ถามเขาว่าเขาเห็นที่ไหน กล่าวไว้ว่ากะไร เขาจึงส่งคำให้การราชาภิเษกครั้งกรมขุนพรพินิตมาให้ดู ซึ่งเปนหนังสือที่เคยอ่านแล้ว ไม่ตั้งใจจะดูแบบราชาภิเษกครั้งนั้นมิได้ แม้พระเต้าเบญจครรภที่อยากรู้ก็ไม่ได้ความอะไร นอกจากว่า “ตั้งพระเต้าเบญจครรภมียันต์รอง ๕ แผ่น” เท่านั้น ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดแนะนำให้ดูพระราชพงศาวดารรัชชกาลที่ ๒ ในเรื่องราชาภิเษกซึ่งได้ทรงเรียบเรียงไว้นั้น พระเดชพระคุณเปนล้นเกล้า กำลังตรวจดูตามพระดำรัสที่ตรัสแนะนำไปนั้นอยู่แล้ว

เรื่องพระแสงอัษฎาวุธก็เปนสิ่งที่เกล้ากระหม่อมสงสัยมานานแล้ว จดหมายซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๑ โปรดให้ไปถามสมเด็จพระสังฆราชนั้นก็เคยเห็นแต่ไม่เชื่อแน่ลงไปได้ว่าจะผิดถูกประการใด เพราะเห็นเปนของใหม่ปนของเก่าอย่างที่ฝ่าพระบาทตรัสทัก คิดว่าหลักเดิมจะมาแต่ตำราอินเดีย จึงได้ค้นตำราทางอินเดียต่างๆ ก็หาพบไม่ ในตำราพิชัยสงครามฮินดูซึ่งอาจารย์เยรินีแต่งไว้ มีแบ่งอาวุธไว้เปน ๓ ประเภท คือ อาวุธยิงซัด เช่นธนูและจักรเปนต้น สำหรับกับพลรถ อาวุธยาว เช่นทวนและหอกเปนต้น สำหรับกับพลช้างม้า อาวุธสั้น มีดาบตะบองเปนต้น สำหรับกับพลเดินท้าว ไม่เข้ารูปพระแสงอัษฎาวุธ พระแสงอัษฎาวุธนั้นดูบุบสลายอยู่มาก เช่นพระแสงธนูกับพระแสงปืนนั้นก็ซ้ำกัน ไม่เปนท่าว่าเอาของใหม่เปลี่ยนใช้แทนของเก่า

เปนพระเดชพระคุณมาก ที่ตรัสแนะนำให้พิจารณาศัพท์ เชลย เพื่อแปลชื่อดาบเชลยในดิกชันรีเขมร แปลคำ เชลย ว่า หาได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง แล้วแจกคำประกอบไว้ให้ดูดังนี้ ออก-เชลย แปลไว้ว่า นักโทษที่ตีได้ในการสงคราม รบอส-เชลย แปลไว้ว่า ของที่ตีได้ในการสงคราม จบับ-เชลย แปลไว้ว่า วิธีตีเอาอย่างหนึ่ง (จบับ ก็คือ ฉบับ เข้าใจว่าตำราพิชัยสงคราม) ในภาษาเขมรซึ่งฝรั่งเขาแปลไว้ตามความเข้าใจของเขา เปนอันว่าคำเชลยหมายถึงการศึกทั้งนั้น แต่ในภาษาไทยดูจะเลื่อนเปนอื่นไปได้ ดูในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ ชะเลย แปลว่าข้าศึกที่จับมาได้ หรือว่า ชะล่า และเลินเล่อ แล้วแจกคำประกอบให้ไว้ดังนี้ ชะเลย-ใจ ชะล่าใจ เลินเล่อ ชะเลย-ศักดิ์ อยู่นอกทำเนียบ ทีนี้จะกราบทูลโดยอัตตโนมัติ เมื่อนึกถึงคำที่เคยใช้ ได้เชลยศึก เชลยทาส สองคำนี้หมายถึงคนที่ได้มาแต่การทำศึก เชลยศักดิ คำนี้เปนอย่างอื่นไป ใช้คู่กับคำหลวง เช่น หมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ ปี่พาทย์หลวง ปี่พาทย์เชลยศักดิ์ ดังนี้เปนต้น คำเชลย จะแปลว่าชาวเมืองได้หรือไม่ หมอเชลยศักดิ เปนหมอชาวเมืองที่สามารถ ปี่พาทย์เชลยศักดิ เปนปี่พาทย์ชาวเมืองที่สามารถ เชลยศึก เปนชาวเมืองที่กวาดต้อนมาได้จากการไปทำศึก เชลยทาสเปนชาวเมืองที่ตีได้จากการทำศึกเอามาเปนทาส ถ้าคำแปลเช่นนี้ถูกดาบเชลยก็เข้าได้เปนดาบอย่างสามัญที่ชาวเมืองใช้กันอยู่ทั่วไป พระแสงดาบเชลยนั้นก็ไม่วิจิตรอย่างพระแสงดาบค่ายใจเพชร เปนดาบสามัญฝักหุ้มตาดเท่านั้นและทั้งนี้ก็สมกับที่ตรัสทักว่าริ้วกระบวนแห่ก็มีพลถือดาบเชลยด้วย แต่แนวความคิดนี้เข้าคำเชลยใจไม่ถนัด แต่คำนั้นก็เห็นมีใช้แต่ในคำพูด ไม่ได้เข้าสู่หนังสือทางการงาน เกรงจะเปนคำแสลงพูดผิด ๆ

ชิ้นชามแตกที่ได้มาจากเมืองไชยา เกล้ากระหม่อมได้ส่งไปให้พระยานครพระรามตรวจดูสองชิ้นเหมือนกัน แกมาบอกยืนยันว่าเปนชามทำที่เมืองจีนตรงกับพระดำริฝ่าพระบาท แกบอกว่าแกต้องเรียนเรื่องชามเพราะอยู่พิษณุโลกมีฝรั่งเขาขึ้นไปสืบเสาะเรื่องชามสังคโลกอยู่ไม่ขาด เขามาพูดด้วยก็ตอบอะไรเขาไม่ได้ ดูเปนเบื้อขายหน้าเต็มทนจึงต้องเรียน

พระไชยาภิวัตรไปเล่นตลกถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงออกจะสนุก ท่านคงใช้แต่เสียงเปนชาวนอก ส่วนคำคงใช้คำบางกอก ถ้าใช้คำชาวนอก เช่น ยะ เช่น แค่ ด้วยแล้วเห็นจะหงายท้อง ฟังเข้าใจได้ยากเต็มที เกล้ากระหม่อมมาได้คำชาวนอกที่เปนแก่นสารคำหนึ่ง จะได้กราบทูลหรือเปล่าจำไม่ได้ นานมาแล้ว เขาเอาเพลงพื้นเมืองมาเล่นให้ฟัง จะเปนที่ไหนก็ลืมไปเสียแล้ว เปนที่พักแรมทางป่าๆ ในคำเพลงที่โต้กันนั้น มีคำชายว่าพี่จะให้แหวนฮั่ง ติดศัพท์ต้องถามเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ว่าแหวนฮั่งนั้นเปนอะไร ท่านบอกว่าแหวนงั่ง คือแหวนทองแดง เปนอันพอใจอย่างยิ่ง ที่รู้คำงั่งซึ่งเคยเข้าใจว่าหมายถึงเทวรูปนั้นหาถูกไม่ แปลว่าเปนทองแดงเท่านั้น คำแหวนฮั่งนั้นก็ตรงกับคำที่เด็กเราร้องจันทร์เจ้า ว่าขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า เปนคำเก่ามาก แล้วก็ออกเคืองตัวเองว่าแหวนฮั่งนั้นควรจะรู้ว่าแหวนงั่งเพราะเคยได้ยินพระยาแจกเรียกเงินว่าเฮิน

วันที่ ๒๘ จะมีเจ้านายเสด็จออกมาปีนังหลายองค์ คือทูลกระหม่อมหญิงกรมขุนชัยนาท เสด็จจะไปยุโรป จะลงเรือที่เบลาวัน พระองค์อรพินท์กับพระองค์ประภาพรรณมาส่งเสด็จทูลกระหม่อม แล้วเที่ยวประพาสในปีนังต่อไปมีกำหนดหมดด้วยกัน ๗ วัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ