วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ กับสำเนาจดหมายที่โปรดให้คัดประทานมา ๒ ฉะบับนั้นแล้ว มีเรื่องเมืองพะม่าหมวดเบ็ดเตล็ดที่หม่อมฉันนึกได้อีกบางเรื่อง จะทูลในจดหมายฉะบับนี้ คือ

๑. เรื่องวิธีปลงศพของพะม่า ซึ่งเราได้เคยสงสัยกันว่าเหตุใดจึงเผาบ้างฝังบ้าง เอาอะไรเปนเกณฑ์นั้น เมื่อหม่อมฉันพักอยู่เมืองร่างกุ้ง เจ้าฉายเมืองกับเจ้าขุนศึกลูกเจ้าฟ้าเชียงตุง เขาเห็นหม่อมฉันชอบค้นเรื่องโบราณคดี เขาไปพาอาจารย์พะม่าคนหนึ่งชื่ออูโปกยา U Po Kaya ซึ่งนับถือว่าเปนผู้มีความรู้มาให้หม่อมฉันซักไซ้ไต่ถามหลายครั้ง ดูแกมีความรู้ขนบธรรมเนียมพะม่ามากอยู่ เรื่องวิธีปลงศพ แกบอกอธิบายว่าการปลงศพพะม่านั้นย่อมฝังเปนประเพณีในบุคคลสามัญ เว้นแต่ศพพระกับเจ้า ศพพระยังเผากันอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนศพเจ้า คือพระศพพระเจ้าแผ่นดินเปนอาทิ แต่โบราณทีเดียวถวายเพลิงแล้วลอยพระธาตุลงน้ำหมด แล้วก่อพระเจดีย์เปนอนุสสรณ์ไว้ตรงที่ถวายเพลิงพระศพ ต่อมาแก้ประเพณีเดิมเปนเอาพระธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้าง พระเจ้ามินดงตรัสสั่งสำหรับพระศพพระองค์เอง ว่าให้เอาพระศพบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทีเดียวไม่ต้องถวายเพลิงก่อน เปนทำนองจะมิให้ต้องลำบากและสิ้นเปลืองเหมือนพระบรมศพแต่หนหลัง ถือว่าการบรรจุนั้นมิใช่ฝังไม่เสียธรรมเนียมเดิม เขาบอกอธิบายดังนี้

๒. ครั้งหม่อมฉันแต่งหนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพะม่าเคยทราบว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จไปล้อมเมืองตองอูเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๒ ได้ให้ขุดคลองไขน้ำในคูเมืองตองอูให้ไหลลงแม่น้ำสะโตง เพื่อจะให้ขาดน้ำที่ในเมือง และคลองนั้นยังปรากฏอยู่พะม่าเรียกว่า “คลองอโยธยา” เมื่อก่อนหม่อมฉันจะไปเมืองพะม่าคราวนี้ ทราบว่าพระไพรสณฑ์สารารักษ์ (อองเทียน) กรมป่าไม้ ซึ่งออกจากราชการนานแล้วไปอยู่เมืองตองอู จึงมีจดหมายไปถามว่าคลองอโยธยานั้นยังอยู่หรืออย่างไร พระไพรสณฑ์ฯ ตอบมาว่าคลองอโยธยานั้นแต่เดิมมีจริง ยังมีคนชั้นอายุ ๗๐ ปีได้เคยเห็นเมื่อเปนร่องรอยอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ดินพูนตื้นเต็มสูญไปเสียแล้ว เมื่อหม่อมฉันได้ทราบเช่นนั้นก็ระงับความคิดที่จะไปเมืองตองอู ครั้นเมื่อไปถึงเมืองร่างกุ้งจึงไปได้ความว่ามีพระเจดีย์พะม่าเรียกว่า “พระเจดีย์อโยธยา” อยู่ทั้งที่เมืองหงสาวดีและที่เมืองตองอู แต่ที่เมืองหงสาวดีสืบไม่ได้ความว่าอยู่ตรงไหน ได้ทราบอธิบายจากอาจารย์คนที่ทูลมาแต่เรื่องพระเจดีย์ที่เมืองตองอูว่ามีอยู่ ๒ องค์ ชาวเมืองเรียกกันในภาษาพะม่าว่า Myat (มัย) Saw (เจ้า) Nyin (น้อง) Aung (พี่) ดูตรงกับว่า “พระเจดีย์เจ้าพี่น้อง” แต่เลยเล่าเรื่องตำนานไถลไปว่าสร้างมาได้สัก ๒๐๐๐ ปีแล้ว หม่อมฉันออกจะเชื่อว่าเปนพระเจดีย์ของสมเด็จพระนเรศวรฯ เพราะหม่อมฉันเคยเห็นพระเจดีย์พี่น้องเช่นว่า คือพระสถูป ๒ องค์อยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน มีอยู่ที่เขาแก้วบ้านระแหงแขวงเมืองตาก ที่นั่นมีพระเจดีย์และวัดที่พระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณสร้างไว้เปนอนุสสรณ์สงครามหลายองค์ สมเด็จพระนเรศวรฯคงสร้างตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ที่มาสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองไว้ ณ ที่พระนครศรีอยุธยา ได้สั่งเขาไว้ให้ถ่ายรูปฉายาลักษณ์มาให้ แต่จะได้หรือมิได้ไม่แน่ใจ

๓. เรื่องพระมุเตาที่เมืองหงสาวดีพังนั้น เมื่อหม่อมฉันกลับจากเมืองหงสาวดีแล้ว วันรุ่งขึ้นอาจารย์ใหญ่ของมหาวิทยาลัยเขาเชิญไปเลี้ยงน้ำชา และเชิญพวกครูบาอาจารย์กับพวกเจ้าไทยใหญ่ที่เปนนักเรียน ให้มาพบกับหม่อมฉันหลายคน เวลานั่งกินน้ำชา เขาถามถึงเรื่องหม่อมฉันไปเที่ยวเมืองหงสาวดี เลยพูดกันต่อไปถึงเรื่องพระมุเตาพัง เขาบอกว่าพวกสัปรุษกำลังคิดจะสร้างพระมุเตาขึ้นใหม่ หม่อมฉันปรารภว่าการที่จะสร้างนั้นดูลำบากอยู่ เพราะถ้าสร้างเสริมของเดิมที่พังขึ้นไปก็น่าจะไม่อยู่ได้ ถ้าจะรื้อของเดิมที่ยังเหลืออยู่เสียก่อนแล้วจึงสร้างขึ้นใหม่ ก็น่าที่พวกพะม่ามอญจะไม่กล้าทำด้วยกลัวบาป ครูในมหาวิทยาลัยคนหนึ่งจึงบอกแก่หม่อมฉันว่าเขาคิดแบบที่จะสร้างเสร็จแล้ว พี่หรือน้องชาย Brother ของตัวเขาเปนผู้คิดแบบ ว่าจะไม่รื้อหรือก่อเสริมของเดิมทั้ง ๒ สถาน จะปักเขื่อนเสาเหล็กเปนกรอบฐานพระเจดีย์เดิม แล้วก่อพระเจดีย์องค์ใหม่ด้วยคอนกรีตครอบของเดิม (เหมือนอย่างฝาชี) ไม่ให้น้ำหนักลงที่รากเดิม แต่จะเปนเงินหลายแสน พวกพะม่ามอญยังกำลังเรี่ยรายกันอยู่

๔. พระเจดีย์สุเล กลางเมืองร่างกุ้งที่ท่านโปรดนั้น หม่อมฉันมีความเสียใจที่ต้องทูลว่าเดี๋ยวนี้ดูไม่เปนสง่าเหมือนอย่างแต่ก่อนเสียแล้ว เพราะปลูกกุฏิวิหารบนชั้นทักษิณบังเสียเกือบรอบๆ ฐานทักษิณ ที่ริมถนนก็ปลูกร้านให้คนเช่าขายของ (ทำนองเดียวกับร้านวัดสามปลื้ม) แต่ที่เมืองพะม่าเดี๋ยวนี้มีแปลกอย่างหนึ่งที่พวกพะม่าชอบเอาไฟฟ้าประดับพระเจดีย์ตั้งแต่ยอดลงมาจนถึงฐาน กลางคืนจุดไฟเหมือนกับแต่งเฉลิมพระชันสาเสมอทุกคืน การแต่งไฟฟ้าประดับพระเจดีย์ ดูพะม่าชอบทำกันทุกหนทุกแห่งไม่ทำแต่ในเมืองใหญ่เท่านั้น ที่ไหนๆ ถ้าพอจะทำได้ก็เปนแต่งไฟฟ้าทั้งนั้น หม่อมฉันไปพักอยู่เมืองพุกาม ที่เรือนรับแขกของรัฐบาลไม่มีไฟฟ้า เขาจ่ายโคมเจ้าพายุห์มาให้ก็นึกว่าเปนเมืองบ้านนอกยังไม่มีไฟฟ้า ครั้นค่ำลงเห็นพระเจดีย์มีไฟฟ้าแต่งอร่ามตลอดยอดถึง ๒ องค์ก็ปลาดใจ ภายหลังจึงทราบว่าที่วัดทั้ง ๒ แห่งนั้นมีเครื่องไฟฟ้าเล็ก ๆ ที่ในวัดสำหรับแต่งองค์พระเจดีย์ ไม่ได้ใช้ต่อไปถึงบ้านเรือนราษฎร เมื่อกลับมาถึงเมืองร่างกุ้ง วันหนึ่งหม่อมฉันผ่านพระเจดีย์สุเลไปเวลาพลบค่ำ เห็นไอเสียเครื่องยนต์ขึ้นปล่องอยู่บนฐานทักษิณ จึงทราบว่ามีเครื่องไฟฟ้าของพระเจดีย์เหมือนกัน เปนการศรัทธาอย่างแปลกปลาดดังนี้

๕. เมื่อหม่อมฉันมาพักอยู่เมืองร่างกุ้ง ได้ทราบจากพวกรัฐบาลว่าราชทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ บอกไป ว่าจะมีพระเถระที่ศักดิ์สูงไปเที่ยวเมืองพะม่าองค์ ๑ หม่อมฉันให้เขาจดชื่อมาให้จึงได้ทราบว่าสมเด็จพระวชิรญาณวงศ หม่อมฉันก็ยินดีนึกว่าถ้าไปถึงทันพบกันหม่อมฉันจะยุให้ไปถึงอินเดีย เพราะไปดูเพียงเมืองพะม่าและเมืองลังกาจะไม่เปนประโยชน์เท่าใดนัก แต่หม่อมฉันออกจากเมืองพะม่ามาเสียก่อนสมเด็จพระวชิรญาณวงศไปถึง ครั้นมาถึงเมืองปีนังจึงทราบว่าสมเด็จพระวชิรญาณวงศออกมากับพระรัชชมงคลวัดสัมพันธวงศ และพระสาธุศีลสังวรวัดบวรนิเวศนฯ มาบ่นเหมือนกันว่าเสียดายที่แคล้วกับหม่อมฉัน ได้ยินว่าลงเรือไปอินเดียหม่อมฉันก็ยินดีด้วย นัยว่าจะไปถึง ๓ เดือน ขากลับบางทีจะได้พบกัน

๖. หม่อมฉันได้ส่งรูปฉายาลักษณ์มาถวายพร้อมกับจดหมายฉบับนี้อีก ๕ รูป คือ

๑. รูปหมู่ถ่ายที่ในวังหน้ามหาปราสาทเมืองมัณฑเล หญิงพิลัยเปนผู้ถ่าย จึงไม่มีรูปอยู่ในหมู่

๒. รูปพระมุเตา เมื่อยังดี

๓. รูปพระมุเตา ที่พัง

๔. รูปวัดอานันทเจดีย์ ณ เมืองพุกาม

๕. รูปพระเจดีย์สุเล ที่เมืองร่างกุ้ง

๗. เมื่อเวลาเช้า ๙.๓๐ นาฬิกาวันที่ ๒๗ นี้ กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ พาพระองค์หญิงเหมวดี เสด็จมาด้วยเครื่องบินจะเข้าไปกรุงเทพฯ หม่อมฉันทราบว่ากรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ให้เช่าวังดอกไม้เสียแล้ว ทูลถามเธอว่าจะไปพักอยู่ที่ไหน เธอตรัสว่าเห็นจะไปอยู่โฮเตล หม่อมฉันนึกสงสารจึงทูลชวนให้ไปพักที่วังวรดิศ เธอตรัศรับ จึงรีบมีโทรเลขบอกหญิงจงไปจากที่สนามบิน นัยว่ากรมพระกำแพงเพ็ชรจะเสด็จเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ เพียงสองสามวันแล้วจะกลับสิงคโปร์.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ