เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ต่อในตอนที่ ๒

เมื่อจะขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุ พอถึงเชิงบรรไดทางขึ้นก็เกิดเสียดายอีกอย่างหนึ่ง ด้วยแต่ก่อนเคยมีเวลาสำหรับสัปรุษอาศัย เปนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างถวายพระเกศธาตุหลังหนึ่งอยู่ริมถนนตรงข้ามกับเชิงบรรได ศาลานั้นมีถวายจำหลักรูปพระมหามงกุฎที่หน้าบรรพ์เปนสำคัญ ฉันยังมีรูปฉายาลักษณ์ที่ถ่ายไว้เมื่อไปครั้งก่อน แต่เดี๋ยวนี้ศาลาหลังที่ว่าสูญไปเสียแล้ว กลายเปนศาลาอื่นซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ให้ถามพวกพะม่าที่อยู่แถวนั้นถึงศาลาตรามงกุฎก็ไม่มีใครรู้คงเปนเพราะล่วงเวลาช้านานศาลาเดิมผุพังและหมดตัวคนรู้เรื่องเดิมเขาจึงรื้อทิ้งเสียเอาที่ทำศาลาใหม่ จะโทษเขาก็ไม่ควร พระเกศธาตุอยู่บนยอดเนินสูงทำทางขึ้นเป็นคั่นบรรไดทั้ง ๔ ทิศ มหาชนมักขึ้นทางทิศใต้เปนปกติ ที่ปากทางมีศาลาหลังคาเปนปราสาทสามยอดแทนประตู และมีรูปสิงห์แบบพะม่าตัวใหญ่โตก่อด้วยอิฐถือปูนอยู่ริมศาลาข้างละตัว พระเจดีย์ที่สำคัญในเมืองพะม่า มักมีรูปสิงห์ตัวใหญ่อยู่สองข้างปากทางเข้าบริเวณทุกแห่ง การที่ทำรูปสิงห์ตั้งประจำปากทางดูปลาดที่ทำกันทั้งจีน เขมร และชะวา ไม่แต่พะม่าเท่านั้น สิงห์ก็คือราชสีห์นั้นเอง ในเมืองไทยเราแต่โบราณก็ชอบทำรูปสิงห์ตั้งปากทาง แต่มักทำรูปสิงห์แบบเขมรหรือมิฉะนั้นก็เอาสิงห์โตหินของจีนมาตั้ง เห็นทำรูปหล่อเปนสิงห์ไทยแห่งเดียวแต่ที่วัดพระเชตุพนฯ เปนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น น่าจะเปนเพราะทรงพระราชปรารภว่ารูปสิงห์แบบไทยยังไม่มีใครทำมาแต่ก่อน จึงทรงสร้างขึ้นก็เปนได้ มูลเหตุที่ทำรูปราชสีห์ตั้งปากทางน่าจะได้คติมาแต่ครูเดียวกันทั้งนั้น แต่เดิมเห็นจะทำให้เป็นรูปศักดิ์สิทธิ์สำหรับรักษาสถาน มิให้คนอันธพาลเข้าไปประพฤติร้ายในบริเวณที่นั้นเปนเค้ามูล ทางขึ้นพระเกศธาตุเมื่อผ่านศาลาสามยอดเข้าไปแล้ว ยังมีสาลายอดปราสาทปลูกครอบบรรไดทางขึ้นเปนหลังๆ ติดต่อกันขึ้นไป คนขึ้นเดินในร่มหลังคาตลอดจนถึงลานพระเกศธาตุ สองข้างทางมีร้านขายดอกไม้ธูปเทียนกับฉัตรธงและทานตะวันทำด้วยกระดาด สำหรับเปนเครื่องสักการบูชา มีทั้งร้านขายของเล่นและของสิ่งอื่นๆ แม้จนของกิน ตั้งรายเรียงกันขึ้นไปตลอดทาง หญิงสาวเปนคนขายแทบทั้งนั้น เสียงร้องเรียกให้ซื้อเพรียกไปจนออกรำคาญหู นอกจากนั้นที่สองข้างทางยังมีพวกคนขอทานนั่งรายเปนระยะ มีทั้งเด็กๆ เที่ยวแซกแซงขอทานบ้าง เที่ยวยื่นของขายคนที่เดินขึ้นไปบ้าง สุนัขก็พลุกพล่านประกอบกับทางเดินโสโครกจนออกสอิดสะเอียนเพราะต้องเดินตีนเปล่า พบฝรั่งพวกนักท่องเที่ยวที่เคยเปนเพื่อนโดยสารเรือลำเดียวกันขึ้นไปทั้งผัวเมียคู่หนึ่ง ผัวเดินตีนเปล่าเมื่อเห็นเราทำหน้านิ่ว แต่เมียนั้นเอาขี้ผึ้งปลาสเตอร์ที่สำหรับปิดแผลตัดปิดฝ่าตีนและนิ้วตีนทั้งสองข้าง ดูน่าทุเรศ แต่เมื่อสังเกตดูพวกพะม่าก็กลับเห็นขัน ด้วยถือเกือกคีบหิ้วขึ้นไปแทบทุกคนทั้งพระและคฤหัสฐ์ เพราะเมื่อเดินตามถนนใส่เกือก ไปถึงเชิงบรรไดต้องถอด ไม่มีที่ฝากเกือกไว้ที่ไหนก็ต้องถือขึ้นไปด้วย กลายเปนเหมือนมีข้อบังคับให้สัปรุษต้องถือเกือกขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุจึงดูขันอยู่ ส่วนพวกเรานั้น ตัวฉันแต่งตัวนุ่งผ้าม่วงแดงใส่เสื้อขาวปิดคอเหมือนอย่างเข้าเฝ้ารับน้ำสังปีใหม่ ไม่ใส่เกือกถุงตีน เจ้าหญิงก็แต่งตัวทำนองเดียวกัน เวลาเมื่อเดินขึ้นไปมีผู้หญิงพะม่าชาวร้านคนหนึ่ง เข้ามากระซิบถามเจ้าหญิงว่าเปน “โยเดีย” (คือชาวอโยธยา) หรือ คงเปนเพราะเห็นตัวฉันกับนายชิด นุ่งผ้าโจงกระเบนผิดกับพวกอื่น เมื่อได้ฟังถามก็เลยได้เค้าว่าพะม่าเรียกไทยเราว่าโยเดีย มิได้เรียกว่า “เสียม” เหมือนอย่างจีนหรือเขมรและแขก ความรู้ข้อนี้สำคัญสำหรับไทยที่ไปเมืองพะม่า เพราะอะไรๆ ที่เปนของไทยเราพะม่าเรียกว่าของโยเดียทั้งนั้น จะยกตัวอย่างดังเมื่อฉันสืบถามถึงละคอนที่เล่นอย่างไทย แต่แรกถามเขา (ในภาษาอังกฤษ) ว่าพะม่าที่ชำนาญการขับร้องเพลงและฟ้อนรำอย่าง “สยามีส” ยังมีหรือไม่ เขาตอบเฉไฉไม่ได้ความ พอฉันรู้เค้าลองถามใหม่ ว่าคนรู้เพลงดนตรีและฟ้อนรำอย่างโยเดีย ยังมีหรือไม่ เขาตอบทันทีว่าเพลงดนตรีและกระบวรฟ้อนรำอย่างโยเดียนั้น พะม่านับถือมาก และได้ความต่อไปว่าของอย่างอื่นเช่นลายจำหลักเปนต้น พะม่าเรียกว่า “แบบโยเดีย” มีอีกหลายอย่าง ยอดเนินที่สร้างพระเกศธาตุสูงกว่าพื้นถนนถึง ๒๗ วาครึ่ง (๑๖๖ ฟุต) ต้องเดินขึ้นบรรไดหลายร้อยคั่นจนรู้สึกเหนื่อย หรือจะเปนเพราะฉันแก่ชะราอ่อนแอลงก็เปนได้ ต้องหยุดยืนพักที่กลางทางครั้งหนึ่งจึงขึ้นไปถึงลานพระเกศธาตุ

จะเล่าเรื่องตำนานพระเกศธาตุแซกลงตรงนี้ ให้ทราบพอเปนเค้าเสียก่อน พระมหาเจดีย์องค์นี้พะม่าเรียกว่า “ชเวดากอง” Shwe Dagon แปลว่า “(พระเจดีย์) ทองเมืองตะเกีง” พิเคราะห์ดูเปนคำชาวต่างประเทศเรียก เห็นจะเรียกมาแต่สมัยเมื่อเมืองพะม่ามอญยังแยกกันเปนสองประเทศ มอญเปนเจ้าของถิ่นเดิมเรียกว่า...................แปลว่า................... แต่ไทยเราเรียกว่า “พระเกศธาตุ” เปนคำภาษามคธ บางทีจะเปนชื่อเดิมที่เรียกตามราชาศัพท์ เพราะตรงกับเรื่องตำนานที่อ้างเนื่องไปถึงพระพุทธประวัติ (อันปรากฏอยู่ในหนังสือปฐมสมโพธิ ตอนอภิสัมโพธิสัพพัญญูปริวัตร) เปนเค้ามูล ว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ขณะเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นเกศ มีพ่อค้าพี่น้องสองคนชื่อตปุสสะคน ๑ ผลิกะคน ๑ มีความเลื่อมใสถวายเข้าสัตตูให้เสวย แล้วถวายตัวเปนปฐมอุบาสกในพระพุทธสาสนา ครั้นเมื่อจะจากไป กราบทูลขอให้พระพุทธองค์ประทานสิ่งอันใดไปเปนอนุสสรณ์ สำหรับบูชาพระพุทธคุณสักสิ่งหนึ่ง พระมหากรุณาเจ้าจึงเสยพระเศียรได้พระเกศา ๘ เส้น ประทานอุบาสกทั้งสองตามปราร์ถนา เรื่องในหนังสือปฐมสมโพธิมีเพียงเท่านี้เอามาตั้งเปนต้นตำนานพระเกศธาตุ ว่าพ่อค้าอุบาสกสองคนนั้นเชิญพระเกศาพระพุทธเจ้ามายังเมืองมอญ แล้วสร้างพระเจดีย์ที่บนยอดเนินตะเกีง บรรจุพระเกศาไว้ตั้งแตในพุทธกาล พระเจดีย์จึงได้นามว่าพระเกศธาตุด้วยประการฉะนี้ พะม่ายืดถือเรื่องตำนานนี้มั่นคงไม่ฟังใครคัดค้าน แต่ใครไม่เชื่อก็ไม่มีคำจะคัดค้าน เพราะไม่มีใครรู้ว่าผู้ใดเริ่มสร้างพระเจดีย์องค์นี้ขึ้นแต่เมื่อไร ถ้ายกข้อนั้นเสียมีเค้าเงื่อนที่รู้เรื่องตำนานเปนหลักฐานในทางโบราณคดี ด้วยเมื่อเมืองร่างกุ้งตกเปนของอังกฤษแล้วมีฝรั่งผู้ชำนาญได้ตรวจดู เห็นพระองค์พระเกศธาตุมีรอยก่อเพิ่มเติมถึง ๗ ครั้ง และมีในพงศาวดารพะม่าว่าเดิมพระเกศธาตุเปนพระเจดีย์ขนาดย่อม สูงเพียง ๔ วา ๒ ศอก (๒๗ ฟุต) พระเจ้าหงสาวดีองค์ทรงพระนามว่า “พระยากู่” อันเปนพระชนกของพระเจ้าราชาธิราช เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๙๐๕ จน พ.ศ. ๑๙๒๘ ให้ก่อเสริมขึ้นอีก ๖ วา ๒ ศอกเปนสูง ๑๑ วา (๖๖ ฟุต) ต่อมาถึงพระเจ้าหงสาวดีอีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระยาเกียรติ” เปนราชภาคินัยของพระเจ้าราชาธิราช เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๙๙๓ จน พ.ศ. ๑๙๙๖ ให้ก่อเสริมพระเกศธาตุขึ้นอีก ๓๙ วาเศษ เปนสูง ๕๐ วา ๒ ศอก (๓๐๒ ฟุต) ต่อมานางพระยาตะละเจ้าเท้า ราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชได้ครองเมืองหงสาวดี เพราะสิ้นเจ้าชายในราชวงศ์ฟ้ารั่ว เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๓ จน พ.ศ. ๒๐๑๕ ให้ถมที่รอบองค์พระเกศธาตุสูง ๘ วาเศษ (๕๐ ฟุต) แล้วทำเปนลานยาว ๑๕๐ วา (๙๐๐ ฟุต) กว้าง ๑๑๓ วาเศษ (๖๘๐ ฟุต) ก่อเขื่อนทำพนักปักเสาโคมรายรอบ ต่อนั้นมาอีก ๓๐๐ ปี ถึงสมัยราชวงศอลองพระเปนใหญ่พระเจ้ามังระ (พะม่าเรียกว่าพระเจ้าช้างเผือก) เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๐๘ จน พ.ศ. ๒๓๑๙ ให้ก่อเสริมพระเกศธาตุขึ้นอีก ๑๑ วาเศษเปนสูง ๖๑ วาเศษ (๓๗๐ ฟุต) ขยายฐานเปนด้านละ ๒๒๗ วา (๑๓๕๕ ฟุต) การก่อเสริมพระเกศธาตุทั้ง ๓ ครั้งที่กล่าวในพงศาวดารพิจารณาดูโดยขนาด เห็นว่าน่าจะก่อพระเจดีย์องค์ใหม่ครอบพระเจดีย์องค์เดิม เหมือนอย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปฐมเจดีย์ หรือมิฉะนั้นแม้ครั้งใดจะเปนแต่ก่อแก้ไข รูปทรงพระเกศธาตุก็คงแปลงแปลกพระเจดีย์องค์ก่อนมาเปนลำดับ รูปทรงพระเกศธาตุอย่างเช่นเห็นอยู่ในบัดนี้ เปนแบบอย่างสร้างเมื่อครั้งพระเจ้ามังระปฏิสังขรณ์ได้สัก ๑๖๐ ปีมานี้ แต่ฉัตรใหญ่บนยอดพระเกศธาตุนั้น ปรากฏว่าเคยถูกแผ่นดินไหวหักตกลงมาต้องทำใหม่หลายครั้ง แม้ในสมัยเมืองร่างกุ้งตกเปนของอังกฤษแล้ว ก็หักลงมาเมื่อพระเจ้ามินดงยังครองเมืองพะม่าภาคเหนือในระวาง พ.ศ. ๒๓๙๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๒๑ ครั้งหนึ่ง พวกพะม่าเรี่ยรายกันปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ พระเจ้ามินดงรับทำยอดฉัตร์ ทรงบริจจาคพระราชทรัพย์ถึง ๖๐,๐๐๐ รูปีย์ ให้ทำฉัตรใหม่ยกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ แผ่นดินไหว (คราวพระมุเตาพัง) ฉัตรยอดพระเกศธาตุก็หักตกลงมาอีกครั้งหนึ่ง พวกพะม่าเรี่ยรายกันทำฉัตรใหม่พึ่งยกขึ้นเมื่อสักสองปีมานี้ เอาฉัตรเดิมที่ตกลงมาแต่ก่อนพอกปูน ตั้งไว้ให้คนดูที่ในลานพระเกศธาตุ ฉัตรนั้นสูงเกือบ ๘ วา (๔๗ ฟุต)

เมื่อฉันขึ้นไปถึงลานพระเกศธาตุ ไปแลเห็นในขณะเดียวกันทั้งของบางสิ่งซึ่งคงอยู่อย่างเดิม บางสิ่งมีขึ้นใหม่ไม่เคยเห็น บางสิ่งซึ่งเคยเห็นเปนอย่างหนึ่งแต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปเปนอย่างอื่น และที่สุดขาดของบางสิ่งซึ่งเคยเห็นหายไปเสียแล้ว ออกจะตื่นตาพาให้พิสวง องค์พระเกศธาตุ (ตรงที่ไม่ได้คลุม) ดูคงอยู่เหมือนอย่างเดิมลงมาจนฐานทักษิณซึ่งมีพระเจดีย์เล็ก ๆ รายรอบ ต่อองค์พระเจดีย์ออกมามีวิหารสำหรับมหาชนบูชาพระเกศธาตุ ตั้งพระพุทธรูปเปนประธานอยู่ตรงทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ วิหารทิศนั้นเปนวิหารโถงสร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาปราสาท ปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั้งหลัง ฝีมือช่างพะม่าจำหลักลวดลายและรูปภาพเครื่องประดับวิหารงามอย่างยิ่ง แต่เมื่อปีกลายนี้ไฟไหม้เสีย ๒ หลัง ที่สร้างขึ้นแทนฝีมือไม่งามเหมือนของเดิม ที่ในวิหารตอนแรกเข้าไปถึงมีหีบใหญ่ล่ามโซ่ไว้กับเสาใบหนึ่ง เจาะแต่ช่องไว้สำหรับทายกทิ้งเงินตามศรัทธาถวายช่วยรักษาพระเกศธาตุ และมีพนักงานนั่งประจำอยู่คน ๑ พอเห็นใครเข้าไปก็ตีกังสดาลเตือนให้บริจจาคทรัพย์ เมื่อมีใครหยอดเงินลงในหีบก็ตีกังสดาลซ้ำแล้วสวดอนุโมทนาให้พร แต่สวดว่ากระไรฟังไม่ได้ศัพท์เพราะพะม่าสวดอักขรเสียงผิดเพี้ยนกับไทยเรา ต่อออกไปทางข้างวิหารเดิมมีฐานปูนก่อเรียงกันเปนระยะ สำหรับสัปรุษวางเครื่องสักการบูชามีฉัตรแบบไทยใหญ่ปักกั้นข้างบน รายไปตามฐานพระเจดีย์ที่ตรงมุมทำรูปสิงห์กับรูปซึ่งพะม่าเรียกว่า “มนุษย์สิงห์” คือหัวเปนมนุษย์ใส่ชะฎาตัวเปนสิงห์มีปีก ดูปลาดอยู่ ด้วยไทยเราก็มีรูปเรียกว่า “นรสิงห” หมายความอย่างเดียวกัน แต่รูปนรสิงห์ของไทยได้แบบมาแต่อินเดียทำตัวเปนมนุษย์หน้าเปนสิงห์กลับกันข้ามกับพะม่า พะม่าจะได้แบบของขาวลิเรียซึ่งบ้านเมืองอยู่ห่างไกลไปยิ่งกว่าอินเดียมาหรืออย่างไรสงสัยอยู่ ลองสืบหาต้นเค้าจากพะม่าก็เล่านิทานเปนอธิบายของรูปสัตว์เหล่านั้นว่าเค้ามูลของรูปสิงห์ซึ่งตั้งปากทางนั้น เดิมราชสีห์ตัวหนึ่งลักราชธิดาของพระยามหากษัตริย์ อันมีลูกยังเปนทารกติดไปด้วย ๒ คน เอาไปเลี้ยงไว้ (เปนเค้าเดียวกับเรื่องสีหพาหุในหนังสือมหาวงศพงศาวดารลังกา แต่ในเรื่องลังกาว่านางราชธิดาไปเปนเมียของราชสีห์นั้นเกิดลูกชายเปนมนุษย์) ครั้นลูกชายเติบใหญ่พาแม่กับน้องหญิงหนีกลับมาอยู่ในเมืองมนุษย์ ฝ่ายราชสีห์เที่ยวติดตาม พบผู้คนกีดขวางกัดตายเสียเปนอันมาก จนร้อนถึงพระยามหากษัตริย์สั่งให้ประกาศหาคนปราบราชสีห์ กุมารนั้นเข้ารับอาสาออกไปรบราชสีห์ ยิงศรไปทีไรก็เผอิญผิดพลาดไม่สามารถฆ่าราชสีห์ ฝ่ายราชสีห์ก็ยังสงสารกุมารไม่แผดเสียงให้หูดับ ต่อสู้กันอยู่จนราชสีห์เกิดโทสะอ้าปากจะแผดเสียง กุมารก็เอาศรยิงกรอกทางช่องปากฆ่าราชสีห์ตาย ได้บำเหน็จมียศศักดิ์จนได้ครองเมืองเมื่อภายหลัง แต่เมื่อได้ครองเมืองให้ปวดหัวเปนกำลัง แก้ไขอย่างไรก็ไม่หาย จึงปรึกษาปุโรหิต ๆ ทูลว่าเปนเพราะบาปกรรมที่ได้ฆ่าราชสีห์ผู้มีคุณมาแต่หนหลัง ต้องทำรูปราชสีห์บูชาล้างบาปจึงจะหายโรค พระยามหากษัตริย์นั้นจะทำรูปสัตว์เดรัจฉานขึ้นบูชาก็นึกละอาย จึงให้สร้างรูปราชสีห์ขึ้นฝากไว้กับเจดียสถานที่บูชาเลยเปนประเพณีสืบมา

นิทานเรื่องสิงห์ที่สร้างล้อมพระเจดีย์นั้น ก็ทำนองเดียวกัน เปลี่ยนเปนนางราชสีห์ได้นางราชธิดาไปเลี้ยงไว้แต่เล็ก รักใคร่เหมือนเปนลูก เมื่อนางราชธิดาเติบใหญ่ขึ้นหนีมา นางราชสีห์ตามมาทันที่ริมแม่น้ำเมื่อนางราชธิดาข้ามพ้นไปได้แล้ว นางราชสีห์ก็โทมนัสขาดใจตายอยู่ที่ริมน้ำ นางราชธิดานั้นได้เปนใหญ่เมื่อภายหลัง คิดถึงคุณของนางราชสีห์ที่ได้เลี้ยงดูและที่สุดตายด้วยความรักใคร่ จึงให้สร้างรูปขึ้นไว้กับเจดียสถานที่บูชาเรื่องนิทานของมนุษย์สิงห์นั้น ว่าเมื่อพระโสณะกับพระอุตตรมหาเถร ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชให้มาสอนพระพุทธสาสนา มาถึงเมืองสะเทิมในเมืองมอญ สบเวลามีนางยักขินีเที่ยวกินเด็กเกิดใหม่ พระราชามหากษัตริย์และราษฎรได้ความเดือดร้อนอยู่ พระมหาเถรทั้งสององค์จำแลงเปน “มนุษย์สิงห์” อย่างนี้ให้นางยักขินีกลัวเลยหลบหนีสาบสูญไป บ้านเมืองก็ได้ความสุขพ้นภัยอันตราย พระราชามหากษัตริย์ จึงให้ทำรูปมนุษย์สิงห์ขึ้นไว้สำหรับป้องกันภยันตรายแก่มหาชน แต่เดี๋ยวนี้เขาอนุญาตให้ทายกสร้างมณฑปปูนหลังเล็กๆ มีพระพุทธรูปตั้งในนั้นเรียงรอบฐานพระเกศธาตุ บังรูปสิงห์สัตว์ที่ว่าออกมาอีกชั้นหนึ่ง ฐานฉัตร์สำหรับวางเครื่องสักการบูชาก็รื้อย้ายไปที่อื่น เปนของแก้ใหม่เมื่อภายหลังฉันไปครั้งแรก มณฑปปูนที่ทำใหม่บางหลังก็ทำงามน่าชม ล้วนปิดทองล่องชาดประดับกระจกแทบทั้งนั้น ลานรอบพระเกศธาตุเดี๋ยวนี้ปูหินอ่อนฝรั่งดูเรียบร้อยสอาดสอ้าน และมีพรมทางทอด้วยกาบมะพร้าวปูให้คนเดินประทักษิณในเวลาแดดเผาพื้นศิลาร้อน ขอบลานข้างนอกมีระฆังแขวนราวตั้งเปนระยะกับเสาหงส์และฉัตรไทยใหญ่ ทั้งมีศาลาและวิหารของพวกทายกปลูกติดต่อซับซ้อนกันอย่างยัดเยียดรอบพระเกศธาตุ มักทำเปนยอดปราสาทเปนพื้นที่เปนหลังคาสามัญมีน้อย พิจารณาดูสถานแถวนี้เกิดเสียดายขึ้นอีก ด้วยแต่ก่อนมีพระนอนศิลาขาวยาวสัก ๓ วาองค์หนึ่งอยู่ในวิหาร ทั้งฝีมือทำองค์พระและขัดเงาดูงามยิ่งนัก ใครเห็นก็ต้องออกปากชม นับว่าเปนของดีที่น่าดูสิ่งหนึ่งในบริเวณพระเกตธาตุไปดูคราวนี้เห็นเอาสีทาองค์พระนอนและเอาทองคำเปลวปิด ตรงผ้าคลุมพระองค์ ก็ออกปลาดใจ ต่อเข้าไปพิจารณาดูใกล้ๆ เห็นรอยหักที่พระกร จึงเข้าใจว่าวิหารนั้นถูกไฟไหม้ด้วยเปนแน่ องค์พระนอนคงแตกหัก เมื่อเอากลับเข้าติดต่อจึงต้องพอกปูนและทาสีปิดทองซ่อนรอยชำรุด เปนอันเสียของดีไปอย่างหนึ่ง เสียดายอีกอย่างหนึ่งคือที่มีทายกพะม่าสมัยใหม่สร้างศาลาปราสาทแปลงแบบให้ “เจือฝรั่ง” เกิดมี “ปราสาทอย่างเทศ” ขึ้นใหม่สักสองสามหลัง เห็นว่าถ้ารื้อเอาเผาไปเสียก็จะดี

พระเกศธาตุผิดกับเจดียสถานอื่น ๆ ที่ได้เห็นมาอย่างหนึ่งด้วยพระมหาเจดีย์แห่งอื่นมักมีคนขึ้นมากแต่เวลาเทศกาล แต่พระเกศธาตุแม้ในเวลาปกติก็มีคนขึ้นมากทุกวัน วันหนึ่งฉันขึ้นไปเวลาเย็น อีกวันหนึ่งฉันขึ้นไปเวลาเช้า ก็เห็นคนขึ้นมากไม่ขาดสายทั้งสองครั้ง ล้วนพะม่าเปนพื้น ถ้าจะดูพะม่าในเมืองร่างกุ้งไปดูที่พระเกศธาตุเปนเห็นมากกว่าที่อื่น มีพะม่าทุกประเภททุกชั้นทั้งชายและหญิง ชาวประเทศอื่นก็มีหลายชาติ ฉันได้พบพระไทย ๓ องค์ องค์หนึ่งบอกว่าไปแต่วัดอุทัยบางกะปิในกรุงเทพฯ องค์หนึ่งไปจากวัดมเหยงค์เมืองสรรค์ อีกองค์หนึ่งว่าเปนชาวกรุงเทพฯ อยู่ที่ริมวัดสระเกศ ตามพระโลกนาถชาวอิตาลีออกไปแล้วไปบวชเปนพระพะม่า เมื่อพบรู้ว่าไทยก็ปราสัยกันโดยความยินดีทั้งสองฝ่าย แต่เห็นจะไม่รู้ว่าฉันเปนใคร เว้นแต่องค์ที่เปนชาวเมืองสรรค์นั้นคลับคล้ายคลับคลา พอฉันเดินพ้นไปแล้วมาถามเจ้าหญิงว่า “สมเด็จกรมพระยาดำรงมิใช่หรือ” ได้ความตามคำพระเหล่านั้นเล่า ว่าเดินบกไปทางด่านแม่สอดแขวงเมืองตากทุกองค์ไม่มีองค์ใดรู้ภาษาต่างประเทศ และไม่มีที่หมายมั่นว่าจะไปพึ่งพาอาศัยใครที่ไหน ใช้บิณฑบาตเลี้ยงตัวตลอดทางไป พบวัดเจ้าของไม่รังเกียจก็ได้อาศัย ถ้าไม่มีวัดก็ได้อาศัยแต่ตามศาลากลางย่าน แม้ที่สุดจนร่มไม้ในทางที่ไป คิดดูก็น่าชมว่าใจคอเด็ดเดี่ยว ดูชื่นบานสบายดีทุกองค์ คนขึ้นพระเกศธาตุดูเหมือนจะต่างกันเปน ๔ จำพวก โดยมากเปนพวกที่ขึ้นไปบูชา ยังมีพวกชาวต่างประเทศถือสาสนาอื่นเปนแต่ขึ้นไปดู พวกนี้เดี๋ยวนี้มีน้อยลงเพราะรังเกียจที่ต้องถอดเกือก ยังพวกพนักงานที่ทำการรักษาพระเกศธาตุ และที่สุดมีคนที่ขึ้นไปหากินในลานพระเกศธาตุอีกพวกหนึ่ง ในพวกหลังนี้บางคนเปนหมอดู ไปเที่ยวนั่งอยู่ตามศาลคอยรับจ้างทายร้ายดี บางคนรู้ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อยคอยรับจ้างนำชาวต่างประเทศเที่ยวดู บางคนก็ขายของเช่นหมากพลูบุหรี่เปนต้น มีบางคนคอยรับจ้างสวดมนตร์ (ดังจะเล่าอธิบายต่อไปข้างหน้า) พิธีบูชาพระเกศธาตุดูเหมือนจะมี ๒ อย่าง อย่างสามัญถือเครื่องสักการขึ้นไปถึงวิหารทิศก็จุดธูปเทียนถวายเครื่องสักการกราบไหว้สวดคำบูชาพระรัตนตรัย แล้วเดินประทักษิณพระเกศธาตุ เปนเสร็จพิธีเพียงนี้ ยังมีพิธีวิสามัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเนื่องด้วยเทวดานพเคราะห์ ฉันพึ่งทราบเมื่อไปคราวนี้ ว่าพะม่านับถือตำรานพเคราะห์อย่างเดียวกันกับไทยเรา เหมือนเช่นให้ชื่อคนก็ขึ้นด้วยตัวอักษรตามวรรคประจำวันเปนต้น ดูเหมือนพะม่าจะนับถือเทวดานพเคราะห์เสียยิ่งกว่าไทยเราอีก ที่ในลานพระเกศธาตุ (และพระมหาธาตุองค์อื่นก็เหมือนกัน) ทำหลักป้ายเขียนรูปเทวดากับสัตว์พาหนะและมีตัวอักษรบอกนามปักประจำไว้ตามทิศทั้ง ๘ พระอาทิตย์อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระจันทรอยู่ทิศตะวันออก พระอังคารอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระพุธอยู่ทิศใต้ พระราหูอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระพฤหัสบดีอยู่ทิศตะวันตก พระศุกรอยู่ทิศเหนือ พระเสาร์อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลักษณการบูชาพระเกศธาตุเนื่องกับนพเคราะห์นั้น เปนต้นว่าขึ้นไปวันอะไรหรือตัวบูชาเกิดวันอะไรก็ไปนั่งบูชาพระเภศธาตุที่ในลานตรงทิศนั้น หรือบูชาเนื่องกับอายุเช่นเทวดาองค์ไหนเข้าเสวยอายุ ก็ไปบูชาพระเกศธาตุตรงทิศของเทวดาองค์นั้น พรรณนามาพอเปนเค้า บางทีจะมีเหตุอื่นเปนที่ค้างต่อออกไปอีก การที่บูชานั้นนอกจากถวายเครื่องสักการและสวดคำบูชาสามัญ มีการสวดพระปริตตามกำลังวัน เวลาฉันเขียนหนังสือนี้ไม่มีตำราจำก็ไม่ได้ถนัด นึกว่าวันอาทิตย์ดูเหมือนสวดโมรปริต อันขึ้นด้วย อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯ ซ้ำ ๒ ครั้งให้ครบกำลังวันตรงนี้เปนช่องที่ผู้ชำนาญการสวดมนตร์เข้ารับจ้าง เพราะผู้ที่บูชาจำไม่ได้เมื่อสวดจบแล้วยังมีพิธีเอาน้ำสาดที่ฐานพระเกศธาตุ การที่เอาน้ำสาดนี้อธิบายของพะม่าว่าเพราะมนุษย์ที่ไปปรโลก บุญบาปย่อมนำไปสู่ที่ ๓ สถานต่างกัน พวกที่ทำบุญมากไปสู่สวรรค์มีความสุข ไม่ต้องการความสงเคราะห์ของมนุษย์ ผู้ที่ทำบาปมากก็ไปตกนรก พ้นวิสัยที่มนุษย์จะสงเคราะห์ แต่พวกที่ทำบุญบาประคนปนกัน ตายแล้วยังต้องเปนเปรตท่องเที่ยวอยู่ในมนุสโลกนี้ จึงให้ทานน้ำสงเคราะห์แก่เปรตเมื่อทำบุญ (ของไทยเราก็มีทำนองเดียวกันแต่มีเข้าสุกด้วย เรียกว่า “เข้าพอกกระบอกน้ำ” มักเอาผูกกิ่งไม้ปักไว้) อธิบายของพะม่าที่ว่ามานี้จะมีมูลมาอย่างไรก็ตาม แต่ปลาดอยู่ที่ไปพ้องกับคำพระ “ยถา” เมื่อทายกกรวดน้ำ อันมีบทว่า เปตานํ อุปกัปฺปติ ฯ แปลว่า (ทานที่บำเพ็ญนั้น) ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรต ฉะนี้ ตรงนี้น่าเล่านอกเรื่องแซกสักหน่อย นานมาแล้ววันหนึ่งฉันไปหาสมเด็จพระมหาวีระวงศที่วัดโสมนัสวิหาร เห็นท่านรวบรวมเครื่องบริกขารของท่านจัดเปนสังเค็ตตั้งไว้ในกุฎิหลายชุด เมื่อฉันถามท่านบอกว่าจะทำบุญวันเกิด จะถวายสังเค็ตสสำหรับงานศพเสียให้ทันตาเห็น แล้วท่านบอกต่อไปว่าทำบุญครั้งนี้จะห้ามไม่ให้พระยถา เพราะท่านไม่ได้ทำบุญอุททิศแก่เปรต ฉันได้ยินก็นึกสงสัยว่า พระผู้รับทานจะอนุโมทนาอย่างไร มาได้ความภายหลังว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ เปนผู้นำสงฆ์ ทรงพระดำริเอาคาถาในอาฏานาฏิยปริตมาใช้แทนยถา ทรงนำขึ้นว่า เตหิ ตฺวํ รกฺขิโต ฯ ไปจนถึง ปิพฺพุโต จ ตุวํ ภว ฯ พระสงฆ์องค์อื่นก็รับ สพฺพีติโย ฯ ตามมีในอาฏานาฏิยปริตต่อไป ได้ยินว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศชอบมาก เมื่อสาดน้ำให้เปรตแล้วต้องไปตีระฆังที่แขวนราวไว้ในลานพระเกศธาตุ อธิบายว่าให้ส่งเสียงบอกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้อนุโมทนาและรับส่วนบุญด้วย แล้วจึงเปนเสร็จการพิธี เมื่อทราบอธิบายการตีระฆังประกาศแผ่ส่วนบุญ ก็เลยนึกขึ้นถึงระฆังรายที่มีตามมหาเจดียสถานในเมืองเรา เช่นที่พระปฐมเจดีย์และพระพุทธบาทดูเหมือนจะเข้าใจกันโดยมากว่าตีเอาบุญ แต่ที่จริงน่าจะถูกตามอธิบายของพะม่าว่าตีให้บุญ คือเมื่อใครได้ทำบุญ แล้วจึงตีระฆังให้เทวดามนุษย์ได้ยินเสียงเปนสัญญาให้อนุโมทนาและรับส่วนบุญ ดูเปนทำนองเดียวกับที่พูดว่า “กวาดวัดแกรกหนึ่งได้ยินถึงพรหมโลก” ในเรื่องนี้น่าจะติดต่อไปถึงมูลเหตุที่ทำระฆังเล็กๆ ชนิด

“ใบโพธิสุวรรณห้อย ระย้าย้อยบรุงรัง
ลมพัดกระดึงดัง เสนาะศัพทอลเวง ฯ”

แขวนไว้ตามเจดียสถาน เช่นที่ชายคาพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเปนต้น ประเพณีเดิมน่าจะเกิดแต่ผู้สร้างหรือบุรณปฏิสังขรณ์เจดียสถานนั้น ประสงค์จะแผ่ส่วนกุศลให้บุญเปนนิจกาลดอกระฆัง จึงทำระฆังอย่างนั้นขึ้นไว้ บูชาแล้วกลับเวลาพอพลบค่ำ ไม่เห็นจุดไฟฟ้าประดับพระเกศธาตุเหมือนอย่างพระสุเลเจดีย์ แต่มีเสาโคมฉายตั้งไว้ทุกทิศสำหรับฉายแสงอย่าง Floodlight ให้สว่างเห็นองค์พระเกศธาตุได้ตลอดเวลากลางคืน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ