เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๒ เที่ยวเมืองร่างกุ้งเมื่อขาไป

ไปเที่ยวเมืองพะม่าครั้งนี้ ดูปลาดที่พอไปถึงบังเกิดความเสียดายหลายอย่าง เบื้องต้นแต่เมื่อเรือแล่นขึ้นไปตามดำน้ำก่อนถึงเมืองร่างกุ้ง แลดูพระเกศธาตุ Shwe Dagon ซึ่งอยู่บนเนินสูงเห็นได้แต่ไกลก็มีร่างร้านมุงจากคลุมเสียทั้งองค์ เห็นแต่ยอดเพราะประจวบเวลาเขากำลังปิดทอง เปนอันไม่ได้ดูพระเจดีย์ทั้งองค์เหมือนเมื่อครั้งก่อน ลูกหลานที่ไปด้วยก็จะได้เห็นแต่ยอดกับฐานพระเกศธาตุเท่านั้น พอไปถึงเมืองยังไม่ทันขึ้นบก ก็เกิดความเสียดายด้วยพระเจ้ายอร์ชสวรรคต เหตุนั้นเลยเปนปัจจัยให้เสียดายต่อไปถึงจะไม่ได้เห็นละคอนที่พะม่าเล่นเพราะเขาต้องงดงานมหรศพในเวลาไว้ทุกข์ ไม่สมประสงค์ที่อยากดูมาช้านานตั้งแต่ฉันยังเปนตำแหน่งนายกองพระสมุดสำหรับพระนคร ด้วยได้รับคำถามจากเมืองพะม่าถึงตำนานละคอนไทยเมื่อเขาจะส่งละคอนพะม่าไปเล่นในการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เวมบลี Wembly Exhibition ณ ประเทศอังกฤษเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๔ (พ.ศ. ๒๔๖๗) เขาถามพวกพะม่าถึงตำนานละคอนเพื่อจะพิมพ์แถลงในคำโฆษณา พะม่าบอกอธิบายได้แต่ว่าได้แบบอย่างละคอนไปจากกรุงศรีอยุธยา หารู้เรื่องตำนานไม่ รัฐบาลเมืองพะม่าจึงขอให้สถานทูตอังกฤษช่วยสืบเรื่องตำนานในเมืองไทย ฉันได้ยินก็ปลาดใจแต่พอคาดมูลเหตุได้ ด้วยมีในเรื่องพงศาวดารว่าครั้งพะม่าตีได้พระนครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กวาดต้อนเอาผู้คนบรรดาตกอยู่ในเงื้อมมือไปเปนเชลยมากกว่ามาก คงได้พวกละคอนไปเมืองพะม่าแต่ครั้งนั้น ต่อมาฉันได้ยินพระอรัญญรักษา (ซอเหลียง) กรมป่าไม้ ซึ่งเปนพะม่าชาวเมืองมัณฑเลเล่าให้ฟัง ว่าที่กรุงมัณฑ์เลมีตำบลแห่งหนึ่งพะม่าเรียกว่าบ้าน “โยเดีย” (อโยธยา) พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้เปนที่ตั้งบ้านเรือนของพวกที่เปนเชื้อสายไทย และคนพวกนั้นไม่ต้องทำราชการอย่างอื่น นอกจากฝึกหัดกันเล่นละคอนถวายทอดพระเนตร์เปนนิจ เมื่อพระอรัญญรักษายังเปนเด็กได้เคยเข้าไปดูละคอนอโยธยาเล่นที่ในพระราชวังหลายครั้ง ถามถึงเรื่องที่เล่นบอกว่าเห็นเล่นเรื่องอิเหนากับเรื่องรามเกียรติ์ แต่จะเล่นเรื่องอะไรอื่นอีกบ้างหาทราบไม่ ได้ฟังพระอรัญญรักษาเล่าก็รู้เค้ายิ่งขึ้น ว่าคงมีบ้านพวกละคอนตามไป และให้ฝึกหัดกันเล่นถวายพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร์สืบมาหลายชั่วคน ยิ่งอยากเห็นว่าพวกเชื้อสายไทย จะรักษาแบบละคอนครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ได้สักเพียงใด ตลอดเวลาช้านานถึง ๑๖๐ ปี แต่ก็นึกพรั่นอยู่ด้วยเมืองพะม่าตกเปนเมืองขึ้นของอังกฤษได้ถึง ๕๐ ปี พวกละคอนเชื้อสายไทยน่าที่จะกระจัดกระจายกันไปเสียหมดแล้ว เพราะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินทำนุบำรุงเหมือนแต่ก่อน ถึงกระนั้นก็ตั้งใจไปว่าจะลองค้นดู ไปประสบเวลางดงานมหรศพเกรงจะไม่สมประสงค์จึงเสียดายนัก (แต่ลงที่สุดได้ดูเมื่อจวนจะกลับ ดังจะเล่าข้างท้ายหนังสือนี้) ยังมีความเสียดายข้อใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่ไปทราบว่าพิพิธภัณฑสถานในเมืองร่างกุ้งไม่มีเสียแล้ว ไม่สมหวังที่ตั้งใจจะไปตรวจโบราณวัตถุประเทศพะม่าในพิพิธภัณฑสถาน เปรียบเทียบกับโบราณวัตถุประเทศสยาม หาความรู้เรื่องพงศาวดารที่เกี่ยวข้องกันมาเมื่อสมัยดึกดำบรรพ์ เป็นอันขาดประโยชน์ที่หมายจะได้ไปอีกอย่างหนึ่ง ได้แต่ว่าเดิมมีพิพิธภัณฑสถานในเมืองร่างกุ้ง เปนตึกหลังใหญ่อยู่กลางเมืองเรียกว่า “แพร มิวเซียม” Phayre Museum ตามนาม เซอร์ อาเธอ แฟร เจ้าเมืองคนที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานนั้น ครั้นเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๑ (พ.ศ. ๒๔๕๔) รัฐบาลปราร์ถนาจะสร้างโรงพยาบาลกลางขึ้นใหม่ให้ใหญ่โต หาที่อื่นเห็นไม่เหมาะแก่ประโยชน์ของโรงพยาบาลเท่าตรงที่พิพิธภัณฑสถานตั้งอยู่ จึงลงมติจะย้ายพิพิธภัณฑสถานไปตั้งที่อื่น ให้เก็บของในพิพิธภัณฑสถานแยกไปฝากไว้ที่มหาวิทยาลัยบ้าง เอาลงบรรจุหีบฝากไว้ในคลังของรัฐบาลบ้าง แต่การที่สร้างพิพิธภัณฑสถานยังผัดเรื่อยมาถึง ๒๕ ปี เข้าบัดนี้ ไม่มีใครทราบว่าต่อเมื่อไรจึงจะได้สร้าง เดี๋ยวนี้พบของโบราณมณฑลไหนก็รวบรวมไว้ในมณฑลนั้น ปลูกโรงเล็กๆ เรียกว่า “มิวเซียม” คล้ายกับคลังรักษาของมีแยกย้ายกันอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง การรักษาของโบราณในเมืองพะม่ามีกรมตรวจโบราณคดี Archaeological Survey Department แต่ก่อนมีนักปราชญ์ชาติฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งสมัคมาอยู่ในเมืองพะม่าชื่อ ชาลล์ ดือรอยเสลล์ Charles Duroiselle เปนเจ้ากรม แต่ปลดชะราออกจากตำแหน่งสัก ๓ ปีมาแล้ว (ฉันได้พบตัวที่เมืองมัณฑเล) เดี๋ยวนี้ยุบกรมนั้นลงเปนแต่สาขาขึ้นกรมตรวจโบราณคดีในอินเดีย ยังมีสถานที่ทำการอยู่ ณ เมืองมัณฑเลและตั้งพะม่าเปนหัวหน้า บางทีเมื่อแยกเมืองพะม่าออกจากอินเดียแล้ว เห็นจะกลับตั้งเปนกรมต่างหากอย่างแต่ก่อน

วันพุธที่ ๒๒ มกราคม เดิมฉันกะโปรแกรมสำหรับวันนี้ไว้ว่าตอนเช้าจะไปดูพิพิธภัณฑสถาน ตอนบ่ายจะขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุเมื่อได้ความว่าไม่มีพิพิธภัณฑสถานจะดู ก็เปลี่ยนเปนไปเที่ยวหาซื้อของที่ต้องการใช้ เช่นหนังสือนำทางเที่ยวเมืองพะม่าและฟิล์มสำหรับถ่ายรูปฉายาลักษณ์เปนต้น แล้วให้ขับรถเที่ยวดูบ้านเมืองจนเวลาใกล้เที่ยงจึงกลับโฮเตล ก่อนพรรณนาว่าด้วยตัวเมืองจะเล่าเรื่องตำนานเมืองร่างกุ้งที่มีในพงศาวดารให้ทราบพอเปนเค้า เมืองร่างกุ้งนี้เดิมเรียกว่าบ้าน “ตะเกิง” Dagon อยู่ในเขตต์เมืองทะละของพวกมอญ มีคำอ้างว่าพระเจ้าบุณณริกซึ่งครองเมืองหงสาวดีแต่ดึกดำบรรพ์ได้เคยตั้งเปนเมืองชื่อ อาระมะณะ เมื่อราๆ พ.ศ. ๑๒๔๗ แต่ที่อ้างนี้ไม่มีหลักฐานประกอบอย่างไร เรื่องแน่นอนแต่ว่าเปนเมือง เรียกว่า “เมืองตะเกีง” เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีพระยาอู่ (ผู้เปนพระชนกของพระเจ้าราชาธิราช) เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๘๙๖ จน พ.ศ. ๑๙๒๘ และปรากฏว่าพระเจ้าราชาธิราชเมื่อยังเปนราชบุตร์ เคยหนีมาอาศัยอยู่ (และมาได้นางเม้ยมะทึก) ที่เมืองตะเกีงนี้ ต่อนั้นมาเมื่อนางพระยาตะละเจ้าฟ้า (พะม่าเรียกว่า Shinsawbu) ราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราช ได้เสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๙๙๖ จน พ.ศ. ๒๐๑๕ มอบเวนราชสมบัติแก่พระมหาปิฎกธรราชบุตร์เขยซึ่งพะม่าเรียกว่าพระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว มาสร้างวังอยู่ที่เมืองตะเกีงด้วยทรงบุรณปฏิสังขรณ์พระเกศธาตุ เมืองตะเกีงเห็นจะรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยเมื่อยังเปนเมืองมอญเพียงนั้น ต่อมาปรากฏแต่ว่าเปนแต่เมืองขึ้นของเมืองทะละจนถึงสมัยราชวงศอลองพระ เมื่อพระเจ้ามังลองต้นวงศปราบเมืองมอญทั้งปวงไว้ได้ในอำนาจแล้ว จึงตั้งเมืองตะเกีงเปนที่สำนักของอุปราชพะม่าปกครองหัวเมืองมอญ และให้เปลี่ยนนามเมืองตะเกีงเรียกใกล้ด้านหลังถึงเรือนจำ กับทั้งสถานที่ศึกษาและโรงสอนสาสนาซึ่งตั้งมาแล้วแต่แรก ล้วนอยู่ในเมืองทั้งนั้น ข้างหลังเมืองมีทางรถไฟสายใหญ่ผ่านตลอดด้านเหมือนอย่างเปนคูเมือง ต้องทำสะพานข้ามทางรถไฟหลายแห่ง พ้นทางรถไฟออกไปถึงเชิงเนินที่สร้างพระเกศธาตุ เปนเนินหมู่ใหญ่หลายยอด ใกล้กับทะเลสาบเรียกว่า “รอยัลเล็ค” Royal Lake น่าแปลว่า “ทะเลมหาราช” และมีทะเลสาบอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า “ควีนสเล็ค” Queens Lake แปลว่า “ทะเลราชินี” อยู่ไม่ห่างกันนักที่นอกเมืองตอนนี้ทำเปนที่สำราญ มีสนามแข่งม้า สนามเล่นกีฬาและสนามกอล์ฟ มีทั้งสวนต้นไม้ สวนเลี้ยงสัตว์ และสโมสรเล่นเรือในทะเลสาบ ตามยอดและไหล่เขาเปนที่ทำบ้านเรือนพวกผู้ดีมีทรัพย์ จวนเจ้าเมืองที่ทำใหม่เปนตึกใหญ่โต-ขนาดสักสามเท่าวังบูรพาภิรมย์-ก็อยู่ในที่ตอนนี้ ต่อที่ตอนนี้ออกไปเปนที่เปิดใหม่ สถานที่ซึ่งสร้างใหม่เช่นมหาวิทยาลัย สนามบิน และโรงทหาร (ซึ่งย้ายจากที่เดิมอันตั้งอยู่ ณ หมู่เนินพระเกศธาตุ) สร้างในที่ตอนเปิดใหม่นี้โดยมาก มีถนนไปมาถึงกันทั้งที่นอกเมืองและในเมือง ล้วนลาดอัสฟัล์ดรักษาสอาดสอ้าน และทำถนนลาดอัสฟัล์ดไปตามหัวเมืองทางไกลก็หลายสาย เดี๋ยวนี้อาจจะไปรถยนต์ได้ถึงเมืองมัณฑเลและเมืองแปร กับที่อื่นที่อยู่ไกลๆ ได้หลายแห่ง

ในการที่ทำแผนผังแก้ไขถนนหนทางในเมืองร่างกุ้ง ดูเหมือนรัฐบาลจะระวังไม่รื้อแย่งหรือบุกรุกวัดวาให้พวกพะม่าโกรธแค้น สังเกตตามข้างถนนหนทางที่ผ่านไป ตรงไหนรกรุงรังตรงนั้นมักเปนวัด แต่มีพระเจดีย์ทองของโบราณองค์หนึ่งอยู่กลางเมืองร่างกุ้ง พะม่าเรียกว่า “ชเวสุเล” Shwè Sule (คำ “ชเว” แปลว่า “ทอง” พระเจดีย์ที่ปิดทองเรียกขึ้นต้นว่า “ชเว” ทั้งนั้น คำว่า “สุเล” เห็นจะเพี้ยนมาแต่ “จุละ” คือเรียกตามภาษามคธว่า “จุลเจดีย์” หมายเอาพระเกศธาตุเปน “มหาเจดีย์” มาแต่ก่อน) พระสุเลเจดีย์ขนาดสักเท่าพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ฐานทักษิณเตี้ยจึงดูไม่สู้สูงนัก รูปแบบพระสถูปแปดเหลี่ยม ทรวดทรงงามยิ่งกว่าพระเจดีย์พะม่าองค์อื่นๆ ใครเห็นก็พากันชมทั้งนั้น เดิมมีแต่องค์พระเจดีย์กับฐานทักษิณอยู่กลางแปลงแลดูเปนสง่า เมื่อทำแผนผังสร้างเมือง เขากะเอาพระสุเลเจดีย์เปนสูญ ขยายถนนล้อมรอบแล้วตัดถนนใหญ่แยกตรงจากพระสุเลเจดีย์ไปทั้ง ๔ ทิศ และดูจากทางไหนก็เห็นพระสุเลเจดีย์ตระหง่านทุกทาง เมื่อพวกสัปรุษพะม่าเห็นพระสุเลเจดีย์เปนที่รุ่งเรืองขึ้นก็เกิดศรัทธาพากันบุรณตามชอบใจ ให้ปลูกศาลาปราสาท (คือศาลาโถงแต่หลังคาเปนปราสาท พะม่าชอบทำ) และโรงหลังเล็ก ๆ สำหรับพระอุบาสกอาศัยที่บนฐานทักษิณล้อมรอบ หลังคาบังพระสุเลเจดีย์เสียสักครึ่งองค์ แลดูไม่สง่างามเหมือนแต่ก่อน ใช่แต่เท่านั้น ที่เชิงฐานทักษิณต่อขอบถนนซ้ำปลูกโรงแถวให้คนเช่าตั้งร้านขายของ คล้ายกับร้านวัดสามปลื้มรอบพระเจดีย์ ก็เลยดูรุงรังเสียสง่าลงไปอีก แต่เขาศรัทธาแปลกอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่มีเหมือนที่ประเทศอื่น คือเอาโคมไฟฟ้าประดับองค์ตั้งแต่ฐานขึ้นไปจนยอด และมีเครื่องทำไฟฟ้าของเขาเองอยู่ที่ฐานทักษิณ กลางคืนจุดไฟฟ้าประดับพระเจดีย์สว่างเหมือนอย่างเราแต่งประทีปเฉลิมพระชันสาทุกคืน การแต่งไฟฟ้าประดับพระเจดีย์เช่นว่าดูชอบทำกันทั่วไปเมืองพะม่าแม้จนตามหัวเมือง ถ้าแห่งใดมีพระเจดีย์ที่คนนับถือมากพอหาทุนได้ก็เปนทำไฟฟ้าประดับทุกแห่ง ที่ในเมืองร่างกุ้งดูปลาดอีกอย่างหนึ่งที่มิใคร่เห็นพะม่าตามถนนหนทาง ชาวเมืองดูเปนแขกอินเดียไปเสียทั้งนั้น เขาบอกว่าจำนวนพลเมืองร่างกุ้งมีแขกอินเดียมากกว่าคนชาติอื่นๆ ถึง ๒ ใน ๓ ส่วน พวกกรรมกรทำการต่างๆ แม้จนคนแจวเรือและขับรถจ้าง คนรับใช้ตลอดจนคนขายของดูเปนพวกชาวอินเดียไปเสียทั้งนั้น เห็นพะม่าแต่พระสงฆ์กับพวกที่นั่งร้านขายของในตลาด และพวกช่างที่รับจ้างทำหัตถกรรม เขาว่าเปนเพราะพวกพม่าไม่ชอบทำการหนัก และไม่ชอบอยู่ในบังคับบัญชาของนายจ้างเหมือนอย่างชาวอินเดีย ชาวอินเดียจึงเอางานไปทำเสียโดยมาก

เวลาบ่ายวันพุธที่ ๒๒ มกราคม จะขึ้นไปบูชาพระเกศธาตุได้ทราบว่าที่บรรจุพระศพนางราชินีสุปยาลัตอยู่บนเนินในสวนหลวงใกล้ ๆ กันกับเนินพระเกศธาตุ จึงไปดูที่บรรจุพระศพก่อน ที่บรรจุนั้นก่อเปนมณฑปมีลายปั้นโบกปูนขาว รูปและขนาดเช่นเดียวกันกับที่บรรจุพระศพนางราชินีที่เมืองมัณฑเล มีรั้วเหล็กล้อมรอบอยู่เปนเอกเทศรักษาเรียบร้อย เผอิญแขกคนกำกับรถ “อาคาข่าน” ที่ไปกับเรา เคยเปนคนรับใช้ของนางราชินีสุปยาลัตมาแต่ก่อน เล่าให้ฟังว่าเมื่อนางราชินีสุปยาลัตกลับมาจากอินเดียดูแก่ชะราทรุดโทรม แต่งเครื่องขาวไว้ทุกข์ถวายพระราชสามีมาจนตลอดชนมายุ แต่ยังไว้ยศอย่างนางพระยาไม่ลดถอย ใครเข้าเฝ้าแหนต้องให้หมอบคลาน แม้ฝรั่งถ้าใส่เกือกไปเฝ้าก็ไม่ออกรับ ถ้าเห็นพวกขุนนางพะม่าเมื่อไรก็เปนเกิดความเคียดแค้น ว่าเปนพวกคนอกตัญญูไม่ยอมสมาคม ส่วนตัวผู้เล่าเองรับใช้อยู่ได้ไม่นานนักต้องทูลลาออกเพราะถูกหมอบคลานเจ็บหัวเข่าทนไม่ไหว การที่นางราชินีสุปยาลัตถือยศอย่างนั้นฝรั่งก็เล่ากัน เคยได้ยินเรื่องหนึ่งว่าเมื่อครั้งพระเจ้าเอดวาร์ดที่ ๘ ยังเปนปรินส์ออฟเวลส์เสด็จไปเมืองพะม่า เจ้าเมืองให้ไปถามนางราชินีสุปยาลัตว่าจะไปเฝ้าปรินส์ออฟเวลส์หรือไม่ ตอบว่าถ้าเอาสีวิการับก็จะไป เลยไม่ได้เฝ้า ฉันได้มีโอกาสถามข้าราชการอังกฤษกับทั้งเจ้านายพะม่าที่ได้พบปะสนทนากันถึงเรื่องพระเจ้าสีป่อเมื่อไปอยู่อินเดีย จะเอาเรื่องที่เขาเล่าให้ฟังกล่าวลงเสียตรงนี้ด้วย เมื่อรัฐบาลอังกฤษเอาพระเจ้าสีป่อไปไว้ที่เมืองรัตนคิรี อันอยู่ริมทะเลแหลมอินเดียด้านตะวันตกนั้นไม่ได้กักขังจะไปเที่ยวเตร่ที่ไหนก็ได้ จำกัดแต่ให้ไปเพียงในเขตต์เมืองถ้าจะไปนอกเขตต์เมืองต้องขออนุญาตก่อนจึงไปได้ รัฐบาลให้เงินเบี้ยเลี้ยงปีละ “หลัก” คือ ๑๐๐,๐๐๐ รูปีย์ แต่แรกไปมีพะม่าตามไปอยู่ด้วยมาก ครั้นนานมาพากันทูลลากลับบ้านเมืองเสีย เหลืออยู่สักหกเจ็ดคน พระเจ้าสีป่อจึงชอบใช้แต่พวกชาวอินเดีย (เห็นจะเปนข้อนี้ที่เปนเหตุให้นางราชินีสุปยาลัตเกลียดขุนนางพะม่า) พระเจ้าสีป่อถูกเนรเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ไปอยู่ในอินเดียกว่า ๓๐ ปี สิ้นพระชนม์ในระวางเวลามหาสงคราม พระชันสากว่า ๖๐ ปี รัฐบาลอังกฤษให้ฝัง (หรือบรรจุ) พระศพไว้ที่เมืองรัตนคิรี แต่อนุญาตให้นางราชินีสุปยาลัตพาลูกกลับมาอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง จัดที่ให้อยู่และให้เบี้ยเลี้ยงมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อสองปีมานี้ ชนมายุถึง ๗๐ ปีเศษ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ