วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

วันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๓ ส่งมาถึงปีนังในคราวเมล์วันศุกร์ที่ ๙ ทำให้สิ้นวิตกที่ไม่ได้รับลายพระหัตถ์ดังทูลไปในจดหมายของหม่อมฉันฉะบับก่อน จะทูลสนองความบางข้อที่ตรัสมาในลายพระหัตถ์ฉะบับนี้

เรื่องตุ๊กกะตาภาพไทยทำด้วยหินทรายที่อยู่ในวัดพระแก้ว ๔ คู่นั้น หม่อมฉันเห็นชอบด้วยตามที่ทรงพระปรารภว่าควรจะเอาเข้าไว้เสียในร่มหาไม่นานไปจะยิ่งสึกหรอจนเสียโฉม แต่เมื่อนึกดูที่จะตั้งในวัดพระแก้วก็ยังคิดไม่เห็นว่าจะเหมาะที่ตรงไหน เรื่องตำนานของตุ๊กกะตาหิน ๔ คู่นี้เคยได้ยินเล่ากันว่าเจ้า (อะไรจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว) คนหนึ่ง ซึ่งเปนน้องหรือเปนลูกหลานของเจ้าอนุเวียงจันท์ต้องโทษจำอยู่ในคุก เพียรจำหลักถวาย เปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษ ด้วยโปรดฝีมือทำรูปภาพนั้น ตามสำนวนเล่าราวกับว่าเจ้าคนนั้นคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง แต่พิเคราะห์ลักษณภาพและการที่หาศิลาเอามาทำส่อให้เห็นว่าน่าจะเปนของซึ่งทรงพระราชดำริให้ทำขึ้น เจ้าพวกเจียงจันท์เปนแต่อาสาเข้าหัดจำหลักแล้วเลยทำมาจนสำเร็จ จึงได้พระราชทานอภัย

ภูเขาที่ขุดหินทรายอย่างสีโคลนที่ทำรูปภาพ ๔ คู่นั้นอยู่ในแขวงจังหวัดลพบุรี ในท้องที่อำเภอสนามแจงหลังบ้านหมี่ไปทางตะวันออก พระยาโบราณ ฯ ได้เคยไปเห็นของที่ทำค้างทิ้งอยู่ที่ภูเขานั้น

เขาสรรพลึงค์ อยู่อีกทางหนึ่งข้างฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้เมืองลพบุรี ในหนทางที่จะมาเขาพระพุทธบาท หม่อมฉันเคยผ่านมาใกล้ ๆ เขานั้น เดิมตั้งใจจะแวะดู เพราะเคยได้ยินเล่ากันว่าตามชะง่อนเหมือนรูปลึงค์หลายแห่ง จึงเปนเหตุให้เรียกชื่อว่าเขาสรรพลึงค์ แต่พวกคนในท้องที่บอกว่าไม่เปนความจริงอย่างนั้น และไม่มีอะไรแปลกปลาดน่าดูที่เขานั้น หม่อมฉันสันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะชื่อว่า “เขาศิวลึงค์” ด้วยมีเทวสถานที่พวกขอมได้ทำศิวลึงค์ไว้ (เขาว่าทูลกระหม่อมพระราชทานนามเปลี่ยนว่า “เขาสรรพนิมิตร” ก็เห็นจะจริง) ท้องที่แถบนั้นงามมีเขาขนาดย่อม ๆ รายไปในท้องทุ่งนาซึ่งเรียกว่า ตำบลหนองศาลา แต่เดิมคงจะมีเทวสถานของพวกขอมหลายแห่งในแถบนั้น หม่อมฉันได้ไปแวะที่เขาหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้เสียแล้ว) ซึ่งมีถ้ำ ในถ้ำนั้นมีรูปพระโพธิสัตว์และพระพุทธรูปเทวรูปของชำรุดขนไปเก็บสะสมไว้มาก หม่อมฉันได้เลือกย้ายเอามาไว้พิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ ก็มี คือรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรขนาดใหญ่เหมือนรูปยักษ์จำหลักพระพุทธรูปเปนลายติดตัว ซึ่งตั้งอยู่ทางช่องออกจากพระวิมานไปทางพระที่นั่งอิศเรศรฯ คู่หนึ่งนั้นเปนต้น บางทีท่านคงจะทรงจำได้

ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศคิดเห็นว่า “อาสน” เปนที่ยกพื้นสูงนั้น หม่อมฉันคิดเห็นว่า อาสน น่าจะหมายความแต่ว่าที่อันจัดไว้ให้นั่งเท่านั้นเอง จะสูงหรือต่ำเห็นจะไม่ถือเปนประมาณ

ตำราราชาภิเศกครั้งกรมขุนพรพินิตนั้น หม่อมฉันจำได้ว่าเปนคำให้การข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรด ฯ ให้ถาม คดีเรื่องราชาภิเศกหม่อมฉันได้ตรวจตำราต่าง ๆ และได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือพงศาวดารรัชชกาลที่ ๒ โดยพิสดาร ถ้าจะใคร่ทรงทราบขอให้ทรงพลิกดูในหนังสือนั้นเถิด

ชื่อพระแสงที่เรียกว่า “ดาบเชลย” นั้นชอบกลอยู่ พิเคราะห์ตามศัพท์ ความส่อว่าเปนดาบได้มาจากผู้ซึ่งต้องตกอยู่ในอำนาจดังทรงพระดำริ แต่มีที่ใช้อีกนัยหนึ่งหมายว่า เปนรูปของดาบชนิดหนึ่ง ดังปรากฏในริ้วกระบวรแห่เลียบพระนครว่ามีทหารพวกหนึ่งถือ “ดาบเชลย” ดังนี้น่าจะตรวจศัพท์ เชลย นั้นเอง ที่เอามาใช้กับดาบจะเพี้ยนมาจากศัพท์อื่น หรือใช้ศัพท์นั้นเองมาแต่เดิม ถ้าใช้คำเชลยมาแต่เดิม ทางที่จะสันนิษฐานก็จะต้องพิจารณาต่อไปว่า ดาบเชลย นับเปนพระแสงอัษฎาวุธมาแต่เมื่อใด สมมตว่าถ้านับมาแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหมือนอย่างพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง และพระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่ายไซร้ ก็น่าจะลงเนื้อเห็นว่าเปนดาบได้มาจากพวกพม่ามอญหรือไทยใหญ่ที่เปนเชลยในครั้งนั้น แต่ถ้านับดาบเชลยเข้าในพระแสงอัษฎาวุธเมื่อภายหลัง ความหมายก็กลายเปนอย่างอื่น จะทูลต่อไปในเรื่องพระแสงอัษฎาวุธ เมื่อรัชชกาลที่ ๕ หม่อมฉันได้เห็นจดหมายเหตุเก่าซึ่งกรมพระสมมติฯ ทรงพบในห้องอาลักษณ์ ปรากฏว่าครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างเครื่องราชูปโภคเมื่อจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ได้โปรดฯ ให้ส่งรายชื่อพระแสงอัษฎาวุธไปหารือสมเด็จพระสังฆราชว่าจะถูกหรือยัง เปนข้อส่อให้เห็นว่าเมื่อกรรมการข้าราชการเก่า ปรึกษากันเขียนรายการเรื่องราชาภิเศกครั้งกรมขุนพรพินิตถวายนั้น จะไม่มีหลักแน่นอนว่าพระแสงอะไรบ้างที่นับในอัษฎาวุธ เพราะพระแสงที่เข้าพระแท่นมณฑลมากด้วยกัน จะเลือกกำหนดแต่ ๘ อย่าง ความสำเหนียกอาจจะต่างกัน จึงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชสอบสวนอีกชั้นหนึ่ง หม่อมฉันสันนิษฐานว่าต้นตำราอัษฎาวุธคงมาแต่อินเดีย เดิมทีเดียวก็เห็นจะกำหนดเครื่องประหารอันเปนคู่มือ ๘ อย่าง ที่ใช้ในการรบพุ่งในสมัยเมื่อตั้งตำรานั้น ครั้นจำเนียรกาลนานมามีเครื่องใช้รบที่วิเศษกว่าของเดิมเกิดขึ้นเช่นปืนไฟเปนต้น ก็เอาของใหม่ที่ดีเปลี่ยนอย่างเดิม เอาแต่จำนวน ๘ ไว้เปนเกณฑ์ เพราะฉะนั้นพระแสงอัษฎาวุธจึงมีเครื่องรบตั้งแต่อย่างเก่า เช่นจักรมาจนปืนไฟ แล้วเลือกเอาของวิเศษอันมีต้องตำราเข้าใช้ในพระแสงอัษฎาวุธอีกชั้นหนึ่ง ยกตัวอย่างดังเช่น ปืน ตามตำราก็จะกำหนดแต่ว่า ปืนไฟ ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีพระแสงปืน ซึ่งยิงข้ามแม่น้ำสะโตงได้เปนของวิเศษ จึงเอาพระแสงปืนกระบอกนั้นเข้าใช้ในพระแสงอัษฎาวุธ พระแสงของ้าวก็ทำนองเดียวกัน ว่าโดยนัยนี้พระแสงดาบเชลยตามตำราก็จะมีแต่ว่าดาบ ครั้นได้ดาบดีมาจากเชลยเล่มหนึ่งเห็นเปนของวิเศษ จึงเอาเข้าเปนพระแสงอัษฎาวุธเรียกว่า ดาบเชลย เปนแต่เครื่องหมายเหมือนอย่างเรียกพระแสงดาบเล่มอื่นว่า คาบค่าย ใจเพ็ชร และพระแสงเวียด (นัม) บางทีดาบทหารที่เรียกว่าดาบเชลยนั้น จะเปนเพราะทำรูปตามอย่างพระแสงดาบเชลย ก็เปนได้ดอกกระมัง ขอให้ทรงพิจารณาดู

เมื่อร่างจดหมายนี้แล้วหม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๐ มาถึงเมื่อวันที่ ๑๒ นี้ ขอรอไว้ทูลตอบในคราวเมล์หน้าต่อไป.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ