ระเบียบแห่งการแสดงความเคารพของภิกษุ

สำเนา คัดจากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๓ ภาค ๖ พ.ศ. ๒๔๕๘

สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระปรารภว่าการแสดงความเคารพเปนธรรมเนียมอันดี ภิกษุรู้จักทำให้สมควรแก่ตนแก่ท่านแก่กาละเทศะแล้ว จัดว่าเปนปริสัญญผู้รู้จักบริษัท อาจยังความเลื่อมใสของบริษัทให้เกิด เป็นเกียรติของพระพุทธศาสนา จึงทรงวางระเบียบไว้ เพื่อเปนทางสำเหนียกของภิกษุทั้งหลาย ดังต่อไปนี้ฯ

๑. การแสดงความเคารพมาในบาฬี ๔ อย่าง คือ อภิวาท หรือ วันทนะ คือ กราบหรือไหว้ ๑ อุฏ์ฐานะ คือลุกยืน ๑ อัญชลิกรรม คือ ประณมมือ ๑ สามีจิกรรมคือแสดงอัชฌาสัย ๑ ฯ

๒. อภิวาท ในบาฬีพระสูตร ไม่ได้กล่าวถึงท่าทางไว้ว่าทำอย่างไร มีแต่เพียงว่าแรกมาทำก่อนนั่ง เมื่อกลับ ลุกจากที่นั่งก่อนจึงทำ แลกล่าวการหมอบซุบแทบเท้าเมื่อขอขะมาไว้โดยโวหารอื่น น่าจะได้แก่ยืนไหว้ ใช้เปนการไหว้อย่างสูงได้ เช่นข้าราชการถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในกาลก่อน นั่งคุกเข่าท่าพรหม ประณมมือยกขึ้นเหนือศีษะสามคาบ แสดงเคารพแก่เจ้านาย ใช้หมอบกราบ คือหมอบลง ประณมมือ ก้มศีษะลงบนมือคาบเดียวฯ วันทนะนั้นในบาฬีพระวินัยบางแห่ง บ่งว่ากราบ เช่นคำว่าให้วันทนะเท้าภิกษุทั้งหลาย ฯ สองศัพท์นี้ ในยุคอรรถกถาเข้าใจว่ากราบฯ ใช้แปลกันมาว่ากราบก็ได้ ไหว้ก็ได้ ชอบแก่เหตุฯ

๓. อภิวาท คือ กราบหรือไหว้นี้ ในพระวินัยให้ทำเฉพาะแก่ภิกษุผู้แก่พรรษากว่า แต่พระเถระมหานิกายโดยมาก ยอมทำแต่สมเด็จพระมหาสมณะ ก่อนแต่ทรงรับพระมหาสมณุตตมาภิเษกมาแล้ว เปนการผิดระเบียบพระวินัย แต่เปนสามีจิกรรม แสดงความอ่อนน้อมแก่การปกครอง เพื่อเปนตัวอย่างสำหรับภิกษุอื่นให้นิยมตาม ทั้งไม่ลักลั่นในเมื่อจะเข้าเฝ้าพร้อมด้วยผู้น้อย ฯ

๔. ในเวลาไปหาท่านผู้ใหญ่ ในสถานที่ใช้นั่งบนพื้น ควรใช้กราบสามหนด้วยเบญจางคประดิษฐ คือ จดหน้าผาก ฝ่ามือ ๒ และเข่า ๒ ลงที่พื้น ฯ พระเถระมหานิกายบางรูป เข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณะใช้หมอบกราบดังกล่าวในข้อ ๒ ไม่กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ แสดงอาการอย่างทำแก่เจ้านาย ไม่ใช่ทำในทางพระ มีกลเม็ดเข้าทีอยู่ดูไม่ขัดตา ฯ เข้าหาท่านในสถานที่ใช้นั่งเก้าอี้ ควรใช้ยืนไหว้ประณมมือ ยกขึ้นเหนือศีษะหรือพอเสมอหน้า โดยฐานานุรูปของท่านเปนที่เคารพมาก ยกเหนือศีษะ เปนที่เคารพพอประมาณ ยกเสมอหน้า ก้มศีษะลงน้อยหนึ่งทำคาบเดียว ฯ

๕. อภิวาทนี้ ไม่ควรทำในบ้านและตามทางนอกอาราม ไม่ควรทำเมื่อห่มจีวรคลุมสองบ่า ควรแสดงสามีจิกรรมดังจะกล่าวข้างน่า ฯ

๖. อนึ่งขณะที่นั่งอยู่ในสำนักท่านผู้ใหญ่กว่า ไม่ควรทำอภิวาทแก่ท่านผู้อื่น เว้นไว้แต่มีบทให้ทำ เช่นขะมาลงมาโดยลำดับฯ

๗. อุฏ์ฐานะ คือ ลุกยืนนั้น เปนธรรมเนียมที่ใช้อยู่ครั้งพุทธกาลก่อนแต่นี้ในเมืองเราใช้ธรรมเนียมหมอบคลานเปนเคารพ ยืนไม่เคารพ ขัดกันอยู่ จนไม่เข้าใจ หนังสือแต่งในปูนหลัง แก้ประเพณีเทวดามายืนเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ไถลนอกทางไป นอกจากเทวดา ภิกษุยืนรับเสด็จ ภิกษุนียืนเฝ้าก็ยังมี รูปพระสาวกที่ทำยืนน่าพระพุทธรูปก็ยังมีเปนตัวอย่าง ในบัดนี้ประเพณีเมือง ใช้ยืนเปนเคารพ เข้ารอยกันแล้วฯ

๘. การลุกยืนนี้ ควรใช้เมื่อเห็นพระเถระผู้ใหญ่กว่ามาในที่ไม่ได้ใช้นั่งบนพื้น ยืนตรงตัวหันหน้าไปทางท่าน ท่านยังไม่นั่งลงเพียงใด อย่าเพิกนั่งลงเพียงนั้น ต่อท่านนั่งลงแล้ว จึงนั่งได้ฯ

๓. ในเวลานั่งเข้าแถวหรือเข้าประชุมอยู่ในหมู่สงฆ์บนอาสนสงฆ์หรือในสถาน ใช้นั่งบนพื้น เห็นพระเถระผู้ใหญ่กว่ามา ไม่ควรลุกยืน ควรแสดงสามีจิกรรมดั่งจะกล่าวข้างน่าฯ

๑๐. ในขณะนั่งอยู่ในสำนักท่านผู้ใหญ่กว่า เห็นท่านผู้อื่นมา ไม่ควรลุกยืนฯ

๑๑. อัญชลิกรรม คือ ประณมมือนั้น ยกขึ้นเพียงอก ทำแก่ท่านผู้ใหญ่ใช้ได้ทั้งขณะยืนขณะนั่ง แต่ไม่จำจะต้องทำอยู่ตลอดคราว ควรทำเวลาฟังคำสั่งเปนต้นฯ ควรใช้เวลาว่าคำนมัสการพระ สวดมนต์ ทำวินัยกรรม ฟังพระปาติโมกข์ ฟังพระธรรมเทศนา แลกิจอื่นอันควรแก่เคารพฯ ใช้ทำแก่ผู้น้อยหรือแม้แก่คฤหัสถ์ก็ได้ เช่นรับกราบไหว้ ประสิทธิพรให้เขา ขะมาโทษเขา แต่ควรยกขึ้นไม่ถึงอกฯ

๑๒. ถ้านับการไหว้เข้าในอัญชลิกรรมด้วย เปนอัญชลิกรรมอย่างสูง ควรทำเฉพาะแก่ผู้ใหญ่กว่า อัญชลีกรรมอันกล่าวแล้วในข้อ ๑๑ เปนอัญชลีกรรมอย่างต่ำใช้ทำได้ทั่วไปฯ

๑๓. สามีจิกรรม คือ การแสดงอัชฌาสัย เช่นเดิรหลัง นั่งหลัง ให้ที่นั่ง หลีกทาง ลดร่ม ถอดรองเท้า เปนตัวอย่าง พึงรู้จักทำแก่ผู้แก่กว่าและอ่อนกว่าโดยสมควรแก่ประเภทแห่งการ บางอย่างควรทำแม้แก่คฤหัสถ์ เช่นมีเปนวัตรของภิกษุ ไม่สรวมรองเท้า ไม่กั้นร่มเข้าไปในบ้าน ในที่นี้จักแสดงเฉพาะบางประการฯ

๑๔. ในขณะนั่งเข้าแถวหรือเข้าประชุมอยู่ในหมู่สงฆ์ บนอาสนสงฆ์หรือในสถานที่ใช้นั่งบนพื้น เห็นท่านผู้ใหญ่กว่ามา พึงนั่งท่าตรง มีอาการสำรวมทอดตาดูท่าน แสดงมนสิการในท่านฯ พบท่านในบ้าน ที่ไม่ควรจะลุกยืน ไม่ควรอภิวาท ก็พึงทำเช่นนั้นฯ

๑๕. เดิรไปตามทาง พบท่านเข้า พึงหยุดยืนหันหน้าไปทางท่าน และทำอาการดังกล่าวแล้วในข้อ ๑๔ นั้น อาการเช่นนี้ มีมาในปกรณเปนปางพระถวายเนตร กล่าวว่าสมเด็จพระศาสดา ทรงแสดงเคารพแก่พระมหาโพธิ์พฤกษ์ด้วยอาการอย่างนั้น ฯ ถ้ากั้นร่มอยู่พึงหุบลง หรือเบนจากศีษะ โดยฐานานุรูปของท่าน ถ้าสรวมรองเท้า พึงถอดออก ถ้าท่านสรวมด้วย ไม่จำเปนฯ นั่งอยู่ในที่ควรจะลุกยืนได้ พึงทำอย่างนั้น และแสดงอาการแห่งสามีจิกรรมฯ

๑๖. เดิรไปตามทาง พบสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เสด็จผ่านมา พึงหยุดยืนแสดงอาการถวายเนตร เช่นแสดงแก่พระเถระผู้ใหญ่ดังกล่าวแล้วในข้อ ๑๕ นั้น ถ้าไปในยาน พึงนั่งท่านั้นฯ

๑๗. พบผู้อื่นแสดงความเคารพตามทาง ควรแสดงมนสิการในเขา ด้วยยกมือขึ้น หรือเบนร่ม แต่อย่าใช้พยักหน้าฯ

๑๘. ไปพบศพ พึงหยุดยืน หรือนั่ง สุดแต่สถานที่ แสดงอาการดุษณีคือนิ่งทอดตาดูศพ นึกให้ส่วนบุญ หรือนึกปลงกรรมฐานก็ตาม ฯ

๑๙. ภิกษุอันประเพณีห้ามไม่ให้อภิวาทผู้อื่นจากภิกษุผู้แก่พรรษากว่า ไม่ควรจะทนงตัวทำเย่อหยิ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาหาได้ทรงส่งเสริมในทางนั้นไม่ ชะรอยจะมีเหตุเช่นเปนธรรมเนียมของบรรพชิตมาแต่เดิมแล้ว ควรแสดงความเคารพแก่ท่านผู้อื่น โดยควรแก่ฐานของตนแก่ฐานของท่านฯ

๒๐. อันการแสดงความเคารพ ของบางหมู่ ย่อมมีพิธีแปลกจากของหมู่อื่น เช่นของทหาร ของภิกษุก็เปนเช่นนั้น ควรทำตามระเบียบของตน ไม่เพิกเฉยเสียแล้ว ก็เปนใช้ได้ฯ

ระเบียบนี้ทรงวางไว้ณะวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘

<กรม-วชิรญาณวโรรส>

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ