เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๑ ออกจากเมืองปีนังไปเมืองร่างกุ้ง

ณ วันเสาร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา ออกจากซินะมอนฮอลไปลงเรือไฟเล็กของรัฐบาลที่เจ้าเมืองสั่งให้คอยรับที่ท่าวิคตอเรีย พาไปส่งขึ้นเรือเมล์ชื่อกะระโคลา Karacola ของบริษัทบริติชอินเดีย British India อันทอดสมออยู่กลางอ่าว พวกไทยที่มาอยู่ปีนังด้วยกันมีแก่ใจไปส่งโดยมาก ส่งเพียงท่าเรือบ้าง ตามไปส่งถึงเรือใหญ่บ้าง ผู้ที่จะไปด้วยกันมีลูกหญิงพูน หญิงพิลัย หญิงเหลือ ซึ่งเคยเปนเพื่อนเที่ยวมาแต่ครั้งไปเมืองเขมรและเมืองชะวาทั้ง ๓ คน กับพระองค์หญิงใหญ่ศิริรัตนบุษบง ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรรค์วรพินิต เธออยากเห็นเมืองพะม่า จึงชวนไปด้วยอีกพระองค์ ๑ รวมไปด้วยกัน ๕ คน ทั้งนายชิดคนรับใช้ ซึ่งเคยไปเมืองสุมาตราและเมืองชะวามาด้วยกันแต่ก่อน ลงเรือแล้วต้องคอยอยู่กว่าชั่วโมง เรือจึงออกเมื่อเวลาเที่ยงครึ่ง พวกเราด่วนลงเรือเพราะเมื่อไปซื้อตั๋วเดินทางถามถึงเวลาเรือออก พวกเอเยนต์เขาบอกว่าจะออกเวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา เราไม่รู้เท่าว่าเขาบอกผ่านชั่วโมงหนึ่ง เพราะคนโดยสารมักโอ้เอ้ เขาผ่านเวลาไว้สำหรับคนโดยสารจะได้ไปรวมกันที่ท่า พอก่อนเรือออกสัก ๓๐ นาทีก็เอาเรือไฟเล็กรับรวมกันไปลงเรือใหญ่ เราไปเรือเล็กของรัฐบาลจึงไม่รู้วิธีของเขา คนโดยสารชาติอื่นที่ไปในเรือลำเดียวกันก็มีมาก เพราะเปนระดูสำหรับเที่ยวเมืองพะม่าและอินเดีย และมีเรือของบริษัทนี้สายเดียว ที่รับคนโดยสารไปมาในระวางเมืองปีนังกับเมืองร่างกุ้งโดยมีวันกำหนดแน่นอน คือออกจากเมืองปีนังวันเสาร์ถึงเมืองร่างกุ้งวันอังคาร และกลับจากเมืองร่างกุ้งวันพฤหัสบดี ถึงปีนังวันอาทิตย์ เสมอเปนนิจ นอกจากเรือสายนี้รู้ไม่ได้แน่ว่าจะมีเรือบริษัทไหนไปเมืองร่างกุ้งเมื่อใด เรือของบริษัทบริติชอินเดียจึงเหมือนผูกขาดรับส่งคนโดยสารในทางที่ว่ามา

บริษัทบริติชอินเดียเปนบริษัทใหญ่ตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ เมืองกาลกัตตา มีเรือกำปั่นไฟกว่าร้อยลำ เรือของบริษัทนี้เที่ยวรับส่งคนโดยสารและสินค้าตามเมืองต่างๆ ตลอดน่านน้ำในอินเดีย และมีเรือเดินในระวางอินเดียกับประเทศอื่น ๆ ก็หลายลำ เรือเมล์ที่เดินระวางเมืองสิงคโปร์กับกรุงเทพฯ ก็เปนของบริษัทนี้ บรรดาเรือของบริษัทบริติชอินเดีย พอเห็นก็รู้ได้ด้วยปล่องไฟทาสีดำมีแถบขาวคาดเส้นดำเปนสำคัญเหมือนกันหมดทุกลำ ลำชื่อกะระโคลาที่พวกเราไปขนาด ๗๐๐๐ ตันอยู่ในประเภทเรียกว่า “เรือรับคนโดยสารกับสินค้า Passenger and Cargo Boat” ตามที่กำหนดลักษณเรือเดินระวางต่างประเทศ ยังมีเรือที่เรียกว่า “เรือรับคนโดยสาร Passenger Boat” รับคนโดยสารเปนสำคัญ เช่น เรือเมล์ของบริษัทปีแอนด์โอ P.&O. เปนต้นอีกประเภทหนึ่ง กับ “เรือรับสินค้ากับคนโดยสาร Cargo and Passenger Boat” คือเรือสำหรับรับสินค้าแต่มีห้องสำหรับคนโดยสารไปเพียงสี่ห้าคนอีกประเภทหนึ่ง เรือทั้ง ๓ ประเภทนี้ผิดกันที่เรือรับคนโดยสารถึงเร็ว แต่เรียกค่าโดยสารแพงหน่อย เรือรับคนโดยสารกับสินค้าถึงช้ากว่าเพราะต้องใช้เวลาจอดรับสินค้าด้วย เสียค่าโดยสารถูกลงเปนปานกลาง ส่วนเรือรับสินค้านั้นมีสินค้าที่ไหนก็หยุดรับทุกแห่ง ไปถึงช้ากว่าเพื่อน แต่เรียกค่าโดยสารก็ถูกกว่าเพื่อน สังเกตดูเรือกำปั่นที่ไปมาทางเมืองปีนัง อยู่ในประเภทที่รับคนโดยสารกับสินค้า เหมือนอย่างเรือลำที่เราไปนี้โดยมาก เรือกำปั่นยนต์ของบริษัทอิสต์เอเซียติคก็อยู่ในประเภทเดียวกัน เรือของบริษัทบริติชอินเดียแปลกกับเรือบริษัทอื่นอย่างหนึ่ง ที่คนในเรือนอกจากฝรั่งอังกฤษใช้แต่ล้วนแขกชาวอินเดีย จีนหามีไม่ แขกชาวอินเดียก็ใช้ต่างกันเปน ๒ เหล่า เหล่ากลาสีสำหรับการเดินเรือใช้พวกแขกลัสคาร์ ซึ่งถือสาสนาอิสลาม เพราะพวกแขกอิสลามไม่ถือคติชาติตระกูลเหมือนพวกฮินดูแลไม่กินเหล้าด้วย แต่เหล่าคนใช้ในการปฏิบัติ เช่นบ๋อยและกุ๊กใช้แขกชาวอินเดียพวกที่ถือสาสนาคริสตังมาแต่เมืองโคว์ อันเปนเมืองขึ้นของโปรตุเกศเปนพื้นเพราะไม่ถือคติรังเกียจอาหารเช่นเนื้อหมู และเนื้อโคเปนต้น เลยเปนช่องอาชีพของชาวอินเดีย ๒ จำพวกนั้นรับจ้างสืบตระกูลกันมาช้านาน ปลาดอยู่ที่กลาสีแขกลัสคาร์ไม่ว่าเดินเรือบริษัทไหน ใช้เครื่องแต่งตัวแบบเดียวกันหมด คือใส่เสื้อผ้าเขียวครามชายยาวถึงเข่า นุ่งกางเกงยาวสีเดียวกัน มีผ้าสีแดงคาดเอวและโพกหัวทั้งนั้น ฝรั่งหรือแขกจะคิดแบบขึ้นไม่ทราบ แต่เห็นจะแต่งเช่นนี้มานับด้วยร้อยปีแล้ว ด้วยเคยเห็นรูปภาพแขกแต่งตัวอย่างนี้มีตามวัดที่เขียนแต่ในรัชชกาลที่ ๓ แต่พวกบ๋อยนั้นแต่งตัวใส่เสื้อปิดคอ นุ่งกางเกงผ้าขาวอย่างฝรั่ง ไม่ใส่หมวกหรือผ้าโพก

ลักษณการที่ไปในเรือเมล์ไม่ว่าเรือของบริษัทไหน เปนทำนองเดียวกันหมด เจ้าของเรือเอาใจใส่คนโดยสารให้กินอยู่เล่นหัวเปนสุขสบายหมดทุกอย่างที่จะทำได้ ส่วนคนโดยสารต่างชาติต่างภาษาเมื่อแรกลงเรือยังไม่คุ้นกัน ต่างพวกต่างก็อยู่ตามพวกของตน แต่พอข้ามวันก็เริ่มวิตสาสะคุ้นกันแลกันยิ่งขึ้นทุกที พวกเราที่ไปก็เปนเช่นนั้น วันแรกลงเรือไม่รู้จักกับใคร พอถึงวันที่ ๒ มีหญิงอเมริกันคน ๑ ขอให้กัปตันพามาหาฉันบอกว่าได้เข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ไปอยู่กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยคน ๑ ได้ยินเขาพูดถึงฉันจึงอยากรู้จัก เมื่อรู้จักกันแล้วแกก็เลยไปหาเพื่อนโดยสารคนอื่นให้มารู้จักอีก พอวันที่ ๓ ก็คุ้นกันแทบทั้งหมด ทางทะเลไปเมืองพะม่าระดูนี้เรียบดีมีคลื่นใต้น้ำพอเรือกระเทือน ทำให้คนขี้เมาเมาคลื่นเมื่อผ่านเมืองระนองคืนหนึ่งเท่านั้น แล่นเรือสองวันครึ่ง ใกล้จะถึงปากน้ำเมืองร่างกุ้งก็เริ่มทำพิธีสำหรับจะเข้าเมือง สมุห์บัญชี Purser สำหรับเรือให้เอากระดาดแบบพิมพ์มาแจกคนโดยสารให้เขียนบอกจำนวนสิ่งของต่างๆ ซึ่งจะต้องจดทะเบียนตามกฎหมายเช่นปืนผาอาวุธเปนต้นกับทั้งสิ่งของที่จะต้องเสียภาษี ส่วนพวกเราบอกเพียงค่ามีแต่ของสำหรับใช้สอยส่วนตัวเท่านั้นก็เปนอันพอใจ เขาสั่งบรรดาคนโดยสารให้เตรียมตัวให้เจ้าพนักงานตรวจแต่เวลาเช้า ๖ นาฬิกาด้วย

วันอังคารที่ ๒๑ มกราคม เรือถึงปากน้ำร่างกุ้งตั้งแต่ดึก ปากน้ำร่างกุ้งไม่มีประภาคาร เพราะพื้นดินในทะเลเปนเลนลึกออกไปไกลปลูกประภาคารไม่ได้ ต้องใช้เรือจุดโคม Lightship ทอดรายตามร่องน้ำเปนสำคัญ เรือเข้าออกได้ทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อเรือเข้าปากน้ำแล้วยังต้องแล่นในแม่น้ำขึ้นไปทาง ๒๐ ไมล์จึงถึงเมืองร่างกุ้ง ลำน้ำตอนก่อนถึงเมืองได้แลเห็นเมื่อขากลับเวลาบ่าย มีทางแยกไปสองฝ่าย ฝ่ายตะวันออกไปได้ถึงแม่น้ำสะโตง ทางฝ่ายตะวันตกไปได้ถึงแม่น้ำเอราวดี ลำน้ำร่างกุ้งอยู่กลางน้ำลึกกว่าเพื่อน เมืองร่างกุ้งจึงเปนเมืองสำคัญในการไปมาค้าขาย ตอนข้างใต้ในระวางปากน้ำกับที่ตั้งเมือง ทางฝั่งตะวันออกทำที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมันดิบ Petrol ใหญ่โตถึง ๓ ตำบล มีถังใหญ่ใส่น้ำมันนับไม่ถ้วน บ่อน้ำมันดิบอยู่ไกลจนเกือบถึงเมืองพุกาม ระยะทางถ้าจะเดินบกก็เห็นจะราวตั้ง ๗ วัน เขาพยายามฝังท่อปล่อยน้ำมันดิบให้ไหลมาจากตำบลที่ขุดจนถึงโรงกลั่นได้ดูจะลงทุนมากนักหนา แต่เปนสมบัติสำคัญอย่างยิ่งของอังกฤษแห่งหนึ่งซึ่งต้องรักษาจนสุดกำลัง พอรุ่งสว่างเรือก็ถึงเมืองร่างกุ้ง ต้องทอดสมออยู่ข้างใต้เมืองเพื่อให้ตรวจตราเสียก่อน มีตำรวจกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ลงมาแยกกันนั่งเปน ๓ กอง ส่วนคนโดยสารที่จะรีบขึ้นบกเช่นพวกเราก็แต่งตัวเตรียมพร้อมเมื่อเรือถึง พวกที่ยังจะอยู่ในเรือก็ยังไม่แต่งตัว เปนแต่ใส่เสื้อยาว Dressing gown พากันขึ้นไปหาเจ้าหน้าที่ เขามีบัญชีซื่อ ซึ่งนายเรือทำยื่นไว้แล้ว พนักงานกองตรวจโรคมีหมอผู้ชายสำหรับตรวจผู้ชายคน ๑ หมอผู้หญิงสำหรับตรวจผู้หญิงคน ๑ ลักษณการตรวจนั้น คนโดยสารชั้นที่ ๑ หมอแลดูหน้า ถามชื่อจดแต้มในบัญชีแล้วก็เปนเสร็จ กองตรวจคนเข้าเมืองเรียกเอาหนังสือเดินทางไปตรวจสอบ เมื่อเห็นถูกต้องประทับตราให้เปนสำคัญแล้วเปนเสร็จ กองศุลกากรเห็นจะกำหนดจำนวนเงินถ้าต้องเสียภาษีสิ่งของที่พาเข้าไป เมื่อขึ้นบกเขายังเปิดหีบผ้าผ่อนค้นตรวจอีกครั้งหนึ่ง ที่พรรณนามานี้ว่าแต่จะเพาะคนโดยสารชั้นที่ ๑ คนโดยสารชั้นที่ ๒ ก็เห็นจะตรวจทำนองเดียวกัน แต่คนโดยสารชั้นที่ ๓ ซึ่งอาศัยไปบนดาดฟ้า เขาจะตรวจกวดขันขึ้นอย่างไรหาได้เห็นไม่ ถ้าว่าฉะเพาะพวกเรา เปนแต่ทำพิธีเพราะรัฐบาลสั่งไว้เสร็จแล้ว พอได้ยินชื่อก็เชิญให้ผ่านไปหาได้ซักไซ้ตรวจค้นอย่างใดไม่ มีกิจอีกอย่างหนึ่งซึ่งคนโดยสารต้องทำก่อนขึ้นจากเรือ คือให้บำเหน็จแก่คนรับใช้ ในเรือมีบ๋อยผู้ปฏิบัติประจำห้องที่อยู่คน ๑ บ๋อยผู้เลี้ยงอาหารประจำโต๊ะที่ตนนั่งคน ๑ (หรือ ๒ คน) กับคนรักษาห้องน้ำซึ่งช่วยปฏิบัติเมื่ออาบน้ำอีกคน ๑ ลักษณให้บำเหน็จคนรับใช้เคยสังเกตเมื่อไปยุโรปครั้งหลัง เห็นมี ๒ อย่าง ให้รายตัว เช่นพรรณนามาอย่างหนึ่ง บวกเพิ่มในค่าอยู่กินอีกร้อยละ ๑๐ เปนบำเหน็จคนรับใช้ให้เขาไปแจกกันเองอย่างหนึ่ง เขาว่าอย่างก่อนไม่ได้ถึงคนรับใช้ที่เราไม่เห็นหน้า เช่นคนทำครัวหาอาหารให้เรากิน เปนต้น ถ้าให้เขาแจกได้บำเหน็จทั่วหน้ากัน มักใช้ตามโฮเตลเปนพื้น เมื่อเสร็จการตรวจตราแล้งจึงเลื่อนเรือขึ้นไปจอดเทียบท่าศุลกากรที่เมืองร่างกุ้ง

พอเรือเทียบท่าก็มีผู้มารับพวกเรา ๓ คน คือมิสเตอร์ฟิลิบแนชผู้ช่วยเลขานุการใหญ่ในรัฐบาลพะม่า Assistant Chief Secretary of the Goverment of Burma (คล้ายกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) คน ๑ มิสเตอร์ไปรเออ (ผู้จัดการบริษัทบอมเบเบอม่า) กงสุลสยามคน ๑ มิสเตอรคัสโตเนีย ผู้จัดการห้างอิสต์เอเซียติค (ซึ่งเปนเอเยนต์ของพวกเรา) และเปนกงสุลเดนมาร์คด้วยคน ๑ พอแสดงคำต้อนรับแล้วเขาก็บอกข่าวสำคัญซึ่งพึ่งทราบในเช้าวันนั้น ว่าพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ สวรรคตเสียแล้ว พวกเราพากันตกตลึง ด้วยเมื่อออกจากปีนังไม่ได้ยินรี่แววว่าประชวรเลย มาทางทะเลเพียง ๓ วันได้ข่าวก็ว่าสวรรคตทีเดียว ถ้าเปนเวลาอื่นก็เห็นจะรู้สึกเศร้าโศกมาก เพราะคิดถึงพระคุณที่ท่านทรงพระเมตตาทั้งตัวฉันและหญิงพูนหญิงพิลัยเมื่อไปยุโรป และต่อมาใครไปเฝ้าจากเมืองไทยก็ยังตรัสถามถึงเสมอ และโปรดประทานพรเมื่อขึ้นปีใหม่เสมอทุกปีด้วย แต่ทราบข่าวในเวลากำลังชุลมุนจะขึ้นบกเมื่อแรกถึงเมืองต่างประเทศความรู้สึกก็ออกชาไป ได้แต่แสดงความเสียใจแก่ผู้แทนรัฐบาลที่มาต้อนรับ แล้วเขาพาขึ้นรถยนต์ไปส่งยังโฮเตลสะแตรนด์ Strand Hotel ที่รัฐบาลได้ว่าไว้ให้เปนที่พวกเราพักเวลาอยู่ในเมืองร่างกุ้ง เพราะเปนโฮเตลใหญ่อยู่สบายกว่าแห่งอื่น แต่เมื่อเราไปถึง เซอร์ ฮยู สตีเฟนสัน Sir Hugh Stephenson เจ้าเมืองพะม่าไม่อยู่ กำลังไปตรวจราชการอยู่ที่ยักไข่ พอไปถึงโฮเตลได้สักครู่ มิสเตอร์กรอ เลขานุการใหญ่ในรัฐบาลพะม่า Mr. Kraw Chief Secretary of the Government of Burma (เทียบที่อย่างเปนเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ) ก็มาหา เปนผู้ใหญ่มีอัชฌาศัยดี บอกว่าตั้งแต่ เซอร์ โจเซีย ครอสบี ราชทูตอังกฤษ ในกรุงเทพฯ บอกไปให้ทราบว่าฉันจะไปเที่ยวเมืองพะม่า รัฐบาลก็ยินดีที่จะจัดการทั้งปวงให้ฉันได้เที่ยวเตร่สมประสงค์ทุกอย่าง ได้มีคำสั่งไปตามหัวเมืองที่ฉันกะโปรแกรมว่าจะไปนั้นทุกแห่งแล้ว ส่วนรัฐบาลที่เมืองร่างกุ้งเดิมกะว่าจะมีการเลี้ยงเวลาค่ำ และมีละคอนพะม่าให้ดูเปนการต้อนรับ แต่เผอิญเกิดไว้ทุกข์ที่พระเจ้ายอร์ชสวรรคต ก็เปนอันจนใจจำต้องงด ฉันตอบขอบใจและบอกว่าทางฝ่ายพวกฉันเองก็มีความเศร้าโศกอยู่ ด้วยได้เคยคุ้นกับพระองค์ทรงพระกรุณามาแต่ก่อน ถ้าหากรัฐบาลจะทำพิธีศราทธพรตถวายเมื่อใด ฉันใคร่จะขอโอกาสไปช่วยในการพิธีนั้นด้วย มิสเตอร์กรอตอบว่ายังไม่ได้กำหนดวันพิธี เพราะยังไม่ทราบว่าจะฝังพระศพวันไหนแน่ แต่จะจัดให้ได้โอกาสช่วยงานตามประสงค์ ส่วนการเดินทางของฉันนั้นเขาจะให้มิสเตอร์แนช (ปลัดกระทรวง) เปนผู้ไปมาติดต่ออยู่เสมอ ถ้าฉันปราร์ถนาจะให้รัฐบาลช่ยเหลืออย่างใดเมื่อใดขอให้บอกแก่มิสเตอร์แนชโดยพูดทางโทรศัพท์หรือเรียกมาหาก็ได้ เมื่อก่อนมิสเตอร์กรอจะลาไป ถามขึ้นว่าฉันจะไปที่พระเกศธาตุ Shwe Dagon หรือไม่ ฉันตอบว่าเรื่องนั้นฉันมีความลำบากอยู่ เขาถามขึ้นก็ดีแล้วฉันอยากจะปรึกษาด้วย แต่จะต้องเล่าเรื่องเบื้องต้นยืดยาวสักหน่อย เมื่อฉันไปเมืองร่างกุ้งครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ นั้นฉันแต่งตัวอย่างฝรั่ง ใส่เกือกขึ้นไปบนลานพระเกศธาตุก็ไม่มีใครห้ามปราม พวกพะม่าที่เปนกรรมการรักษาพระเกศธาตุในสมัยนั้นมาพาฉันเที่ยวดูด้วยซ้ำไป ต่อมาอีกหลายปีจึงปรากฏว่าพวกพะม่าเริ่มแสดงความรังเกียจที่ชาวต่างประเทศใส่เกือกเข้าในลานพระเจดีย์ และห้ามปรามอย่างกวดขันแต่นั้นมา ฉันเข้าใจว่าที่จริงเปนเหตุในทางการเมือง รัฐบาลเมืองพะม่าได้เคยถามไปยังรัฐบาลสยาม ว่าประเพณีในประเทศนั้นเปนอย่างไร เวลานั้นฉันยังเปนสมาชิกอยู่ในรัฐบาลได้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ส่งคำถามไปยังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ๆ ถวายวินิจฉัยว่าบุคคลเข้าไปในที่เจดียสถาน จะเปนเจดียสถานในสาสนาของตนเองก็ตาม หรือสาสนาอื่นก็ตาม ควรเข้าไปด้วยความเคารพ ถ้าไม่อยากจะเคารพก็ไม่ควรเข้าไปทีเดียว ก็ความเคารพนั้นถ้าว่าฉะเพาะด้วยเครื่องแต่งตัว คนชาติใดหรือจำพวกใดถือประเพณีว่าแต่งตัวอย่างไรเปนการเคารพ ก็ควรแต่งตัวอย่างนั้น ไม่ได้เปนใหญ่อยู่ที่เกือก (มิสเตอร์กรอว่าเรื่องที่ฉันว่านั้นเขาก็ได้ทราบอยู่) ฉันพูดต่อไปว่าการที่พะม่าห้ามมิให้ชาวต่างประเทศใส่เกือกเข้าลานพระเจดีย์ จะเกิดขึ้นด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้ชาวต่างประเทศได้ยอมถอดเกือกตามพะม่าปราร์ถนาจนเปนธรรมเนียมแล้ว ถ้าฉันดึงดันใส่เกือกขึ้นไป โดยอ้างว่าได้เคยใส่เกือกขึ้นไปเมื่อครั้งก่อน ก็น่าจะเกิดวิวาทกับพวกพะม่าพาให้รัฐบาลต้องร้อนใจ ครั้นจะยอมถอดเกือกขึ้นไป ด้วยแต่งตัวอย่างฝรั่งเหมือนเช่นพวกฝรั่งที่ท่องเที่ยวทำกัน ก็ขัดข้องด้วยฉันถือพระพุทธสาสนา ถ้าแต่งตัวเช่นนั้นตามธรรมเนียมไทยถือว่าปราสจากความเคารพ ครั้นจะไม่ขึ้นไปเสียทีเดียวก็จะขาดประโยชน์ ข้อสำคัญที่ฉันมาเมืองพะม่าด้วยปราร์ถนาจะดูของโบราณ เพราะของดีที่น่าดูมักมีอยู่ตามเจดียสถานเปนพื้น ก็จะเหมือนมาเปล่าไม่ได้เห็นของที่อยากดู ทั้งลูกหลานที่มาด้วยกันก็จะพลอยไม่ได้เห็นด้วย ฉันจึงคิดไว้ว่าเมื่อขึ้นไปที่พระเกศธาตุ หรือไปดูเจดียสถานแห่งอื่นที่ฉันอยากเห็น จะแต่งตัวอย่างอุบาสกไทยคือนุ่งผ้าใส่เสื้อไม่ใส่เกือกถุงตีน ตามแบบเก่าเขาก็เห็นชอบด้วย และถามว่าจะให้บอกพวกกรรมการให้มาต้อนรับด้วยหรือไม่ ฉันขออย่าให้บอกเลย เพราะฉันจะขึ้นไปอย่างเงียบ ๆ เขาถามต่อไปถึงหัวเมืองอื่นที่ฉันจะไป ว่าฉันปราร์ถนาจะให้เจ้าเมืองกรมการพาเที่ยวหรืออย่างไร ฉันตอบว่าฉันอยากได้ผู้มีความรู้โบราณคดีในท้องที่เปนคนนำทางจะเปนใครก็ได้ ขอแต่อย่าให้ผู้นำต้องจำใจได้ความลำบากใจในเรื่องถอดเกือกในเวลาพาฉันไปเที่ยว เขาก็รับจะจัดการให้เปนไปตามความประสงค์ เขาจัดอย่างไรจะเอามากล่าวเสียตรงนี้ด้วยให้เสร็จไป คือแห่งใดเช่นที่เมืองหงสาวดีเปนต้น ถ้าเจ้าเมืองเปนพะม่า (ถือพระพุทธสาสนา) เขาให้เจ้าเมืองเปนผู้นำทาง แห่งใดเจ้าเมืองเปนฝรั่ง (ถือคริสตสาสนา) เจ้าเมืองเปนแต่มาต้อนรับ แล้วแต่งให้กรมการผู้ใหญ่ที่เปนพะม่าเปนผู้นำทาง นอกจากนั้นเขาสั่งให้ผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมโบราณคดี (เผอิญเปนพะม่า) อันที่ว่าการตั้งอยู่ ณ เมืองมัณฑเลมาเปนผู้นำเที่ยวด้วยอีกคนหนึ่ง

เมื่อมิสเตอร์กรอกลับไปแล้วมิสเตอร์คัสโตเนีย นายห้างอิสต์เอเซียติค มาบอกรายการที่เขาได้จัดเตรียมไว้สำหรับพวกเราให้ทราบ เปนต้นแต่รถยนต์ที่เราจะใช้ในเวลาอยู่เมืองร่างกุ้งนั้น ว่าเศรษฐีแขกอินเดียคนหนึ่งซึ่งชอบกับมิสเตอร์คัสโตเนีย มีแก่ใจให้ยืมรถเดมเลอของเขาหลัง ๑ ซึ่งนั่งได้ ๗ คน เปนรถเขาสั่งมาไว้สำหรับรับแขกเช่นเมื่ออาคาข่านมาเปนต้น กับคนประจำรถซึ่งรู้ภาษาอังกฤษ ๒ คนมาให้เราใช้ไม่ต้องเช่ารถ รู้สึกขอบใจเปนอันมาก รถไฟก็ได้ว่าไว้เสร็จแล้วเขาคิดเช่ารถสาลูนหลัง ๑ ด้วยพวกเราไปหลายคนด้วยกัน เช่ารถสาลูนรวมกันถูกกว่าซื้อตั๋วเปนรายตัว เรือที่จะโดยสารล่องลำน้ำเอราวดีเขาก็ได้ว่าไว้แล้ว แม้จนเงินที่เราจะใช้สอยในเวลาเดินทาง เขาก็ได้ว่าไว้กับธนาคารที่เมืองมัณฑเลและบริษัทเดินเรือในลำน้ำเอราวดี เราจะต้องการเงินใช้ที่ไหนก็เรียกได้ไม่ต้องขนเงินไปให้ลำบาก เขาช่างคิดรอบคอบดีจริงๆ ยังจะต้องจัดแต่เรื่องการกินอยู่ในเวลาเดินทางเขารอไว้ถามความพอใจของฉันก่อน ด้วยการเดินทางในเมืองพะม่ายังผิดกับยุโรปหลายอย่าง เปนต้นว่ารถไฟก็ไม่มีรถเสบียง คนโดยสารต้องลงซื้ออาหารกินตามสถานี รถนอนก็มีแต่พื้นกระดาน คนโดยสารต้องหาฟูกเปาะเมาะหมอนไปเอง ที่พักก็มีโฮเตลแต่ในเมืองร่างกุ้ง กับมีเรือนแรม Rest House ของกรมรถไฟตามสถานีที่เมืองใหญ่ ถ้าห่างทางรถไฟออกไปก็มีที่อาศัยแต่ศาลากลางย่าน แต่สำหรับพวกเราเขาได้ยินว่ารัฐบาลเตรียมที่พักไว้ให้ตลอดทางแล้ว ถึงกระนั้นจะต้องจัดเรื่องฟูกเบาะเมาะหมอนกับทั้งการกิน ด้วยตามประเพณีการเดินทางในเมืองพะม่าที่เปนชั้นผู้มีศักดิ์เขามีกุ๊กมีบ๋อยกับทั้งฟูกเบาะเมาะหมอนของเขาติดตัวไป ฉันจะใช้วิธีนั้นหรืออย่างไร ฉันบอกว่ารัฐบาลเขาได้มอบมิสเตอร์แนชไว้ (เผอิญเปนคนชอบกันกับมิสเตอร์คัสโตเนีย) ขอให้ปรึกษากันดู ถ้าเห็นอย่างใดดีฉันก็จะทำตาม ในที่สุดจึงตกลงจ้างบ๋อยคน ๑ กุ๊กคน ๑ เปนแขกอินเดียถือสาสนาคริสตัง และเคยไปกับคนเดินทางจนชำนาญทั้ง ๒ คน ส่วนฟูกเบาะเมาะหมอนนั้นบริษัททอมัสกุ๊ก Thomas cook and Son ซึ่งประกอบกิจสงเคราะห์คนเดินทางเปนอาชีพเขามีให้เช่า จัดเปนชุด มีนวมเปนที่นอนผืน ๑ ผ้าขาวปูที่นอน ๒ ผืน หมอน ๒ ใบ ผ้าขนห่มนอน ๒ ผืน ผ้าเช็ดหน้า ๒ ผืน ผ้าเช็ดตัว ๒ ผืน กับสะบู่ด้วยกลัก ๑ รวมมัดเปนม้วนเตรียมไว้ ไม่ต้องถามว่าจะต้องการสิ่งใดบ้าง พวกเราก็ตกลงตามประเพณีที่เขาประพฤติกัน

ถึงกลางวันในวันแรกถึงนั้น เมื่อฉันเดินลงไปยังห้องกินอาหารเห็นมีพวกไทยใหญ่ Shan นั่งอยู่ที่ห้องพักชั้นกลางโฮเตลสักสามสี่คน ฉันไม่ได้เอาใจใส่สังเกตด้วยไม่มีกิจที่ต้องรู้จัก แต่เมื่อกลับขึ้นไปถึงห้องได้สักครู่หนึ่ง คนรับใช้เอาการ์ดชื่อเข้าไปให้ อ่านดูจึงรู้ว่าเจ้าขุนศึกลูกเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ซึ่งเคยเข้าไปบวชเปนสามเณรอยู่ที่วัดเทพสิรินทราวาสนานมาแล้ว ก็เรียกเข้าไปหาทันที โตเปนหนุ่มจนจำไม่ได้ ข้างฝ่ายตัวเขาเองบอกว่าไม่รู้ว่าฉันจะไปเมืองพะม่า วันนั้นเขาไปหาเจ้าฟ้าเมืองตองเปง ไทยใหญ่ข้างฝ่ายเหนือซึ่งพักอยู่โฮเตลนั้น เมื่อเห็นฉันเดินผ่านลงไปดูคลับคล้ายคลับคลาไม่แน่ใจ ไปถามผู้จัดการโฮเตลเขาบอกชื่อ จึงรีบมาหา ฉันถามถึงเจ้าฉายเมืองพี่ชายที่เคยไปบวชอยู่ด้วยกัน บอกว่าเดี๋ยวนี้ก็อยู่ที่เมืองร่างกุ้ง ด้วยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงส่งมาเปนนักเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วยกันทั้ง ๒ คน ในบ่ายวันนั้นเองก็ไปพากันมา ดูเจ้าฉายเมืองไม่ใคร่แปลกตานัก ด้วยเคยลงมากรุงเทพฯ เมื่อรัชชกาลที่ ๗ ฉันได้พบอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่วันนั้นพอสิ้นเวลาเรียนเจ้าฉายเมืองกับเจ้าขุนศึกก็มารับธุระให้ใช้สอยทุกวัน วางตัวสนิทสนมเหมือนอย่างเปนลูกหลานน่ารัก และเปนประโยชน์แก่พวกเราในเวลาอยู่ร่างกุ้งมากด้วย

มิสเตอร์คัสโตเนียได้บอกไว้ว่าเวลาบ่ายจะพาภรรยามาหาเจ้าหญิง จึงนัดให้มากินน้ำชาด้วยกัน ภรรยาก็มีอัชฌาศัยดีเหมือนกับสามี รับจะเปนผู้พาเจ้าหญิงเที่ยวตามประสาผู้หญิง เช่นไปซื้อของเปนต้น เมื่อเสร็จการเลี้ยงน้ำชาแล้วขึ้นรถไปเที่ยวส่งการ์ดชื่อเยี่ยมตอบเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของรัฐบาลกับทั้งกงสุลสยามที่ได้ไปรับแล้วไปแวะที่บ้านมิสเตอร์คัสโตเนียครู่หนึ่ง กลับมาถึงโฮเตลจนพลบค่ำ

อนึ่งเมื่อก่อนจะขึ้นรถไปจากโฮเตลนั้น เจ้าฉายเมืองกับเจ้าขุนศึก พาเจ้าฟ้าเมืองตองเปงมาหา ยังหนุ่มดูเหมือนอายุจะราว ๓๐ ปี พูดภาษาอังกฤษได้คล่องชวนให้ไปเที่ยวเมืองของเธอ บอกว่าถ้าฉันไปถึงเมืองไทยใหญ่ พวกเจ้าฟ้าคงจะต้อนรับด้วยความยินดีทุกเมือง ฉันตอบขอบใจ แต่ไม่สามารถจะรับเชิญได้ ด้วยมีเวลาน้อยและได้กำหนดวันลงโปรแกรมเสียหมดแล้ว.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ