วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๔ มกราคมแล้ว เรื่องกะระยะทางเที่ยวเมืองพะม่ามีลำบากอยู่ด้วยกำหนดเรือ เปนต้นว่าเรือบริษัทบริติชอินเดียที่เปนเรือรับคนโดยสารไปมา ในระวางเมืองปีนังกับเมืองร่างกุ้ง เขาออกจากปีนังทุกวันเสาร์และออกจากเมืองร่างกุ้งทุกวันพฤหัสบดี ยังเรือของบริษัทเดินเรือในลำน้ำอิราวดี ก็ออกจากเมืองมัณฑเลตามวันกำหนดสัปดาหะละ ๒ ครั้ง ระยะทางกะครั้งแรกที่หม่อมฉันส่งสำเนาเข้าไปถวาย เมื่อสอบเข้าก็ไม่ตรงวันกำหนดเรือที่จะกลับมา ต้องเพิ่ม ๓ วันจะกลับถึงปีนังต่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ แต่ในวันที่เพิ่มขึ้นนั้น หม่อมฉันคิดจะไปดูเมืองเมาะลำเลิงและเมืองเมาะตมะด้วยมีทางรถไฟไปจากเมืองร่างกุ้งได้ แต่ที่จะผ่านมาทางเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดนั้น ขัดข้องด้วยมีเรือรับคนโดยสารเดินทางนั้น ๑๕ วันครั้งหนึ่ง จะต้องเสียเวลาช้านัก และไม่แน่ด้วยว่าจะมีเวลาพอขึ้นไปถึงตัวเมืองทวายและเมืองตะนาวศรีได้หรือไม่ เพราะเมืองตั้งห่างทะเลมากทั้ง ๒ เมือง เมืองมะริดนั้นหม่อมฉันก็เคยไปแล้ว หม่อมฉันได้ส่งรายวันที่แก้ใหม่มาถวายมากับจดหมายฉะบับนี้ ขอให้ทรงหยุดลายพระหัตถ์ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๑๘ นี้ไป จนวันเสาร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์จึงส่งอีก

พระไพรสณฑ์สาลารักษ์ (อองเทียน) เขาหาหนังสือนำเที่ยวเมืองพะม่าส่งมาให้หม่อมฉันหลายเล่ม อ่านดูได้ความรู้แปลก ๆ หลายอย่าง แต่จะรอไว้ทูลเมื่อกลับมาแต่งรายงานการเที่ยวถวาย จะทูลล่วงหน้าในจดหมายฉะบับนี้แต่เรื่องหนึ่ง ในอธิบายว่าด้วยเมืองมัณฑเลว่าที่ในพระราชวังแต่ก่อนมีหอนาฬิกาน้ำ และที่หอนั้นแขวนฆ้องกับกลองไว้สำหรับตีบอกเวลาแก่ชาวพระนคร บอกอธิบายแต่เท่านี้ พอหม่อมฉันเห็นก็หูผึ่งคิดขึ้นในทันทีว่าที่พระนครศรีอยุธยาก็คงเปนเช่นนั้นเหมือนกัน ฆ้องสำหรับตีกลางวัน กลองสำหรับตีกลางคืน เพราะฉะนั้นคำที่ไทยเราเรียกกำหนดเวลากลางวันว่า “โมง” มาแต่เสียง “โหม่ง” ของฆ้อง เรียกกำหนดเวลากลางคืนว่า “ทุ่ม” ก็มาแต่เสียง “ตุม” ของกลองนั่นเอง คงเปนคำพวกพลเมืองเรียกกันตามสดวกปากก่อนแล้วเลยเรียกตามกันจนแพร่หลาย แต่ในทางราชการเรียกว่า “นาฬิกา” คำเดียวกันทั้งกลางวันกลางคืน

ยังมีสาขาในเรื่องนี้ต่อไปซึ่งหม่อมฉันไปรู้อธิบายที่เมืองพาราณสีกว่า ๔๐ ปีมาแล้ว (ถ้าได้เคยทูลแล้ว ขอประทานโทษที่ทูลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง) เมื่อหม่อมฉันไปพักอยู่ที่วังรับแขกเมืองในเมืองนั้น ถึงเวลา ๒๑ นาฬิกา พอกินอาหารแล้วยังนั่งพูดกันอยู่ในห้องรับแขก ได้ยินเสียงย่ำฆ้องเหมือนอย่างย่ำยามในเมืองเรา ก็นึกปลาดใจถามผู้ที่เขามาอยู่ด้วย เขาบอกว่าเปนสัญญาผลัดคนอยู่ยาม ได้ยินก็เข้าใจทันทีว่าเหตุใดเราจึงมีแต่ ย่ำรุ่ง ย่ำเที่ยง ย่ำค่ำ ในเวลาวัน เพราะกลางวันคนยามประจำอยู่ ๖ ชั่วโมงจึงผลัด ถึงกลางคืนอยู่เพียง ๓ ชั่วโมงแล้วผลัด จึงมีย่ำทุกยามด้วยประการฉะนี้

นางสาวชื่น ธิดาพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ออกมาช่วยงานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ มาหาหม่อมฉัน เปนโอกาสหม่อมฉันได้ถามถึงเรื่องตระกูลพระยาชุมพร (ซุย) ได้ความเลอียดขึ้นคือพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ) เปนหลานพระยาชุมพร (ซุย) นั้น ด้วยมารดาเปนธิดาของพระยาชุมพร (ซุย) บุตรพระยาชุมพร (ซุย) ที่เกิดกับหญิงพะม่านั้นชื่อ มองเจียนตุ้น และนายจันทรพงศบุตรของมองเจียนตุ้นที่เข้ามาถวายตัวทำราชการในเมืองไทยได้เปนที่ หลวงวันการพิทักษ์ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ปลดจากราชการแล้วหาเลี้ยงชีพอยู่ที่เมืองเชียงใหม่

พระองค์หญิงอาภาฯ หาเช่าที่บ้านใหม่ได้แล้ว เปนตึกสองชั้นอยู่ริมถนนกาลาไวที่หม่อมฉันอยู่ ห่างไปทางตะวันตกเพียงสัก ๕ เส้นเท่านั้น ว่าจะย้ายมาอยู่ในวันพฤหัสบดีที่ ๙ มกราคมนี้ อนึ่งหม่อมฉันได้รูปฉายาลักษณ์งานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉะบับนี้ด้วย ๑๔ แผ่น

มีความเสียใจ เห็นในหนังสือพิมพ์ว่าตาเทาที่เปนหลวงขจร หรือหลวงอะไรในกรมไปรษณีย์โทรเลขถึงแก่กรรม แต่แกก็เห็นจะแก่มากแล้ว เมื่อครั้งหม่อมฉันว่าการมหาดไทยไปเดินทางเที่ยวตรวจหัวเมือง แกได้ไปด้วยแทบทุกครั้ง เอาเครื่องโทรเลขติดตัวไปด้วย ไปพักที่ไหนแกไปสับสายโทรเลขให้พูดกับกรุงเทพฯ ได้เสมอทุกวัน หม่อมฉันอยากจะแสดงความอาลัย ไม่รู้จะแสดงแก่ผู้ใดจึงทูลมายังท่าน ด้วยรู้อยู่ว่าทรงพระกรุณาตาเทาและเปนที่นับถือของตาเทามาก

หม่อมฉันแต่งเรื่องเมืองตะกั่วป่าตลอดแล้ว ได้ส่งตอนที่สุดมาถวายกับจดหมายฉะบับนี้ ต่อนี้จะหยุดพักจนกลับมาจากเมืองพะม่าจึงจะเขียนเรื่องอื่นถวาย มีเรื่องบวชนาคหลวงค้างอยู่เรื่องหนึ่ง แต่บางทีจะต้องแต่งรายงานเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าถวายก่อนยังไม่ได้กำหนดลงเปนแน่.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หลวงขจรยุตกฤตษ์ (เทา จันทรเวคิน)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ