วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม อธิบายตุ๊กกะตาศิลาทราย ๔ คู่ที่ประทานเพิ่มเติมมา คิดตามไปก็ยิ่งเห็นว่าเปนของวิเศษจริง ด้วยหม่อมฉันเคยดูรูป ๔ คู่นั้นมานับครั้งไม่ถ้วน ยังไม่เคยนึกติที่ตรงไหนเลย พ้นวิสัยที่ใครอื่นจะคิดสร้าง นอกจากพระราชดำริจริงดังทรงสันนิษฐาน ที่ในวัดพระแก้วยังมีตุ๊กกะตารูปภาพไทยอย่างอื่นทำด้วยศิลาทราย หม่อมฉันนึกจำได้มีรูปคชสีห์ตัว ๑ ตั้งอยู่ริมทางขึ้นพระมณฑป แต่สิ่งอื่นอีกนึกไม่ออก

คำว่า เชลย คงยุติได้ว่าเปนภาษาเขมรและเราเอามาใช้ตามอย่างเขมร น่าแปลว่า ชาวเมือง ดังพระดำริ ถ้าแปลเช่นนั้นก็เข้าได้หมดทุกอย่าง แต่ก็มิใช่เราที่จะตัดสิน

ในสัปดาหะนี้หม่อมฉันได้คิดวินิจฉัยเรื่อง ๑ ถึงที่ใช้คำขึ้นต้นบทละคอนว่า “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” และขึ้นต้นบทเสภาว่า “ครานั้น” จะเปนเพราะเหตุใด ยังคำว่า “แล” อีกคำ ๑ ซึ่งชอบลงไว้ข้างท้ายความสังเกตในหนังสือเก่าเช่นไตรภูมิพระร่วงลงคำ “แล” ท้ายความทุกประโยคก็ว่าได้ หนังสือข้อหลังมาเช่นใน คำเทศน์มหาชาติ ใช้คำ “แล” แต่ท้ายความตอน ๑ ซึ่งเราเรียกว่าแหล่นั้นแหล่นี้ จะมาแต่อะไร

ที่ใช้คำ เมื่อนั้น บัดนั้น ครานั้น เดิมจะเกิดแต่แปลหนังสือภาษามคธเปนภาษาไทยดอกกะมัง ด้วยสำนวนแต่งภาษามครเมื่อขึ้นข้อความมักมีคำ “อถ” ซึ่งแปลตามภาษาสยามว่า “ทีนั้น” หรือคำ “อถ โข” แปลว่า “ทีนั้นแล” เดิมชะรอยจะแปลหนังสือเช่นชาดกเปนต้นเปนภาษาไทย แปลคำ อถ ลงไว้ว่า เมื่อนั้น หรือ บัดนั้น หรือ ครานั้น จึงเลยกลายมาเข้าเปนสำนวนภาษาไทย

คำว่า “แล” นั้นหม่อมฉันนึกว่าเปนสำนวนไทย ชอบพูดลงท้ายประโยคด้วยคำว่า แล เช่นพูดว่า “เช่นนี้แล” “อย่างนั้นแล” มิใช่มาแต่แปลคำ โข ภาษามคธ เรื่องคำที่ทูลมานี้หม่อมฉันพึ่งนึกขึ้น ขอให้ทรงพิจารณาดู

เมื่อเร็ว ๆนี้ หม่อมฉันได้รับจดหมายบอกข่าวเจ้านครเชียงตุงถึงพิราลัยฉะบับ ๑ ซึ่งลูกชายใหญ่ผู้จะเปนแทนเจ้าเชียงตุงรับฉันทะน้อง ๆ ที่เคยรู้จักกับหม่อมฉันบอกมา ลูกชายใหญ่นั้นใช้นามตามยศว่า “เจ้าหม่อมอุปราชาแสนเมือง” และบอกนามตนเองในวงว่า “(เจ้ากองไตย์)” จะเปนคำหมายความว่ากระไรหม่อมฉันยังคิดไม่ออก ชื่อพวกเจ้าเชียงตุงเปนภาษาไทยทั้งนั้น นี่ก็คงเปนภาษาไทย บางทีเสมียนที่รับคำมาเขียนเปนอักษรไทยสยาม จะใช้ตัวอักษรผิดก็เปนได้ ขอให้ทรงพิจารณาดูสักที

ทูลกระหม่อมหญิงกับเจ้านายจะเสด็จมาถึงวันนี้ หม่อมฉันตั้งใจจะไปรับเสด็จถึงสถานีรถไฟ แต่เปนการลำบากอยู่ เพราะต้องข้ามทะเลจากเกาะปีนังไปถึงปากน้ำฝั่งไปร ถ้าไปเรือของรถไฟจะต้องไปคอยอยู่กว่าชั่วโมงรถไฟจึงจะมาถึง ถ้าไม่อยากคอยนานต้องข้ามเรือไฟจ้าง ขึ้นที่ท่า Butterworth แล้วขึ้นรถลากหรือเดินไปถึงท่าเรือจ้างแจว ลงเรือจ้างแจวข้ามแม่น้ำไปรไปขึ้นที่สถานีรถไฟอีกทีหนึ่ง หม่อมฉันเคยถูกแขกที่แจวเรือจ้างมันโกงครั้งหนึ่ง แจวไปถึงกลางน้ำมันหยุดเสียจะเอาค่าจ้างมากขึ้น ไม่ยอมให้มันไม่แจวต่อไป ต้องเอะอะขู่เข็ญจึงเอาชนะมันได้ การไปส่งใครถึงรถไฟแต่ก่อนก็ร้าย ครั้งหนึ่งหม่อมฉันไปส่งหญิงจง รอพอโบกมือเมื่อรถออกแล้วหันกลับจะมาลงเรือ มันออกเสียแล้วไม่คอยท่า ต้องลงเรือจ้างมาข้ามที่ท่า Butterworth แต่นั้นหม่อมฉันก็ไม่ข้ามไปส่งใครอีก แต่เขาว่าเดี๋ยวนี้แก้ไขธรรมเนียมมีเรือคอยอยู่แล้ว แต่การไปรับคนมาปีนังไม่ลำบากอันใด เพราะข้ามมากับคนโดยสารรถไฟด้วยกัน.

ที่ปีนังเวลานี้อากาศเย็นสบายดีแล้ว กลางคืนต้องห่มผ้าทุกคืน หม่อมฉันหวังใจว่าที่กรุงเทพฯ อากาศก็จะดีแล้วเหมือนกัน.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ