อธิบายเรื่องเมืองตะกั่วป่า ตอนที่ ๖

ตอนที่ ๖ ว่าด้วยบำรุงหัวเมืองฝ่ายตะวันตกชั้นหลัง

๑๘. เรื่องตอนที่จะกล่าวนี้ เกี่ยวด้วยพระยารัษฎานุประดิษฐ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณระนอง) มาก จะเล่าเรื่องประวัติพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เสียก่อน พระยารัษฎานุประดิษฐ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณระนอง) เกิดที่เมืองระนอง เปนลูกชายคนเล็กของพระยาดำรงสุจริตฯ (คอซูเจียง ณระนอง) ต่างมารดากับพระยาดำรงสุจริตฯ (คอซิมก้อง) พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก) และพระยาอัษฎงคตทิศรักษา (คอซิมชิม) ซึ่งเกิดที่เมืองพังงาทั้ง ๓ คน แต่มารดาเปนไทยเหมือนกัน เมื่อรุ่นหนุ่มบิดาส่งไปศึกษา ณ เมืองเอหมึงในประเทศจีนสักสองสามปี กลับมาเมื่อบิดาถึงอนิจกรรม พระยาดำรงสุจริตฯ (คอซิมก้อง) พี่ชาย จึงนำถวายตัวทำราชการ (พวกณระนอง มักพากันไปแวะที่โรงทหารมหาดเล็กเมื่อหม่อมฉันเปนผู้บังคับการเนืองๆ หม่อมฉันจึงได้รู้จักกับพระยารัษฎานุประดิษฐฯ มาแต่ครั้งนั้น) เมื่อถวายตัวแล้วได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่ หลวงบริรักษ์โลหวิสัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ต่อมาเมื่อโปรดฯ เลื่อนพระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมจึ๋ง) เปนพระยาอนุกูลสยามกิจ จึงโปรดฯ ให้หลวงบริรักษ์โลหวิสัยเลื่อนขึ้นเปน พระอัษฎงคตทิศรักษา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี เพราะท้องที่ติดต่อกับเมืองระนอง

เมื่อ ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๔) สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเลียบพระราชอาณาเขตต์ฝ่ายตะวันตก เสด็จข้ามแหลมมลายูจากเมืองชุมพรไปลงเรือที่เมืองกระบุรี ได้ทอดพระเนตร์เห็นความสามารถของพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เปนครั้งแรก ด้วยเดิมเมืองกระบุรีเปนแต่หมู่บ้าน ตั้งอยู่ ณ ตำบลปากจั่นอันเปนที่เชิงเขา ลำน้ำตรงที่ตั้งเมืองนั้นเปนคลองแคบใช้ได้แต่เรือขนาดย่อม พอพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ได้เปนผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี ก็คิดย้ายเมืองลงไปตั้งที่ตำบลนาเกลืออันเปนที่ราบอาจโก่นสร้างทำไร่นาได้มาก และอยู่ตอนน้ำลึกซึ่งเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่อาจขึ้นไปถึงได้ ใช่แต่เท่านั้น พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปเอาแบบฝรั่งมาสร้างบริเวณเมือง ทำถนนหนทางมีเรือนที่พักพนักงานปกครอง กับทั้งศาลากลาง ศาลชำระความ โรงโปลิศ และเรือนจำปลูกเรียงรายดูเปนสง่า แต่ล้วนเปนเรือนหลังคาจากเครื่องไม้กระยาเลย ทำได้โดยไม่สิ้นเปลือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตร์เห็นก็โปรด ตรัสชมว่าพระอัษฎงค์ฯ มีอุปนิสสัยในการบำรุงบ้านเมือง ในเที่ยวนั้นเมื่อเสด็จไปถึงเมืองตรัง ซึ่งพระยาบริรักษภูธร (เอี่ยม ณ นคร น้องเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี หนูพร้อม) เปนผู้ว่าราชการเมือง ทอดพระเนตร์เห็นเมืองรุงรังไม่มีการทำนุบำรุงอย่างไร และทรงทราบว่าผู้ร้ายชุกชุม ทรงปรารภว่าเมืองตรังก็เปนเมืองใหญ่อันที่ดินอุดมดี ถ้ามีผู้ว่าราชการเมืองซึ่งทรงความสามารถจัดการทำนุบำรุงให้สมสมัย ก็จะรุ่งเรืองได้มาก ดำริว่าน่าจะย้ายพระอัษฎงคฯ จากเมืองกระบุรีอันเปนแต่เมืองน้อย ให้ไปเปนผู้ว่าราชการเมืองตรัง มีรับสั่งให้ถามตัวเองซึ่งตามเสด็จไปในกระบวรด้วย พระอัษฎงคฯ ให้กราบบังคมทูลว่าจะโปรดฯ ให้ไปว่าราชการเมืองตรังก็ไม่รังเกียจ แต่ว่าการทำนุบำรุงบ้านเมืองจำต้องมีทุนสำหรับทำการ ถ้าโปรดฯ ให้พระอัษฎงคฯ ยืมเงินหลวงทำทุนสัก ๕๐๐๐๐ บาทและโปรดฯ ให้ผูกภาษีเมืองตรังเหมือนอย่างเคยให้ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าและเมืองพังงาผูกมาแต่ก่อน พอได้กำไรผ่อนใช้เงินทุนที่ยืมและจ่ายใช้ในการบำรุงบ้านเมืองต่อไป พระอัษฎงคฯ จะรับจัดการบำรุงเมืองตรังตามพระราชประสงค์ ก็โปรดฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต และพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเปน พระยารัษฎานุประดิษฐ มหิศรภักดี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตรังแต่นั้นมา

๑๙. เมืองตรังในสมัยนั้นทางไปมากับกรุงเทพฯ ยังลำบากมาก จึงไม่มีใครได้ไปเห็นว่าพระยารัษฎานุประดิษฐฯ จัดการบ้านเมืองอย่างไร รู้แต่ว่าส่งเงินหลวงไม่คั่งค้าง จนเมื่อรวมหัวเมืองทั้งปวงมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยแล้ว หม่อมฉันจึงได้ไปตรวจราชการถึงเมืองตรัง ต้องขี่ช้างเดินบกไปจากเมืองนครศรีธรรมราชหลายวันจึงไปถึงเมืองตรัง พอไปเห็นก็ปลาดใจด้วยบ้านเมืองเจริญแปลกตากว่าได้เคยเห็นเมื่อไปตามเสด็จมาก เมื่อไต่ถามถึงการต่างๆ ที่พระยารัษฎานุประดิษฐฯจัดก็ยิ่งปลาดใจในความสามารถฉลาดเฉลียวของพระยารัษฎานุประดิษฐฯ พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ทรงคุณวุฒิเปนข้อสำคัญที่รู้จักเลือกเอาแบบแผนที่ดี ทั้งของไทยของฝรั่งและของจีน มาประกอบกับอุบายใช้ทุนน้อยทำการให้สำเร็จประโยชน์ได้มาก จะยกแต่บางเรื่องมาเล่าพอเปนอุทาหรณ์ เช่น เมื่อแรกไปนั่งเมืองเวลาเที่ยวตรวจท้องที่ บอกกำนันนายตำบลต่างๆ ว่าตัวพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เองชอบกินไข่ไก่ ให้สั่งราษฎรในตำบลนั้น บ้านหนึ่งให้เลี้ยงไก่ตัวผู้ตัว ๑ ตัวเมีย ๕ ตัวสำหรับให้เกิดไข่ เรียกเมื่อใดให้ได้เสมอ พวกราษฎรเคยกลัวเจ้าเมืองมาแต่ก่อนก็กระทำตาม พระยารัษฎานุประดิษฐฯ แกล้งเรียกไข่ไก่ตำบลละครั้งหนึ่ง สองครั้งพอเปนกิริยา แล้วสั่งให้กำนันบอกราษฎรว่าไข่ไก่มีมากเกินต้องการแล้ว ให้ราษฎรฟักไข่เปนตัวไก่ขายเขาเถิด ก็เกิดมีไก่มากขึ้นในเมืองตรัง พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปชวนพวกพ่อค้าที่เมืองปีนัง ให้เอาเรือไฟไปซื้อขายสินค้าที่เมืองตรังก็เกิดการค้าขายไก่ยังเปนสินค้าใหญ่อย่างหนึ่งของเมืองตรังอยู่จนทุกวันนี้ และยังมีสินค้าอื่นเกิดขึ้นด้วยอุบายบังคับของพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ก็อีกหลายอย่าง นอกจากบำรุงสินค้า พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ชอบทำถนนเบิกที่สองข้างให้เปนทำเลกสิกรรมแล้วชวนคนต่างเมือง แม้จนพวกจีนชาวปีนัง ให้มาจองที่ลงทุนทำเรือกสวนไร่นา ชาวเมืองตรังเอง ถ้าใครตั้งหน้าทำมาหากินจริงๆ ก็ลดหย่อนการกะเกณฑ์ เรียกใช้แต่คนอยู่เปล่าๆ หรือที่ทำมาหากินอย่างเกียจคร้าน วิธีตัดถนนของพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ก็แปลก เพราะในชั้นนั้นยังไม่มีเอนยิเนียในกระทรวงโยธาธิการลงไปช่วย พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ต้องเปนเอนยิเนียเอง แต่รู้เคล็ดของฝรั่งที่ถือว่าการทำถนนไม่สำคัญอยู่ที่จะให้เปนทางใกล้หรือทางตรง ข้อสำคัญอยู่ที่ให้ถนนผ่านไปในที่ดินอุดม วิธีกรุยถนน พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไม่รู้จักใช้กล้องส่อง ให้เอากลองตีแล้วกรุยไปตามทางเสียงกลอง วิธีทำถนนใช้แรงเกณฑ์แต่ฉะเพาะถางป่ากับหายดิน ส่วนการทำถนนใช้แรงนักโทษ เมื่อปลายถนนห่างเมืองออกไปก็ให้ไปตั้งเรือนจำสำหรับขังนักโทษพวกนั้นที่ปลายถนน แล้วเลื่อนเรือนจำตามถนนไปจนสุดทางที่กะ นอกจากทำถนน สามารถคิดแผนผังสร้างเมืองที่ตำบลคันตังขึ้นใหม่ได้ทั้งเมือง ว่าโดยย่อเพราะพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ได้แสดงความสามารถเปนอย่างแปลกให้ปรากฏที่เมืองตรังแล้ว เมื่อตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเกตว่างลง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยารัษฎานุประดิษฐ มหิศรภักดี ขึ้นเปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเกตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔

๒๐. เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปเปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเกตนั้น การเหมืองแร่มีพนักงานกรมราชโลหกิจไปทำการตามพระราชบัญญัติซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ใช้ระเบียบการอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ตามแบบฝรั่ง และเริ่มมีบริษัทฝรั่งเข้ามาทำเหมืองแร่ที่เมืองภูเกตสักสองสามบริษัทแล้ว แต่ได้โปรดฯ ให้โอนกรมราชโลหกิจมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ความรับผิดชอบในการปกครองทำนุบำรุงหัวเมืองปักษ์ใต้ ทั้งการทำเหมืองแร่ จึงมารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ก็ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้นประจวบเวลาพวกอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ คิดอยากจะรุกแดนไทยทางแหลมมลายู แต่รัฐบาลอังกฤษที่เมืองลอนดอนไม่ให้อนุมัติ พวกเมืองสิงคโปร์จึงคิดอุบายหาเหตุเพื่อจะให้รัฐบาลที่ลอนดอนยอมตามใจ อุบายของพวกสิงคโปร์ในครั้งนั้น อย่างหนึ่งแต่งสายให้ไปยุยงพวกมลายูเจ้าเมืองในมณฑลปัตตานีให้เอาใจออกหากจากไทย พระยาตานี (อับดุ กาเด) หลงเชื่อ จะทำอาการขัดแข็งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงดำรัสสั่งให้จับและถอดพระยาตานี แล้วเอาตัวขึ้นไปคุมไว้ที่เมืองพิษณุโลก การหยุกหยิกในมณฑลปัตตานีก็สงบไป พวกอังกฤษไม่สมคิดทางนั้นจึงใช้อุบายอีกอย่างหนึ่ง ยุหนังสือพิมพ์ที่เมืองสิงคโปร์และเมืองปีนังทั้งพวกทำเหมืองแร่ ให้โฆษณากล่าวโทษไทยเนืองๆ ว่าพวกคนในบังคับอังกฤษที่ไปทำเหมืองแร่ ณ เมืองภูเกต ไม่ได้รับความทำนุบำรุงตอบแทนเงินภาษีอากรที่ต้องเสียแก่ไทย เพราะรัฐบาลเอาเงินรายได้ตามหัวเมืองเข้าไปใช้สอยในราชธานีเสียหมด สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสปรารภแก่หม่อมฉันว่าจะต้องจัดการแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะที่เขาว่านั้นเปนความจริงของเขาอยู่บ้าง หม่อมฉันเห็นว่าทางที่จะแก้ไขก็อยู่ในต้องจัดบำรุงเมืองภูเกต เช่นทำถนนหนทางและจัดการนคราทรตามอย่างเมืองปีนังเท่าที่จะทำได้ แต่จะทำอย่างไรก็คงต้องมีเงินสำหรับใช้ในการนั้น หม่อมฉันจึงไปปรึกษาเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ๆ ก็เห็นชอบด้วยตามความคิด แต่ว่าไม่สามารถจะแบ่งเงินในงบประมาณไปให้ได้ ให้หม่อมฉันคิดหาเงินรายได้ในทางใดทางหนึ่ง กระทรวงพระคลังจะยอมให้เอาเงินนั้นใช้ในการบำรุงเมืองภูเกต หม่อมฉันจึงเรียกพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เข้ามาปรึกษา พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ว่าเห็นทางที่จะหาเงินนอกงบประมาณมีอยู่ ถ้าหม่อมฉันไว้ใจพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ว่าจะไม่ฉ้อฉล จะคิดหาเงินบำรุงเมืองภูเกตในทางนั้น แต่ขอให้หม่อมฉันทำความตกลงกับกระทรวงพระคลังเสียก่อน ว่าถ้าพระยารัษฎานุประดิษฐฯ หาเงินมาได้เท่าใด จะให้รักษาตัวเงินไว้ที่ในคลังเมืองภูเกต และบอกบัญชีที่ใช้จ่ายให้กระทรวงพระคลังทราบ ขอแต่ว่าเงินนั้นพระยารัษฎานุประดิษฐฯ จะใช้บำรุงเมืองภูเกตประการใด ให้ใช้ได้ตามเห็นสมควร อย่าให้ต้องทำพิธีบอกขออนุญาตเข้ามายังกรุงเทพฯ ก่อนตามระเบียบของกระทรวงพระคลัง หม่อมฉันไปว่ากล่าวกระทรวงพระคลังก็ยินยอม เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงมอบอำนาจให้พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปลองจัดการตามความคิด พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ก็ไปใช้วิธีอย่างแปลกปลาดอีก ด้วยในพระราชบัญญัติทำเหมืองแร่มีมาตราหนึ่งซึ่งบังคับว่า ถ้าผู้ทำเหมืองแร่ทำให้เกิดเสียหายแก่วัตถุอันเปนสาธารณประโยชน์ ต้องใช้ชดใช้ให้พอแก่ความเสียหาย พระยารัษฎานุประดิษฐฯ เอาความข้อนี้มาใช้หาเงินบำรุงเมือง เพราะการทำเหมืองแร่มักต้องกินถึงที่อันอาจอ้างว่าเปนสาธารณประโยชน์ เช่นถนนและหนทางหรือลำธารและทางน้ำอันราษฎรอาศัยใช้น้ำเปนต้น แต่ก่อนมารัฐบาลมิสู้เอาใจใส่ในเรื่องนี้นัก พระยารัษฎานุประดิษฐฯ เริ่มเอาเปนธุระตรวจตราและบังคับโดยกวดขันในเรื่องนี้ ถ้ามีกรณีเกิดขึ้นเมื่อใด บังคับให้พวกขออนุญาตเบิกเหมืองแร่ทำการแก้ไขหรือป้องกันการเสียหาย เช่นให้ทำถนนหรือขุดทางน้ำแทนของเดิมเสียก่อน จึงอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในที่นั้น ฝ่ายผู้ทำเหมืองแร่อยากแต่จะได้ลงมือขุดแร่โดยเร็ว ก็มักขอเสียเปนตัวเงินให้พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปทำการนั้นเอง พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ตั้งจำนวนเงินสูงหน่อยก็ไม่รังเกียจ พระยารัษฎานุประดิษฐฯ เรียกเงินรายได้อย่างนี้ว่า “คอมเมนเสชั่น” (เพี้ยนมาจากคำ “Compensation” ภาษาอังกฤษ) ก็เลยเรียกกันเช่นนั้นมา เมื่อได้เงินมาทำการแก้ไขหรือป้องกันความเสียหายเสร็จแล้ว เหลือเงินเท่าใดพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เอาไปใช้ทำถนน เลือกหนทางที่จะเปนประโยชน์แก่พวกทำเหมืองแร่ ให้ไปมาแลให้ขนแร่ได้สดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ชี้แจงแก่พวกทำเหมืองแร่ว่าเงินที่เรียกมานั้น เอามาใช้แต่บำรุงประโยชน์ของเขาเองทั้งนั้น ในไม่ช้าพวกทำเหมืองแร่ก็พากันเกิดเลื่อมใส ยอมให้เงิน “คอมเมนเสชั่น” มากขึ้นโดยไม่รังเกียจ จนถึงเจ้ากรมเหมืองแร่เคยมาฟ้องต่อหม่อมฉันว่าพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เรียกเงินทดแทนจากพวกทำเหมืองแร่มากเหลือเกินนัก หม่อมฉันถามว่าพวกทำเหมืองแร่เขาร้องทุกข์หรืออย่างไร ตอบว่าเปล่า หม่อมฉันตอบว่าเมื่อเขาเต็มใจให้กันจะไปห้ามปรามทำไม การที่พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ทำเช่นว่ามา แม้กงสุลอังกฤษที่เมืองภูเกตก็มิได้ต่อว่าต่อขาน คงเปนเพราะเห็นเปนประโยชน์ในท้องที่ การบำรุงเมืองภูเกตก็เริ่มเกิดขึ้นทั้งทำถนนหนทางและการจัดนคราทร พอประจวบเวลาพวกฝรั่งชาวออสเตรเลียเข้ามาทำเหมืองแร่ในหัวเมืองไทยทางแหลมมลายู (มาด้วยเหตุใดจะกล่าวอธิบายต่อไปข้างหน้า) พวกนี้มีทุนมาก ประสงค์แต่ให้ได้ลงมือทำการโดยเร็ว ด้วยเวลานั้นกำลังดีบุกราคาสูง ก็เปนช่องที่พระยารัษฎานุประดิษฐฯ เรียกเงินคอมเมนเสชั่นได้ง่ายและได้มากขึ้น ฝ่ายผู้ให้ก็ยอมให้ด้วยยินดี เพราะเห็นประโยชน์ที่ได้จากเงินที่เสียไปนั้น ในตอนนี้รัฐบาลให้มีเอนยิเนียฝรั่งในกระทรวงโยธาธิการลงไปช่วยด้วย พระยารัษฎานุประดิษฐฯ จึงสามารถทำการบำรุงเมืองได้กว้างขวางออกไป ให้ทำถนนจากตัวเมืองภูเกตออกไปถึงตำบลต่างๆ ที่มีเหมืองแร่ทั่วทั้งเกาะ และให้กรุยถนนที่จะทำให้ถึงหัวเมืองใกล้เคียง สายหนึ่งจะทำไปถึงเมืองตะกั่วป่า สายหนึ่งจะทำผ่านเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองพังงา เมืองกระบี่ ต่อไปจนถึงเมืองตรัง ว่าโดยย่อถนนที่พวกกรมทางไปทำในรัชชกาลที่ ๗ นั้น ทำตามทางที่พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ได้กะไว้แล้วทั้งนั้น นอกจากทำถนนดังกล่าวมา พระยารัษฎานุประดิษฐฯ สามารถสร้างเมืองภูเกตขึ้นใหม่ได้ทั้งเมืองด้วยอุบายอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยบริเวณบ้านพระยาภูเกตซึ่งตกเปนของหลวง และอาศัยใช้เย่าเรือนของเดิมเปนที่ว่าการมณฑลและที่พักของข้าราชการอยู่นั้นเปนที่มีแร่ดีบุกอยู่ใต้ดินมาก เมื่อขุดแร่ตามที่ใกล้เคียงหมดแล้ว ก็ยังเหลืออยู่ตรงที่ตั้งบริเวณสถานรัฐบาล มีบริษัทฝรั่งมาถามว่าถ้ายอมให้ค่าคอมเมนเสชันตามสมควร รัฐบาลจะอนุญาตให้ขุดแร่ตรงนั้นได้หรือไม่ พระยารัษฎานุประดิษฐฯ บอกหม่อมฉันว่าโชคดีมาถึงแล้ว ขออนุญาตขายที่บริเวณรัฐบาลเอาเงินมาสร้างสถานที่สำหรับราชการต่างๆ กับทั้งที่อยู่ของข้าราชการขึ้นใหม่ให้สมสมัย หม่อมฉันก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามประสงค์ พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปเลือกที่ใหม่บนเนินเขา แล้วคิดทำแผนผังทั้งถนนและสถานที่ต่างๆ เหมือนอย่างสร้างเมืองใหม่ ประมาณเงินที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างตั้งเปนราคาที่บริเวณรัฐบาล บริษัทก็รับซื้อ ได้เมืองใหม่ซึ่งปรากฏอยู่ทุกวันนี้ทั้งเมืองโดยมิต้องจ่ายเงินพระคลัง และยังมีกำไรต่อไป ด้วยลงความในสัญญาขายว่าขายแต่แร่ดีบุก เมื่อบริษัทขุดแร่ดีบุกหมดแล้วต้องคืนที่นั้นให้รัฐบาลโดยไม่เรียกค่าชดใช้อย่างใด เมื่อหม่อมฉันไปเมืองภูเกตคราวตามเสด็จในรัชชกาลที่ ๗ ที่นั้นกลับมาเปนของรัฐบาลแล้ว ยังเปนที่ว่างเปล่าอยู่กลางตลาด รัฐบาลจะขายหรือจะสร้างตึกแถวให้เช่า ก็จะได้เงินอีกครั้งหนึ่งจากที่แห่งเดียวกัน แต่ที่ปลาดอย่างยิ่งนั้นปรากฏว่าบริษัทที่รับซื้อไปได้กำไรงามด้วย เพราะแร่เนื้อดีมาอยู่ตรงนั้นมาก รัฐบาลยังได้เงินค่าภาคหลวงมากขึ้นจากการทำเหมืองแร่ในที่นั้นด้วยอีกโสดหนึ่ง พระยารัษฎานุประดิษฐฯ หาเงิน “คอมเมนเสชั่น” ได้เกินคาดหมาย จนสามารถทำถนนในเมืองอื่น เช่นต่อถนนที่เมืองกระบุรีต่อจากบ้านปากจั่นลงไปถึง “ทับหลี” อันเปนท่าเรือใหญ่สายหนึ่ง ช่วยกันกับเจ้าพระยายมราชและสมเด็จชาย เมื่อยังเปนสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทำถนนจากเมืองตรังถึงเมืองนครศรีธรรมราชสายหนึ่ง จากเมืองตรังข้ามภูเขามาถึงเมืองพัทลุงสายหนึ่ง ที่เมืองตะกั่วป่าก็ย้ายเมืองลงมาตั้งใหม่ที่น้ำลึกให้เรือไปมาได้สดวก นอกจากนั้นสามารถต่อเรือไฟสำหรับใช้ราชการได้ ๒ ลำ คือ เรือถลาง (ลำเก่า) ลำ ๑ เรือเทพสตรีลำ ๑ และมีตัวเงินเหลืออยู่ในคลังเมืองภูเกตเมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ถึงอนิจกรรมกว่าสองแสนบาท การที่พระยารัษฎานุประดิษฐฯ บำรุงหัวเมืองฝ่ายตะวันตกครั้งนั้น ได้พระราชทานบำเหน็จความชอบด้วยเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ มหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม เปนสายสะพายสายที่สุดที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานแก่ผู้มีความชอบ เมื่อก่อนเสด็จสวรรคตเพียง ๓ เดือน

๒๑. เหตุที่ฝรั่งชาวออสเตรเลียเข้ามาทำเหมืองแร่ในหัวเมืองไทยนั้น เดิมมีฝรั่งในบังคับอังกฤษคนหนึ่งชื่อ กัปตันไมลส์ (Captain Miles จะเปนชาติอังกฤษ หรือสะก๊อต หรือไอริช ไม่ทราบแน่) เปนนายเรือหรือกลาสีเรือใบออกมาทางตะวันออกนี้แต่ยังหนุ่ม เคยเข้าไปกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งเมื่อตอนปลายรัชชกาลที่ ๔ แล้วเที่ยวซัดเซพะเนจรไปตามประเทศต่างๆ ไปตั้งตัวได้ด้วยการทำเหมืองแร่ ณ เมืองตัสเมเนียในประเทศออสเตรเลีย และเคยได้เปน Minister คืออธิบดีกระทรวงการในประเทศนั้น ครั้นจวนแก่ชะราน่าจะเปนด้วยเกิดฝืดเคือง คิดจะมาทำเหมืองแร่ดีบุกในแหลมมลายู แต่ทำนองจะถูกอังกฤษเกียจกันในเมืองมลายูของอังกฤษ กัปตันไมลส์จึงจะมาทำการในหัวเมืองไทย วานนายคอยู่ต๊อก ณระนอง (ที่เปนพระยารัตนเสรษฐีอยู่เดี๋ยวนี้) ให้ช่วยชักนำให้รู้จักพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เผอิญประจวบเวลาหม่อมฉันออกไปตรวจราชการเมืองภูเกตในเวลากัปตันไมลล์อยู่ที่นั่น พระยารัษฎานุประดิษฐฯ บอกหม่อมฉันว่ามีชาวออสเตรเลียจะมาขออนุญาตขุดแร่ดีบุกด้วยความคิดอย่างแปลกปลาด ด้วยจะใช้เรือขุดดีบุกใต้น้ำในอ่าวภูเกต ขอพาตัวมาหาหม่อมฉัน เมื่อหม่อมฉันพบกัปตันไมลส์ ไล่เลียงดูได้ความว่าวิธีขุดแร่ด้วยใช้เรือขุดนั้น เขาใช้กันในตัสเมเนียหลายแห่งเปนการใช้ได้แน่ หม่อมฉันเห็นว่าที่ในท้องทะเลอ่าวภูเกตมีแร่ดีบุกมาก ข้อนี้ใครๆ ก็รู้กันมาแต่ก่อน แต่หากไม่มีใครสามารถจะขุดได้ ทิ้งไว้ก็ไม่เปนประโยชน์อันใด ถ้าอนุญาตให้กัปตันไมลล์ขุดสำเร็จได้ก็จะเปนประโยชน์แก่บ้านเมือง ถ้ากัปตันไมลส์ทำการไม่สำเร็จ ความเสียหายก็อยู่แต่กับตัวเขารัฐบาลไม่ต้องเสียหายอะไรด้วย เพราะฉะนั้นควรให้กัปตันไมลล์ลองขุดแร่ดีบุกในอ่าวภูเกตดู เมื่อกัปตันไมลล์ได้อนุญาตแล้วกลับไปหาทุนที่ออสเตรเลีย และไปว่าให้ต่อเรือขุดส่งมาคุมที่อู่ตำบลไปรในแขวงเมืองปีนัง คุมเครื่องขุดแล้วเสร็จประจวบเวลาหม่อมฉันออกมารับเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกลับจากยุโรปครั้งหลัง กัปตันไมลล์ได้เชิญหม่อมฉันไปทำพิธีเปิดเดินเครื่องขุด แล้วส่งเครื่องนั้นไปยังเมืองภูเกตเปนเรือเครื่องขุดลำแรกที่มีทางแหลมมลายูนี้ เดิมใช้ขุดแต่ในท้องทะเล ทีหลังเกิดความคิดเอาเรือขึ้นไปขุดบนบกด้วยขุดสระพอให้เรือลอยขุดดีบุกไปข้างหน้า เอาดินที่ขุดมาถมข้างหลัง ตัดค่าใช้จ่ายในการขุดแร่ดีบุกลงได้เปนอันมาก การทำเหมืองแร่ดีบุกแต่นั้นจึงผันแปรไปใช้ขุดด้วยเรือเปนพื้นทั่วไปในแหลมมลายู ต่อบางแห่งที่เหมาะแก่การจึงใช้ขุดด้วยแรงน้ำดังท่านได้ทอดพระเนตร์เห็นแล้วที่เมืองนครศรีธรรมราชทั้ง ๒ อย่าง ตั้งแต่เกิดการขุดแร่ด้วยเครื่องจักรแพร่หลาย การทำเหมืองใหญ่ด้วยแรงกุลีก็ทำกันน้อยลงเปนลำดับมา ยังคงทำด้วยแรงคนขุดแต่เหมืองคลากับเหมืองแล่น ถ้าคิดถึงประโยชน์โดยทั่วไปในการเปลี่ยนวิธีขุดแร่เปนใช้เครื่องจักร แม้เปนประโยชน์ที่อาจจะขุดหาแร่ได้มากกว่า โดยใช้โสหุ้ยน้อยกว่าขุดด้วยแรงกุลีอย่างแต่ก่อนก็จริง แต่เมื่อไม่ต้องใช้กุลีมากเหมือนแต่ก่อน ผู้คนพลเมืองก็น้อยลง ประโยชน์ที่บ้านเมืองได้จากจำนวนคนมากก็หมดไป บ้านเมืองก็ไม่ครึกครื้นเหมือนแต่ก่อน รัฐบาลได้แต่ค่าภาคหลวงมากขึ้น แต่เงินภาษีอากรอย่างอื่นเช่นภาษีฝิ่นและสุราเปนต้น ลดลงมากจะว่าเปนคุณแท้หาได้ไม่

๒๒. มีกรณีอีกเรื่องหนึ่งเมื่อครั้งพระยารัษฎานุประดิษฐฯ เปนสมุหเทศาภิบาล ซึ่งควรจะเขียนลงไว้ให้ปรากฎ คือเมื่อเริ่มรัชชกาลที่ ๖ เห็นจะเปนใน พ.ศ. ๒๔๕๕ พระยารัษฎานุประดิษฐฯ เข้ามากรุงเทพฯ บอกหม่อมฉันว่ามีการเกิดขึ้นที่เมืองภูเกตอย่างหนึ่ง ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องตั้งนะโยบายว่าจะทำอย่างไร เพราะอาจจะเปนการสำคัญในภายหน้าแต่พ้นปัญญาและหน้าที่ของพระยารัษฎานุประดิษฐฯ จะตัดสินได้ ขอเชิญที่เมืองสิงคโปร์และเมืองปีนังโดยไม่รังเกียจ ถ้าเราห้ามก็จะเกิดทั้งความขุ่นหมองในบ้านเมือง และถูกติเตียนตลอดไปในนานาประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องคิดป้องกันเหตุร้ายด้วยอุบายอย่างอื่น อุบายที่ดีนั้นหม่อมฉันเห็นว่ารัฐบาลควรเข้ารับอุปการเสียทีเดียว เอาการอุปการนั้นเปนอำนาจที่จะควบคุมมิให้เกิดร้ายจากโรงเรียนจีน หม่อมฉันเห็นว่าควรจะกำหนดการอุปการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

ข้อ ๑ รับโรงเรียนจีนเข้าทะเบียนเหมือนกับโรงเรียนอื่น ที่รัฐบาลจัดตั้งเองหรืออนุญาตให้ผู้อื่นตั้ง

ข้อ ๒ การปกครองโรงเรียนจีนนั้น ให้พวกกรมการและพวกพ่อค้าจีนที่ออกเงินค่าใช้จ่ายให้โรงเรียน เลือกกันเปนกรรมการจัดการโรงเรียน และรับธุระในการที่จะเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ครูบาอาจารย์ต้องอยู่ในบังคับบัญชาของกรรมการนั้น

ข้อ ๓ เพราะโรงเรียนมาตั้งในเมืองไทย ห้ามมิให้สอนหรือใช้หนังสือเรียน ซึ่งจะทำให้เกิดเสื่อมเสียแก่เมืองไทย

ข้อ ๔ เพราะเด็กจีนที่เปนนักเรียน โดยปกติย่อมอยู่ระคนปนกับคนไทย และความรู้ภาษาจีนก็ย่อมเปนประโยชน์แก่ไทย โรงเรียนต้องรับทั้งเด็กจีนและเด็กไทย ซึ่งสมัคจะเรียนให้เหมือนกัน และในโรงเรียนต้องสอนทั้งภาษาจีนและภาษาไทยแก่นักเรียนทั้งหมด ไม่เลือกหน้าว่าเปนจีนหรือไทย

พระยารัษฎานุประดิษฐฯ เห็นชอบด้วย ว่าเปนอุบายอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ และแนะว่ามีตึกกงก๊วนเก่าของพวกอังยี่ที่รัฐบาลริบไว้เมื่อปราบพวกกุลีแห่งหนึ่ง ไม่ได้ใช้การอย่างใดนอกจากใช้เก็บของ ถ้าให้ตึกกงก๊วนนั้นใช้เปนโรงเรียน ก็จะปรากฏว่ารัฐบาลบำรุงจริง จะได้รับความนิยมเปนปัจจัยให้ควบคุมยิ่งง่ายขึ้น และขอให้หม่อมฉันช่วยพูดชี้แจงแก่พวกหัวหน้าจีนซึ่งจะเรียกมาเฝ้าให้เข้าใจด้วย หม่อมฉันก็ให้อนุมัติทั้งสองอย่าง พวกหัวหน้าจีนก็พากันซ้องสาธุการแสดงความเห็นชอบด้วยและรับจะทำตาม ข้อนี้เมื่อภายหลังมาช้านาน หม่อมฉันตามเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไปเมืองภูเกต พวกกรรมการชั้นเดิมยังมีตัวเหลืออยู่บ้าง เขานัดประชุมกรรมการแล้วเชิญหม่อมฉันไปดูโรงเรียนจีน หม่อมฉันถามถึงการโรงเรียน เขาบอกว่าการดำเนินโดยเรียบร้อยตามระเบียบที่หม่อมฉันได้ตั้งไว้ มีความขัดข้องอยู่อย่างเดียวแต่ที่แบ่งเวลาเรียน กระทรวงธรรมการกำหนดให้เรียนภาษาไทยวันละ ๔ ชั่วโมง ให้เรียนภาษาจีนเพียงวันละชั่วโมงหนึ่ง เด็กนักเรียนยังต้องไปพยายามเรียนภาษาจีน ในเวลาเมื่อปิดโรงเรียนแล้วอีกวันละชั่วโมงหรือสองชั่วโมงทุกวัน เปนการลำบากแก่นักเรียนอยู่ หม่อมฉันเห็นจริงด้วย บอกเขาว่าหนังสือไทยเรียนรู้ง่ายกว่าหนังสือจีน เมื่อหม่อมฉันกลับเข้าไปกรุงเทพฯ จะไปเสนอต่อกระทรวงธรรมการ ขอให้ตัดเวลาเรียนภาษาไทยไปเพิ่มในเวลาเรียนจีน และได้ทำตามที่รับนั้น แต่ไม่ทราบว่ากระทรวงธรรมการจะได้แก้ไขอย่างไรหรือไม่

หม่อมฉันออกไปเมืองภูเกตในเรื่องโรงเรียนจีนตามที่ทูลมา เปนครั้งหลังที่สุดซึ่งหม่อมฉันได้ทำการกับพระยารัษฎานุประดิษฐฯ หม่อมฉันกลับมากรุงเทพฯ ได้ไม่ช้านัก พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ก็ถึงอนิจกรรม ต่อนั้นมาอีกไม่ช้านาน หม่อมฉันก็ออกจากกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เอาใจใส่สืบถามถึงกิจการในหัวเมืองฝ่ายตะวันตกมาหลายปี จนเมื่อกลับเข้าไปเปนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมูรธาธร จึงไปสืบถาม ได้ความว่ากิจการต่างๆ ทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตกมีเมืองภูเกตเปนต้น ตั้งแต่พระยารัษฎานุประดิษฐฯ ถึงอนิจกรรมแล้วผันแปรไปมาก

๒๓. ความผันแปรที่เกิดในการทำเหมืองแร่นั้น มูลเหตุมาแต่ใช้เรือขุดแร่ด้วยเครื่องจักรเปนสำคัญ เพราะวิธีทำเหมืองใหญ่อย่างแต่ก่อนต้องใช้แรงกุลีหลายร้อย และทำการงานแต่ในเวลากลางวันราววันละ ๑๐ ชั่วโมง ขุดด้วยเครื่องจักรใช้แรงกลเพียงสี่สิบห้าสิบคนแบ่งเปน ๓ ผลัด เปิดเครื่องจักรขุดแร่ทั้งกลางวันกลางคืนราววันละ ๒๐ ชั่วโมง เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแต่ได้แร่มากกว่าทำเหมืองใหญ่อย่างเก่า แต่ว่าการขุดแร่ด้วยเครื่องจักรต้องลงทุนในชั้นแรกสำหรับสร้างเครื่องจักรตั้งล้านบาท พวกเถ้าเกนายเหมืองแร่ในท้องถิ่นไม่มีทุนพอจะทำได้ก็คิดอุบายหากินกับฝรั่ง เกิดเปนวิธีมีขึ้นใหม่อีกอย่างหนึ่งคือ ขอ “อาชญาบัตรตรวจแร่” ตามพระราชบัญญติ แล้วจ้างเจ๊กที่ชำนาญการตรวจที่มีแร่ให้เที่ยวตรวจดูภูมิลำเนา พบที่มีแร่แห่งใดก็ขอ “อาชญาบัตรผูกขาดตรวจแร่” ฉะเพาะตำบลนั้น เหมือนอย่างว่าตัวจะทำเอง แต่เมื่อพบแร่เห็นพอจะทำเหมืองได้ก็ไปบอกขายสิทธิแก่ฝรั่ง ว่าราคาตกลงกันแล้วฝรั่งไปคิดอ่านตั้งบริษัทเรียกชื่อเปนกลาง เช่นว่า “บริษัทหนองเป็ด” เปนต้นเอาเงินมาซื้อสิทธิ ให้เปนตัวเงินครึ่งหนึ่งให้ใบหุ้นส่วนของบริษัทนั้นครึ่งหนึ่ง ผู้ขายเปนผู้มีหุ้นในบริษัทก็อาจโอนสิทธิให้ได้โดยง่าย พวกนายเหมืองในพื้นเมืองหากินด้วยอุบายอย่างนี้เปนพื้น เช่นนาย ลิมฮกเซ่ง (อันเปนผู้ทำการต่างตัวพระยารัตนเสรษฐี คอยู่ต๊อก) ก็หากินอย่างนี้ที่เมืองตะกั่วป่าเหมือนกัน ถ้าสบเหมาะหาเงินได้มากๆ เมื่อหม่อมฉันไปเมืองระนองคราวตามเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าฯ พบลูกชายพระยาดำรงสุจริตฯ (คอซิมก้อง) คน ๑ พึ่งขายที่มีแร่ตำบลหนึ่งได้เงินถึงแสนบาท และยังมีคนพวก “กระสือตอมห่า” อีกพวกหนึ่งซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องถิ่น คบคิดกับพวกทนายความใช้อุบายหากินด้วยการกีดขวาง “คนพวกนี้เห็นพวกนายเหมืองไปตรวจแร่ณที่ใด ก็ไปโก่นสร้างถางป่าทำไร่ปลูกกล้วยอ้อย หรือทำทับกระท่อมให้เปนบริเวณอยู่ติดต่อกับที่ตรวจแร่นั้นพอให้เกิดสิทธิในการปกครอง เมื่อถึงเวลาบริษัทขอประทานบัตรจะปักเขตต์ไปถึงที่นั้น ก็ขัดขวางโดยอ้างพระราชบัญญัติ การทำเหมืองแร่ เรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายเปนเงินมากๆ ถ้าบริษัทอยากขุดแร่โดยเร็วก็ต้องยอมให้เงินแก่พวกกระสือตามปราร์ถนา ถ้าไม่ยอมให้ก็ร้องฟ้องในโรงศาลถ่วงเวลาขุดแร่ที่ตรงนั้นให้ช้าไปตามกระบวรความ การยุ่งยากเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ถึงอนิจกรรมแล้ว

๒๔. มีการที่เกิดขึ้นเมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ถึงอนิจกรรมแล้วอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้บ้านเมืองเสื่อมทราม พอหม่อมฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว กรมแร่ก็ย้ายกลับไปขึ้นกระทรวงเกษตราธิการ เจ้าพระยาพลเทพฯ (เฉลิม โกมารกุล ณนคร) เสนาบดีกระทรวงนั้นออกไปตรวจราชการถึงเมืองภูเกตไปทราบว่ามีเงิน “คอมเมนเสชั่น” ที่ได้จากพวกทำเหมืองแร่ครั้งพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ฝากไว้ในคลังกว่าสองแสนบาท เจ้าพระยาพลเทพฯ (ไม่สืบให้ทราบมูลเหตุหรือทราบแต่ถือว่าไม่ใช่ราชการกระทรวงเกษตรฯ) สั่งให้ผลักเงินนั้นส่งพระคลังเหมือนอย่างว่าเจ้าพระยาพลเทพฯ ออกไปพบเงินหลวง ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ยักยอกเอาไว้ใช้สอยตามอำเภอใจ เวลานั้นหม่อมฉันก็ไม่มีโอกาสที่จะชี้แจงทักท้วงอย่างไร เพราะไม่ได้นั่งในที่ประชุมเสนาบดีและไม่มีใครไต่ถาม แต่นั้นก็ไม่มีทุนที่จะบำรุงบ้านเมือง ใช่แต่เท่านั้นหน้าที่มหาดไทย อันเปนพนักงานปกครองบ้านเมือง กับหน้าที่เกษตราธิการอันเปนพนักงานเรื่องเหมืองแร่ ก็แตกกันไปเปนต่างพวกต่างกระทรวงไม่ได้รวมอยู่ในอำนาจสมุหเทศาภิบาลเหมือนแต่ก่อน เทศาภิบาลคิดอ่านการอันใดก็มักติดขัด จะยกเรื่องเปนตัวอย่างเมื่อครั้งหม่อมเจ้าสฤษดิเดชเปนสมุหเทศาภิบาล คิดจะลองฟื้นวิธีบำรุงเมืองด้วยเรียกเงิน “คอมเมนเสชั่น” อย่างพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ชวนให้ นายลิม ฮกเซ่ง (คือพระยารัตนเสรษฐี คอยู่ต๊อก) ออกเงินสี่พันบาท สำหรับสร้างโรงพยาบาลที่เมืองตะกั่วป่า ในเวลาเมื่อรับประทานบัตร์ ฝ่ายผู้ให้ก็ยอมด้วยยินดี เจ้าพระยาพลเทพฯ กล่าวหาว่าหม่อมเจ้าสฤษดิเดชรับสินบน และว่าพระยารัตนเสรษฐีบนบาลข้าราชการ เกิดความกันเอะอะจนเรื่องเข้าไปสู่อภิรัฐมนตรี บางทีท่านจะยังทรงจำได้ หากทูลกระหม่อมชายทรงว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ทั้งสองฝ่ายความจึงได้สงบไป แต่ก็เลยฆ่าความคิดเรื่อง “คอมเมนเสชั่น” ตายตามพระยารัษฎานุประดิษฐฯ ไปด้วย

๒๕. ถึงตอนที่สุดจะทูลฉะเพาะเรื่องเมืองตะกั่วป่า ดูเหมือนเปนเมืองที่ยังมีแร่ดีบุกมากกว่าเมืองอื่น ๆ เพราะแต่ก่อนเปนที่ไปมายากไม่สู้มีการทำเหมืองมากเหมือนที่เมืองภูเกตและเมืองระนอง การทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองตะกั่วป่าในตอนหลังนี้ยังมีแต่บริษัทขุดด้วยเครื่องจักรอยู่หลายบริษัท ถึงกระนั้นก็ไม่ทำให้บ้านเมืองเฟื่องฟูขึ้น เพราะการทำเหมืองแร่ด้วยเครื่องจักรใช้คนน้อย จำนวนผู้คนพลเมืองดูเหมือนจะมีไม่เกินหมื่นคน ครั้นกรมทางทำถนนจากเมืองภูเกตไปถึงเมืองตะกั่วป่าใช้รถยนต์ไปมากับเมืองภูเกตได้เพียงเวลา ๔ ชั่วโมง ทำให้การปกครองง่ายขึ้น เมื่อคราวตัดงบประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๔ รัฐบาลจึงลดเมืองตะกั่วป่าลงเปนแต่อำเภอของเมืองภูเกตอำเภอหนึ่งในบัดนี้.

  1. ๑. ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นอำเภอหนึ่งในเขตจังหวัดพังงา

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ