วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคมแล้วเรื่องตำนานเมืองสุราษฎร์ธานีที่ขุนประกิตกาญจนเขตต์จดถวายนั้น ดูเปนหลักฐานดีอยู่ พอจะลงเนื้อเห็นเข้ากับเรื่องพงศาวดารได้ ว่าที่บ้านดอนนั้นคงตั้งเปนหลักแหล่ง เมื่อครั้งเจ้าพระยานครน้อยมาต่อเรือรบในรัชชกาลที่ ๓ และคงได้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอนแต่ครั้งนั้นไม่ได้มีการย้ายเมื่อยกเมืองท่าทองเปนเมืองกาญจนดิษฐ์ขึ้นกรุงเทพฯ ในรัชชกาลที่ ๔

เรื่องพระเจดีย์ที่ประทานอธิบายมานั้นดีหนัก หม่อมฉันเห็นชอบด้วย

เรื่องปัญหาว่าชื่อวัด มงกุฎกษัตริย์ หรือ มกุฎกษัตริย์ จะเปนถูกต้องนั้น เมื่อหม่อมฉันเขียนจดหมายฉะบับลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคมถวายไปแล้ว ได้ตรวจดูหนังสือต่าง ๆ ที่ออกพระนามเดิมของทูลกระหม่อมก็เกิดนึกสงสัยขึ้นอย่างท่านทรงพระดำริ ว่าผู้ที่เขียนหนังสือหรือตรวจเมื่อพิมพ์หนังสือในชั้นหลัง จะแก้คำ มงกุฎ เปน มกุฎ เอาตามใจมาก แม้สำเนาประกาศที่พระสาสนโศภนเอามาพิมพ์ในประวัติวัดอาจถูกแก้ก็เปนได้ แต่หม่อมฉันมาคิดเห็นหลักที่จะตัดสินมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือวัดนั้นได้ใช้นามว่า วัดพระนามบัญญัติมาช้านาน จนถึงรัชชกาลที่ ๕ เมื่อ ร.ศ. ๑๐๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดฯ ให้ประกาศสั่งให้กลับเรียกชื่อเก่า หม่อมฉันเห็นว่าข้อสำคัญอยู่ที่ประกาศ ร.ศ. ๑๐๙ นั้น ถ้าโปรดฯ ให้เรียกอย่างไร ถึงจะไม่ตรงกับชื่อเดิมก็ต้องเรียกต่อไปตามในประกาศที่ดำรัสสั่งให้เรียก เพราะพระบรมราชโองการเปนกฎหมาย ว่าโดยย่อเรื่องนี้ควรค้นดูประกาศ ร.ศ. ๑๐๙ ถ้าในประกาศนั้นโปรดฯ ให้เรียกนามอย่างไรก็ควรใช้อย่างนั้น ถ้าประกาศ ร.ศ. ๑๐๙ ไม่มีต้นฉะบับเขียนจะสอบ ก็ต้องถือเอาตามที่พิมพ์ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเปนสำคัญ หม่อมฉันเห็นดังนี้

ข่าวคราวอันใดทางปีนังหมู่นี้ก็ไม่ใคร่มี เมื่อเข้าพรรษาหม่อมฉันเลี้ยงพระทำบุญตามเคย เวลาบ่ายวันแรมค่ำ ๑ เขาเชิญให้ไปจุดเทียนวัสสาที่วัดปูโลติกุส เหมือนอย่างเคยจุดเมื่อปีกลายนี้ พิธีมีการแห่เทียนวัสสา พวกสัปรุษทั้งชายหญิงพากันจับด้ายสายสิญจ์เดินเปนทำนองชักเทียนวัสสาซึ่งมีคนยกตาม แห่ ๓ รอบสีมาแล้วเอาเข้าไปตั้งตรงหน้าพระในโบสถ์ พระสงฆ์พรรษานี้มี ๖ รูปลงประชุมพร้อมกัน พอหม่อมฉันจุดเทียนวัสสาแล้วมีการพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝนต่อไป สังเกตพวกสัปรุษไทยที่เมืองปีนังแปลกตากว่าเมื่อปีกลาย ด้วยเมื่อปีกลายผู้หญิงแต่งตัวเปนอย่างยอหยาทั้งนั้น เพียงแลดูไม่รู้ว่าเปนไทยต่อพูดกันจึงรู้ มาในปีนี้พวกผู้หญิงสาวพากันแต่งเปนไทยเหมือนอย่างชาวกรุงเทพฯ มากขึ้น เมื่อเห็นพวกหม่อมฉันก็รู้จักไหว้เปนอันคุ้นกันขึ้น มีเรื่องเบ็ดเตล็ดซึ่งขบขันอยู่บ้างจะทูลต่อไปอีก ๒ เรื่อง เรื่องหนึ่งมีพวกจีนชาวปีนังมากระซิบถามจีนลูกจ้างของหม่อมฉัน ว่ามีไทยในพวกที่อยู่ซินนะมอนฮอลใครทำเสน่ห์เปนบ้างหรือไม่ ที่ชาวปีนังเชื่อเสน่ห์และเชื่อว่าไทยถนัดทำเสน่ห์เปนเรื่องที่รู้กันแต่บรมปฐมกัลป์ นึกว่าจะเสื่อมสูญไปแล้ว ปลาดที่ยังเชื่อกันอยู่จนทุกวันนี้ อีกเรื่องหนึ่งเมื่อสัปดาหะก่อน เวลาเย็นวันหนึ่งหม่อมฉันขึ้นรถยนต์ไปเที่ยวเล่นกับลูกตามเคย เมื่อรถผ่านไปในสวนน้ำตกเห็นชายหนุ่มคน ๑ นุ่งกางเกงจีนใส่เสื้อปิดคอ มีกล้องชักรูปอย่างใหม่ที่มีราคาแพงแขวนคอ เที่ยวเดินเล่นอยู่ในสวนกับผู้หญิงคน ๑ และเด็กอีกคน ๑ เห็นแปลกตาหม่อมฉันถามลูกว่าไทยมิใช่หรือ ลูกบอกว่าไทย แต่จะเปนใครไม่เคยเห็นหน้ามาแต่ก่อน ต่อมาเมื่อเมล์มาจากกรุงเทพฯ คราวหลัง ได้เห็นรูปชายหนุ่มคนนั้นพิมพ์อยู่ในหนังสือบางกอกไตมส์และหนังสือพิมพ์ไทยอื่น ๆ ว่ารัฐบาลบน ๕๐๐ บาทให้จับตัว ด้วยต้องหาว่าเกี่ยวข้องกับการยักยอกเงินลอตเตอรี่เมืองชลบุรี แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะหลบไปจากปีนังแล้ว เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคมมีเหตุทำให้สลดใจเกิดขึ้น ด้วยไทยที่มาจากกรุงเทพฯ มาตายลงคน ๑ ชื่อว่า นายประกิต บุตร์พระยาสรรพกิจเกษตรการ เปนหลานพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ออกมาเรียนวิชชาพาณิชยการอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลด้วยกันกับชายใหม่ ดูก็เปนคนแข็งแรงอายุเพียง ๒๓ ปีและกิริยาอัชฌาศัยเรียบร้อย ใคร ๆ พากันชอบทั้งนั้น อยู่มาว่ารู้สึกเจ็บในท้อง หมอตรวจว่าเปนโรคไส้ตันแนะนำให้ผ่า ครั้นผ่าแล้วเลยเปนไข้ และเปนบิดทับถึงแก่ความตาย น่าสงสาร เมื่อวันที่ ๓๑ เอาศพไปฝังไว้ที่วัดปิ่นบังอร ตำบลบาตูลันจังซึ่งเปนวัดใหญ่มีป่าช้า พวกหม่อมฉันและคนอื่นที่มาจากกรุงเทพฯ ไปช่วยฝังศพกันโดยมาก พิธีทำการศพคือสวดธรรมสังคินีเปนต้น ดูก็ทำเรียบร้อยถูกต้องตามธรรมเนียมไทย เมื่อเล่าถึงงานศพ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงได้สังเกตของที่แปลกตาในปีนังนี้อย่าง ๑ คือเครื่องกงเต๊กที่ทำสำหรับงานศพจีนในปีนังนี้เขาทำงาม ๆ แรกหม่อมฉันเห็นรู้สึกว่าแปลกตา ผิดกับเครื่องกงเต๊กที่ทำกันในกรุงเทพฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาไปจึงเห็นว่าที่นี่เขาไม่ใช้กระดาษสีแดงใช้สีเขียวอ่อน จึงแปลกตาเลยนึกขึ้นถึงคำพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (ซิมบี้) เคยบอกว่าเรือสำเภาของจีนฮกเกี้ยนกับจีนแต้จิ๋วผิดกัน เรือของจีนฮกเกี้ยนที่ปากปลาทาสีเขียวเรือของพวกจีนแต้จิ๋วทาสีแดง แลเห็นไกล ๆ ในทะเลก็รู้ได้ว่าของพวกไหน เรื่องถือสีเขียวและสีแดงคงเลยขึ้นมาถึงบนบก จีนที่ในกรุงเทพฯ เปนแต้จิ๋วเปนพื้น เครื่องกงเต๊กจึงใช้สีแดง พวกจีนที่ปีนังเปนฮกเกี้ยนเปนพื้นจึงชอบใช้สีเขียว แต่เหตุใดจึงนับถือสีเขียวและสีแดงต่างกันยังไม่ทราบ

สัปดาหะนี้หม่อมฉันมีเรื่องที่จะทูลถวายสำหรับทรงพิจารณาเรื่องหนึ่ง ด้วยมานึกขึ้นถึงประเพณีที่เจ้านายทูลเกล้าฯ ถวายต้นไม้ทองเงิน และดอกไม้ธูปเทียนเมื่อรับพระสุพรรณบัตรแต่ขุนนางถึงแม้รับสุพรรณบัตรหรือหิรัญบัตร ก็ไม่มีประเพณีที่จะถวายต้นไม้เงินทองหรือดอกไม้ธูปเทียน จะผิดกันด้วยเหตุใด หม่อมฉันไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นเค้าเงื่อนว่าจะเกิดประเพณีนั้นขึ้นอย่างไรและเมื่อใด ได้แต่คิดสันนิษฐานเห็นว่าน่าจะเปนประเพณีเก่าแก่มาก ด้วยการถวายดอกไม้ทองเงิน นอกจากเจ้านายถวายเมื่อรับพระสุพรรณบัตร มีแต่เจ้าประเทศราชถวายเปนราชบรรณาการ เพราะฉนั้นประเพณีที่เจ้านายถวายต้นไม้ทองเงิน น่าจะเกิดขึ้นแต่เมื่อรับยศออกไปครองเมือง (ก่อนแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง) ดอกกระมัง ส่วนการที่ถวายดอกไม้ธูปเทียนเมื่อรับพระสุพรรณบัตรนั้น ก็น่าจะมาแต่ทูลลาออกไปครองเมือง เพราะยังมีประเพณีข้าราชการทูลลาออกไปมีตำแหน่งอยู่หัวเมืองถวายดอกไม้ธูปเทียนทูลลาอยู่จนชั้นหลัง ขอให้ทรงพิจารณาดู

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระยาสรรพกิจเกษตรการ (เกียรติ์ หุตะสิงห์)

  2. ๒. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)

  3. ๓. พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ