อธิบายเรื่องเมืองตะกั่วป่า ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๓ ว่าด้วยบำรุงเมืองตะกั่วป่าและหัวเมืองฝ่ายตะวันตก

๙. เมืองในแหลมมลายูทางฝ่ายตะวันตก ที่ตั้งเปนหัวเมืองขึ้นใหม่ในรัชชกาลที่ ๔ คือ เมืองกระบุรี เมืองระนอง และเมืองภูเกต มีเรื่องประวัติเปนคติอันควรจะกล่าวอธิบายให้พิสดารสักหน่อย

เรื่องประวัติเมืองกระบุรีนั้น เดิมมีเศรษฐีจีนที่เมืองสิงคโปร์คน ๑ แซ่ตัน ชื่อกิมจิ๋ง เข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ ได้เฝ้าแหนคุ้นเคยชอบพระราชอัธยาศัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยมีความสวามิภักดิ์ จึงทรงตั้งเปนพระพิเทศพานิช ตำแหน่งกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ ครั้นถึงสมัยเมื่อดีบุกขึ้นราคาด้วยขายดีในยุโรป มีพวกฝรั่งและจีนพากันทำการขุดแร่ดีบุกในเมืองมลายูแดนอังกฤษมากขึ้น พระพิเทศพานิชสืบทราบว่าที่เมืองกระมีแร่ดีบุก จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำเหมืองขุดหาแร่ดีบุกที่เมืองนั้น ประจวบเวลามีเหตุสำคัญในทางการเมืองเกิดขึ้น ด้วยเมื่อฝรั่งเศสขุดคลองสุเอศเห็นว่าจะสำเร็จได้ คิดจะขุดคลองลัดแหลมมลายูที่เมืองกระอีกคลอง ๑ เอมปเรอร์นะโปเลียนที่ ๓ ให้มาทาบทามรัฐบาลสยาม พอรัฐบาลอังกฤษทราบข่าวก็ให้มาทาบทามจะขอเกาะสองแขวงเมืองระนอง เปนเกาะเปล่าไม่มีบ้านเรือนผู้คนแต่อยู่ตรงทางเข้าลำน้ำ “ปากจั่น” อันจะเปนต้นคลองที่ขุดใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าถ้ายอมให้ฝรั่งเศสขุดคลองกระ อังกฤษก็คงพาลชิงเอาหัวเมืองในแหลมมลายู หรือมิฉะนั้นฝรั่งเศสก็คงพาลชิงเอาเปนอาณาเขตต์ จะอย่างไรไทยก็ไม่มีกำลังพอจะรบพุ่งป้องกันได้ มีทางที่จะรอดแต่อย่าให้ขุดคลองกระได้ จึงโปรด ฯ อนุญาตให้เกาะสองเปนของอังกฤษ ๆ เปลี่ยนชื่อเรียกกันว่า เกาะวิกตอเรียอยู่บัดนี้ แต่ยังทรงพระราชวิตกเกรงว่าฝรั่งเศสจะใช้อุบายอย่างอื่นมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกระ จึงโปรด ฯ ให้ยกเมืองกระขึ้นเปนหัวเมือง และทรงตั้งพระพิเทศพานิชเปนพระยาอัษฎงคตทิศรักษาผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี เข้าใจว่าเพราะทรงพระราชดำริว่าเปนคนในบังคับอังกฤษ ถ้าพวกฝรั่งเศสบังอาจมาข่มเหงประการใด ก็คงต้องกระเทือนถึงอังกฤษ แต่จะเปนเพราะเหตุใดก็ตาม การที่ฝรั่งเศสจะมาขุดคลองกระในครั้งนั้นสงบไปได้ดังพระราชประสงค์

เมืองระนองนั้น เดิมก็เปนเมืองขึ้นของเมืองชุมพร เมื่อในรัชชกาลที่ ๓ มีจีนฮกเกี้ยนคน ๑ แซ่คอ ชื่อซูเจียง (ผู้เปนต้นสกูลณะระนอง) มาจากเมืองเอหมึงด้วยความขัดสน มารับจ้างเปนกรรมกรอยู่ที่เมืองปีนัง พอมีทุนขึ้นบ้างก็ย้ายไปตั้งร้านขายของอยู่ที่โรงแถวในตลาดที่เมืองพังงา ไปได้ภรรยาและมีบุตร์เกิดที่นั่นหลายคน (พระยาดำรงสุจริต ฯ คอซิมก้อง เคยพาหม่อมฉันไปดูโรงแถวนั้น) พอตั้งตัวได้ ก็ค้าขายขยายธุระต่อออกไปในหัวเมืองไทย ไปได้อาศัยทุนของเศรษฐินีเมืองตะกั่วป่าคน ๑ (ซึ่งได้มียศเปน ท้าว ในรัชชกาลที่ ๔ แต่หม่อมฉันนึกราชทินนามไม่ออกในเวลานี้) ต่อเรือใบขึ้นลำ ๑ (ซึ่งลูกหลานเขารักษาไว้ หม่อมฉันได้เห็น) เที่ยวค้าขาย ไปเห็นที่เมืองระนองมีแร่ดีบุกมาก จึงเข้ามากรุงเทพฯคิดอ่านหาผู้พาเข้าหาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ แต่เมื่อยังเปนเจ้าพระยาพระคลัง ฯ ที่สมุหพระกลาโหม ขอประมูลผูกอากรดีบุกเมืองระนอง เจ้าพระยาพระคลัง ฯ จึงทำประทวนตั้งให้เปน หลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งนายอากรดีบุกเมืองระนองมาแต่ในรัชชกาลที่ ๓ จึงย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ณเมืองระนอง ทำเหมืองแร่และเดินเรือในระวางเมืองระนองกับเมืองปีนังนั้นมาจนมั่งมี สามารถตั้งห้างใช้ยี่ห้อ โกหงวน ที่เมืองปีนัง และบำรุงเมืองระนองเจริญเกินเมืองชุมพร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรด ฯ ให้ตั้งเมืองระนองเปนหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ และพระราชทานสัญญาบัตร์เลื่อนหลวงรัตนเศรษฐีขึ้นเปนพระยาฯ ผู้ว่าราชการเมือง และทรงตั้งนายคอ ซิมก้อง บุตร (ซึ่งได้เปนพระยารัตนเศรษฐี แล้วเลื่อนเปนพระยาดำรงสุจริตในรัชชกาลที่ ๕) เปน หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ตำแหน่งปลัดเมือง หม่อมฉันได้ฟังพวกสกุลณะระนองเขาเล่าให้ฟังเมื่อไประนอง และได้เห็นประทวนกับทั้งสัญญาบัตร์ที่เขารักษาไว้ในสกุล จึงได้ทราบเรื่องดังทูลมา

เมืองภูเกตนั้น เดิมเปนเมืองขึ้นของเมืองถลาง แต่เปนที่มีแร่ดีบุกมากทั้งอยู่ใกล้ตลาดที่เมืองปีนัง ขายดีบุกง่ายกว่าหัวเมืองอื่น ๆ มีกรมการเมืองถลางคน ๑ ชื่อทัตเปนที่หลวงมหาดไทย ไปตั้งขุดแร่ดีบุกที่เมืองภูเกตจำหน่าย ได้กำไรรวยจนเปนเศรษฐี และได้เปนเจ้าเมืองภูเกตแต่เมื่อยังเปนเมืองขึ้นเมืองถลาง ในรัชชกาลที่ ๔ นั้น พระยามนตรีสุริยวงศ (ชุ่ม บุนนาค) เปนข้าหลวงออกไปสักเลขที่เมืองถลาง ไปขอลูกสาวพระภูเกต ทัต (คือคุณหญิงเลื่อม) ให้นายชื่นบุตรคนใหญ่ (คือ พระยามนตรีสุริยวงศ ชื่น) แต่งงาน แต่ในรัชชกาลที่ ๔ เพราะเหตุความเจริญของเมืองภูเกตในสมัยนั้น ประกอบกับความอุดหนุนของเจ้ากระทรวงจึงโปรด ฯ ให้ตั้งเมืองภูเกตเปนหัวเมืองขึ้นกรุงเทพ ฯ และพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนพระภูเกต (ทัต) ขึ้นเปน พระยาภูเกต โลหเกษตรารักษ์

๑๐. ถึงรัชชกาลที่ ๕ ที่ในยุโรปต้องการดีบุกมากขึ้น ก็มีพวกฝรั่งและพวกจีนเที่ยวหาที่ทำเหมืองแร่ดีบุกมากขึ้น แต่ทำกันแต่ในแดนอังกฤษ ไม่มีใครกล้าเข้ามาขออนุญาตทำในหัวเมืองไทย เพราะไม่รู้ขนบธรรมเนียมไทยและไม่ไว้ใจรัฐบาลสยาม พระยาอัษฎงค์ ฯ (ตันกิมจิ๋ง) เห็นได้เปรียบด้วยเปนขุนนางไทย และได้เคยทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองกระมาแต่ก่อน (แต่เผอิญที่นั้นแร่มีน้อยไม่ได้กำไร) จึงเที่ยวสืบวิธีเก็บภาษีอากรและจำนวนเงินหลวงที่ได้ในหัวเมืองที่มีแร่ดีบุกมาก ๔ เมือง คือเมืองระนอง เมืองตะกั่วป่า เมืองภูเกต และเมืองพังงา รู้แล้วทำฎีกาส่งเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถจาย ขอผูกภาษีอากรทั้ง ๔ เมืองนั้นโดยรับประมูลเงินหลวงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าหนึ่งซึ่งเคยได้มาแต่ก่อน ฎีกาของพระยาอัษฎงค์ ฯ ทำให้เกิดลำบากแก่รัฐบาล ด้วยพระยาอัษฎงค์ ฯ เปนคนในบังคับอังกฤษ จะบังคับบัญชาไม่ได้เหมือนคนในบังคับสยาม แต่จะไม่อนุญาต ก็ทิ้งผลประโยชน์แผ่นดินเสียเปนอันมาก ทั้งจะบอกปัดไม่ให้พระยาอัษฎงค์ ฯ โทมนัสก็ยาก จะเปนพระราชดำริ หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศคิดเห็นทางที่จะแก้ไม่ทราบแน่ โปรด ฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ (ชื่น บุนนาค) แต่เมื่อยังเปนเจ้าหมื่นเสมอใจราช (ซึ่งเปนลูกเขยพระยาภูเกต ทัต) เปนข้าหลวงเชิญท้องตราลงไปยังเมืองภูเกต แล้วเรียกผู้ว่าราชการเมืองทั้ง ๔ มาบอกให้ทราบ ว่าพระยาอัษฎงค์ ฯ จะขอผูกภาษีอากรใน ๔ เมืองนั้น จะไม่พระราชทานเขาก็ขอเพิ่มเงินหลวงขึ้นอีกเปนอันมาก ถ้าอนุญาต พระยาอัษฎงค์ ฯ ก็คงเข้ามามีอำนาจแทรกแซงผู้ว่าราชการเมือง ทางที่จะแก้ไขมีอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าผู้ว่าราชการเมืองเหล่านั้นรับผูกภาษีอากรในเมืองของตน ประมูลเงินให้มากขึ้นกว่าพระยาอัษฎงค์ ฯ ตามส่วน จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยทันที มิให้ต้องว่าประมูลแข่งกับพระยาอัษฎงค์ ฯ เวลานั้นพระยาเสนานุชิต (นุช ณะนคร) ยังว่าราชการเมืองตะกั่วป่า พระยาบริรักษภูธร (ขำ ณะนคร ที่พระยาสโมสรสรรพการนับถือนัก) บุตร์พระยาไทรที่มาเปนพระยาพังงาคนแรก เปนผู้ว่าราชการเมือง ทั้งสองคนนี้เปนแต่ผู้ดีมีชาติตระกูลไม่เคยค้าขาย แต่พระยาภูเกต (ทัต) และโดยฉะเพาะพระยาระนอง (คอซูเจียง) ชำนาญการค้าขาย เห็นจะปรึกษาว่ากล่าวกันมาก แต่ลงปลายผู้ว่าราชการทั้ง ๔ คนรับผูกภาษีอากรในเมืองของตน เพิ่มจำนวนเงินสูงกว่าที่พระยาอัษฎงค์ ฯ รับทั้ง ๔ เมือง แต่นั้นจึงรวมภาษีอากร ๑๐ อย่าง ซึ่งเก็บอยู่ในหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเรียกว่า “ภาษีผลประโยชน์” ให้ผู้ว่าราชการเมืองเก็บโดยมิต้องประมูลเปนรายปีต่อมา การส่งเงินหลวงนั้นมีข้าหลวงลงไปประจำอยู่ที่เมืองภูเกต คอยเร่งเรียกเงิน และให้เรือรบลงไปรับเงินเข้ามากรุงเทพ ฯ ต่อมาเมื่อธนาคาร ชาเตอร์ แอนด์ เมอคันไตล์ อังกฤษขยายการค้าขายไปถึงเมืองภูเกต รับธุระเรื่องส่งเงินเสียค่าส่งน้อยลง จึงให้ข้าหลวงส่งเงินทางธนาคารนั้น ท่านคงจะยังทรงจำได้ เวลาเสด็จออกขุนนางในรัชชกาลที่ ๕ พระสุรินทรามาตย์ (ถิน) มักอ่านใบบอกกระทรวงกลาโหม ว่าข้าหลวงได้ส่งเงินภาษีผลประโยชน์แก่ “ชาเตอร์เมอคันตะไลแบงค์” เนืองๆ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) ได้เปนข้าหลวงคนแรก เมื่อวางระเบียบการเรียบร้อยแล้วจึงได้กลับเข้ามาเปน พระยามนตรีสุริยวงศ จางวางมหาดเล็ก เพราะทำความชอบครั้งนั้น

๑๑. การที่ผู้ว่าราชการเมืองรับผูกภาษีผลประโยชน์ครั้งนั้น จะต้องส่งเงินหลวงเพิ่มขึ้นจากจำนวนเดิมกว่าเท่าหนึ่ง ถ้าไม่ขวนขวายให้เกิดผลประโยชน์ในบ้านเมืองเพิ่มขึ้นให้มาก ก็จำต้องฉิบหาย ข้อนี้เปนความลำบากอันพระยาระนอง (คอซูเจียง) และพระยาภูเกต (ทัต) คิดเห็นทางแก้ไขจึงกล้ารับ พระยาตะกั่วป่า (นุช) และพระยาพังงา (ขำ) ก็จำต้องรับด้วย การที่แก้ไขนั้นคือไปชวนพวกพ่อค้าจีนที่เมืองปีนัง ให้มาเข้าทุนทำเหมืองแร่ดีบุกในเมืองนั้นๆ ด้วยรู้ว่าพวกพ่อค้าจีนในเมืองปีนังที่อยากมาทำเหมืองแร่ดีบุกในหัวเมืองไทยมีอยู่มาก แต่หากกลัวจะถูกไทยกดขี่จึงไม่กล้ามาทำ เมื่อผู้ปกครองบ้านเมืองรับเข้าทุนได้เสียด้วย พวกพ่อค้าก็พากันยินดีมาลงทุนทำการ เกิด กงสี ทำเหมืองแร่ดีบุกในหัวเมืองเหล่านั้นมากขึ้น แต่ที่เมืองระนองนั้นเปนแต่ห้างโกหงวนของพระยาระนอง (คอซูเจียง) คิดกู้เงินมาเพิ่มทุน ขยายการทำเหมืองแร่โดยลำภังตน ไม่ชักชวนให้ผู้อื่นเข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซง ใช่แต่เท่านั้นยังขอผูกภาษีเมืองหลังสวนเมืองขึ้นเมืองชุมพร ซึ่งเปนที่มีแร่ดีบุกอยู่ต่อแดนเมืองระนองด้านตะวันออกอีกเมือง ๑ จึงเปนเหตุให้ตั้งเมืองหลังสวนเปนหัวเมืองขึ้นกรุงเทพ ฯ และตั้งนายคอซิมเต็ก บุตรคนที่ ๒ ของพระยารัตนเศรษฐี (คอซูเจียง) เปน พระจรูญราชโภคากร (ภายหลังได้เปนพระยา ฯ) ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน คือว่าขยายการค้าของห้างโกหงวนต่อไปถึงเมืองหลังสวนอีกเมือง ๑ แต่ที่เมืองกระบุรีนั้นแร่ดีบุกมีน้อย พระยาอัษฎงค์ ฯ ขาดทุน ลงปลายขอถวายเมืองกระคืน จึงโปรด ฯ ให้เลื่อนพระยาอัษฎงค์ ฯ เปน พระยาอนุกูลสยามกิจ ตำแหน่งกงสุลเยเนอราลสยามที่เมืองสิงคโปร์ แล้วทรงตั้งนายคอซิมบี๊ บุตรที่ ๔ ของพระยารัตนเศรษฐี (คอซูเจียง) เปนที่ พระอัษฎงคตรักษา เมืองกระบุรีก็เปนเมืองขึ้นของเมืองระนองแต่นั้นมา ส่วนเมืองถลางนั้นเมื่อความเจริญรุ่งเรืองย้ายไปอยู่เสียเมืองภูเกต ซึ่งอยู่ในเกาะอันเดียวกัน ต่อมาก็ลดลงเปนแต่เมืองขึ้นของเมืองภูเกต.

  1. ๑. ท้าวเทพสุนทร

  2. ๒. ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาอนุกูลสยามกิจ อุปนิกษิตสยามรัฐ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ