อธิบายเรื่องเมืองตะกั่วป่า

ตอนที่ ๑ วินิจฉัยเรื่องเมืองโบราณในแหลมมลายู

๑. ในแหลมมลายู ยังมีโบราณสถานที่พวกชาวอินเดียสร้างไว้แต่ดึกดำบรรพ์ เปนสำคัญว่าได้มาตั้งภูมิลำเนาเปนบ้านเปนเมืองที่ตรงนั้น ปรากฏอยู่หลายแห่ง และปลาดที่อยู่ในแดนประเทศสยามบัดนี้แทบทั้งนั้น นับแต่เหนือลงไปใต้

ทางฝ่ายทะเลตะวันตก

ก. ในจังหวัดตะกั่วป่า (ดอกเตอร์เวลส์ได้ตรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้) มีเทวสถานอยู่ณตำบล “ทุ่งตึก” ที่เกาะคอเขาตรงปากน้ำแห่งหนึ่ง ที่บน “เขาพระหน่อ” แห่งหนึ่ง และที่ “เขาพระนารายน์” แห่งหนึ่ง

ข. ในจังหวัดตรัง มีกรุบรรจุพระพิมพ์ดินดิบอยู่ที่ถ้ำ “วัด(วิ)หาร” กับที่ตำบลอื่นอีก (แต่จำชื่อไม่ได้) พระพิมพ์ดินดิบอย่างว่านี้ทราบว่ายังทำในประเทศธิเบต เมื่อปลงศพพระมหาเถรที่คนนับถือมากแล้วย่อมเอาอัษฐิประสมดินทำพระพิมพ์เปนประเพณี

ค. ในแขวงจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่อำเภอ (เมือง) ไชยา มีปราการเมืองและมีพระเจดีย์หลายแห่ง ดูเหมือนจะเปนเมืองใหญ่กว่าที่อื่นหมด

ฆ. ในแขวงจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ตำบลเวียงสระ มีปราการเมืองขนาดย่อม มีพระเจดีย์และศิลาจารึก

ง. ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีเจดีย์สถานและเดิมน่าจะมีเมืองด้วย แต่สร้างเมืองใหญ่ทับเสียจึงศูญไป

จ. ที่เมืองพัทลุง มีกรุที่บรรจุพระพิมพ์ดินดิบในถ้ำ “เขาคูหาสวรรค์” และ “เขาอกทลุ”

ฉ. ที่เมืองยะลา มีพระนอนใหญ่สร้างไว้ในถ้ำและมีกรุที่บรรจุพระพิมพ์ดินดิบที่ในถ้ำ “เขาตะเภา”

เคยได้ยินว่าที่เมืองไทร ก็มีทั้งพระเจดีย์และกรุที่บรรจุพระพิมพ์ดินดิบ แต่สูญไปเสียแล้ว เมืองอื่นๆ ข้างใต้เมืองยะลาและเมืองไทรลงไป ได้ยินว่ามีแต่สังหาริมวัตถุเช่นศิลาจารึกและขุดพบพระพุทธรูปเปนต้น หาปรากฏว่ามีโบราณสถานที่สร้างประจำที่ไม่

เมื่อพิจารณาดูแผนที่แหลมมลายูยังได้ความต่อไป ว่าเมืองต่างๆ ที่พรรณนามานั้น เมืองที่อยู่ทางฝ่ายทะเลตะวันตกเปนท่าเรือของพวกชาวอินเดีย สำหรับเดินบกข้ามแหลมมลายูมายังเมืองที่ตั้งทางฝ่ายทะเลตะวันออกทุกแห่ง คือ

ก. เมืองตะกั่วป่า เปนต้นทางมาเมืองไชยาและเมืองเวียงสระ (บางทีต้นทางมาเมืองเวียงสระ จะขึ้นที่ลำน้ำปะกาไสแขวงเมืองกระบี่ แต่ยังไม่พบหลักฐาน)

ข. เมืองตรัง เปนต้นทางมาเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง

ค. เมืองไทร เปนต้นทางมาเมืองยะลา (ทางอำเภอเบตงบัดนี้) ใต้นั้นลงไปคงเปนเพราะแหลมมลายูกว้างมาก และมีภูเขาซับซ้อนกันหลายเทือกเดินบกลำบากนัก จึงมีแต่เมืองน้อยๆ ตั้งตามชายทะเลไปมาหากันแต่โดยทางเรือ

๒. มูลเหตุที่ชาวอินเดียมาสร้างบ้านเมืองและเจดียสถานไว้ในแหลมมลายู ก็อยู่ในเรื่องเดียวกันกับพวกชากอินเดียพาสาสนาและอาริยธรรมมาประดิษฐานในประเทศต่างๆ ทางตะวันออกนี้ พิเคราะห์ดูเหมือนจะมาเป็น ๒ ทาง พวกที่มาแต่แรก (ที่สร้างพระปฐมเจดีย์) เห็นจะเปนชาวอินเดียตอนกลาง มาขึ้นที่เมืองมอญเดินมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อีกพวกหนึ่งมาทีหลังเปนชาวอินเดียตอนใต้ แล่นเรือมาทางแหลมมลายู พวกนักปราชญ์โบราณคดีค้นเรื่องชาวอินเดียที่มาทางเมืองมอญยังไม่ได้เท่าใดนัก รู้แต่ว่ามาแต่เมื่อชาวอินเดียยังถือพระพุทธสาสนาอย่างคติหินยาน ชาวอินเดียทางสายใต้มาเมื่อถือคติพระพุทธสาสนาอย่างมหายาน แต่สืบได้ความรู้เรื่องชาวอินเดียที่มาทางสายใต้มาก จึงแต่งพงศาวดารกำหนดเรื่องเปน ๓ ภาค คือมลายูภาค ๑ ชะวาภาค ๑ และกัมพูชาภาค ๑ เอาภาคมลายูเปนต้นเรื่อง เพราะพวกชาวอินเดียมาตั้งอาณาเขตต์ในแผ่นดินมาลายู (คือรวมทั้งแหลมมลายูและเกาะสุมาตรากับทั้งเกาะอื่นๆ ในช่องเตร็ดมลัคกา Straits of Malacca) ก่อน แล้วจึงขยายอาณาเขตต์และอาริยธรรมต่อไปถึงประเทศชะวาและกัมพูชา ข้อนี้พวกนักปราชญ์ทั้งที่ในชะวาและกัมพูชาชี้หลักฐานชอบกล ว่าเจดียสถานของโบราณที่สร้างในเมืองเขมรก็มีแบบศิลปของเขมร ที่ในเมืองชะวาก็มีแบบศิลปของชะวา แม้แปลกก็รู้ได้ว่ามิใช่คิดขึ้นใหม่ เปนแต่แก้ไขมาจากแบบศิลปของชาวอินเดีย พึงสันนิษฐานว่าในชั้นแรกคงสร้างตามแบบอินเดีย แล้วจึงคิดแก้มาโดยลำดับ จนเกิดเปนแบบเขมรและแบบชะวาขึ้นต่างหาก แต่ไฉนโบราณสถานที่ปรากฎอยู่ในกรุงกัมพูชาและเกาะชะวาจึงมีแต่สร้างเมื่อแบบศิลปของเขมรและชะวาสมบูรณ์แล้ว แต่ที่สร้างในสมัยเมื่อศิลปกำลังเปลี่ยนแปลงจึงหาพบไม่ อธิบายข้อนี้ศาสตราจารย์ปามองเตียพิจารณาทางกรุงกัมพูชา เห็นว่าในสมัยเมื่อเปลี่ยนแปลงนั้นคงยังสร้างด้วยเครื่องไม้ ฝ่ายศาสตราจารย์บอชทางประเทศชะวาเห็นว่าน่าจะเปนเพราะพวกช่างทางชะวา ได้อาศัยแต่เรียนคัมภีร์ “ศิลปศาสตร์” ซึ่งมาจากอินเดียเปนเค้าที่คิดแบบสร้างเจดียสถานขึ้น ที่จริงจะเปนอย่างไรยังไม่ยุติเปนหลักฐาน การค้นแบบศิลปจึงเปนข้อสำคัญในพงศาวดารภาคมลายูอยู่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เมืองไชยาเปนที่สำคัญขึ้น เพราะยังมีโบราณสถาน “สมัยมลายู” เหลืออยู่มากกว่าแห่งอื่นนอกจากที่เมืองปะเลมบัง ในเกาะสมาตรา ที่เข้าใจกันว่าเป็นราชธานี “ศรีวิชัย” ในสมัยนั้น แต่ที่เมืองปะเลมบังรัฐบาลฮอลันดาก็ยังไม่ได้ตรวจค้นแขงแรงเท่าใดนัก เรื่องประวัติของแบบศิลปจึงยังเปนปัญหาซึ่งจะต้องรอฟังต่อไป

๓. เรื่องพงศาวดารฉะเพาะภาคมลายูนั้น ในหนังสือเรื่องมลายะ (Malaya) ซึ่งนายพันตรี เอนรีเคส (Major Enriquez) แต่ง กล่าวว่ามีหลักฐานทราบความได้ ว่า มนุษย์ที่เปนชาวแหลมมลายูแต่เดิม พวกเงาะอยู่ข้างตอนเหนือ พวก “มลายูเก่า” อยู่ข้างตอนใต้ มนุษย์ทั้ง ๒ พวกนั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังมีเหลืออยู่ แต่หลบลี้เข้าไปอยู่ตามเทือกภูเขาข้างกลางแหลมมลายู เลยกลายเปนคนป่า พวกมลายูที่อยู่ข้างตอนใต้ในบัดนี้เปนพวก “มลายูใหม่” ซึ่งเดิมเปนชาวเกาะอยู่ที่อื่น ย้ายมาตั้งภูมิลำเนาในแหลมมลายู ส่วนทางข้างเหนือในหนังสือนั้นว่ามีมนุษย์ชาติหนึ่ง “ซึ่งพูดภาษามอญเขมร” (ตรงกับพวกลาวหรือลว้า ที่หม่อมฉันเคยถวายวินิจฉัยไปแต่ก่อน) ลงมาจากข้างเหนือ มาชิงดินแดนของพวกเงาะตั้งเปนภูมิลำเนา ข้อนี้อ้างหลักฐานว่าภาษาของพวกเงาะยังมีคำมอญเขมรระคนอยู่ เพราะได้เคยส้องเสพกับพวกลาว พวกชาวอินเดียเริ่มมามีอำนาจในแหลมมลายูในสมัยเมื่อพวกลาวปกครองท้องถิ่น และเชื้อสายของชาวอินเดียได้ปกครองแหลมมลายูมาประมาณ ๒๐๐ ปี เมื่อเสื่อมอำนาจลงพวกเขมร (เมืองละโว้) ลงมาชิงได้บ้านเมือง แต่เขมรปกครองอยู่ไม่ช้า ชนชาติไทยได้เปนใหญ่ในประเทศสยาม (ณกรุงสุโขทัย) ก็ขยายอำนาจลงมาได้แหลมมลายูตอนข้างเหนือ ไว้เปนอาณาเขตต์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษเปนต้นมา ในพงศาวดารของไทยเราว่าไทยได้แหลมมลายูตลอดลงไปจนสุดปลายแหลม มีหลักฐานอยู่ในกฎมณเฑียรบาล และในเรื่องพงศาวดารครั้งรัชชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏว่าไทยได้ยกกองทัพลงไปตีถึงเมืองมลัคกา แต่เมื่อพิจารณาดูก็เห็นว่าตรงกัน คือเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหงมหาราช คงขยายราชอาณาเขตต์ลงไปตลอดแหลมมลายู แต่ให้ไทยลงไปปกครองแต่ตอนที่ราษฎรเปนลว้า ข้างใต้ลงไปราษฎรเปนมลายูจึงให้มลายูปกครอง แต่วิธีปกครองคงเปนอย่างประเทศราชหรือพระยามหานครทั้งนั้น ในหนังสือเก่าเช่นเรื่องชินกาลมาลินีและสิหิงคนิทาน จึงเรียกเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่า “ราชา”

๔. หลักฐานเรื่องพงศาวดารภาคมลายู นอกจากศิลาจารึกและแบบศิลป มีหนังสือบางเรื่องซึ่งนักปราชญ์ผู้คนเรื่องพงศาวดารได้อาศัยสอบสวน เรื่องหนึ่งเปนหนังสือในอินเดียข้างฝ่ายใต้เรียกว่า “ไศเลนทรวงศ” (น่าแปลว่า “วงศพระเจ้าเขาหลวง”) อีกเรื่องหนึ่งเปนจดหมายเหตุจีนเรียกว่า “ซู-ฟัน-ซี” (Chu-fan-chi) (แปลความว่า “จดหมายเหตุต่างประเทศ”) แต่งเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๖๘ นอกจากนั้นมีจดหมายเหตุของพวกแขกอาหรัปประกอบอีกบ้าง แต่การสอบสวนอยู่ข้างลำบากเพราะหนังสือเหล่านั้นเรียกชื่อบ้านเมืองไม่ตรงกัน ถึงกระนั้นก็ได้เรื่องราวดังจะกล่าวแต่โดยย่อต่อไปนี้ คือ

เมื่อราว พ.ศ. ๑๑๐๐ พวกชาวอินเดียเริ่มตั้งราชอาณาเขตต์ภาคมลายู เรียกว่า “ประเทศศรีวิชัย” ตั้งเมืองหลวงใกล้เมืองปะเลมบัง ในเกาะสุมาตราบัดนี้ แต่สมัยนั้นยังถือสาสนาพราหมณ์อย่างลัทธิศิเวทแผ่ลัทธิสาสนานั้นไปถึงประเทศชะวาและกัมพูชา ต่อมามีชาวอินเดียฝ่ายใต้อีกพวกหนึ่งซึ่งถือพระพุทธสาสนาอย่างคติมหายาน มาได้เปนใหญ่ในภาคมลายู (แต่ในหนังสือไศเลนทรวงศเรียกนามอาณาเขตต์ว่า “ประเทศชาวกะ” (Javaka) ในจดหมายเหตุจีนเรียกว่า “ประเทศสัน-โฟฉี” (an-fo-tsi) ในจดหมายเหตุพวกอาหรัปเรียกว่า “ประเทศสบัค” (Zabag) แต่พิเคราะห์ที่กล่าวถึงภูมิประเทศ เห็นได้ว่าเปนอาณาเขตต์แห่งเดียวกัน) กษัตริย์ไศเลนทรวงศที่ปกครองภาคมลายู มีอานุภาพสืบกันมาหลายชั่ว แต่ตั้งราชธานีอยู่ที่ไหนเถียงกันอยู่ ทางอินเดียว่าตั้งราชธานีอยู่ในแหลมมลายูที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งในศิลาจารึกเรียกว่า “เมืองตามรลิงค์” (Tamralinga) หรือที่เมืองไชยา ซึ่งในศิลาจารึกเรียกว่า “เมืองครหิ” (Grahi) แต่เค้าเงื่อนทางอื่นว่าตั้งราชธานีอยู่ณเมืองปะเลมบัง ซึ่งเปนราชธานีเดิมครั้งศรีวิชัยนั่นเอง (ในหนังสือนี้จะคงเรียกนามประเทศว่า “ศรีวิชัย” ต่อไป) ในจดหมายเหตุจีนว่าพระเจ้ากรุงศรีวิชัยมีอาณาเขตต์กว้างขวาง ระบุชื่อเมืองใหญ่ในราชอาณาเขตต์ (เรียกตามเสียงจีน) ไว้ถึง ๑๕ เมือง ว่าเปนเมืองประเทศราชบ้างเปนหัวเมืองบ้าง มีชื่อเมืองตันมาลิง (Tan-ma-ling) ตรงกับชื่อเมืองนครศรีธรรมราช ที่เรียกในศิลาจารึกว่า “ตามรลิงค์” และเมืองเกียโลหิ ตรงกับเมืองไชยาซึ่งเรียกว่าเมือง “ครหิ” ในศิลาจารึก อยู่ใน ๑๕ เมืองนั้นด้วย เนื้อความในศิลาจารึกเมืองไชยาที่ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ แปล ก็ปรากฏว่าไศเลนทรวงศนั้นภายหลังแยกกันเปน ๕ สาขา ต่างมีบ้านเมืองเปนอาณาเขตต์ในภาคมลายู เหตุที่พวกเชื้อสายชาวอินเดียจะหมดอำนาจในภาคมลายูนั้น ว่าเพราะกษัตริย์ราชวงศไศเลนทรองค์ ๑ ทรงนามว่า “จันทรภาณุ” (เห็นจะเปนใหญ่คล้ายราชาธิราชในภาคมลายู) ยกกองทัพไปช่วยพวกทมิฬตีเมืองลังกา ไปปราชัยย่อยยับ อาณาเขตต์ก็แตกฉานและยังซ้ำประจวบพวกอาหรัปมาเกลี้ยกล่อมพวกมลายู ให้เข้ารีตถือสาสนาอิสลามด้วย แต่นั้นพระพุทธสาสนาก็เลยเสื่อมทรามลง บ้านเมืองก็เลยแยกกันไปตามยถากรรม

๕. แต่ในสมัยเมื่อราชวงศไศเลนทรครองภาคมลายูนั้น ให้เที่ยวสั่งสอนและทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาอย่างคติมหายานเจริญแพร่หลายเปนต้นเหตุที่จะสร้างเจดียสถาน ณ ที่ต่างๆ ในแหลมมลายูที่พรรณนามาข้างต้น และนับถือพระพุทธสาสนากันแพร่ไปจนถึงประเทศชะวา แต่พระพุทธสาสนาอย่างคติมหายานที่เข้าไปถึงประเทศสยามนั้น ศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ เคยบอกหม่อมฉันว่าขึ้นไปจากเมืองไชยา ด้วยมีในศิลาจารึกปรากฏว่าผู้ครองเมืองไชยาองค์ ๑ ได้ขึ้นไปครองเมืองละโว้แล้วเชื้อวงศได้ออกไปครองกรุงกัมพูชา และมีในศิลาจารึกที่เมืองละโว้ว่าในสมัยเมื่อจารึกนั้น ที่เมืองละโว้มีทั้งพระสงฆ์ฝ่ายหินยานและพระสงฆ์ฝ่ายมหายานอยู่ด้วยกัน ความส่อว่าพระสงฆ์นิกายหินยานอยู่ในประเทศสยามสืบมาแต่พวกสร้างพระปฐมเจดีย์ พระสงฆ์พวกมหายานขึ้นไปจากเมืองไชยากับเจ้าแผ่นดินองค์ที่ว่านั้น ยังมีเรื่องต่อไป หม่อมฉันเคยบอกความเห็นแก่ศาสตราจารย์ปามองเตียครั้งหนึ่ง ว่าหม่อมฉันเข้าใจว่ากรุงกัมพูชาได้สาสนาพราหมณ์มาจากทางเมืองชะวา พระพุทธสาสนานั้นได้คติอย่างหินยานไปจากประเทศสยาม แต่ได้คติอย่างมหายานมาจากทางเมืองชะวา แกรับรองความเห็นของหม่อมฉันในข้อสาสนาพราหมณ์ แต่ในส่วนพระพุทธสาสนาแกยืนยันว่าได้ไปจากประเทศสยามทั้งอย่างหินยานและมหายาน ดูเหมือนแกจะสอบสวนหาหลักฐานได้แล้ว ถ้าเช่นนั้นพระพุทธสาสนาอย่างมหายานขึ้นมาจากเมืองไชยา มาประดิษฐานที่เมืองละโว้ก่อน แล้วจึงแพร่หลายลงไปกรุงกัมพูชา ความที่อ้างนี้ดูก็มีเค้าเงื่อนชอบกล ด้วยสังเกตปรางค์หินที่มีในประเทศสยาม ทั้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและบนแผ่นดินสูงทางโคราช ที่เปนชั้นเก่าเช่นปรางค์สามยอดที่เมืองละโว้ก็ดี วัดพระพายหลวงที่เมืองสุโขทัยก็ดี ปรางค์หินที่เมืองพิมายก็ดี สร้างเปนสถานในพระพุทธสาสนาอย่างมหายานทั้งนั้น ที่เปนเทวสถานเช่นที่เขาพนมรุ้งเปนต้นก็สร้างตามคติวิษณุเวท ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังพระพุทธสาสนาอย่างมหายาน เทวสถานอย่างศิเวทที่มาก่อนพระพุทธสาสนาอย่างมหายานหาใคร่จะพบไม่ นึกถึงเมืองพิมาย พิเคราะห์ดูยิ่งเหมาะกับเรื่องเพราะตัวปรางค์ที่เปนประธานสร้างเปนวัตถุในพระพุทธสาสนาอย่างมหายาน แต่ตามวิหารทิศที่พระระเบียงมีลายจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ เปนคติวิษณุเวททางสาสนาพราหมณ์ ส่อให้เห็นว่าเปนของสร้างเพิ่มเติมในภายหลัง เมื่อความเลื่อมใสสาสนาพราหมณ์ตามคติวิษณุเวทรุ่งเรืองทางกรุงกัมพูชา แล้วแพร่หลายมาถึงประเทศสยาม เพราะตามคติวิษณุเวทถือว่าพระพุทธเจ้าเปนพระนารายน์อวตาร จึงเชื่อมกันได้ด้วยเหตุนั้น.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ