วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

ในสัปดาหะที่ล่วงมา นอกจากจดหมายประจำสัปดาหะที่ถวายท่าน หม่อมฉันต้องเขียนจดหมายขอบคุณผู้ที่เขาฝากอาหารให้แช่ม จุลดิศพามาให้อีกหลายฉะบับ เห็นหญิงพูนต้องดีดพิมพ์เหนื่อยอยู่บ้าง นายแก้วแผลสุกใสก็กำลังตกเสก็ดยังดีดพิมพ์ไม่ได้ ต้องทูลขอรอเรื่องเมืองตะกั่วป่าต่อไปอีกสักคราวหนึ่ง ในจดหมายฉะบับนี้จะทูลสนองแต่ข้อความในลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน

เรื่อง “รดน้ำ” ในการพิธี หม่อมฉันได้ทูลเพิ่มเติมไปในจดหมายสัปดาหะที่ล่วงมา แคล้วกันกับลายพระหัตถ์ฉะบับนี้

เรื่อง “ลองประกอบโกศลักษณต่างๆ” ที่ทรงพิจารณานั้น ดูเปนหลักฐานดี พิเคราะห์ตามประเพณีที่พวกฮินดูทำกันในอินเดีย หรือแม้มาอยู่ในปีนังนี้ พอตายแล้วก็เอาไปเผาในวันต่อมา เปนแต่เอาศพวางบนแคร่คลุมผ้าไม่ใส่หีบ ต่อจะเอาศพฝังไว้ เช่นพวกอิสลามหรือพวกจีนจึงเอาศพใส่หีบฝัง การที่คนบางจำพวกใช้ประเพณีเผาศพ เอาศพใส่โกศหรือใส่หีบ แสดงว่าเพราะจะรอการเผาช้าวันไปเพื่อทำเมรุเปนต้น เห็นว่าเดิมคงใช้ใส่หีบเปนสามัญ แม้จนพระศพพระพุทธองค์ก็ใส่หีบ ประเพณีที่เอาศพใส่โกศน่าจะเกิดขึ้นต่อภายหลัง ด้วยความคิดของพวกถือสาสนาพราหมณ์ เมื่อหม่อมฉันไปนครวัดไปเห็นเทวสถานแห่งหนึ่ง ซึ่งพระองค์ท่านก็คงได้ทอดพระเนตรเห็น เรียกว่า “ปักษีจำกรง” อยู่ริมทางเข้าไปนครธม ทำทรวดทรงเหมือนอย่างโกศตั้งบนชั้นเบญจา พอหม่อมฉันเห็นก็นึกขึ้นถึงประเพณีที่เอาศพใส่โกศ สันนิษฐานว่าจะเกิดแต่ถือคติว่า พระเปนเจ้าอวตารลงมาเปนพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระวิญญาณเสด็จคืนไปสู่องค์พระเปนเจ้าแล้วก่อนถวายพระเพลิงจึงต้องแต่งพระสรีระ ทรงเครื่องอาภรณ์ประดิษฐานไว้เปนที่สักการบูชา ให้สมกับเปนเทวาวตาร (มูลของทองปิดหน้าศพ น่าจะมาแต่คตินั้น) แล้วทำพระโกศใส่พระศพให้เหมือนประทับอยู่ในปราสาท เดิมน่าจะมีแต่พระศพพระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงให้ใส่โกศเปนเกียรติยศต่อลงไปถึงพระศพพระชายา เทพบุตรและเทพธิดาและที่สุดถึงศพเทพามาตย์ เมื่อเกิดนิยมเกียรติยศที่ศพได้ใส่โกศ พวกถือพระพุทธสาสนาก็รับใช้บ้าง ด้วยถือคติว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนพระโพธิสัตว์เสมอเทพเจ้าเหมือนกัน ปลาดอยู่ที่ในเมืองไทย แม้สมัยปัจจุบันนี้ยังมีศพใส่โกศเชลยศักดิ์ โดยอ้างว่าเคยเปนธรรมเนียมมาแต่โบราณหลายแห่ง หม่อมฉันเห็นทีแรกที่วัดประดู่โรงธรรมณพระนครศรีอยุธยา มีโกศลุ้งสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ที่ศาลาใบ ๑ หม่อมฉันปลาดใจ ถามพระบอกว่าโกศนั้นทำใส่ศพท่านสมภารองค์ก่อน และบอกอธิบายว่าศพสมภารวัดประดู่ฯ เคยใส่โกศเปนธรรมเนียมมาทุกองค์ ต่อมามาได้ยินที่เมืองเพ็ชรบุรีว่าศพสมภาร (บางวัด) ใส่โกศ และครั้งสุดท้ายมาเห็นศพพระอาจารย์จีนวงศสมาธิวัตร (แมว) ใส่โกศลุ้งเช่นนั้น เห็นว่าจะมาแต่คติฝ่ายมหายานเก่าแก่ ที่ถือว่าพระมหาเถรเปนพระโพธิสัตว์ ที่เมืองเพ็ชรบุรียังคงใช้ธรรมเนียมเดิมอีกอย่างหนึ่ง ที่เผาเมรุไปด้วยกันกับศพ ด้วยเหตุนั้นที่เมืองเพ็ชรบุรีจึงยังมีช่างมาก เพราะมีการทำเมรุเครื่องกระดาดอยู่เสมอ ที่หัวหินก็เอาอย่างเมืองเพ็ชรฯ ไปทำอย่างนั้น หม่อมฉันเคยเห็นเผาเมรุ (ปะรำ) ด้วยกันกับศพที่วัดหัวหินหลายครั้ง ยังพวกพรามณ์ที่เมืองพัทลุง ตัวหัวหน้ามี ๔ คน เมื่อตายเขาบอกก็ใส่โกศเหมือนกันเห็นจะเปนเพราะสมมตว่าเปนไวทึกมาแต่ก่อนเก่านั่นเอง

เรื่อง “วัจจกุฏิ” ที่ทรงสืบได้ความจากมหางั่วกว้างขวางออกไปอีกนั้นดีนัก เปนอันได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นว่าที่มี “ถาน” ตามวัดทุกวัดนั้น เพราะพระวินัยบังคับให้ต้องมี มิใช่พระสงฆ์คิดทำตามอำเภอใจ แต่น่าจะทรงพยายามไล่เลียงท่านผู้รู้ต่อไปให้รู้ศัพท์ซึ่งมหางั่วแปลไม่ออกนั้น

เรื่อง “เมืองชุมพร” ที่นายชิตสืบได้ความทูลต่อมาก็ดี หม่อมฉันสงสัยมานานแล้ว ว่าเพราะเหตุใดลำน้ำที่ตั้งเมืองจึงเรียกว่า “ลำน้ำท่าตะเภา” และมีลำน้ำที่ไม่ได้ตั้งเมืองอยู่อีกสายหนึ่งไม่ห่างกันนัก กลับเรียกว่า “ลำน้ำชุมพร” เมื่อมาทราบความที่ประทานมาว่าเดิมตั้งเมืองริมลำน้ำชุมพรข้างตอนเหนือ ในท้องที่กิ่งอำเภอแซะ แล้วย้ายเมืองเลื่อนลงมาตามลำน้ำหลายครั้ง จนที่สุดจึงมาตั้งที่ริมน้ำท่าตะเภา ก็เข้าใจแจ่มแจ้ง อันที่ตั้งเมืองแต่โบราณต้องอาศัยหลัก ๒ อย่าง คือมีที่ทำนาอย่างหนึ่ง ซึ่งท้องที่กิ่งอำเภอท่าแซะเปนทำเลนาดีอย่างยิ่งในแขวงเมืองชุมพร และต้องมีลำน้ำเปนทางโคจรและอาศัยใช้น้ำบริโภคด้วยอีกอย่างหนึ่ง ลำน้ำท่าตะเภาและลำน้ำชุมพรข้างตอนใต้น้ำเค็มเห็นจะยังขึ้นถึงจึงต้องตั้งเมืองลึกเข้าไป ส่วนการปกครองแต่ก่อนก็ไม่มีสถานที่ของรัฐบาล บ้านเจ้าเมืองเรียกกันว่า “จวน” อยู่ที่ไหนก็ว่าราชการเมืองที่นั้นมีแต่ศาลาโถง ปลูกไว้ข้างหน้าบ้านหลัง ๑ เรียกว่า “ศาลากลาง” เปนที่สำหรับชำระความและประชุมกรมการ กับมีตรางขังคนโทษอีกหลัง ๑ มักปลูกในบริเวณจวนเจ้าเมือง เพื่อให้มั่นคงและได้ใช้คนโทษด้วย ใครได้เปนเจ้าเมือง ถ้าเปนคนแปลกถิ่นไปจากที่อื่น ก็ต้องไปหาที่ดินสร้างจวนกับทั้งศาลากลางและตรางขังนักโทษด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง อันนี้เปนมูลเหตุที่ย้ายเมือง เพราะเมืองเดิมมีบ้านเรือนหนาแน่นหาที่ตั้งจวนให้เหมาะไม่ได้ และมีเหตุอีกอย่างหนึ่ง ด้วยเจ้าเมืองได้แต่ค่าธรรมเนียมความเปนผลประโยชน์โดยตรง ต้องอาศัยทำมาหากินเช่นทำนาเปนต้น เปนการเลี้ยงชีพด้วย ถ้าหาที่ในเมืองเดิมไม่ได้ ก็เที่ยวตรวจหาที่ว่างซึ่งเหมาะแก่ความประสงค์ แล้วขอแรงราษฎรให้ช่วยโก่นสร้างถางถากทำจวนอยู่และเบิกไร่นาต่อไปในตำบลนั้น เจ้าเมืองไปอยู่ไหนผู้ที่มีกิจธุระก็ต้องตามไป ในไม่ช้าก็เกิดตลาดยี่ศาลบ้านเรือนเปนที่ประชุมชนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า “เมืองใหม่” ด้วยประการฉะนี้ เมืองชุมพรที่ย้ายลงมาข้างใต้ คงอาศัยเหตุอื่นอีกหลายอย่าง คือฝั่งทะเลงอกเปนเหตุให้น้ำเค็มถอยลงไปอย่างหนึ่ง สิ้นหวาดศึกพะม่าเพราะเมืองมอญตกเปนของอังกฤษ พะม่าจะยกกองทัพมาไม่ได้ดังแต่ก่อนอย่างหนึ่ง

เรื่องเจ้าเมืองชุมพรที่นายชิตทูลนั้นหม่อมฉันทราบเรื่องพอจะทูลเพิ่มเติมได้บ้าง พระยาชุมพร (ซุย) นั้น เห็นจะได้เปนเจ้าเมืองชุมพรด้วยมีความชอบครั้งรบพะม่าที่มาตีเมืองชุมพรในรัชชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ จริง เค้าเงื่อนมีอยู่ที่ชื่อพระยาชุมพรตามทำเนียบเปน “พระยาเคางะธราธิบดี ศรีสุรัตวลุมนัก” เปลี่ยนเปน “พระยาเพ็ชรคำแหงสงคราม” (มิใช่ คำแหงสงคราม อย่างนายชิตว่า คงเริ่มใช้นามนั้นเมื่อตั้งพระยาชุมพร (ซุย) แต่เสียใจที่จะทูลว่าพระยาชุมพร (ซุย) นั้นลงปลายต้องตกยาก เหตุด้วยเมื่อต้นรัชชกาลที่ ๓ อังกฤษเกิดรบกับพะม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ อังกฤษมาชวนไทยเปนสัมพันธมิตรช่วยกันตีเมืองพะม่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับทางไมตรีอังกฤษ โปรดฯ ให้เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย คชเสนี) เปนแม่ทัพบกยกไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ไปสมทบกองทัพอังกฤษที่เมืองเมาะตมะ และเตรียมกองทัพหลวงจะให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเปนจอมพลอีกทัพหนึ่ง จะให้ยกตามไป แต่กองทัพนั้นหาได้ไปไม่ ส่วนกองทัพเรือนั้นโปรดฯ ให้พระยาชุมพร (ซุย) เปนแม่ทัพ คุมกองทัพเรือไปตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี พระยาชุมพรตีได้เมืองมะริดแล้ว กองทัพเรือที่อังกฤษให้ลงมาช่วยจึงลงมาถึง มาเกิดวิวาทกันขึ้นด้วยวิธีทำสงครามผิดกัน ข้างฝ่ายไทยพอได้เมืองมะริดแล้วก็กวาดครอบครัวพะม่า ที่เปนพลเมืองมะริดเอามาเมืองไทย ฝ่ายอังกฤษห้ามขออย่าให้เทครัวอย่างนั้น ข้างไทยไม่ยอมอังกฤษ จับพวกนายกองของพระยาชุมพร (ซุย) ที่ไปกวาดครัวไว้ได้หลายกองแต่ส่วนตัวพระยาชุมพร (ซุย) หลบมาได้ ถูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกริ้ว ว่าไปประมาทให้อังกฤษจับนายทัพนายกองไปได้ ให้ถอดเสียจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง เมื่อเสร็จสงครามคราวนั้นไทยต้องคืนเชลยพะม่าที่กวาดเอามากลับไปบ้านเมือง มีเรื่องเกี่ยวกับพระยาชุมพร (ซุย) ต่อมาอีก ด้วยเมื่อกวาดครัวมานั้นพระยาชุมพร (ซุย) ได้หญิงสาวพะม่ามาเปนภรรยาคน ๑ เมื่อต้องส่งครัวคืนหญิงคนนั้นมีครรภ์ติดไป ไปคลอดลูกเปนชาย (หม่อมฉันเคยรู้จักชื่อ แต่ลืมเสียแล้ว) เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมีความรู้และประพฤติตัวดี ถึงอังกฤษตั้งให้เปนนายอำเภอที่เมืองมะริด แต่ถือตัวว่าบิดาเปนไทย .นับพวกเชื้อสายของพระยาชุมพร (ซุย) ว่าเปนญาติ นายอำเภอคนนั้นมีลูกชายให้ชื่อว่า จันทรพงศ เมื่อตัวจะตายสั่งว่าให้เข้ามารับราชการในเมืองไทยตามสกุล นายจันทรพงศเข้ามาหาพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ซิวเยีย ซึ่งเปนหลานของพระยาชุมพร (ซุย) ให้พามาถวายตัวต่อหม่อมฉันเมื่อยังว่าการมหาดไทย เวลานั้นนายจันทรพงศยังพูดไทยไม่ได้ แต่เรียนภาษาอังกฤษพูดรู้ดี หม่อมฉันจึงให้ไปรับราชการในกรมป่าไม้ ต่อมาได้เปนขุนนาง จะเปนขุนหรือเปนหลวง ให้มีราชทินนามอย่างใด หม่อมฉันจำไม่ได้ และไม่ทราบว่าจะตายหรือยังอยู่ในเวลานี้ เรื่องที่ว่าพะม่าตายเพราะพิษใบไม้นั้นก็เห็นจะจริง หม่อมฉันเคยเดินบกข้ามแหลมมลายูทางเมืองกระหลายครั้ง มีหาดอยู่กลางทางแห่งหนึ่งเรียกกันว่า “หาดพะม่าตาย” เขาเล่าเรื่องให้ฟังว่าเมื่อพะม่ายกมาตีเมืองชุมพร มาพักนอนที่หาดนั้นไม่รู้จักใบตะลังตังช้างเห็นแต่เปนใบไม้ขนาดใหญ่ก็ตัดเอามาปูนอน ถูกพิษใบไม้ตายสัก ๓๐ คน เคยได้ยินมาอย่างนี้ พระยาชุมพรต่อพระยาชุมพร (ซุย) มา คนที่ชื่อครุธ หม่อมฉันไม่ทัน แต่พระยาชุมพร (ยัง) นั้นหม่อมฉันรู้จัก คนต่อนั้นมาที่นายชิตเขียนลงในบัญชีว่า “พระยารัตนเศรษฐี (เทศ) ตามที่เล่ากันมาว่าเปนจีน” นั้น น่าพิศวง ด้วยมิใช่คนอื่นคือพระยาดำรงสุจริต (คอซิมก้อง ณะระนอง บิดาของพระยาปฏิพัทธภูบาล) นั่นเอง เปนเทศาคนแรกเมื่อตั้งมณฑลชุมพรเมื่อเร็วๆ นี้เอง ควรและหรือถึงลืมชื่อลืมตำแหน่งกันเสียแล้ว ดูออกเปนธรรมสังเวช ต่อนั้นมีพระยาเพ็ชรกำแหงอีกคน ๑ ชื่อ มลิ ออกจากราชการแล้วแต่ตัวยัง หม่อมฉันเข้าใจว่าท่านคงรู้จัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ