วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๙ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

การพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิที่ปีนัง อ่านกำหนดการที่กระทำตามที่ทรงพระเมตตาโปรดประทานไป พร้อมทั้งกระแสรพระดำริที่จะทรงปฏิบัติด้วย รู้สึกพอใจเปนอย่างยิ่ง เห็นว่าดีสมควรแก่กาละเทศะแล้ว ไม่มีสิ่งใดย่อหย่อนกว่าที่จะพึงทำได้ ซ้ำเห็นหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ เขาคัดหนังสือพิมพ์ สเตรตส์ เอโฆ มาลง กล่าวถึงการเปนไปในวันถวายพระเพลิงก็มีความยินดีโดยรู้สึกว่างดงามพออย่างยิ่งแล้ว รู้สึกขันที่ฝรั่งตื่นเจ้านายทรงขาว เพราะเปนของไม่เคยเห็น ซ้ำกล่าวถึงฝ่าพระบาทว่าทรงดำแต่องค์เดียว และก็เข้าใจถูกว่าเพราะฝ่าพระบาทเปนภราดาผู้ยิ่งพระชนมกว่า เห็นจะมีใครอธิบายให้เข้าใจ ส่วนทางในกรุงเทพฯ เตรียมทำเปนประการใดไม่จำเปนต้องกราบทูล เพราะเขาลงกำหนดการในหนังสือพิมพ์แล้ว คงจะได้ทอดพระเนตรเห็นในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ส่วนตัวเกล้ากระหม่อมคิดจะไปรับพระอัฏฐิที่สถานีจิตรลดา และไปในการบำเพญพระราชกุศลตลอดบรรจุพระอังคารด้วย เจ้านายที่ไม่มีหรือไม่แต่งเครื่องแบบ กำหนดให้แต่งไว้ทุกข์ คือเครื่องดำ

พระวิจารณ์ในเรื่อง “บังสกุล” และ “สดัปกรณ์” นั้นดีหนัก ถูกที่สุดไม่มีข้อใดที่จะคัดค้านเลย แต่จะขอทูลต่อทางอักขรวิธีในคำ “สดัปกรณ์” ให้ทรงทราบต่อไปอีกหน่อย คือว่าคำ “สดัปกรณ์” นั้น แต่ก่อนเขียนกันหลายอย่าง “สดัปกรณ์” ก็มี “สดับปกรณ์” ก็มี “สตปกรณ” ก็มี “สบัดปกรณ์” ก็มี และยังอย่างอื่นอีก ทำเอาเวียนสีสะไม่รู้จะเขียนอย่างไร จึงได้ไปทูลปรึกษากรมพระสมมตว่าควรจะเขียนอย่างไร ท่านทรงวินิจฉัยว่าไม่มีที่สงสัย คำ “สดัปกรณ์” นั้น มาแต่คำ “สตฺตปฺปกรณ” ในภาษาบาลีเปนแน่นอน ซึ่งแปลว่าปกรณเจ็ด หมายถึงพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ แต่เรามาพูดกันเพี้ยนเสียงไม่ตรงตามคำบาลี จึงเปนทางที่ผู้รู้คิดเขียนยักย้าย โดยประสงค์จะให้เข้าได้ทั้งคำเดิมและเสียงพูด ลางคนก็เขียนหนักไปทางคำเดิม ลางคนก็เขียนหนักมาทางคำพูด ส่วนพระองค์ท่านทรงพระดำริเห็นว่าต้องเอาคำพูดเปนใหญ่ จะเอาคำเดิมเปนหลักนั้นขวาง ทรงแนะนำให้เขียน “สดับปกรณ์” จะว่าตัดภาษาบาลี เขียน สัต เปน ส แปลว่า ปกรณเจ็ดตามเดิมก็ได้ หรือจะแปลเปนภาษาไทยไปว่าฟังปกรณก็ได้ เกล้ากระหม่อมเห็นชอบด้วยพระดำรินั้นเปนอย่างยิ่ง จึงได้เขียน “สดับปกรณ์” ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อได้รับลายพระหัตถ์ก็เตือนใจให้สดุ้งขึ้นมา ว่าที่เราเขียนเช่นนั้น จะถูกกับปทานุกรมฉะบับกรมศึกษาธิการซึ่งทางราชการบังคับให้เขียนตามนั้นหรือไม่ จึงได้เปิดดูก็พบเขาเขียนให้ไว้ต้องกับที่เขียนอยู่แล้ว ก็เปนอันเบาใจไป

อนึ่งคาถา “อนิจฺจา วตสํขารา” นั้น เกล้ากระหม่อมเคยพบที่มาโดยบังเอิญ ว่าเปนคำของพระอินทร์กล่าวเปนประเดิม เวลาลงมาเยี่ยมพระศพพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จเข้าปรินิพพานแล้ว ไม่ใช่คำของภิกษุ และไม่เกี่ยวกับผ้าผ่อนอะไรเลย แต่บัดนี้กลายเปนคาถาที่ขลังที่สุด บริกรรมขึ้นเวลาไรเปนต้องได้ของอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เปล่าเลย

เรื่องเมืองตะกั่วป่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการรีบร้อนอะไร หากมีเวลาว่างเมื่อไรจะทรงพระเมตตาโปรดเรียบเรียงประทาน ก็เปนพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง แม้ว่าทรงมีพระธุระอื่น จะทรงระงับไว้นานเท่าไรก็ได้ไม่มีขัดข้องเลย ในการที่ทรงพระเมตตาแก่ญาติพระยาพฤฒาธิบดี จะทรงเรียงประวัติพระยาพฤฒาไปให้ตีพิมพ์หนังสือแจกในการปลงศพนั้นเปนการสมควรแล้ว เกล้ากระหม่อมขอถวายอนุโมทนาด้วย

เรื่องที่มีข้อหาเจ้าพระยาวรพงศสืบเนื่องมาถึงเกล้ากระหม่อม ว่าเจ้าพระยาวรพงศรื้อเรือนของหลวงมาปลูกให้เกล้ากระหม่อมที่บ้านคลองเตยนั้น บัดนี้เกล้ากระหม่อมเปนอันสิ้นมนทิลในเรื่องนั้นแล้ว ด้วยมีคำขอขมาโทษลงในหนังสือพิมพ์ว่าเปนการไม่จริง ดั่งที่เกล้ากระหม่อมได้ตัดส่งมาถวายทอดพระเนตรนี้แล้ว หวังว่าฝ่าพระบาทจะเบาพระทัยยินดีด้วยเกล้ากระหม่อม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ