วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๓ จะทูลสนองข้อความในลายพระหัตถ์ก่อน

เรื่องเครื่องถ้วยชามของโบราณ ที่พระยานครพระรามพบที่เวียงกาหลงนั้น ตามความในลายพระหัตถ์ฉะบับนี้ได้หลักฐานดีขึ้นมาก ด้วยปรากฏว่าเวียงกาหลงนั้นเปนเมืองที่ตั้งอย่างมั่นคง และเครื่องถ้วยชามที่พบที่นั้นมีเตาตั้งทำเปนแน่นอน หม่อมฉันคิดดูเห็นมีหลักฐานที่จะวินิจฉัยดังจะทูลต่อไปนี้

การพบเตาเครื่องถ้วยชามที่เวียงกาหลงนี้ จะต้องให้เปนเกียรติยศแก่พระยานครพระรามฐานเปนผู้ไปพบ ตามวินิจจัยของพระยานครพระราม ดูเหมือนจะเห็นว่าวิชชาทำเครื่องถ้วยชาม พวกไทยนำลงมาจากเมืองจีนทางบกและมาทำในมณฑลพายัพก่อน แล้วจีนอีกพวกหนึ่งจึงนำวิชชามาทางทะเลมาตั้งทำที่ในมณฑลพิษณุโลก เพราะเห็นว่ามีเตาทำเครื่องถ้วยชามที่เวียงกาหลงอยู่เหนือมณฑลพิษณุโลก และห่างทางทะเลขึ้นไปมาก มีวินิจฉัยของพระยานครพระรามอีกข้อ ๑ เคยเขียนมาถึงหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ว่าพบพระพุทธรูปทำด้วยเครื่องถ้วยที่เวียงกาหลงนั้น สังเกตปลายนิ้วพระหัตถ์ทำเท่ากันอย่างพระชินราชและพระชินสีห์ จึงสันนิษฐานว่าผู้ที่สร้างพระชินราชพระชินสีห์ จะเอาแบบพระพุทธรูปที่เวียงกาหลงมาทำ ส่อให้เห็นว่าการทำเครื่องถ้วยชามที่เวียงกาหลงจะเก่าก่อนทำที่เมืองสวรรคโลก สุโขทัย

หม่อมฉันพิจารณาหลักฐาน เนื่องด้วยเรื่องเตาทำถ้วยชามที่เวียงกาหลง กลับเห็น “ย้อนเกล็ด” ตรงกันข้ามกับทางที่พระยานครพระรามคิด ดังจะทูลอธิบายต่อไป

๑. กุปไลย์ข่าน พวกโมคล ได้เมืองจีนไว้ในอำนาจตั้งราชวงศหงวนปกครองต่อราชวงศซ้องเมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ คิดสันนิษฐานเทียบตามเหตุการณ์ที่มาปรากฏครั้งพวกเม่งจูมาได้เมืองจีนเมื่อภายหลัง เห็นว่าคงมีพวกจีนหนีชาวต่างประเทศที่มาได้บ้านเมืองอพยบกันมายังเมืองไทยเช่นเดียวกันทั้ง ๒ คราว ว่าตามลักษณของโบราณฝีมือจีนที่มาทำในประเทศนี้และยังมีอยู่เปนหลักฐาน พวกจีนที่อพยบมาครั้งหนีราชวงศหงวน เห็นจะมาเริ่มตั้งทำเครื่องถ้วยชามในประเทศสยามนี้เปนทีแรก ตั้งเตาที่บ้านเตาไหแขวงเมืองพิษณุโลกแห่ง ๑ ทำแต่เปนเครื่องดินเผาแล้วรมเปนสีเหล็กไม่เคลือบ ตัวอย่างของเช่นว่ามีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานหลายชิ้น มักขุดพบที่บ้านเตาไห เตาอีกแห่ง ๑ ตั้งที่เมืองสุโขทัยทำปั้นของด้วยหินฟันม้าเคลือบอย่างหยาบ ๆ เช่นตุ่มใหญ่ที่เรียกกันว่า “ตุ่มสุโขทัย” หรือ “นางเลิ้ง” มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานหลายใบเหมือนกัน

๒. ในจดหมายเหตุจีนที่พระเจนจีนอักษรแปล มีว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๕ พระเจ้ากรุงจีนราชวงศหงวน ให้ราชทูตเข้ามาทำทางไมตรีกับ “เสียมก๊ก” คือกรุงสุโขทัย พระเจ้ารามคำแหงมหาราชรับทำทางไมตรีกับจีน ในจดหมายเหตุจีนนั้นกล่าวต่อมาว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๗ พระเจ้าเสียมก๊กเสด็จไปเมืองจีนครั้ง ๑ และเสด็จไปใน พ.ศ. ๑๘๓๘ อีกครั้ง ๑ พระเจ้าเสียมก๊กที่ว่าไปเมืองจีนนี้ เทียบศักราชตรงกับพระเจ้ารามคำแหงมหาราช จึงสันนิษฐานว่าเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่าถ้วยชามที่พวกจีนเข้ามาตั้งทำในเมืองไทย ฝีมือยังหยาบและเลว จึงชักชวนพวกจีนช่างทำเครื่องถ้วยชามที่ฝีมือดีเข้ามายังเมืองไทย เดิมเห็นจะให้มาทำที่เตาเมืองสุโขทัยในราชธานี แต่มาปรากฏว่าหินฟันม้าที่นั่นเนื้อดีสู้ที่เมืองสัชนาลัยไม่ได้ จึงให้ย้ายที่ขึ้นไปตั้งที่เตาทุเรียง ก็สำเร็จประโยชน์ใหญ่หลวง จนสามารถจำหน่ายเครื่องสังคโลกไปถึงเมืองชะวา มลายู มนิลา และนัยว่าถึงอินเดียด้วย

๓. พิจารณาเครื่องถ้วยชามที่ทำ ณ เตาทุเรียง มีทั้งฝีมือดีเทียบเกือบถึงของทำในเมืองจีน และเลวลงมาเปนชั้น ๆ จนถึงชามกะลาทำรูปร่างและใช้ลวดลายอย่างจีนเปนพื้น มีของที่ทำรูปอย่างไทยเช่น นาคปัก รูปยักษ์ เปนต้นฝีมือหยาบทั้งนั้น ข้อนี้เปนเค้าให้สันนิษฐานว่า ช่างจีนที่พระเจ้ารามคำแหงมหาราชได้มา เห็นจะได้พวกฝีมือดีมามาก แต่เมื่อมาตั้งเปนหลักแหล่งมีเมียมีลูกแล้วล้มตายไป ช่างทำถ้วยชามชั้นหลังเปนแต่ลูกจีน ได้รับความฝึกหัดอบรมในประเทศนี้ ความรู้และความชำนาญไม่ถึงพวกที่ชำนาญมาจากเมืองจีน ฝีมือทำเครื่องถ้วยชามที่เมืองสัชนาลัยจึงเลวลง จะทำของอย่างดีวิเศษไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ถึงกระนั้นของที่ขายได้มากเปนของชั้นราคาถูก และมีที่ทำใหญ่โตราวกับว่าเมืองอันหนึ่ง ยังทำเครื่องสังคโลกเปนสินค้าส่งไปจำหน่ายถึงนานาประเทศได้กว้างขวาง ก็คงทำกันต่อมา เปนแต่ฝีมือไม่ถึงปูนแรก

๔. เหตุที่การทำเครื่องสังคโลกที่ในมณฑลพิษณุโลกจะเสื่อมสูญนั้น ตามเรื่องพงศาวดารปรากฏว่าเมื่อกรุงสุโขทัยตกเปนเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่เมืองพิษณุโลกแล้ว ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราช “สามพระยา” ทรงตั้งพระราเมศวรราชโอรสไปครองเมืองเหนือ ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๑ พระราเมศวรราชโอรสได้รับรัชทายาททรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จลงมาครองประเทศสยามอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ทางเมืองเหนือโปรดฯ ให้แยกการปกครองเปนอิสระแก่กัน ๔ เมือง คือ เมืองกำแพงเพ็ชรเมือง ๑ เมืองสุโขทัยเมือง ๑ เมืองพิษณุโลกเมือง ๑ และเมืองเชลียงเมือง ๑ (เมืองเชลียงนั้นเปนเมืองเก่าก่อนเพื่อน ครั้งกรุงสุโขทัยสร้างป้อมปราการเปนเมืองใหม่ขึ้นข้างเหนือ ไม่ห่างกับเมืองเชลียงเดิมอีกเมือง ๑ ขนานนามว่าเมืองศรีสัชนาลัย จึงเกิดเรียกเปน ๒ ชื่อ ในจารึกสุโขทัยเรียกว่าเมืองศรีสัชนาลัย แต่ชาวกรุงศรีอยุธยาและเชียงใหม่คงเรียกว่าเมืองเชลียงตามชื่อเดิม จึงเปนเหตุให้ขนานนามรวมกันทั้ง ๒ เมืองว่าเมืองสวรรคโลกแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสืบมา) การปกครองเมืองทั้ง ๔ เมืองนั้นเปนปกติอยู่สัก ๗ ปี ในระวางนั้นจะมีเหตุอย่างใดไม่ปรากฏ ในหนังสือญวนพ่ายกล่าวว่าพระยายุทิษฐิระเจ้าเมียงเชลียง (ในพงศาวดารเชียงใหม่เรียกว่า “ยุทิษเจียง”) เอาใจไปเข้าด้วยพระเจ้าติโลกราช (คือท้าวลก) เมืองเชียงใหม่ซึ่งมีอานุภาพขึ้นในเวลานั้น พระเจ้าติโลกราชเห็นได้ทีที่จะชิงเอาหัวเมืองเหนือของไทย จึงยกกองทัพลงมาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๙ ตีได้เมืองกำแพงเพ็ชร และลงมากวาดต้อนผู้คนถึงเมืองชัยนาท แล้วไปตีเมืองสุโขทัยแต่หาได้ไม่ พอกองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นไป กองทัพเมืองเชียงใหม่ก็ถอยกลับไป ต่อนั้นมาต้องรบขับไล่พวกเชียงใหม่อยู่จน พ.ศ. ๒๐๐๓ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงให้เตรียมทัพจะยกไปตีเมืองเชลียง พระยายุทิษฐิระเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า “พระยาเชลียงคิดกบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปถวายพระมหาราชเจ้าเมืองเชียงใหม่” คืออพยบกวาดต้อนผู้คนเมืองเชลียงไปยังมณฑลพายัพ พวกช่างทำถ้วยชามที่เตาทุเรียงก็คงถูกกวาดไปด้วยในคราวนี้ การทำเครื่องถ้วยชามที่เตาทุเรียงจึงเปนอันเลิกแต่นั้นมา

๕. ในหนังสือตำนานโยนกเรื่องพงศาวดารเมืองเชียงใหม่ ว่าพระเจ้าติโลกราชยกย่องความชอบของพระยายุทิษฐิระมาก ถึงตั้งให้ไปครองเมืองแห่ง ๑ ว่าตามหลักฐานที่พบใหม่คงเปนเวียงกาหลงนั่นเองไม่มีที่สงสัย พระยายุทิษฐิระกวาดเอาพวกช่างทำเครื่องถ้วยชามไปด้วย จึงให้ไปตั้งเตาทำเครื่องถ้วยชามเปนอาชีพของคนพวกนั้นที่เวียงกาหลง เวียงกาหลงจึงมีเตาทำเครื่องถ้วยชามด้วยประการฉะนี้ ยังมีข้อพิศูจน์ต่อไปด้วยลักษณพระพุทธรูปทำที่เวียงกาหลง ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันก็เพราะทำตามแบบอย่างพระพุทธรูปในมณฑลพิษณุโลกซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สร้างพระชินราชพระชินสีห์เปนต้นมา

๖. เรื่องต่อนี้ไปความในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็ยุติต้องกับพงศาวดารเชียงใหม่ เปนแต่ลงศักราชเคลื่อนคลาด) ว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๐ (ที่ถูก ๒๐๐๔) “พระยาเชลียงนำกองทัพพระเจ้าติโลกราชมาตีได้เมืองสุโขทัย แล้วไปตีเมืองพิษณุโลกแต่ตีไม่ได้ ย้ายไปตีเมืองกำแพงเพ็ชรก็ตีไม่ได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปได้รบพุ่งเปนตลุงบร สมเด็จพระอินทราชาราชบุตรต้องปืนที่พระพักตร์ แต่กองทัพพระเจ้าติโลกราชต้องถอยกลับไป เพราะเหตุที่เกิดรบพุ่งติดพันในเมืองเหนือดังกล่าวมานี้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงต้องเอาเมืองพิษณุโลกเปนราชธานี เสด็จขึ้นไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๐๖ มาจนตลอดรัชชกาล ลงปลายทางเมืองเชียงใหม่อ่อนกำลังลงด้วยราชวงศเกิดวิวาทกันเอง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทีจึงยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองเชียงชื่น (เข้าใจว่าที่เรียกว่าเมืองลองเมื่อภายหลัง) เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๗ อันเปนตัวเรื่องที่แต่งหนังสือญวนพ่าย พระเจ้าติโลกราชเสียเมืองเชียงชื่นก็ให้มาขอเปนไมตรี เลิกรบพุ่งกันเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๘ เตาทำเครื่องถ้วยชามที่เวียงกาหลง จะทำอยู่ช้านานเท่าใดไม่มีหลักฐานที่จะทราบได้

โฮเตลถนน Kelawei ที่ตรัสถามนั้นชื่อว่า โฮเตลเซี่ยงไฮ้ อยู่ริมทะเล ห่าง Cinnamon Hall ที่หม่อมฉันอยู่สัก ๕ เส้น แต่ว่าไม่เปนที่ที่หม่อมฉันชอบไปเที่ยวเตร่ จึงไม่ได้พบกับใครที่มาอยู่โฮเตลนั้น นอกจากผู้ที่มีแก่ใจมาหาหม่อมฉันถึง Cinnamon Hall นาน ๆ จึงจะมีสักคน ๑ ด้วยตั้งแต่หม่อมฉันมาอยู่ Cinnamon Hall ได้ตั้งเปนบัญญัติไว้ว่าผู้ที่หม่อมฉันจะพบนั้นต้องมาหาหม่อมฉันก่อน ถ้าไม่มาหาหรือไม่บอกมาถึงหม่อมฉันก่อนว่าจะมาปีนัง หม่อมฉันไม่ไปหาหรือไม่ไปรับใคร ถ้าเปนไทยมาหา หม่อมฉันต้อนรับโดยฉันท์เปนเพื่อนร่วมชาติอย่างเดียวกันทุกคน ไม่ถามและไม่ถือว่าเปนพวกไหน ๆ และขออีกอย่างหนึ่งว่าอย่าให้มาคิดอ่านการเมืองที่บ้านหม่อมฉัน ๆ ได้ถือบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัดเสมอมา ที่ปีนังหมู่นี้ดูเหมือนจะมีไทยไปมามาก แต่หม่อมฉันไม่ใคร่ได้พบ ได้พบคนสำคัญแต่คน ๑ เมื่อไม่ช้ามานัก เวลาเย็น ๆ หม่อมฉันมักขึ้นรถไปเที่ยวตากอากาศ เมื่อวันจันทรที่ ๑๕ ขึ้นรถไปเที่ยวสวนหลวงกับหญิงเหลือ สวนกับรถหลัง ๑ ซึ่งมีคนนั่งอยู่ในนั้น ๒ คนเปนผู้ใหญ่คน ๑ หนุ่มคน ๑ คนผู้ใหญ่เห็นหม่อมฉันเข้าเปิดหมวกยกมือถวายบังคม หม่อมฉันรู้ว่าไทยก็เปิดหมวกรับคำนับแล้วรถก็พ้นกันไป หม่อมฉันถามหญิงเหลือว่าใคร รู้จักหรือไม่ หญิงเหลือว่าไม่รู้จัก ก็แล้วกันไป ครั้นขากลับเห็นรถหลังนั้นจอดนิ่งอยู่ที่หน้าเทวสถาน มีแต่คนหนุ่มยืนอยู่กับรถ เมื่อรถเฉียดมาหม่อมฉันร้องถามว่ารถเสียหรือ เขาตอบว่ากระไรไม่ได้ยินด้วยรถกำลังแล่นเร็ว ครั้นรุ่งขึ้นวันอังคารที่ ๑๖ หม่อมฉันกับลูกหญิง ๓ คนจะไปเยี่ยมตอบพระศรีสุรินทรภักดี (ตนกูบาดีจ๊ะ) ลูกเจ้าพระยาไทรซึ่งได้เปนรายามุดาขึ้นใหม่ที่เมืองไทร ขึ้นรถไปถึงท่าเรือจ้าง เวลากำลังจะเอารถลงเรือ เห็นรถของไทยหลังที่ผ่านกันเมื่อวันก่อนคอยลงเรือจ้างอยู่เหมือนกัน คนหนุ่มยืนอยู่กับรถ หม่อมฉันผ่านไปใกล้ ๆ จึงถามว่าเมื่อวานนี้รถเสียหรือ เขาตอบว่าไม่ได้เสียเปนแต่น้ำมันหมดไม่รู้ตัว ในขณะนั้นคนที่เปนผู้ใหญ่ก็โผล่มาเปิดหมวกคำนับ หม่อมฉันเห็นลาดเลาเปนคนสุภาพก็จับมือด้วย ถามว่าจะไปไหน เขาบอกว่าจะไปอีโปะห์ในแหลมมลายู พอลงในเรือจ้างคนผู้ใหญ่นั้นมานั่งเก้าอี้ตรงหน้าที่นั่งของหม่อมฉัน ๆ ถามว่ามาจากหาดใหญ่หรือมาจากกรุงเทพฯ เขาตอบว่ามาจากกรุงเทพฯ แล้วบอกต่อไปว่า “ข้าพระพุทธเจ้าชื่อ มังกร สามเสน เคยเปนข้าฝ่าพระบาทมาแต่ก่อน” ก็เปนอันรู้ว่าได้พบคนสำคัญ เลยนั่งพูดกันต่อไปเปนสัมโมทณียกถา ฝ่ายเขาก็แสดงอัชฌาศัยอ่อนน้อม จนเรือข้ามถึงฟากโน้นเขาตามไปส่งหม่อมฉันจนขึ้นรถไปเมืองไทร หม่อมฉันได้พบคนปลาดอีกคน ๑ เปนจีนชื่อ ตั้งใช้ ให้คนพามาหาหม่อมฉันวันหนึ่ง บอกว่าเขาจะมาตั้งโรงเกาเหลาที่เมืองปีนังให้เหมือนอย่างโรงเกาเหลาที่ถนนราชวงศในกรุงเทพฯ หม่อมฉันตอบว่าดีแล้ว ที่เมืองปีนังนี้โรงเกาเหลามักสกปรกไม่น่าไปกินเหมือนโรงเกาเหลาที่ในกรุงเทพฯ เขาเลยเล่าประวัติของเขาให้ฟังต่อไปว่า เดิมเข้าไปตั้งร้านขายของอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง ๒๓ ปี ถูกจับคราวพระองค์เจ้าบวรเดชวุ่นวาย เดิมถูกเอาไปขังที่กลาโหม “พร้อมกับท่านชายน้อยอยู่ห้องใกล้ๆกัน แต่ท่านชายน้อยได้อยู่เพียงชั้นมัธยมแล้วออกไปเสีย เกล้ากระหม่อมได้ไปอยู่ถึงมหาวิทยาลัยที่บางขวาง” และถูกอัยการฟ้องศาลพิเศษ แต่ศาลตัดสินว่าหลักฐานไม่พอจะเอาผิดจึงถูกเนรเทศกลับไปเมืองซัวเถา เมื่อไปถึงเมืองซัวเถาแล้วจะไปบ้านเดิมซึ่งอยู่พ้นเมืองซัวเถาไปข้างหลัง เผอิญที่บ้านเดิมอยู่ในสมรภูมิชัยที่กองทัพรัฐบาลจีนกับพวกคอมมิวนิสม์รบกัน ญาติถูกฆ่าตายเสีย ๒ คนแล้วบ้านก็เห็นจะถูกเผาไฟในไม่ช้า จะไปอยู่บ้านไม่ได้จึงคิดกลับมาหากินที่ปีนัง ที่มาหาหม่อมฉันประสงค์จะขอเชิญไปกินเกาเหลาในวันที่เปิดภัตตาคาร Teang Nam Low ของเขา หม่อมฉันได้ทราบเรื่องเห็นว่าเจ๊กตั้งใช้มีเรื่องประวัติเกี่ยวข้องกับโปลิติคมากนัก จึงขอตัวเปนแต่ให้ไปซื้อเกาเหลามากินเมื่อวันเปิดภัตตาคาร ยังไม่ได้ไปกินที่นั่นเองจนทุกวันนี้ ขอทูลเรื่องโฮเตลประดับพระปรีชาญาณต่อไป ที่เมืองปีนังนี้มีโฮเตลฝรั่งเปนโฮเตลใหญ่อยู่ ๒ แห่ง เรียกค่าอยู่กินวันหนึ่งตั้งแต่ ๑๐ เหรียญจนถึง ๑๒ เหรียญ นอกจากนั้นยังมีโฮเตลเล็ก ๆ ของจีนและยี่ปุ่นตั้งอีกหลายแห่ง พวกโฮเตลเล็ก ๆ นี้เรียกว่าค่าอยู่วันละเหรียญครึ่ง ส่วนการกินนั้นจะไปกินที่ไหนก็ตามใจ หรือจะกินที่โฮเตลนั้นเองให้ประกอบอาหารแต่ เปนสิ่งเปนอย่างก็ได้ เพราะราคาถูกพวกที่มีทุนน้อยจึงชอบไปอาศัยโฮเตลเล็กๆ ได้ยินว่าแต่ก่อนมาพวกไทยที่มาเกาะหมากชอบไปอาศัยโฮเตลปินกัง อยู่กลางเมืองอย่างถนนเสาชิงช้าของปีนังนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้เช่าบ้านเศรษฐีจีนที่ว่างเปล่าอยู่ริมทะเลตั้งเปน โฮเตลเซี่ยงไฮ้ อย่างเดียวกับโฮเตลเล็ก ๆ ที่อื่น เปนที่อยู่ริมชายทะเลเย็นดีกว่าโฮเตลปินกัง พวกไทยที่มาในตอนนี้จึงชอบมาอยู่ที่โฮเตลเซี่ยงไฮ้

หม่อมฉันส่งเรื่องกฎมณเฑียรบาลพะม่าถวายมากับจดหมายฉะบับนี้ อีกตอนหนึ่ง ว่าด้วยพิธี ๑๒ เดือนเปนตอนที่สุด จะคิดหาเรื่องอื่นสำหรับทูลบันเลงต่อไป หม่อมฉันหวังใจว่าท่านได้ทรงผ่อนพักจากการงาน จะทรงเปนสุขสบายดีขึ้นกว่าแต่ก่อน หม่อมฉันต้องทูลขอประทานโทษความเขลาที่ทูลไปในจดหมายฉะบับก่อน ชวนให้หญิงอามออกมาเที่ยวปีนังกับหญิงมารยาตร์ เมื่อเขียนจดหมายฉะบับนั้นไม่ได้นึกถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ว่าเปนวันเฉลิมพระชันสาของท่านครบ ๖ รอบ หม่อมฉันได้ทราบว่ารัฐบาลอินเดียเขาพิมพ์หนังสือเรื่องพระพุทธรูปคันธารขึ้นใหม่ ได้ให้สั่งไปซื้อที่เมือง Calcatta นานแล้ว หวังว่าจะถวายในงานเฉลิมพระชันสาของท่านในปีนี้ แต่เมื่อเขียนจดหมายนี้ยังมาไม่ถึง จึงรู้ไม่ได้ว่าจะมาทันส่งถวายในวันเฉลิมพระชันสาของท่านหรือไม่

อนึ่งหญิงมารยาตร์ได้ส่งหีบขันถมที่จะถวายพระเจ้ายอร์ช ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗๐ ปี มาถึงหม่อมฉันแล้ว ฐานที่รองและหีบที่ใส่ขันถมทำเรียบร้อยดีมาก ขอบพระเดชพระคุณเปนอย่างยิ่ง ของนั้นหม่อมฉันจะส่งลงเรือในวันที่ ๒๖ เดือนนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ