วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

หนังสือฉะบับนี้ขอถวายใช้หนี้ที่ไม่ได้ส่งถวายเมื่อเมลวันเสาร์ที่ล่วงแล้วมา

ขอประทานกราบทูลเรื่องของเมืองพะม่า ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานไป

ตลับรูปหัวใจนั้น เพาะพะม่าให้เปนช่างโซดเต็มที่ ถ้าว่าถึงการกระทำเขาทำดี แต่กะไรเลย รูปภาพมันช่างเปนฝรั่งเสียจริง ๆ หัวเล็กตัวยาวยิ่งอย่างเดียวกับรูปแบบเสื้อเครื่องแต่งตัวก็ปานนั้น แต่เข้าใจในพระประสงค์ได้ดี ว่าทรงเลือกมาประทานเพราะตลับเปนรูปหัวใจ ไม่ใช่เพราะรูปภาพงาม ยังข้อสำคัญที่ได้ความรู้ใหม่ ว่าเครื่องรักจานเปนลายถมทองหรือรักสีนั้น เปนของพะม่าทำเอาอย่างไทยพายัพ อันเปนการตรงกันข้ามกับที่คิดแต่ก่อน ว่าไทยเอาอย่างพะม่ามาทำ แต่ที่จริงไม่ควรจะเข้าใจผิดไปเลย เพราะเครื่องรักจานลายนั้นเรียกว่า “เครื่องยวน” บอกกำเนิดอยู่โดยตรงแล้ว

พระพิมพ์นั้นดีหนัก เปนเครื่องแสดงอายุบ้านเมืองให้ปรากฏได้แน่ที่สุด เปนพระแบบทางมหายานทั้งนั้น ในเหตุที่รูปพระร่อยหรอไป อาจเปนเพราะถูกตากแดดกรำฝนมาในเวลาใดช้านาน อย่างทรงพระดำริก็เปนได้ หรือมิฉะนั้นจะเลือกมาแต่แรกทำทีเดียวก็อาจเปนได้ ตามที่มีความเห็นเช่นนี้เพราะได้เคยเห็นพิมพ์ทองเหลืองซึ่งสำหรับกดพระพิมพ์ที่เปนรูปซ้ำกัน ลางพิมพ์ก็ชัดเจนดี ลางพิมพ์ก็เลือน เข้าใจว่าพิมพ์ที่เลือนนั้น คงกดถ่ายออกจากพระที่พิมพ์ออกแล้วอีกทีหนึ่ง ด้วยจะต้องการแม่พิมพ์มาก ซึ่งอาจทำพระตั้งหมื่นตั้งแสนให้ได้โดยเร็ว

พิจารณาฉายาลักษณ์รูปสัตวสำฤทธิ์ที่ประทานไป เห็นต้นเต็มทน แม้เปนของเขมรก็จริง แต่เปนเขมรฝีมือต้น ซ้ำร้ายที่ทำหัวสิงห์ซ่อมต่อเปนตัวอย่างพะม่า แปลว่าช่างที่ทำไม่เคยเห็นหัวสิงห์เขมรมาเลย แต่ก็จัดว่าเปนการดีที่มีผู้คิดปฏิสังขรณ์ให้คืนดี ช้างเอราวัณนั้นจำได้แน่ว่าเมื่อเกล้ากระหม่อมเห็นนั้นขาหัก ในฉายาลักษณ์ที่ประทานไปเห็นตั้งอยู่เรียบร้อย คงเปนอันได้ซ่อมแซมแล้ว

รูปพระนอน เห็นเข้านึกเสียใจเหลือเกินที่เสียเสียแล้ว ไม่ใช่ดีแต่องค์พระนอน รูปพระสาวกที่ตั้งประกอบอยู่ด้วยก็ดีมาก องค์ที่นั่งอยู่สุดปลายพระบาททำไหล่ข้างแขนท้าวสูง ข้างแขนทอดต่ำ ถูกตามธรรมดา ต้องตามทางที่เกล้ากระหม่อมดำเนินอยู่ คือทำรูปไม่ทิ้งแบบโบราณ แต่แก้ไขให้ต้องตามความเปนจริง รูปที่ทูลถึงนี้ทำแนวเดียวกับทางดำเนินของเกล้ากระหม่อมจึงชอบใจหนัก

พระพุทธรูปมหามัยมุนีนั้น เปนอันเชื่อได้ว่ายับเยินมากเปนแน่ เพราะปรากฎว่าถูกตัดถึงสองครั้ง แล้วเชิญเดินทางแต่เมืองอารขั่นมาเมืองอมรบุระทอดหนึ่ง เชิญแต่เมืองอมรบุระไปเมืองมัณฑเลอีดทอดหนึ่ง ซ้ำถูกไฟไหม้เข้าอีกด้วยคงเหลือส่วนที่สมบูรณอยู่แต่เพียงพระพักตร์เท่านั้น จึงได้ขัดแต่พระพักตร์ไว้ให้เห็นเนื้อทองบริสุทธิ

คราวนี้จะทูลสนองข้อความในลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์

ในเรื่องช่างต่าง ๆ มีเคหสถานตั้งอยู่เปนหมู่เดียวกันนั้น เกี่ยวไปถึงเรื่องครอบครัวตามที่ทรงวินิจฉัยไปในลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๑๖ มกราคมนั้นด้วย คำว่า “ครัว” เดิมทีก็จะหมายเพียงทำอาหารเท่านั้นเอง ภายหลังจึงเปลี่ยนไปเปนคน คือว่าอยู่กินด้วยกันเรียกว่าครัวเดียวกัน แล้วก็ประกอบคำแตกไปอีกเปนอเนกนัย คำที่เกล้ากระหม่อมเห็นประหลาดอยู่ก็ที่คำว่า “อพยพครอบครัว” เปนความหมายว่ายกย้ายครอบครัวจากแห่งหนึ่งไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง แต่คำว่า“อพยพ” นั้นตรงกับ “อวยว” ไม่ได้แปลว่ายกย้าย ทำไมจึงเอามาใช้ในที่ว่ายกย้าย เมื่อตริตรองไปก็เห็นว่าเปนการเข้าใจผิด เดิมคำว่าอพยพครอบครัว จะหมายถึงว่าเปนส่วนหนึ่งแห่งครอบครัว กล่าวคือลูกหลานที่ออกเรือนไปตั้งครัวใหม่ในที่อันติดต่อกัน เมื่อยกย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ชวนกันไปด้วยกัน คือย้ายครอบครัวทั้งอพยพ เปนต้นว่าพวกช่างหล่อยกย้ายมาแต่กรุงเก่าก็มาตั้งลงที่หลังวัดระฆัง แรกมาก็จะมีแต่ครอบครัวเดียวหรือสองครัว พร้อมทั้งอพยพ อยู่ใกล้กันด้วยจะพึ่งพาอาศัยกัน ครั้นนานมาก็มีอพยพขยายมากออกไป จนกลายเปนหมู่บ้านหล่อใหญ่จนไก่บินไม่ตก ใช่แต่เท่านั้น สกุลอื่นซึ่งมีอาชีพในการหล่อเหมือนกัน จะมาตั้งบ้านเรือนติดต่อเข้าด้วยภายหลังก็จะมี เพราะว่าใครต้องการหล่อก็ต้องไปบ้านหล่อ พวกมีอาชีพในการหล่อจะไปตั้งบ้านอยู่โดดเดี่ยวก็หากินไม่ได้ เพราะไม่มีใครไปหา ต้องตะเกียกตะกายมาเข้าพวกบ้านหล่อ แม้สมัยเปลี่ยนแปลงที่อยู่เปนตึกแถว ใครจะค้าขายอะไรก็ต้องไปเช่าตึกขายอยู่หมู่เดียวกัน เช่นจะขายเครื่องทำบุญต้องไปเช่าตึกถนนบำรุงเมือง ถ้าจะขายผ้าต้องไปเช่าตึกถนนพาหุรัด เพราะเหตุว่าคนต้องการของทำบุญก็มุ่งหน้าไป “สองติงช้า” ใครต้องการผ้าก็มุ่งไป “พาหุรัด” ถ้าไปตั้งขายที่อื่นก็ไม่มีคนไปซื้อ เหตุจำเปนที่ต้องตั้งเปนหมวดหมู่มีอยู่ดังนี้

เสียใจอีก ที่ได้ทราบว่าวัด Incomparable นั้นฉิบหายเสียหมดแล้ว วัด Queen’s Monastry จำไม่ได้ว่าได้ไปดูหรือเปล่า แต่ถ้าได้เห็นรูปคงระลึกได้ว่าได้ไปหรือไม่ได้ไป

ต่อไปนี้จะกราบทูลข้อปกีรณกที่ในกรุงเทพฯ

หญิงมารยาตรได้นำเงิน ๑๐ บาท ซึ่งทรงพระเมตตาบริจาคประทานหลวงขจรไปให้ เกล้ากระหม่อมได้รับไว้แล้ว จะได้ใช้จ่ายไปในการทำที่ฝังศพหลวงขจร หวังว่าแม้หลวงขจรทราบได้ด้วยญาณวิถีทางใดทางหนึ่ง ว่าทรงพระเมตตาโปรดฉะนี้แล้ว คงจะมีความยินดีขอบพระเดชพระคุณเปนอย่างยิ่ง

พระศพสมเด็จหญิงน้อยมาถึงเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ด้วยเรือมาลินี ข้ามสันดอนในเวลาเช้า แต่ทอดพักเสียภายในสันดอนก่อน แล้วเลื่อนเข้ามาจอดอยู่บางคอแหลม จนเวลา ๒๐.๐๐ น จึงเข้าท่าอีสตเอเซียติก มีเจ้านายและใครๆ ซึ่งสนิทในพระองค์พากันไปรับพระศพที่ท่าเปนอันมาก เกล้ากระหม่อมก็ไป เมื่อเรือจอดเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานเชิญหีบพระศพขึ้นรถยนตร์ ตั้งวอของหลวง เชิญพระศพไปวังลดาวัลย์ พวกที่ไปรับพระศพก็ขึ้นรถไปส่งถึงวัง แล้วจึงกลับบ้าน ในการที่รอจนค่ำจึงนำเรือเข้าเทียบท่านั้นเห็นจะหลบหลีกการถ่ายรูปข่าว

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ เวลา ๑๖.๓๐ น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเยี่ยมพระศพที่วังลดาวัลย์ วางพวงมาลาของหลวงแล้วทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูปชักบังสกุล เกล้ากระหม่อมก็ไปในการนี้ เห็นจัดตั้งพระศพไว้เหมือนกับพระศพสมเด็จชายในที่เดียวกัน ประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่

สำเนาลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒ มกราคมที่หาย ทรงพระเมตตาโปรดให้คัดประทานไป ได้รับแล้ว ขอบพระเดชพระคุณเปนอันมาก อ่านดูรู้สึกในบุญคุณของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งได้มีความเอื้อเฟื้อต่อพระราชวงศ์ฝ่ายไทย ในการพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดินั้นเปนอันมาก

หีบพระศพที่พระธรรมวโรดมอยากได้ เห็นจะเปนด้วยหีบอย่างฝรั่งท่านยังไม่เคยเห็น เห็นว่าแปลกอยู่มาก เกล้ากระหม่อมดูรูปฉายาลักษณ์ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานไป เห็นหีบฝรั่งตั้งบนจิตกาธานช่วงขวางตาเสียนี่กะไรเลย ครั้นเห็นอีกรูปหนึ่งซึ่งเปนหีบอย่างไทย ถ่ายตั้งจิตกาธานเวลาดึก พอเห็นก็ร้อง “เออ” ช่างดูเหมาะเหมงซึมทราบเสียนี่กระไรเลย

หญิงอามได้คัดลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ซึ่งยังติดค้างอยู่อีกฉะบับหนึ่งสำเร็จ ได้ส่งถวายมาด้วยคราวนี้แล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ