วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ได้รับประทานแล้ว

ว่าด้วยอากาศ อากาศที่หัวหินคล้ายกรุงเทพฯ เพราะใกล้กันผิดกันมากกับอากาศทางสงขลา อากาศที่หาดใหญ่รู้สึกว่าสบายกว่าที่อื่น ขออ้างหญิงพิลัยกับชายใหม่ ซึ่งไปเยี่ยมเกล้ากระหม่อมที่นั่นมาเมื่อเร็ว ๆ นี้เปนพยาน หญิงจงก็เชื่อมั่น ว่าถ้าได้ไปอยู่ที่นั่น ความเจ็บไข้ของเธอคงจะทุเลาเบาบาง จะว่าถึงที่ประทับหัวหิน เกล้ากระหม่อมประหลาดใจมาก ตาป่องคนเดียวเปนผู้รักษา ไม่มีใครดูแลว่ากล่าวอยู่เหนือแก แต่แกเอาใจใส่รักษาเรียบร้อย พื้นที่ก็สอาดราบรื่น เคยไปเห็นมาก่อนอย่างไรก็เปนอยู่อย่างนั้น ข้าวของบนตำหนักก็เก็บรักษาไว้ดี เทียบกับบ้านเกล้ากระหม่อมที่กรุงเทพฯ พอกลับไปเห็นก็ฉุน รกเปนพงเสือ เพราะปลัดกรมซึ่งเปนผู้ดูแลเจ็บเสีย ดูงานไม่ได้ อ้ายกรรมกรกินเงินเปล่าไม่ทำอะไร รู้สึกได้ว่าคนกรุงเทพฯ อารยธรรม วัฒนธรรม ฯลฯ นำไปให้ฉลาด รู้รักษาตัวรอดเปนยอดดี เหนือคนบ้านนอกมาก

เรื่องเมืองกาญจนดิฐยังไม่จบ ตามที่ได้กราบทูลมาก่อนแล้ว ว่าตามหาตัวขุนประกิตกาญจนเขตรไม่พบ จึงได้สั่งนายชิต คอมประโดของบริษัทอีสตเอเชียติกไว้ ว่าถ้าพบตัวเมื่อไรช่วยบอกด้วย ว่าขุนประกิตรู้เรื่องเมืองกาญจนดิฐเพียงไร ช่วยจดหมายตามรู้ตามเห็นให้ทราบด้วย ต่อมาเมื่อวานซืนนี้ ได้รับหนังสือแม่ชื่น ศรียาภัย นำส่งหนังสือขุนประกิตพรรณนาถึงเมืองกาญจนดิฐมาให้ ข้อความในนั้นจะถูกหมดหรือไม่ก็ตามที แต่เปนสิ่งที่ควรรู้ไว้ จึงได้คัดสำเนาส่งมาถวายตามความในนั้น เดิมเมืองท่าทองตั้งอยู่ที่บ้านท่อนในคลองท่าทองอุแท แล้วย้ายมาตั้งที่บ้านกะแดะริมเขาน้อย ในคลองกะแดะ แล้วจึงย้ายมาตั้งที่คลองมะขามเตี้ยในตำบลบ้านดอน การย้ายนี้ก็ชั่วแต่บ้านเจ้าเมืองเท่านั้น ถ้าศักราชที่ขุนประกิตให้เปนถูกต้อง การย้ายก็เสร็จอยู่ในรัชชกาลที่ ๑ ที่ได้นามเปลี่ยนเปนเมืองกาญจนดิฐนั้นได้ในรัชชกาลที่ ๔ เมืองกาญจนดิฐก็คือที่บ้านดอน ที่อำเภอกะแดะได้ชื่อว่าอำเภอกาญจนดิฐนั้น ฝ่าพระบาทตรัสอธิบายว่าฝ่าพระบาทได้ทรงจัดย้ายเอาชื่อนั้นไปใช้เพื่อไม่ให้ชื่อนั้นสูญเสีย ก็เปนอันแจ่มแจ้งว่าประวัติท่าทอง-กาญจนดิฐตามที่รู้มา เปนอันถูกต้องแล้ว

ทีนี้จะกราบทูลตอบพระปรารภในเรื่องเจดีย์ สามารถจะกราบทูลได้ทันทีโดยไม่ต้องคิด เพราะได้คิดมานานแล้ว เห็นว่าอันเจดีย์นั้นเกิดขึ้นแต่การฝังศพหรือฝังกระดูกฝังเท่าถ่าน อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะรวมเรียกเสียว่าฝังผีนั้นเปนเหตุ เมื่อผีนั้นเปนผีคนสำคัญ เกรงที่ฝังจะลบเลือนเสีย จึงทำอะไรทับไว้บนนั้นเปนเครื่องหมาย เรียกว่าเจดีย์ อันว่าเจดีย์นั้นมีลักษณเปนสองสาขาคือกองดินเปนลอมขาหนึ่ง ทำเปนเรือนขาหนึ่ง ภายหลังมีคนทำเอาลักษณทั้งสองขานั้นประสมกันเปนอีกขาหนึ่ง จะตั้งชื่อว่า “ลอมเรือน” หมดเพียงสามอย่างเท่านี้เพื่อที่จะให้ปรากฏชัดเจน จึงเขียนเปนรูปถวายมาด้วยดังนี้

<img>

ลักษณที่เปนลอมนั้น เปนโดยธรรมชาตินำไป คือว่าการฝังผีก็ต้องขุดหลุม ใส่หลุมลงไปก็ใช้เนื้อแทนดินอยู่มากแล้ว และดินที่ขุดขึ้นก็มีเนื้อฟูขึ้น เมื่อเอากลับถมทับผีลงไปก็ย่อมต้องเหลือเปนโคกอยู่เหนือหลุม นั่นเองเปนที่สังเกตว่าเปนที่ฝังผีไว้ตรงนั้น แต่นานเข้าฝนชะเอาโคกน้อยนั้นราบไปได้ ผีที่สำคัญคนไม่อยากให้ที่หมายสูญหาย จึงไปโกยเอาดินซายหรือหินที่อื่นมากองสุมเติมให้สูงขึ้นอีก มีพระซายเปนตัวอย่าง เขาว่าที่ฝังพระศพพระเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่นก็ไม่มีอะไร เอากรวดขาวมากองสุมเปนลอมขึ้นไว้เท่านั้น อันว่ากองปฐวีธาตุอันใหญ่มากนั้น น้ำหนักย่อมดันเชิงให้ผายออกไปทำให้ตัวกองซุดลงได้ เขาจึงแก้ไขลงเขื่อนกันเชิงผาย มีเจดีย์สัญจิให้เห็นเปนตัวอย่างอยู่ แล้วเขื่อนนั้นเองก็ทำแก้ไขกันไปกลายเปนฐานรองลอม และเพราะเครื่องหมายลอมนั้นเปนเครื่องหมายที่ฝังผีทั่วไป เมื่อถึงที่ฝังธาตุพระพุทธเจ้า ทำอย่างไรจึงจะรู้ได้จึงทำบัลลังก์ คือพุทธอาสน์ ตั้งไว้บนลอมแล้วก็มีคนเลื่อมใสทำฉัตรไปปักบูชาบนบัลลังก์ แต่การปักฉัตรบนบัลลังก์นั้น ถ้าบัลลังก์ทำด้วยหินก็จะปักยากอยู่ เขาจึงคิดทำด้ามฉัตรปักไว้เสร็จบนบัลลังก์ อย่างพระเจดีย์เมืองชะวา มีใครศรัทธาจะถวายฉัตรก็ทำแต่กงฉัตรประดับผ้าหรือดอกไม้ ที่สุดเปนเครื่องทองไปสรวมลง แต่ฉัตรทำชั่วคราวเช่นนั้นไม่ถาวร นานเข้าก็ทำให้ขาดร่องแร่งกลายเปนของสกปรก จึงเปลี่ยนเปนทำฉัตรหินเสียทีเดียว ดั่งที่มีตัวอย่างอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ แล้วฉัตรหินนั้นเองรู้สึกว่าเปนของยากแก่การทำหิน จึงยักทำเปนดอกบัวซ้อน ๆกัน หรือลูกแก้วซ้อนๆ กัน ซึ่งเรียกว่าปล้องไฉน เปนเสร็จสิ้นทางไปแห่งเจดีย์ชะนิดลอมเท่านี้

ส่วนชะนิดที่มีลักษณเปนเรือนนั้น เกิดแต่ญาตแห่งผีมีความสงสาร ว่าผีฝังตากแดดตากฝนอยู่กลางดิน จึงไปปลูกโรงครอบหลุมไว้ พระศพเจ้านายของเราแต่ก่อน ถ้าต้องเอาไปฝังก็ปลูกหลังคาจากครอบไว้เหมือนกัน แล้วโรงที่ไปทำครอบผีไว้นั้นก็จำเริญขึ้นเปนกระดูกของถาวรไปตามกำลังคน ที่สุดก็เปนเรือนชั้นหรือปรางค์ปราสาทอย่างเขมรเปนต้น

ส่วนชะนิดลอมเรือนนั้น เปนความคิดประดิฐของพวกช่างในภายหลังเอาเจดีย์ทั้งสองชะนิดมาทำผสมกัน คือเจาะลอมให้กลวงใน ที่ช่องเจาะทำซุ้มประกอบไว้ อันนี้ที่ไหนๆ ก็มีอยู่ดาษดื่น ลางทีก็ทำเปนเรือนทีเดียว แต่ยอดทำเปนเจดีย์ลอม แล้วยังมีเจดีย์ลอมประกอบเปนบริวารบนยอดนั้นอีกด้วย เช่นพระธาตุไชยาเปนต้น

รวมหมดเท่าที่ตรองเห็น เจดีย์มีเพียงสามประเภทเท่านี้ ส่วนการยักย้ายเปลี่ยนรูปเปนต่าง ๆ ไป เช่นลอมทำเปนรูปกลม หรือเปนสี่เหลี่ยมแปดเหลี่ยมเปนไม้สิบสองเปนไม้ญี่สิบหรือเปนเฟื่องและอื่นอีก แล้วมีฐานรองสองชั้นสามชั้นนั้นเปนส่วนความคิดของช่างทำยักย้ายที่จะให้แปลกตาตามสมัยเหมือนกับแฟชแช่นเครื่องแต่งตัวผู้หญิง ประเดี๋ยวตัดคอกลม ประเดี๋ยวตัดคอเหลี่ยม ประเดี๋ยวตัดคอแหลม แขนยาว แขนสั้น แขนด้วน หลังโหว่ ท้องหวะ แล้วก็ไม่มีผ้าเลย เปนที่สุดฉะนั้น และในการที่เปลี่ยนแฟชแช่นนั้นเองทำให้รู้อายุได้โดยสังเกต เช่นว่า “ขาหมูแฮม” เกิดในจุลศักราชเท่านั้นอยู่จนเท่านั้น “ปากช้าง จิ้มน้ำแกง” เกิดในจุลศักราชเท่านั้นอยู่จนเท่านั้น และแฟชแช่นถ่ายทอดมาแต่ไหนก็รู้ได้ไปในตัว เช่นนุ่งซิ่น ก็คือเอาอย่างลาว นุ่งถุงก็เอาอย่างมอญ นุ่งกระโปรงก็เอาอย่างฝรั่ง ทั้งนี้ก็เหมือนกับเจดีย์ต่าง ๆ ตามที่ทรงสังเกตยุคได้นั้นก็ถูกต้องทุกอย่างแล้ว

ข้อที่กราบทูลถาม เรื่องประกาศชื่อวัดมงกุฎหรือมกุฎกษัตริย์นั้น มาพบหลักแล้ว พอถึงบ้านพระงั่วก็เอาหนังสือซึ่งพระสาสนโสภณฝากไว้ให้มาให้ เปนหนังสือ ๓ เล่ม ท่านพิมพ์ในการฉลองอายุท่าน ๖๐ ปี เล่มหนึ่งเปนประวัติวัดมกุฎกษัตริย์ มีประกาศพระราชทานที่วิสุงคามสีมา อันมีออกชื่อวัดอยู่ในนั้น แต่สำเนาที่ลงพิมพ์สังเกตว่าเขียนอักษรแก้ตามที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งถือว่าเปนการถูกไปเสียแล้วจะต้องไปขอดูต้นฉะบับที่ท่าน ต้นฉะบับอันนั้นจะเปนหลักที่รู้ความแท้จริงได้ เพราะฉะนั้นฝ่าพระบาทไม่ต้องเอาเปนพระภาระที่จะทรงค้นหาอีกแล้ว

เรื่องเจ้าพระยาวรพงศฟ้องหนังสือพิมพ์นั้น เกล้ากระหม่อมกลับไปถึงบ้านจึงได้ทราบความที่หญิงอี่ ว่าเขาลงว่าเจ้าพระยาพงศรื้อตำหนักอย่างไทยที่สวนกุหลาบ มาปลูกให้เกล้ากระหม่อมที่บ้านคลองเตย เมื่อได้ทราบความดังนี้จึงได้เข้าใจ ว่าที่ตรัสถึงเรื่องนั้น ก็เพราะชื่อเกล้ากระหม่อมเข้าไปพันพัวอยู่ในคดี เกล้ากระหม่อมนึกเห็นขันอยู่มาก เรือนอย่างไทยของเกล้ากระหม่อมที่คลองเตย ปลูกขึ้นก่อนที่สวนกุหลาบเปนไหน ๆ

อากาศที่กรุงเทพฯ ก็ไม่สบาย หญิงไอพอกลับมาถึงได้สองวันก็เจ็บแต่เปนไข้หวัดเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ