วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๘ กันยายน จะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ก่อน

เรื่องชื่อ “สยาม” นั้น มีเค้าอีกอย่างหนึ่งซึ่งหม่อมฉันลืมเสียไม่ได้ทูลไปแต่ก่อน คือในจดหมายเหตุจีนซึ่งพระเจนจีนอักษรแปลให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ มีอธิบายว่า ประเทศนี้เดิมเปน ๒ อาณาเขตต์ “เสียมก๊ก” อยู่ข้างเหนือ “โลฮกก๊ก” อยู่ข้างใต้ ต่อมารวมเปนอาณาเขตต์เดียวกัน จึงได้นามว่า “เสียมโลฮกก๊ก” แต่คนเรียกทิ้งคำ “ฮก” เสีย คงเรียกกันแต่ว่า “เสียมโลก๊ก” สืบมา เปน ๒ อาณาเขตต์อยู่ดังกล่าวเมื่อศักราชเท่าใด หม่อมฉันให้พระเจนฯ ค้นไม่ได้ความเพราะจดหมายเหตุนั้นแต่งในสมัยใต้เช็ง อ้างแต่ว่าเก็บความมาจากจดหมายเหตุเก่า แต่น่าจะเปนเมื่อต้นสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ) เวลาพวกขอมยังครองอาณาเขตต์ละโว้อยู่

คำว่า “กรุง” นั้น หม่อมฉันเคยได้ยิน (จะเปนใครจำไม่ได้เสียแล้ว บอก) อธิบายครั้งหนึ่ง ว่ามาแต่คำ “เกียง” ภาษาจีน หมายความว่า “แม่น้ำ” หรือ “ลุ่มน้ำ” แต่หม่อมฉันก็ไม่ได้เอาใจใส่ค้นหาหลักฐานต่อไป เมื่ออ่านลายพระหัตถ์แล้วลองคิดดู เห็นว่าที่เอาคำ “กรุง” ไปใช้ว่า “กรุงสญชัย” และ “กรุงสีพี” นั้น เปนแต่แปลศัพท์ ราชาสญขโย และ นครสีพี นึกหาตัวอย่างที่ใช้คำ “กรุง” มาแต่โบราณ เข้าใจว่าในจารึกสุโขทัยไม่มีใช้เลย มาใช้ต่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขอให้ทรงพิจารณาต่อไป ถ้าได้หลักว่าหมายความว่า เอมปาย Empire ได้ก็จะเหมาะดีนักหนา

คลองทางเรือหน้าตำหนักปลายเนินนั้น มีชื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-โปรด ฯ ให้เรียกว่า “คลองถนนตรง” มีเรื่องตำนานอยู่ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ หน้า ๓๔ และในพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ว่าเดิมพวกฝรั่งที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ คิดกันจะไปตั้งห้างและโรงจักรต่างๆ ตั้งแต่ปากคลองพระโขนงลงไปจนบางนา ร้องขอต่อรัฐบาลให้ขุดคลองทางเรือแต่พระโขนงขึ้นมาถึงพระนคร เพราะทางแม่น้ำอ้อมค้อมและน้ำไหลเชี่ยวไปมาลำบากเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ จึงโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ เปนแม่กองขุดคลองแต่คลองผดุงกรุงเกษมลงไป หมายจะให้ถึงคลองพระโขนง โปรดให้เรียกนามคลองนั้นว่า คลองถนนตรง แต่ต่อมาฝรั่งเปลี่ยนความคิดเดิมมาตั้งโรงจักรข้างเหนือบางคอแหลม คลองถนนตรงจึงขุดไปเพียงคลองเตย

คลองแต่ถนนหัวลำโพงไปประทุมวันนั้นจะมีชื่อเรียกว่ากระไรหม่อมฉันนึกไม่ออก นึกได้แต่ว่าดูเหมือนจะได้เคยเห็นเรื่องตำนานการขุดคลองนั้น แต่จะเห็นในหนังสือ อะไรก็ยังนึกไม่ออก จำได้แต่ตำนานการทำถนนริมคลองนั้นซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า ถนนสนามม้า เดิมคงมีมูลดินที่ขุดคลองพูนเปนแนวอยู่แล้ว เล่ากันว่ามิสเตอร์นิวแมน Mr. Newman กงสุลอังกฤษ ขอแรงพวกจีนในบังคับอังกฤษ ให้ช่วยกันเกลี่ยเปนถนนสำหรับขี่ม้าและเดินซ้อมกำลังกาย พวกฝรั่งจึงเรียกชื่อถนนนั้นแต่เดิมว่า Newman’s Mile เพราะยาวประมาณไมล์อังกฤษ ๑ ไทยเรียกว่า “ถนนนิวแมน” ก็มี

เมื่อก่อนรับลายพระหัตถ์ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงเรื่องประวัติโบราณวัตถุบางสิ่ง ซึ่งพระองค์ท่านกับหม่อมฉันได้ช่วยกันพิจารณาหาเค้าเงื่อนจนได้หลักฐานที่น่าเชื่อว่าเปนความจริง แต่ยังไม่ได้เขียนวินิจฉัยลงไว้เปนลายลักษณ์อักษร จึงเขียนวินิจฉัยถวายในสัปดาหะนี้แต่ฉะเพาะสิ่งซึ่งนึกขึ้นได้ในเวลานี้ เมื่อภายหน้านึกถึงสิ่งใดได้อีกก็จะเขียนต่อไป เพื่อรักษาวินิจฉัยไว้มิให้สูญไปเสีย

วินิจฉัยเรื่องบุษบกสามองค์ในวังหน้า

ที่ในวังหน้ามีบุษบกสร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๑ สามองค์ ยังอยู่ในวังหน้า (อันจัดเปนพิพิธภัณฑสถาน) ๒ องค์ อยู่ที่วัดไพชยนต์พลเสพ แขวงจังหวัดพระประแดงองค์ ๑ มีเรื่องประวัติต่างกันดังกล่าวต่อไปนี้

๑) บุษบกมาลา (เดี๋ยวนี้อยู่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ที่จัดเปนห้องไว้ของทองสัมฤทธิ์) ยังอยู่ตรงที่ที่ตั้งตั้งแต่แรกสร้างมาจนเดี๋ยวนี้ เมื่อรัชชกาลที่ ๑ ที่ตรงนั้นเปนมุขเด็จพระวิมาน บุษบกมาลาเปนที่กรมพระราชวังบวร ฯ ประทับเวลาเสด็จออกแขกเมือง หรือข้าราชการเฝ้ากลางแจ้งในชาลาหน้ามุขเด็จ อย่างเดียวกับบุษบกที่มุขเด็จพระมหาปราสาทในพระราชวังหลวง ถึงรัชชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยครอบบุษบกนั้น จึงกลายเปนบุษบกมาลา เหมือนอย่างที่ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

บุษบกมาลาวังหน้า แบบอย่างที่สร้างเมื่อรัชชกาลที่ ๑ ยังคงอยู่เกือบจะบริบูรณ์ เปลี่ยนแปลงแต่ที่เอาเครื่องแก้วเจียรไนประดับเปนดาวเพดาน เห็นจะทำเมื่อในรัชชกาลที่ ๒ ด้วยเดิมพระวิมานวังหน้า เพดานประดับดาวจำหลัก (อย่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเรียกว่า “เกือกพวง”) ทุกองค์ เพดานบุษบกมาลาก็คงเปนเช่นนั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อรัชชกาลที่ ๒ ดาวเพดานพระวิมานชำรุดหล่นลงมา เกรงจะเกิดอันตรายจึงปลดดาวเพดาน “เกือกพวง” ออกหมด (เอาไปทิ้งไว้ที่วัดดุสิตก็มี ได้เห็นอยู่จนเมื่อแรกสร้างสวนดุสิต) สันนิษฐานว่าคงแก้ดาวเพดานบุษบกมาลาในคราวนั้น ประจวบเวลากำลังนิยมเครื่องแก้วเจียรไน จึงเอาขึ้นประดับเปนดาวเพดาน

๒) บุษบกพรหมพักตร์ (เดี๋ยวนี้อยู่ในพระที่นั่งวายุสถานอมเรศร์พระวิมานองค์กลาง) ยอดมีหน้าพรหมและตัวบุษบกมีมุขลดพื้น ๒ ข้าง จึงเปน ๓ ห้อง (เรียกในหนังสือนิพพานวังหน้าว่า “พระที่นั่งพรหมพักตร์”) สันนิษฐานว่าเดิมคงตั้งที่มุขพระวิมานกลางด้านหลัง คู่กันกับบุษบกมาลาที่อยู่มุขหน้า เปนที่ประทับเวลาเสด็จออกให้สตรีมีบันดาศักดิ์เฝ้าในงานพิธี ที่มีมุขพื้นลด ๒ ข้างนั้น เห็นว่าเปนที่ประทับสำหรับเจ้าศิริรจจาองค์พระอัครชายาข้าง ๑ เจ้าฟ้าพิกุลทองพระราชธิดาข้าง ๑ เปนแน่ ด้วยในสมัยของกรมพระราชวังบวร ฯ พระองค์นั้น พวกประเทศราชในมณฑลพายัพซึ่งเปนญาติของเจ้าศิริรจจามาเฝ้าเนืองๆ

ครั้นภายหลังย้ายบุษบกพรหมพักตร์ขึ้นไปไว้บนพระวิมานกลาง แปลงเปนที่ตั้งพระอัษฐิกรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๑ รัชชกาลที่ ๒ รัชชกาลที่ ๓ ทั้ง ๓ พระองค์ จะย้ายขึ้นไปเมื่อใดข้อนี้ไม่ปรากฏ แต่เมื่อรัชชกาลที่ ๒ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จประทับและสวรรคตในพระวิมานกลาง เมื่อสวรรคตแล้วพระอัษฐิก็อยู่ในหอพระอัษฐิวังหลวงตลอดรัชชกาลที่ ๒ รัชชกาลที่ ๓ พึ่งเชิญขึ้นไปไว้วังหน้าต่อในรัชชกาลที่ ๔ จึงเห็นว่าบุษบกพรหมพักตร์ เห็นจะตั้งอยู่ที่มุขพระวิมานด้านหลังมาตลอด ๓ รัชชกาล จนถึงรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริให้ย้ายขึ้นไปไว้บนพระวิมานกลาง และให้แต่งเปนที่ประดิษฐานพระอัษฐิกรมพระราชวังบวร ฯ ทั้ง ๓ พระองค์ ให้เปนทำนองเดียวกับบุษบกตั้งพระบรมอัษฐิที่ในหอพระธาตุมณเฑียรในพระราชวังหลวง

๓) บุษบกยอดปรางค์ (ที่อยู่วัดไพชยนต์พลเสพ) กรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๑ ทรงสร้างประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ มีเรื่องปรากฎว่า เมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ พระองค์นั้นสวรรคตแล้ว การพิทักษ์รักษาในวังหน้าหละหลวมถึงมีผู้ร้ายขึ้นลักเครื่องบูชาในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรด ฯ ให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ปรากฏในจดหมายเหตุครั้งรัชชกาลที่ ๓ ว่าตั้งไว้บนฐานชุกชีทางด้านใต้) แต่บุษบกยอดปรางค์ยังตั้งอยู่ในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์จนสิ้นรัชชกาลที่ ๑ ถึงรัชชกาลที่ ๒ ไม่ได้เชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้วังหน้า บุษบกนั้นตั้งว่างอยู่เปล่า ๆ กรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๒ จึงโปรดให้ย้ายเอาไปไว้ที่อื่น (จะเอาไปไว้ที่ไหนไม่ปรากฎ) แล้วตั้งพระที่นั่งเศวตฉัตรในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์แทนบุษบกนั้น ถึงรัชชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจึงโปรดให้เอาบุษบกยอดปรางค์นั้น ไปตั้งเปนที่ประดิษฐานพระประธานที่ในพระอุโบสถวัดไพชยนต์พลเสพ ซึ่งพระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นในคลองปากลัดจังหวัดพระประแดง แต่เมื่อยังเปนต่างกรมอยู่ในรัชชกาลที่ ๒ สังเกตดูบุษบกนั้นเห็นมีฝีมือช่างชั้นหลังปะปนของเดิมอยู่ สันนิษฐานว่าเห็นจะทอดทิ้งจนชำรุดทรุดโทรมมาก กรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๓ ไปทอดพระเนตร์เห็นทรงสังเวชพระหฤทัยจึงโปรดให้เอาไปถวายเปนพุทธบูชา (อย่างว่า “ปล่อยพระพุทธบาท”) เห็นจะต้องบูรณปฏิสังขรณ์มากจึงปรากฎฝีมือช่างสมัยหลังปะปนอยู่ถึงปานนั้น

อนึ่งซึ่งวัดนั้นมีนามว่า “ไพชยนต์พลเสพ” พิเคราะห์คำ “ไพชยนต์” ดูหมายเอาบุษบกนั้นเปนนิมิต และคำ “พลเสพ” มาแต่สร้อยพระนามของกรมพระราชวังบวรฯ รัชชกาลที่ ๓ ซึ่งถวายบุษบกนั้น ชวนให้เห็นว่านาม วัดไพชยนต์พลเสพ จะเปนนามใหม่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขนานเมื่อในรัชชกาลที่ ๔ นามเดิมจะเรียกว่าวัดอะไรไม่ปรากฏ แต่คะเนว่าเมื่อในรัชชกาลที่ ๒ ก็เห็นจะเรียกกันว่า “วัดกรมศักดิ” ข้าในกรมนั้นเองคงเรียกว่า “วัดใหม่” หรือ “วัดปากลัด” ถึงรัชชกาลที่ ๓ คนทั้งหลายก็คงจะเรียกกันว่า “วัดวังหน้า”

วินิจฉัยเพิ่มเติมเรื่องตำนานพระโกศ

เมื่อในรัชชกาลที่ ๖ พระองค์ท่านกับหม่อมฉันได้ช่วยกันแต่งหนังสือเรื่องตำนานพระโกศให้หอพระสมุดพิมพ์เล่ม ๑ ครั้นต่อมาเรายังพิจารณาพบเค้าเงื่อน และได้ความรู้เนื่องในเรื่องตำนานพระโกศเพิ่มเติมอีกหลายข้อ แต่ยังไม่ได้เขียนลงไว้เปนลายลักษณ์อักษร คือ

ข้อ ๑ พิจารณาดูโกศต่างๆ ซึ่งสร้างชั้นเก่าในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดูเหมือนจะมีแบบกำหนดศักดิโกศเปน ๓ ชั้นโดยลำดับกัน พึงสังเกตเห็นได้ด้วยรูปทรงฝาโกศ

ชั้นที่ ๑ โกศฝาเปนทรงมงกุฎ เช่นพระโกศทองใหญ่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรด ฯ ให้สร้างสำหรับทรงพระบรมศพของพระองค์เอง และมีโกศไม้สิบสองใบหนึ่งซึ่งฝาเปนทรงมงกุฎ (เปนฝีมือช่างครั้งรัชชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ แต่) น่าสันนิษฐานว่าทำตามรูปพระโกศไม้สิบสอง ซึ่งในหนังสือพงศาวดารว่าสร้างทรงพระศพกรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๑ (เมื่อก่อนสร้างพระโกศทองใหญ่) โกศฝาทรงมงกุฎสำหรับแต่ทรงพระบรมศพ กับพระศพเจ้านายซึ่งพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงสุด

ชั้นที่ ๒ โกศฝาเปนทรงยอดปราสาท เช่น โกศกุดั่นซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรด ฯ ให้สร้าง (ก่อนโกศไม้สิบสองฝาทรงมงกุฎ และพระโกศทองใหญ่) สำหรับทรงพระศพสมเด็จพระพี่นาง ๒ พระองค์ และโกศแปดเหลี่ยมซึ่งใช้ทรงพระศพเจ้านายแต่ก่อน

ชั้นที่ ๓ โกศฝาเปนทรงปริก เช่น โกศไม้สิบสองอีกใบหนึ่ง (แต่ต่อปลีเปนยอดเมื่อภายหลัง) กับโกศโถสำหรับใส่ศพขุนนาง

หรือว่าโดยย่อ โกศต่างกันเปน ๓ ชั้น คือโกศสำหรับทรงพระบรมศพทำฝาเปนทรงมงกุฎ โกศสำหรับทรงพระศพเจ้านายทำฝาเปนทรงยอดปราสาท และโกศสำหรับศพขุนนางทำฝาเปนทรงปริก เป็นแบบมาดังนี้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้รู้ได้ด้วยมีโกศสร้างครั้งกรุงธนบุรีอยู่ ๒ ใบ ใบหนึ่งเปนโกศกลมฝาทรงมงกุฎ อีกใบหนึ่งเปนโกศแปดเหลี่ยมฝาเป็นทรงยอดปราสาท มีเรื่องในพงศาวดารส่อให้เห็นว่าโกศฝาทรงมงกุฎนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีคงโปรดให้สร้างสำหรับทรงพระศพกรมพระเทพามาตย์พระราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งถวายพระเพลิงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ โกศใบที่ยอดเปนทรงยอดปราสาทก็คงให้สร้างสำหรับทรงพระศพเจ้านายครั้งกรุงธนบุรี ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรด ฯ ให้สร้างโกศตามแบบเดียวกันสืบมา เปนแต่แก้พระโกศทองใหญ่เปนแปดเหลี่ยม และแก้แบบโกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาทสำหรับทรงพระศพเจ้านาย ซึ่งของเดิมตัวโกศเปนแต่จำหลักปิดทอง ให้ประดับกระจกเพิ่มขึ้น จึงเรียกว่าโกศกุดั่น เมื่อมีพระโกศกุดั่นขึ้นแล้ว โกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาทของเดิมก็ลดศักดิลงมาสำหรับเจ้านายสามัญ และที่สุดเอาไปใช้ใส่ศพเจ้าพระยาและสตรีมีบันดาศักดิ์สูงก็มี คงเริ่มด้วยพระราชทานฉะเพาะแต่ศพที่เปนพระญาติแล้วจึงเลยกลายไปเปนตามยศ

โกศสำหรับศพขุนนาง เดิมเห็นจะมีแต่ที่เรียกว่าโกศโถอย่างเดียว มาสร้างโกศไม้สิบสองเพิ่มขึ้นเมื่อภายหลังรัชชกาลที่ ๑ (อันฝีมือทำโกศนั้นส่อให้เห็น) แต่โกศไม้สิบสอง ๒ ใบนั้นผิดกันชอบกล น่าพิจารณาอยู่ คือใบหนึ่งฝาเปนทรงปริก ส่อให้เห็นว่าสร้างสำหรับศพขุนนาง คงเปนชั้นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีซึ่งศักดิ์สูงกว่าเจ้าพระยาจตุสดมภ์ที่ใช้โกศโถ แต่โกศไม้สิบสองอีกใบหนึ่งนั้นฝาเปนทรงมงกุฎ และตัวโกศจำหลักลายเปนอย่างอื่น ไม่เหมือนโกศไม้สิบสองที่เปนคู่กัน ส่อให้เห็นว่าสร้างต่างคราวและเพื่อกิจต่างกัน ลองคิดค้นว่าจะสร้างสำหรับศพบุคคลชั้นไหน เพราะโกศเจ้าก็มีโกศแปดเหลี่ยมฝาทรงยอดปราสาทอยู่แล้ว ศพขุนนางก็มีโกศโถกับโกศไม้สิบสองใบฝาทรงปริกอยู่แล้ว เห็นว่ามีบุคคลจำพวกเดียวที่ศักดิไม่เข้ากับโกศอย่างใดทั้ง ๒ อย่างนั้น คือที่เปนเจ้านอกพระราชวงศเช่น กรมขุนสุนทรภูเบศร (เรื่อง ชาวเมืองชลบุรี ผู้ได้กระทำสัจเปนพระภาดากับกรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๑ มาแต่ก่อน) ซึ่งศักดิเหมาะแก่โกศเช่นนั้น (บางทีจะสร้างเมื่อศพกรมขุนสุนทรภูเบศรนั่นเอง จึงเอารูปหุ่นพระโกศกรมพระราชวังบวร ฯ เปนแบบ) นอกจากกรมขุนสุนทรภูเบศร เมื่อพระศพกรมหมื่นนรินทรภักดี (พระสามีของกรมหลวงนรินทรเทวี) ก็เห็นจะใช้โกศไม้สิบสองใบเดียวกัน เพราะฉะนั้นต่อมาจึงใช้โกศไม้สิบสองใบนั้นสำหรับศพเจ้านายต่างกรมวังหน้าเปนยุติ (แต่ชั้นหลังมาใช้โกศไม้สิบสอง ๒ ใบนั้นคละกันไป ไม่ได้แยก เปนโกศสำหรับพระศพเจ้านายใบ ๑ สำหรับศพขุนนางใบ ๑ ตามลักษณตัวโกศ คติเดิมจึงสูญไป)

ข้อ ๒ โกศต่างๆ ที่ลงบัญชีไว้ในหนังสือตำนานพระโกศนั้น สังเกตดูเปนของสร้างต่อในรัชชกาลที่ ๔ และรัชชกาลที่ ๕ โดยมาก มีโกศซึ่งสร้างก่อนนั้นน้อยทีเดียว และยังเปนโกศของสงวนเช่นพระโกศทองใหญ่และโกศกุดั่นก็หลายใบ เหลือโกศสำหรับใช้สักสามสี่ใบ เจ้านายและผู้มีบันดาศักดิศพใส่โกศก็มีมาก แม้ในสมัยชั้นหลังเมื่อมีโกศมากขึ้นแล้ว บางคราวยังต้องเปลื้องโกศศพเก่าทิ้งไว้แต่ลองใน เอาโกศไปประดับศพใหม่มีเนืองๆ เมื่อโกศยังมีน้อยจะทำอย่างไรกัน อธิบายข้อนี้ไปแลเห็นธรรมเนียมเก่าปรากฏอยู่ในสำนวนจดหมายเหตุกรมวังครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่ง ว่าด้วยงานพระศพ (เรียกในนั้นว่า “สมเด็จพระบรมศพ”) เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๘ ใช้คำเรียกลองในซึ่งทรงพระศพว่า “พระโกศ” เรียกโกศที่ประกอบข้างนอกว่า “พระลอง” พิเคราะห์ความถูกต้องตามจริง (แต่เหตุใดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรจึงเรียกกลับไปเสีย ข้อนี้หาทราบไม่) สำนวนในจดหมายเหตุนั้นส่อให้เห็นว่าที่เรียกว่าศพใส่โกศคือ ใส่ลองใน เท่านั้น ที่เราเรียกว่าโกศเดี๋ยวนี้เปนแต่เครื่องประดับ ถ้าพระศพศักดิสูงก็ประกอบ “พระลอง” ประดับอยู่เสมอ ถ้าเปนศพสามัญชั้นต่ำลงมาก็ใส่แต่โกศ (คือลองใน) ตั้งไว้แต่เวลามีงานหน้าศพหรือเมื่อแห่และตั้งที่เมรุ จึงประกอบ ลอง (คือโกศนอก) เป็นเครื่องประดับ ประเพณีเดิมเห็นจะเปนอย่างว่านี้ โกศลองในแม้ใส่ศพศักดิ์ชั้นต่ำจึงปิดทองทึบ (อย่างเดียวกับหีบทองทึบซึ่งเปนหีบศพศักดิ์สูงรองโกศลงมา) ด้วยจะตั้งไว้ให้คนดู ถ้าเปนของสำหรับซ่อนมีสิ่งอื่นปิดบังอยู่ข้างนอก ก็คงไม่ปิดทองให้สิ้นเปลืองเปล่า ๆ

เมื่อเขียนจดหมายฉะบับนี้แล้ว หม่อมฉันได้รับใบแจ้งความงานศพเจ้าเชียงตุงส่งมาทางไปรษณีย์อากาศ ในใบแจ้งความนั้นมีคำซึ่งเข้าใจว่าเปนภาษาไทย แต่หม่อมฉันยังคิดไม่เห็นอยู่หลายคำ หม่อมฉันจึงส่งมาถวายกับจดหมายนี้เพื่อให้ทรงพิจารณา ทรงแล้วขอให้ส่งกลับมา ได้ความรู้แปลกอย่างหนึ่งว่าศพเจ้าเชียงตุงนั้นจะฝังไม่เผา ธรรมเนียมเมืองพะม่าพระศพเจ้านายก็เผาบ้างฝังบ้าง ดังหม่อมฉันได้เคยทูลไปเมื่อแปลกฎมณเฑียรบาลพะม่าถวาย จะเอาอะไรเปนเกณฑ์เผาหรือฝังศพ ยังไม่รู้.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ