อธิบายชื่อเมืองในมณฑลอุดรและอิสาณ

เมืองที่ตั้งในรัชชกาลที่ ๕ ในทำเนียบมณฑลอุดรที่ได้มาไม่จะแจ้ง ว่าตั้งบ้านอะไรเปนเมืองใด และมีชื่อเมืองบางเมืองเช่น เมืองเลย เมืองแก่นท้าว และเมืองท่าบ่อ เปนต้น ดูเปนชื่อเก่าก่อนรัชชกาลที่ ๕ หม่อมฉันไม่มีอะไรจะสอบ จึงมิได้เอาชื่อเมืองที่สงสัยอยู่ลงในบัญชีที่ถวายมา แต่เมืองที่ตั้งขึ้นในมณฑลอิสาณมีอธิบายอยู่ในหนังสือพงศาวดารมณฑลอิสาณที่หม่อมอมรวงศวิจิตรแต่ง จึงรู้ความได้เลอียด แต่มีจำนวนเมืองมากกว่าที่หม่อมฉันเข้าใจอยู่แต่ก่อนมาก

มณฑลอุดร

๑. กุสุมาลมณฑล

๒. โพธิไพศาล

๓. กุมภวาปี

๔. พรรณานิคม

๕. จำปาชนบท

๖. หนองสูง

๗. พาลุกากรภูมิ

๘. รัตนวาปี

๙. มัญจาคิรี

มณฑลอีสาณ

๑๐. ตั้งบ้านกุดประไทย เปนเมืองสีขรภูมิพิไสย

๑๑. ตั้งบ้านลำดวน เปนเมืองสุรพินนิคม

๑๒. ตั้งบ้านลำพุก เปนเมืองกันทรารมย์

๑๓. ตั้งบ้านดอนเสาโรง เปนเมืองเกษตรวิสัย

๑๔. ตั้งบ้านกันทรา (ร้าง) เปนเมืองกันทรวิชัย

๑๕. ตั้งบ้านโป่ง เปนเมืองพนมไพรแดนมฤค

๑๖. ตั้งบ้านกู่กะโดน เปนเมืองเกษตรวิสัย

๑๗. ตั้งบ้านห้วยหินโก เปนเมืองสพังภูผา

๑๘. ตั้งบ้านเมืองเสือ เปนเมืองพยัฆภูมิพิสัย

๑๙. ตั้งบ้านบึงโดน เปนเมืองเสลภูมิ

๒๐. ตั้งบ้านท่ายักขุ เปนเมืองชาณุมาณมณฑล

๒๑. ตั้งบ้านเผลา เปนเมืองพนานิคม

๒๒. ตั้งบ้านนากอนจอ เปนเมืองวารินชำราบ

๒๓. ตั้งบ้านเสาธง เปนเมืองธวัชบุรี

๒๔. ตั้งบ้านจาน เปนเมืองมูลป่าโมกข์

๒๕. ตั้งบ้านจันทำโล เปนเมืองโดมประดิษฐ์

๒๖. ตั้งบ้านโนนหิน เปนเมืองราษีไศล

๒๗. ตั้งบ้านที เปนเมืองเกษมสีมา

๒๘. ตั้งบ้านทัพค่าย เปนเมืองชุมพลบุรี

๒๙. ตั้งบ้านหงส์ เปนเมืองจตุรพักตร์พิมาน

๓๐. ตั้งบ้านนาเลา เปนเมืองวาปีประทุม

๓๑. ตั้งบ้านวังทาหอขวาง เปนเมืองโกสุมพิสัย

๓๒. เปลี่ยนชื่อเมืองเซลำเภาเปน เมืองธาราบริรักษ์

แต่เมืองเซลำเภาก็คงอยู่ เปนแยกออกเปนเมืองธาราบริรักษ์อีกเมือง ๑ เมืองตั้งสุดท้ายในจุลศักราช ๑๒๔๗ (พ.ศ. ๒๔๒๘)

วิธีที่ตั้งเมืองต่างๆ ในมณฑลอุดรและอิสาณ เมื่อรัชชกาลที่ ๑ และรัชชกาลที่ ๓ เปนรัฐาภิปาลโนบายอย่างประเสริฐ เพราะเปนเวลาผู้คนแตกฉานซ่านเซ็น หนีภัยไปรวบรวมกันตั้งบ้านเมืองอยู่ที่อื่นบ้าง เที่ยวซุ่มซ่อนกระจัดกระจายอยู่ในป่าบ้าง ทิ้งบ้านเมืองเปนที่ร้างว่างเปล่าอยู่ทั่วไป ถ้าใช้กำลังออกติดตามไล่ต้อนผู้คนให้กลับมาก็คงยิ่งตื่นเต้น หรือมิฉะนั้นก็อาจจะต่อสู้ต้องฆ่าฟันกัน ที่ตั้งคนในท้องถิ่นเปนเจ้าเมืองร้างให้เที่ยวเกลี้ยกล่อมพาผู้คนมาเปนพลเมืองไม่ต้องใช้อำนาจ อาจทำได้ด้วยยินดีด้วยกันทุกฝ่าย ก็สำเร็จประโยชน์ตามมุ่งหมาย เจ้าเมืองไหนเกลี้ยกล่อมคนมาได้มาก ก็ได้ทรัพย์เศษส่วยและได้ผู้คนสำหรับอาศัยใช้สอยมากขึ้น ก็เต็มใจขวนขวายตั้งบ้านเมือง ฝ่ายราษฎรที่ไปเที่ยวหลบลี้เดือดร้อนลำบากอยู่ เมื่อรู้ว่าบ้านเมืองกลับเรียบร้อยอย่างเดิมก็ยินดีที่จะกลับมาโดยมาก มีเรื่องปลาดที่หม่อมฉันไปทราบความในท้องถิ่น ว่าเดิมราษฎรเมืองท่าอุเทนกับเมืองชัยบุรี อันอยู่ริมลำน้ำโขงเขตต์ติดต่อกันอพยบหนีไปอยู่ทางฝั่งซ้ายใกล้แดนญวน พวกชาวเมืองชัยบุรีกลับมาก่อนเห็นว่าที่นาเมืองท่าอุเทนดี ก็พากันไปตั้งอยู่เมืองท่าอุเทน เมื่อพวกชาวเมืองท่าอุเทนกลับมาเห็นบ้านเดิมของตนเปนของคนอื่นแล้ว ก็พากันไปตั้งอยู่ที่เมืองชัยบุรี ราษฎรก็ไขว้เมืองกันมาแต่นั้น เมื่อเสร็จศึกเวียงจันท์บ้านเมืองราบคาบมาแต่ในรัชชกาลที่ ๓ ถึง ๒๐ ปี ในระวางนั้นผู้คนที่แตกฉานไปกลับคืนมาด้วยการเกลี้ยกล่อมหรือโดยอำเภอใจเกือบหมดแล้ว เหตุที่ตั้งเมืองก็ผันแปรไปเปนอย่างอื่น คือให้ราษฎรตั้งภูมิลำเนากระจายกันออกไป ให้มีไร่นาที่ทำมาหากินเกิดมากขึ้น เมืองที่ตั้งตอนหลังจึงมักแบ่งเขตต์เมืองที่ตั้งมาแต่ก่อนตั้งเมืองขึ้นของเมืองนั้นเองบ้าง ขึ้นกรุงเทพ ฯ บ้าง ถึงรัชชกาลที่ ๔ มีเหตุเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งเพราะผู้คนพลเมืองมีมากขึ้น เจ้าเมืองกับท้าวพระยาแย่งผู้คนที่ควบคุมกัน จึงมักมีท้าวพระยาขอตั้งเมืองขึ้นใหม่ในที่ว่าง เพื่อรวบรวมผู้คนของตนให้มีที่อยู่เปนหมู่หมด แต่เมื่อถึงรัชชกาลที่ ๕ การขอตั้งเมืองกลายเปนอุบายพวกท้าวพระยาแย่งอาณาเขตต์และผู้คนกันแลกัน เมื่อความจริงยังไม่รู้ถึงกรุงเทพฯก็ปล่อยให้ตั้งตามเคยมาแต่ก่อน ครั้นทรงทราบว่าการตั้งเมืองกลับเปนโทษ จึงโปรดฯ งดการนั้นแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ มา ครั้นถึงสมัยจัดมณฑลเทศาภิบาล เอาเขตต์ท้องที่สดวกแก่การปกครองกำหนดเป็นเขตต์มณฑล จังหวัด อำเภอ และตำบล เมืองต่างๆ ที่ตั้งไว้แต่ก่อนเหลือเปนจังหวัดอยู่มณฑลละไม่กี่เมือง ที่ลดลงเปนอำเภอและเปนตำบล หรือที่สุดละลายไปเพราะเขตต์กีดขวางก็มี แต่เมื่อหม่อมฉันว่าการมหาดไทย ถือเปนหลักอย่างหนึ่งว่าจะรักษาชื่อเมืองไว้มิให้สูญเสีย จึงให้ใช้เปนชื่ออำเภอหรือแม้เปนชื่อตำบลในทำเนียบท้องที่ๆ เคยเปนเขตต์เมืองนั้นๆ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ