วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๗ สิงหาคมแล้ว แต่จดหมายฉะบับนี้ข้างตอนต้น หม่อมฉันเขียนตอบลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๐ ก่อนตามที่ได้ทูลผัดมา ความในลายพระหัตถ์ฉะบับนั้นทรงปรารภถึงเรื่องพระปฐมเจดีย์ ทำให้หม่อมฉันนึกขึ้นถึงเหตุที่อยากจะไปเมืองพะม่า ด้วยหมายว่าถ้าไปพบปะกับพวกนักปราชญ์หรือผู้บัญชาการโบราณคดีที่นั่น จะบอกเค้าเงื่อนชวนให้เขาคิดอ่านตรวจแก้พงศาวดารพะม่าที่ผิดเปนข้อสำคัญอยู่แห่งหนึ่ง ดังจะทูลอธิบายต่อไปนี้

ในพงศาวดารพะม่าว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุธเสวยราชย์ ณ เมืองพุกาม (พ.ศ. ๑๕๕๓) เกิดเลื่อมใสพระพุทธสาสนา ทรงทราบว่ามหาราชเจ้าเมืองสะเทิม Thathem ประเทศมอญมีพระไตรปิฎก พระเจ้าอนุรุธให้ไปขอ เจ้าเมืองสะเทิมไม่ยอมให้จึงเกิดรบกัน พระเจ้าอนุรุธตีได้เมืองสะเทิม กวาดต้อนผู้คนและเก็บริบทรัพย์สมบัติเอาไปยังเมืองพุกาม จึงได้พระพุทธสาสนาไปประดิษฐานในประเทศพะม่า ถือคติตามแบบอย่างเมืองสะเทิมต่อมา ความที่กล่าวในพงศาวดารข้อนี้ถึงสมัยเมื่อเมืองพะม่าเมืองมอญตกเปนของอังกฤษ พวกนักเรียนโบราณคดีได้ไปตรวจค้นที่เมืองสะเทิม อันอยู่ข้างเหนือเมืองเมาะตะมะ ไม่เห็นมีโบราณวัตถุอันใดเปนสำคัญซึ่งควรจะเชื่อว่าเคยเปนราชธานีของมหาราชอย่างกล่าวในพงศาวดารพะม่า พากันสงสัยว่าเมืองที่พะม่าได้พระพุทธสาสนาไป จะเปนเมืองอยู่ที่อื่นมิใช่เมืองสะเทิม ในชั้นนั้นหม่อมฉันก็ไม่ได้นำพาเท่าใดนัก ครั้นเมื่อหม่อมฉันอำนวยการสร้างเมืองนครปฐม ได้เห็นของโบราณต่าง ๆ ซึ่งขุดพบ ณ ที่นั่น จึงเริ่มเอาใจใส่สืบสวนเรื่องตำนานเมืองนครปฐม ครั้งหนึ่งให้ถ่ายรูปฉายาลักษณ์เงินเหรียญตราสังข์ ซึ่งมักขุดพบในแถวพระปฐมเจดีย์ (กับที่เมืองอู่ทองอีกแห่งหนึ่ง) ส่งไปยังพิพิธภัณฑสถานอังกฤษซึ่งเรียกว่า British Museum ณ กรุงลอนดอน ถามผู้ชำนาญว่าเงินตราอย่างนั้นเขารู้หรือไม่ว่าเปนเงินของประเทศไหน ได้รับตอบมาว่าเงินตราอย่างนั้นขุดพบแต่เมืองพุกามแห่งเดียวหามีที่อื่นไม่ ก็สดุดใจหม่อมฉันขึ้นเปนครั้งแรกว่าเมืองนครปฐมน่าจะเคยเกี่ยวข้องกับเมืองพุกามมาแต่ก่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อมาได้เห็นพระพิมพ์ดินเผาที่ทำพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทอย่างนั่งเก้าอี้ มีรูปปรางค์พุทธคยาอยู่เบื้องบน พบที่พระปฐมเจดีย์ (กับที่พงตึก) เปนแบบเดียวกันกับพระพิมพ์ที่เมืองพุกามอีกอย่างหนึ่ง และที่สุดได้อ่านหนังสือเรื่องเมืองพะม่า ซึ่งเซอร์เจมส์ สกอตต์ แต่ง ออกความเห็นว่าพระเจ้าอนุรุธเห็นจะรับพระพุทธสาสนาไปจากนครธม เมืองเขมร หม่อมฉันจึงกล้าอ้างว่าที่จริงได้ไปจากเมืองนครปฐมนี่เอง แต่ความนั้นยังไม่ได้บอกแก่พวกนักปราชญ์ที่เมืองพม่า จึงคิดว่าถ้าได้ไปจะไปบอกให้เขารู้ และบางทีจะไปค้นหาโบราณวัตถุที่มีเหมือนกันได้ในเมืองพะม่าอีก

ว่าถึงโบราณวัตถุที่สร้างไว้ ณ เมืองนครปฐม พึ่งสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีของแบบขอมเหมือนเช่นที่เมืองลพบุรี ของที่พบ ณ เมืองนครปฐมเปนแบบอย่างทางอินเดียทั้งนั้น แต่ปลาดอยู่ที่ของแบบขอมข้ามไปมีสร้างไว้ทั้งที่เมืองราชบุรีและเมืองเพ็ชรบุรี ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าพวกขอมเข้ามาปกครองประเทศสยามเมื่อเมืองนครปฐมถูกพระเจ้าอนุรุธกวาดต้อนเอาผู้คนไปหมด เปนเมืองร้างมาเสียช้านานแล้ว (เหมือนเช่นนครธมเปนเมืองร้างมาตั้งแต่พระเจ้าสามพระยากวาดต้อนเอาผู้คนมาหมดฉะนั้น) ที่ว่านี้เห็นได้ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งบอกชื่อเมืองขึ้นทางข้างใต้เปนลำดับมา เมื่อออกชื่อเมืองสุพรรณภูมิ (อู่ทอง) แล้วข้ามไปออกชื่อเมืองราชบุรี หามีเมืองอะไรอยู่ในระวางไม่ การที่สร้างพระปรางค์ยอดพระปฐมเจดีย์ หม่อมฉันสันนิษฐานว่าจะสร้างในสมัยขอมปกครอง เมื่อเมืองนครปฐมเดิมร้างแล้ว คือในระวาง พ.ศ. ๑๖๐๐ จนถึง ๑๙๐๐

ว่าต่อไปถึงข้อที่เรียกชื่อ “พระปฐม” จะมาแต่คำ “ปธม” ภาษาเขมรนั้น (หม่อมฉันพิจารณาเห็นว่าที่ถูกน่าจะเป็นคำ “ปฐม” ภาษามคธเช่นใช้ทุกวันนี้ เพราะเปนภาษาทันสมัยที่สร้าง เปรียบว่าเมื่อสร้างบ้านเมืองมีพระเจดีย์ขึ้นหลายองค์ อาจจะขนานนามองค์ที่สร้างก่อนเพื่อนว่า “ปฐมเจดีย์” ทำนองเดียวกับเราเรียกชื่อวัดว่า “วัดเดิม” แต่ในสมัยนั้นเองก็เปนได้ ถ้าเปนคำ “ปธม” ภาษาเขมรหมายความว่า “เจดีย์ใหญ่” ก็จะเกิดขึ้นเพราะพวกเขมรที่อยู่ในแถบนั้นเรียกต่อชั้นหลัง เห็นจะไม่แพร่หลาย และคงจะไม่มีคำว่า “พระปฐม” เรียกซ้อนมาแต่โบราณ หม่อมฉันคิดไปอย่างหนึ่งว่าคำ ปธม นั้นน่าจะมาแต่คำ ปฐม นั้นเอง เกิดแต่สำเนียงพวกมอญและพวกเขมรเรียกแปร่งไป จึงกลายเปน ปธม แล้วพวกนักปราชญ์ “ซึมทราบ” ก็เลยเอาสำเนียงนั้นตีความต่อไปว่าเปนที่พระพุทธองค์นอน

ในลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๗ ทรงปรารภถึงประเพณีที่ชอบเอาพระนามพระพุทธเจ้า และพระนามเทพเจ้ามาใช้เปนพระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้น เมื่อหม่อมฉันได้ไปเห็นปราสาทหินต่าง ๆ ที่เมืองเขมรแล้วมาคิดพิจารณา ดูเหมือนจะจับหลักเรื่องที่ทรงปรารภได้ คือเดิมไทยเรารับแบบอย่างมาจากเขมรแล้วมาแก้ไขบ้างตามพฤติการณ์ในบ้านเมือง แต่รูปก็ยังคงอยู่ในหลักเดิมนั้นเอง หลักเดิมในเมืองเขมรนั้น เมื่อครั้งสมัยขอม มีลัทธิสาสนาถือกันเปน ๓ อย่าง คือพระพุทธสาสนาอย่างมหายานอย่าง ๑ สาสนาพราหมณ์อย่างศิเวทอย่าง ๑ สาสนาพราหมณ์อย่างวิษณุเวทอย่าง ๑ ตามคติสาสนาพราหมณ์พวกศิเวทถือว่าพระศิว (คือพระอิศวร) แบ่งภาคมาเปนพระเจ้าแผ่นดิน จึงเอานามพระอิศวรมาถวายเช่นว่า พระนเรศวร เปนต้น คติสาสนาพราหมณ์วิษณุเวทก็ถือว่าพระวิษณุ (คือพระนารายน์) แบ่งภาคมาเปนพระเจ้าแผ่นดิน จึงเอานามพระนารายน์ถวายเช่น พระรามาธิบดี เปนต้น คติของพวกถือพระพุทธสาสนาก็ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะได้ตรัสรู้เปนพระพุทธเจ้า จึงเอาพระนามพระพุทธเจ้ามาถวายเช่นว่า พระไตรโลกนาถ เปนต้น และใช้คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินตามพระเกียรติของพระอิศวร พระนารายน์ และพระพุทธเจ้า เปนคำต่างกันว่า “พระเดช” “พระคุณ” และ “พระกรุณา” เขมรยังเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระกรุณา” อยู่จนทุกวันนี้ ไทยเราก็ยังเรียกเช่นว่า “กราบทูลพระกรุณา” เปนแต่ไม่นึกว่าคำ กรุณา นั้นเปนสรรพนาม หลักพระนามเช่นว่ามาเสื่อมในเมืองไทย เพราะการถือคติสาสนาพราหมณ์ และพระพุทธสาสนาอย่างมหายานมาเรียวลงด้วยกัน จึงคงเหลือแต่คำ แต่กระบวรการที่ใช้แปรไปเปนอย่างอื่นตามสมัย

ข่าวคราวทางปีนังในสัตดาหะที่ล่วงมานี้ ไวสกงสุลสยามเปลี่ยนตัวใหม่ หลวงภาษาพิรัชกลับเข้าไปรับราชการในกรุงเทพ ฯ นายยิ้ม พึ่งพระคุณ ซึ่งเปนบุตรหลวงบุรีรัฐวิจารณ์ (เชริฟ Sheriff) และเปนน้องหลวงอดุลเดชจรัส ออกมาเปนแทน เขาได้มาล่ำลาหาสู่หม่อมฉันทั้ง ๒ คน นายยิ้มไวสกงสุลคนใหม่นั้นสังเกตดูอัธยาศัยก็สุภาพเรียบร้อยดี หลวงภาษาพิรัชนั้นเห็นอยู่ข้างจะอร้าอร่ำ ด้วยแกอยู่ที่นี่มาถึง ๘ ปีมีบ้านเรือนและสมบัติวัตถาของตนเองอยู่ทั้งที่ในเมืองและที่บนเขา ต้องทิ้งไปคงลำบากอยู่บ้าง.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ