วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับลายพระหัตถ์ประทานไปแต่ปีนังสองฉะบับ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม ฉะบับหนึ่ง กับลงวันที่ ๑๗ มกราคม อีกฉะบับหนึ่ง แล้วยังได้รับลายพระหัตถ์ประทานไปแต่ร่างกุ้ง ลงวันที่ ๒๒ มกราคมอีกฉะบับหนึ่ง แต่ล้วนยังไม่ได้ทูลตอบทั้งนั้น เพราะไม่มีโอกาศที่จะทูลตอบ แต่ก็คันมือที่จะเขียนถวายเต็มที จึงได้เขียนหนังสือฉบับนี้ทูลแต่เล็กน้อยส่งมาถวาย เปนการลองเสี่ยงโชค ซึ่งลางทีก็จะได้ทรงรับ

ได้ทราบข่าวตามลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๒ นั้น ว่าพระมุเตาพังเสียจนถึงชั้นทักษิณ เปนข้อใหญ่ที่ทำเอาใจคว่ำ ไม่คิดว่าจะเปนถึงเช่นนั้นเลย นึกว่าจะพังสักเพียงคอระฆัง แผ่นดินไหวอะไรอย่างนั้น เอาจนราบเปนหน้ากลองไปหมด นึกถึงการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เกรงจะต้องเหมือนภูเขาทองกรุงเก่า เพราะเข้าใจว่าคนศรัทธามาลาย่อมน้อยลง จะไปหาเงินที่ไหนมาทำให้เท่าเก่าได้

ชื่อพระมุเตา เคยเห็นเขาเขียนเปนหนังสือมอญไว้ที่รูปดังนี้ မေားတောပ် เมาะเตาว์ มุเตาเปนคำไทยเพี้ยน ฝรั่งก็ทำพิษหนักเหมือนกัน เช่นเมืองแปร ฝรั่งเรียกว่าโปรม เกล้ากระหม่อมเคยไต่สวนได้ความว่าพะม่าเขียนเปรโมม อ่านว่าเปียโมม เปร เปนชื่อ โมม ว่าเมือง สองคำแท้ๆ ฝรั่งเอาสนธิกันเสียเปนโปรม

โบสถ์ที่กัลยาณีสีมา เคยเห็นรูปฉายาลักษณ์ตอนภายในที่ไหนมาทีหนึ่งแล้ว เห็นเปนตึกฝรั่ง ดูเปนห้องเล็กๆ ไม่ทำให้เกิดเลื่อมใสศรัทธา ทั้งมาซ้ำทราบว่าศิลาจารึกพระไตรปิฎกก็ชำรุดซุดโซมหมด ทำให้เกิดสังเวชสลดจิตต์มาก อังกฤษเห็นจะใฝ่ใจในทางโบราณคดีน้อยกว่าฝรั่งเศสมาก แม้แต่พิพิธภัณฑสถานยังเลิก

น่าเสียใจที่ไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นพระธาตุตะเกิงเพราะร่างร่านบังเสีย แต่ในเมืองร่างกุ้งนั้นมีพระเจดีย์งามอยู่องค์หนึ่ง งามกว่าพระธาตุตะเกิง หรือจะว่าตามทางฝีมือช่างว่างามกว่าพระเจดีย์ทั้งหมดที่เคยเห็นในเมืองพะม่าก็ว่าได้ เปนพระเจดีย์ไม่สู้ใหญ่นัก รูปก็แปลกเปนแปดเหลี่ยม อยู่ในกลางหนทางสี่แพร่งไม่ใช่วัด หวังว่าคงได้ทอดพระเนตรเห็นเปนแน่ ในเมืองมัณฑเลไม่มีพระเจดีย์ที่พึงชม มีแต่พระพุทธรูป ที่เมืองภุกามมีพระเจดีย์มาก ดูในแม่น้ำอิรวดีเห็นยอดออกสล้างไป แต่รูปร่างจะเปนอย่างไรบ้างไม่ได้ขึ้นไปดู ฝ่าพระบาทเสด็จไปคราวนี้คงจะได้ทอดพระเนตรเห็น และทรงสังเกตมาเล่าประทานให้หูผึ่ง

ทีนี้จะกราบทูลถวายข่าวในกรุงเทพฯ อันล้วนเปนข่าวสลดใจอย่างสาหัส เจ้านายสิ้นพระชนม์ติดกันถึง ๓ พระองค์

๑) วันที่ ๒๔ มกราคม เวลา ๒๑.๒๘ น พี่วาณีสิ้นพระชนม์ ประชวนด้วยพระอันตะพิการ (โรคชรา) สรงพระศพวันที่ ๒๕ เวลา ๑๗.๐๐ น เชิญพระศพออกประดิษฐานไว้ณหอนิเพธพิทยา

๒) วันที่ ๒๖ เวลา ๑๗.๔๕ น องค์อรพินท์สิ้นพระชนม์ ประชวนด้วยดวงพระหทัยพิการ สรงพระศพวันที่ ๒๗ เวลา ๑๗.๐๐ น เชิญพระศพไปไว้หออุเทศทักษิณา

๓) วันที่ ๒๘ เวลา ๒๑.๐๐ น หมื่นพงษา (จิตร) เจ้ากรม มาบอกว่ากรมหมื่นพงษาสิ้นพระชนม์แล้วเมื่อกี้นี้ เกล้ากระหม่อมได้ไปเยี่ยมประชวนเมื่อวันที่ ๒๗ ได้ความว่าทรงรื่นเริงตรุสจีน มีการเลี้ยง เสวยหมูหันแล้วเที่ยวทรงรถกลางคืนตากอากาศหนาว ทำให้ประชวนพระอุทรเสียและพระปับผาสะอักเสบ กำหนดสรงพระศพวันนี้ที่ ๒๙ เวลา ๑๗.๐๐ น ตั้งพระศพที่วัง

“สพฺเพ สํขารา อนิจฺจา
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา

  2. ๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาค

  3. ๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป ต้นราชสกุลชยางกูร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ