วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

สัปดาหะนี้ หม่อมฉันขอถวายวินิจฉัยเรื่อง “ลว้า” สำหรับทรงพิจารณา จะต้องเริ่มด้วยทูลเรื่องเบื้องต้นก่อน ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่ออังกฤษได้เมืองพะม่าและฝรั่งเศสได้เมืองตังเกี๋ยแล้ว พวกนักปราชญ์ทั้งสองชาตินั้นก็ตรวจตราว่าในแหลมอินโดจีน Indo-China Penninsular นี้มีมนุษย์ต่างกันกี่ชาติและพูดภาษาต่างกันกี่ภาษา แล้วโฆษณารายการที่ตรวจได้ความ กับทั้งความเห็นที่ลงมติเปนหลักฐานให้ปรากฏมาโดยลำดับ มีรายการกับมติเนื่องกับเรื่องวินิจฉัยที่หม่อมฉันจะทูลนี้ ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ว่ามนุษย์หลายจำพวกที่เรียกชื่อต่าง ๆ ด้วยเข้าใจกันแต่ก่อนว่าต่างชาติกัน คือ (๑) ชาวตังเกี๋ย Tengkinese (๒) ฉาน (หรือเงี้ยว) (๓) ลื้อ (๔) เขิน (๕) ลาว (๖) ชาวสยาม (คือไทยเราแต่เขาเรียกว่า สยามีส Siamese แปลว่า-ชาวสยาม) ที่จริงเปนชนชาติ “ไทย” ชาติเดียวกันทั้งนั้น มีหลักฐานที่พูดภาษาเดียวกันและเรียกตัวเองว่า “ไทย” ทุกจำพวก ใช่แต่เท่านั้นยังตรวจพบมนุษย์จำพวกไทยที่มีต่อไปทางตะวันตกจนถึงมณฑลอัสสัม Assam ในแดนอินเดีย และทางตะวันออกมีต่อไปในแดนจีนอีกไกล เลยสืบสวนได้เรื่องพงศาวดารว่ามนุษย์ชาติไทยนี้เดิมเปนชาติใหญ่ ตั้งภูมิลำเนาบ้านเมืองอยู่ตลอดแดนดินที่เรียกว่าเมืองจีนฝ่ายใต้บัดนี้ ถูกชนชาติจีนตีบ้านเมือง สู้ไม่ได้จึงพากันอพยบมาหาภูมิลำเนาอยู่ใหม่ แยกย้ายกันเที่ยวตั้งบ้านเมืองและมีอาณาเขตต์ต่างกัน จึงเลยได้นามเรียกต่าง ๆ

วินิจฉัยที่ว่าด้วยชนชาติไทยนี้ หม่อมฉันเห็นชอบมาแต่แรกทราบเพราะหลักที่พวกนักปราชญ์อ้าง ได้ปรากฏแก่หม่อมฉันเองเมื่อยังเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวจราชการในมณฑลพายัพและมณฑลอุดร อิสาณ ทราบว่าพวกที่เราเรียกว่า “ลาว” ชาวมณฑลทั้ง ๓ นั้น เขาถือตัวว่าเปนไทยไม่พอใจให้เรียกเขาว่าลาว หม่อมฉันเห็นเหมาะแก่พระบรมราโชบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่จะทรงเปลี่ยนวิธีปกครองพระราชอาณาเขตต์จากอย่าง “ราชาธิราช” มาเปนอย่าง “สหชาติ” จึงมาสั่งห้ามในกระทรวงมหาดไทยและขอร้องต่อกระทรวงอื่น มิให้เรียกชาวมณฑลทั้ง ๓ ว่าลาวต่อไป ถูกผู้ที่ไม่รู้เหตุหัวเราะเยาะอยู่นาน

ข้อ ๒ เปนตัววินิจฉัยที่ทูลสำหรับสัปดาหะนี้ คือพวกนักปราชญ์ที่ตรวจภาษาต่าง ๆ ได้หลักฐานว่าพวกมอญกับพวกเขมรพูดภาษาเดียวกัน จึงตั้งนามภาษานั้นให้เรียกว่าภาษา “มอญเขมร” Mon-Khmer เรื่องภาษามอญเขมรนี้ที่ทำให้หม่อมฉันเกิดฉงน เพราะเมืองมอญอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ เมืองเขมรอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ เมืองไทย (สยาม) คั่นอยู่กลาง มอญกับเขมรอยู่ห่างไกลกันถึงไหน ๆ เพราะเหตุใดจึงพูดภาษาเดียวกัน ข้อนี้พิเคราะห์เห็นเปนแน่ได้แต่ด้วยเดิมมอญกับเขมรเปนชาติเดียวกันอยู่ในเมืองจีน อพยบลงมาทางนี้แต่สมัยก่อนชนชาติไทยอพยบ พวกหนึ่งไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ทางตะวันตกต่อมาได้นามว่ามอญ อีกพวกหนึ่งอพยบลงมาตั้งภูมิลำเนาทางข้างใต้มาได้นามว่าเขมร แต่เมื่อคิดต่อไปว่า ถ้ามอญกับเขมรอพยบลงมาจากเมืองจีนเมื่อยังเปนชาติเดียวกัน เหตุใดจึงมาแยกกันไปตั้งภูมิลำเนาห่างไกลกันถึงเพียงนั้น ไม่ตั้งต่อกันตลอดมาจนในแผ่นดินตอนที่เปนประเทศสยาม จะว่าเพราะติดชนชาติไทยตั้งกีดขวางอยู่ก็ไม่ได้ ด้วยพวกมอญกับเขมรลงมาอยู่ก่อนสมัยที่ไทยอพยบลงมาช้านาน จึงน่าสันนิษฐานว่าเมื่อแรกพวกมอญ-เขมร อพยบลงมาจากเมืองจีนนั้น คงมาตั้งอยู่ตลอดทั้งแหลมอินโดจีน แต่ภูมิลำเนามีภูเขาคั่นแบ่งเปน ๓ ภาค นานมาพวกที่อยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือได้นามว่า-มอญ พวกที่อยู่ภาคกลางได้นามว่า-ลาว พวกที่อยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ได้นามว่า-เขมร แต่พูดภาษาเดียวกันและไปมาถึงกันทั้ง ๓ พวก

พิจารณาโบราณวัตถุที่ยังปรากฏอยู่ ส่อให้เห็นว่าพวกชาวอินเดียได้มาตั้งภูมิลำเนาและนำพระพุทธสาสนามาประดิษฐานในประเทศสยามนี้ตั้งแต่พวกลาวยังปกครองเปนอิสสระ เมืองนครปฐมและเมืองลพบุรีก็น่าจะสร้างแต่สมัยนั้น ครั้นต่อมาเห็นจะราว พ.ศ. ๑๔๐๐ พวกมอญมีอำนาจเข้ามาครอบครองพวกลาวได้ก่อน แล้วพระเจ้าอนุรุธเมืองพุกามปราบปรามพวกมอญ เลยได้เมืองลาวและเขมรเปนอาณาเขตต์อยู่คราวหนึ่ง ในตอนนี้ที่ชนชาติไทยเริ่มอพยบลงมาจากเมืองจีนราว พ.ศ. ๑๖๐๐ ครั้นอำนาจเมืองพุกามเสื่อมลง พวกไทยก็เริ่มมีอำนาจขึ้นทางข้างเหนือ และแผ่อาณาเขตต์ลงมาข้างใต้โดยลำดับ พวกเขมรก็เริ่มมีอำนาจขึ้นทางข้างใต้ แล้วแผ่อาณาเขตต์ขึ้นมาทางข้างเหนือโดยลำดับ อำนาจไทยกับเขมรมากระทั่งกันในเมืองลาว (คือประเทศสยามนี้) ถ้าว่าตามสังเกตโบราณวัตถุ เขมรได้ปกครองอาณาเขตต์ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ขึ้นไปจนมณฑลพิษณุโลก เหนือนั้นขึ้นไปเปนอาณาเขตต์ไทยปกครอง ในตอนมณฑลพายัพเปนประเทศราชขึ้นเขมรอยู่คราวหนึ่ง แล้วจึงตั้งเปนอิสระ ทางแผ่นดินสูงมณฑลนครราชสีมาเขมรก็ปกครองขึ้นไปจนราวเมืองขอนแก่น (มีแนวหลักศิลาปันแดนปรากฏอยู่) เหนือนั้นขึ้นไปไทยปกครอง เปนเช่นนี้มาจนไทยพวกพระยาเมงรายตั้งมณฑลพายัพเปนอิสสระ และไทยพวกราชวงศ์พระร่วงตั้งกรุงสุโขทัยเปนอิสสระแล้วปราบปรามขับไล่พวกเขมรไปจากประเทศสยาม และแผ่อาณาเขตต์ไปถึงได้เมืองมอญไว้ในอำนาจ ต่อมาเมื่อถึงสมัยตั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี เมืองมอญขาดไปแต่ได้เมืองเขมรไว้ในอำนาจตลอดมา แต่ถ้าว่าถึงไทยด้วยกันเองที่มาได้เปนใหญ่ในประเทศสยาม ปลาดที่พึ่งมารวมเปนอาณาเขตต์อันเดียวกันได้ยั่งยืนต่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก่อนนั้นตั้งแต่แรกไทยมามีอำนาจก็แยกเปน ๓ อาณาเขตต์ คือ สุโขทัย ลานนา และลานช้าง ต่างเปนอิสสระแก่กัน เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีอานุภาพเช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเปนต้น จึงได้ประเทศลานนาและลานช้างไว้ในอำนาจชั่วคราวหนึ่ง พอสิ้นพระเจ้าแผ่นดินที่มีอานุภาพมากแล้ว สองประเทศนั้นก็กลับแยกไปเปนอิสสระ หรือตกไปเปนประเทศราชของพะม่า คงเปนเพราะเคยแยกเปนประเทศต่างกัน ก็เลยถือว่าชาวประเทศนั้น ๆ เปนชนต่างชาติ เปนเหตุให้ไทยชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกไทยชาวลานนาและลานช้างว่า “ลาว” มาแต่โบราณ

แต่ที่เรียกชาวลานนาและลานช้างว่าลาวนั้น ไม่ใช่ตั้งชื่อขึ้นใหม่ ที่แท้เรียกด้วยเข้าใจว่าเปนลาวชาวประเทศนั้นสืบมาแต่เดิมเท่านั้นเอง หากมีคำถามว่าถ้าชาวมณฑลพายัพและมณฑลอุดร-อิสาณปัจจุบันนี้มิใช่ลาว พวกไหนเล่าที่เปนลาว ลาวอยู่ที่ไหน ข้อนี้ตอบได้ว่ามนุษย์จำพวกที่เราชาวกรุงเทพ ฯ เรียกว่า “ลว้า” และชาวมณฑลพายัพ เรียกว่า “ลัวะ” นั้นเองคือลาวเดิม มีหลักฐานหลายอย่างที่จะนำมาพิสูจน์ให้เห็นความจริงได้ คือ

๑. มนุษย์ชาติต่าง ๆ ที่เปนชาวประเทศสยามนี้ มีแต่ไทยกับลว้าที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ทั่วทั้งประเทศ เปนแต่ลว้าอยู่ตามเขาตามป่าแห่งละเล็กละน้อย แม้ทุกวันนี้ก็มีพวกลว้าอยู่ตั้งแต่มณฑลราชบุรีและมณฑลนครราชสีมาขึ้นไปจนในมณฑลพายัพ มณฑลพายัพมีพวกลว้าอยู่มากกว่ามณฑลอื่น ส่อให้เห็นว่าพวกลว้าเปนชาวประเทศชั้นเดิม ครั้นพวกไทยลงมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศนี้ พวกลว้าที่ไม่อยากอยู่ในอำนาจไทยก็พากันหลบหนีไปอยู่ตามป่าตามเขา พวกลว้าที่คงอยู่ในบ้านเมืองนานเข้าก็สูญพรรค์ ด้วยสมพงศวงศวารกลายเปนไทยไป จึงเหลือลว้าแต่ตามป่าตามเขาแห่งละเล็กละน้อย ถึงกระนั้นก็มีแพร่หลายไปในภูมิลำเนายิ่งกว่ามนุษย์จำพวกอื่นที่เปนชาวสยามนี้

เมื่อหม่อมฉันเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรก ดูเหมือนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่พึ่งถึงพิราลัย ยังไม่มีเจ้าเชียงใหม่ ประจวบเวลาพวกลว้าเข้ามาถวายบรรณาการตามประเพณีโบราณ เขาขอให้หม่อมฉันทำพิธีรับบรรณาการแทนพระเจ้าเชียงใหม่ การพิธีนั้นชอบกล กำหนดว่าถึงระดูดอกเอื้องแซะ (กล้วยไม้อย่างหนึ่ง) บานเมื่อไร พวกลว้าต้องเข้ามาถวายบรรณาการปีละครั้ง ๑ ของบรรณาการนั้น นอกจากส้มผักฟักถั่วที่สุกในไร่ มีของสำหรับทำพิธีคือหัวขมิ้นกับยาสูบ พวกลว้าเข้ามาสัก ๒๐ - ๓๐ คนด้วยกัน นำเครื่องบรรณาการมาตั้งตรงหน้าแล้ว ตามประเพณีพระเจ้าเชียงใหม่ต้องรับหัวขมิ้นเอามาเคี้ยวและถ่มลงที่แผ่นดิน ออกอุทานวาจาแก่พวกลว้า ว่าถ้าแผ่นดินยังเกิดพืชผลอยู่ตราบใด เราจะปกครองพวกเจ้าให้อยู่เย็นเปนสุขอยู่ตราบนั้น แล้วรับเอายามาบรรจุกล้องเงินสูบให้พวกลว้าเห็นแล้วเปนเสร็จการพิธี หม่อมฉันได้เห็นก็นึกรู้สึกใจว่าพิธีนั้นคงมีมาเก่าแก่แต่แรกพวกไทยลงมาได้บ้านเมือง ให้อภัยรับเปนที่พึ่งของพวกลว้าเสมอมาแต่นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเลียบมณฑลพายัพ หม่อมฉันได้กะให้เอาการพิธีลว้าถวายบรรณาการลงในโปรแกรมด้วย ตัดรายการเพียงไม่ต้องทรงเคี้ยวหัวขมิ้น แต่เพิ่มให้มีคำถวายชัยมงคลของพวกลว้าในภาษาของตนเอง นอกจากกล่าวถึงพวกลว้าที่ยังมีอยู่ ไปอ่านหนังสือเก่าได้ความว่าแต่ก่อนเพียงในสมัยกรุงศรีอยุธยายังมีพวกลว้าอยู่ปะปนกับไทยในบ้านเมืองมาก ยกอุทาหรณ์ในเรื่องเสภาก็กล่าวว่ามีบ้านลว้าอยู่ในที่ใกล้ ๆ กับเมืองสุพรรณ ชื่อตำบลบางว้าในกรุงเทพ ฯ นี้ก็น่าจะมาแต่มีบ้านลว้าอยู่ก่อน ที่สุดจนชื่อกล้วยน้ำว้าก็น่าจะมาแต่กล้วยน้ำลว้านั่นเอง ตรวจเรื่องพงศาวดารถอยหลังขึ้นไปเพียงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ปรากฏว่าในสมัยนั้นยังมีพวกลว้าตั้งบ้านเมืองอยู่เปนอิสสระ ในแถวภูเขาระวางแดนเมืองตากกับเชียงใหม่ ได้แต่งกองทัพขึ้นไปบังคับให้เจ้าเมืองลว้ามายอมขึ้นกรุงศรีอยุธยาได้หลายเมือง ตรวจถอยหลังต่อนั้นขึ้นไปถึงในตำนานโยนก (ของพระยาประชากิจกรจักร แช่ม บุนนาค) ตอนพิงควงศ ก็กล่าวว่าเมื่อร่วมสมัยกับพระเจ้าอนุรุธครองเมืองพุกามนั้น มีกษัตริย์ลว้าสืบแต่พระเจ้าลาวจักรราช ได้ครองประเทศลานนาสืบมาหลายชั่ว เรื่องเหล่านี้ส่อให้เห็นว่าพวกลว้าทางข้างใต้ จะถูกชนชาติอื่นเข้ามามีอำนาจครอบงำ ก่อนเสียอิสสระหลบถอยขึ้นไปทางเหนือโดยลำดับ จึงไปมีมากอยู่ในมณฑลพายัพจนบัดนี้

มีข้อพิศูจน์ในเรื่องลว้าอีกข้อ ๑ ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ของสยามสมาคม เล่ม ๒๗ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ แถลงเรื่อง Mr. E.W. Hutchinsenกับ Major Seidenfaden ไปตรวจพวกลว้าที่อำเภอฮอด แขวงเมืองเชียงใหม่ ได้ความว่าภาษาของพวกลว้าเปนภาษามอญเขมร มีภาษาไทยเข้าไปเจือปนบ้าง อันนี้ก็ส่อให้เห็นว่าพวกลว้าเปนลาวเดิมที่หม่อมฉันสันนิษฐานมาข้างต้น จึงลงเนื้อเห็นว่าพวกลว้าเปนชาวประเทศสยามเดิมเมื่อก่อนชนชาติไทยลงมาตั้งภูมิลำเนา หม่อมฉันขอถวายความข้อนี้ให้ทรงพิจารณา

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม เรื่องหนังสือธรรมยุติกับมหานิกายนั้น ปรากฏว่านายยง ตรีรัตน อยู่หลังวัดรังษีเปนผู้จำหน่าย บ้านอยู่ใกล้วัดบวรนิเวศน ฯ จะเปนมิตร์หรืออมิตร์ธรรมยุติกา จะต้องรอไว้ดูเมื่อเห็นหนังสือนั้นแล้ว ขอทูลอายัติไว้ว่าถ้าหาได้เมื่อใด ขอได้โปรดหาส่งมาประทานหม่อมฉันสักเล่ม ๑

เจ้านายผู้หญิงที่เสด็จมาปีนัง มาอยู่ ๓ วัน เสด็จกลับไปเมื่อวันจันทรที่ ๓๑ สิงหาคม หม่อมฉันได้ไปส่งเสด็จถึงรถไฟ ตรัสว่าโปรดปีนังเปนที่เที่ยวสนุกสบายดี แต่การที่เที่ยวของชาวกรุงเทพ ฯ ที่มาที่นี่ฉะเพาะที่เปนผู้หญิงแม้จนพวกในครัวเรือนของหม่อมฉัน ก็เห็นสนุกกันที่ชอบซื้อของแปลก ๆ ยิ่งกว่าเที่ยวดูถิ่นฐานบ้านเมือง ดูเหมือนจะมีแต่สองแห่งที่ผู้มาเที่ยวไปทุกคน คือที่สวนน้ำตก (มักเรียกกันว่า สวนลิง เพราะมีลิงฝูงใหญ่ทำนองเดียวกับสวนที่เมืองสิงคโปร) แห่ง ๑ กับยอดเขาสูงซึ่งขึ้นด้วยทางรถไฟฟ้าอีกแห่ง ๑ เท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ