วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ก่อนอื่นขอประทานกราบทูลแสดงความเสียใจ ในการที่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์สิ้นพระชนม์ลง มีใจสงสารพระญาต จะได้ความลำบากเปนอันมาก แม้ผู้ที่อยู่ในประเทศเดียวกัน เช่นฝ่าพระบาทเปนต้น ก็จะต้องมีพระทัยร้อนรนช่วยเหลือกันในยามยาก ได้ยินข่าวว่าจะปลงพระศพที่ปีนัง ดูเหมือนจะเปนการแน่ดั่งนั้น

องค์หญิงอาทรจะไปชะวา เสด็จออกมาวันนี้ฝ่าพระบาทคงได้ทรงทราบข่าวแล้ว เธอจะมีเวลาเสด็จข้ามมาเกาะปีนังหรือไม่ก็ไม่ทราบ

ทีนี้จะกราบทูลถึงลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๕ เดือนนี้ ซึ่งโปรดประทานไปได้รับแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

เมืองตะกั่วป่า ถ้าหากว่าพวกแขกมาจับตั้งเปนบ้านเมืองขึ้นก่อนไทย ที่นั้นก็จะต้องมีชื่อเปนคำแขก แล้วเลือนมาเปนคำไทยในภายหลังโดยไม่ต้องสงสัย ได้ลองค้นดิกชันรีภาษาสํสกฤตหาคำ “ตโกล” ว่ามีหรือไม่มี และถ้ามีจะแปลว่ากะไร ค้นได้คำ TAKKOLA ตรงกับที่มีในหนังสือมิลินทปัญหา แปลให้ไว้ว่าเป็นชื่อต้นไม้ชะนิดหนึ่ง คือ Pimenta Acris หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า กงฺโกล (Kan.Kola) หมดปัญญาไม่ทราบว่าต้นอะไร

เรื่องธาตุตะกั่วกับดีบุก กำลังกราบทูลโต้ตอบกันอยู่ก็พอดีลูกชายเจริญใจออกไปทำงานรถไฟอยู่ในป่าทางอุดร ลากลับเข้ามาเยี่ยมบ้าน ๑๕ วัน เธอเรียนทางอินชะเนียเคยตีเหล็กตีไหล รู้ชะนิดแร่ธาตุอยู่บ้าง จึงถามเธอว่าตะกั่วกับดีบุกผิดกันอย่างไร เธอบอกว่าเปนธาตุอันเดียวกัน แต่ถ้าเกิดปนกับแร่เงินเรียกว่า lead ได้แก่ ตะกั่ว ถ้าเกิดปนกับแร่เหล็กเรียกว่า tin ได้แก่ดีบุก เมื่อได้ความดังนี้ก็เปนอันเข้าใจว่าที่โบราณเรียกตะกั่วนม ตะกั่วเกรียบ หรือตะกั่วขาวตะกั่วดำนั้นถูกแล้ว เพราะปนเงินจึงเปนสีขาวกว่า ที่ปนเหล็กอันจะเห็นเปนสีดำกว่า และที่ปนเหล็กทำให้เนื้อแขงดัดงอดังเกรียบ ๆ จึงเรียกชื่อว่าตะกั่วเกรียบ เกล้ากระหม่อมได้ไปเห็นบ่อแร่ที่เมืองปตานีซึ่งฝรั่งเขาทำ เห็นเขามีเครื่องจักรอันหนึ่งประกอบด้วยแม่เหล็ก เอาแร่ที่ขุดได้อันล้างสอาดแล้วเทลงไป เครื่องจักรหมุนคัดเอาแร่ดีบุกไหลไปทางหนึ่ง แร่เหล็กซึ่งไม่ได้ปนอยู่ในเนื้อดีบุกไหลไปทางหนึ่ง อันนี้เปนพยานแห่งถ้อยคำลูกชายเจริญใจว่าเปนความจริง แร่ดีบุกนั้นเขาบรรจุกะสอบส่งไปขาย แต่แร่เหล็กนั้นเขาโกยไปทิ้งกองไว้มูลมอง ได้ถามเขาว่าทำไมเขาไม่ส่งไปขาย เขาบอกว่าราคามันต่ำ จัดส่งไปขายที่ได้ไม่คุ้มที่เสีย

ยังมีสิ่งที่เกล้ากระหม่อมรู้สึกประหลาดใจ ซึ่งสมควรจะกราบทูลให้ทรงทราบด้วยลูกชายเจริญใจบอกต่อไปว่า ตะกั่วที่ห่อโชคโคเล็ตหรือห่อยาศิกาเรตต์เข้ามานั้น ไม่ใช่ตะกั่วมิได้ ฝรั่งมันทำด้วยอะไรเธอไม่ทราบ เพราะว่าถ้าเปนตะกั่วหรือดีบุกแล้ว เผาไฟจะต้องไหลละลายลงเปนก้อน แต่นี่หาละลายไม่ เกล้ากระหม่อมก็ถลกเอาตะกั่วห่อศิกาเรตต์ออกลองเผาดูในขณะนั้นเอง ก็สมจริงเหมือนเธอว่า มันไหม้ไฟเนื้อหดเข้าไปเหมือนเผากระดาษ หยิบเนื้อที่ไหม้ไฟแล้วขยี้ดู ร่วนเปนผงเหมือนขี้เท่ากระดาษ ถามว่าทำไมเธอจึงรู้ เธอบอกว่าเธอสำคัญว่าตะกั่วเก็บมันไว้ ครั้นผูกว่าวกุลาเล่น เธอเอามันหลอมหมายจะใช้ถ่วงหัวว่าว แต่หลอมไม่ละลายเลยไหม้เปนจุณไป นี่เปนความรู้ที่ได้ใหม่อย่างประหลาดอันหนึ่ง

พระดำรัสตรัสชี้แจงถึงพระยาเสนานุชิต (นุช) และพระยาบริรักษภูธร (ขำ) นั้น ทำให้เข้าใจดียิ่ง ขอบพระเดชพระคุณมาก คนที่พระยาชลยุทธนับถือดุจว่าเปนบิดานั้น คงเปนพระยาบริรักษภูธร คนเดียวกับที่พระยาสโมสรนับถือ มีความยินดีที่จะได้ทรงเรียงเรื่องเมืองตะกั่วป่ากล่าวถึงตัวบุคคลด้วย อันจะได้ทราบชัดเจนว่าใครเปนใคร

เรื่องเมืองตะกั่วป่าที่ทรงเรียงประทานไปคราวนี้ ตรัสว่ามีข้อความที่ทรงเรียงเชือนไปนั้น จะจัดว่าเชือนไปนอกคอกทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะเปนเรื่องปราบอั้งยี่ติดต่อเปนอย่างเดียวกันมา เปนอยู่หน่อยที่เปนเรื่องซึ่งเกล้ากระหม่อมมีเกี่ยวข้องได้ทราบอยู่มากแล้ว แม้กระนั้นก็ดี อันวันที่ทำการนั้นจำไม่ได้เลยว่าเปนวันที่ ๒๑ มิถุนายน ไม่ได้รู้สึกว่าเปนวันสำคัญของฝ่าพระบาททำให้นึกถึงทูลกระหม่อมชาย ได้จัดของเตรียมไว้ว่าจะถวายในเมื่อทรงทำบุญวันประสูตรพระชนม์ ๕๑ แต่ไม่ได้ถวาย ของยังทิ้งอยู่ที่บ้านจนบัดนี้

เรื่องบวชนาคฝรั่ง ซึ่งจะทรงพระเมตตาเล่าประทานต่อไปนั้น ทีจะน่ารู้อยู่มาก เรื่องตั้งสังฆราชซึ่งทรงเรียงเล่าประทานไปคราวก่อน เกล้ากระหม่อมได้นำไปถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้ท่านอ่าน ท่านชอบ ท่านทักการเคารพอย่างนอนพังพาบว่าเต็มที แต่ก็เปนการกระทำที่ถูกต้องแบบแผนที่มีกระทำกัน

ได้เห็นหนังสือพิมพ์เขาลงข่าวว่าโปปประชวนหนัก การตั้งโปปคนใหม่เคยได้ยินว่ามีพิธีรีตองกันใหญ่โต แต่เราเห็นจะรู้ละเอียดไม่ได้ นอกจากที่จะรู้เท่าที่หนังสือพิมพ์เขาลงเท่านั้น

อ่านอธิบายเรื่องเมืองตะกั่วป่าตอนที่ ๔ ซึ่งทรงเมตตาเรียบเรียงส่งประทานคราวนี้มีพรรณาถึงการทำเหมืองดีบุกเปนข้อใหญ่ ทำให้นึกถึงวิธีที่ฝรั่งเขาตั้งทำอยู่เวลานี้ เกล้ากระหม่อมได้ไปดูเห็นมาแล้วสองวิธี วิธีหนึ่งเรียกกันว่า “เหมืองฉีด” คือไปกั้นกักน้ำไว้บนยอดเขาไกลไหนๆ แล้วทำทางให้น้ำไหลมาเข้ากระบอกเหมือนเครื่องดับเพลิง ฉีดดินที่เปนโขดสูงให้น่ายทะลายลงในที่ต่ำ แล้วก็เกรอะล้างดินซายออก คัดเอาแต่เนื้อแร่ วิธีนี้ก็เหมือนกันกับวิธีทำ “เหมืองคลา” ที่เคยทำกันมาแต่ก่อนนั้นเอง แต่น้ำมันแรงเหลือเกิน ฉีดเอาดินทะลายลงได้ง่ายและเร็ว ด้วยไม่ต้องใช้แรงคนช่วย เปนอันต้องใช้แรงคนน้อยลงมาก อีกวิธีหนึ่งเรียกกันว่า “เรือขุด” ก็ได้แก่การทำ “เหมืองใหญ่” นั้นเอง คือขุดเปนบ่อลงในที่ราบ แต่เปนเทวดา ที่ไม่ต้องวิดน้ำในบ่อขึ้น ไม่ต้องใช้แรงคนขุด ไม่ต้องใช้แรงคนล้างอย่างกล้องๆ เครื่องจักรทำการเสร็จ มีคนคอยขนเอาแร่ไปเท่านั้น เบาแรงอย่างยิ่งทำได้เร็วด้วย และไม่ต้องเปนธุระจู้จี้กับกุลีมากนัก เขาจะยังมีทำกันอย่างใหม่อีกกี่วิธียังไม่ได้เห็น

ท่านวัดฉลองเกล้ากระหม่อมก็ได้พบตัว ดูเปนคนโอบอ้อมอารี มีกิริยาวาจาเรียบร้อย ตามเรื่องของท่านที่ตรัสเล่า เปนตัวอย่างอันดีที่ว่าบรรดาคน จะทำอะไรสำเร็จก็เพราะความเชื่อถือเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ