วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หญิงพิลัยกับชายใหม่ไปเฝ้าท่านที่หาดใหญ่ กลับมาถึงปีนังเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ หน้าตาเบิกบานราวกับได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พวกหม่อมฉันอยู่ที่นี่ก็พากันเบิกบานด้วยทั่วหน้า ฟังเล่าเรื่องที่ไปตั้งแต่กลางคืนแล้วมาฟังตอนเช้าอีกก็ยังไม่จบ ลายพระหัตถ์ที่โปรดให้หญิงพิลัยเชิญมากับรูปหมู่อภิรัฐมนตรีสำหรับปลงพระไตรลักษณ์นั้น หม่อมฉันก็ได้รับแล้วขอบพระเดชพระคุณเปนอันมาก

สังเกตดูระยะทางที่จะเสด็จกลับตามตรัสบอกมาในลายพระหัตถ์ หม่อมฉันประมาณว่าคงจะเสด็จโดยทางรถไฟจากชุมพรไปหัวหิน และถึงหัวหินราวสัปดาหะต้นของเดือนกรกฎาคม ดูจะไม่มีเวลาประทับที่หัวหินได้สักกี่วัน ก็จะถึงเข้าพรรษา แต่ถึงกระนั้นก็ยังยินดี หม่อมฉันได้บอกไปที่บ้านให้เขาสั่งให้เตรียมเรือนที่สำนักดิศกุลรับเสด็จแล้ว

ลักษณที่ท่านเสด็จเที่ยวอย่าง “เพ็ชรลอยล่อง” นั้นดูก็เข้าทีดีอยู่ ถ้าจะเที่ยวอย่างนี้ ต่อไปก็คือว่าจัดของใส่หีบไว้เสมอ สบพระหฤทัยขึ้นมาเมื่อใด ก็เสด็จออกจากกรุงเทพฯ ได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมงไม่ต้องเสียเวลาตระเตรียม แต่เห็นจะต้องมีที่ประทับตามหัวเมืองให้หวังได้แน่นอน ว่าเสด็จไปเมื่อใดก็เสด็จได้ไม่ต้องเที่ยวสืบถามหาหรือขอยืมใคร หม่อมฉันขอถวายอนุญาตที่สำนักดิศกุลประจำไว้แห่งหนึ่ง จะเสด็จไปเมื่อใดจงโปรดให้ไปบอกหญิงใหญ่ หรือหญิงมารยาตร์ หรือชายน้อยดิศศานุวัติก็เปนได้กัน ขอทูลตักเตือนอย่างหนึ่งว่าหัวเมืองนั้น มีระดูที่เหมาะและไม่เหมาะสำหรับที่ทุกแห่ง เสด็จไปที่ไหนไปให้เหมาะระดูจึงจะสบาย เปนต้นว่าระดูมรสุมตะวันตกทางปักษ์ใต้ตั้งแต่หัวหินตลอดแหลมมลายูสบาย ถ้าถึงระดูมรสุมลมเหนือทางแถบนั้นลมและฝนแรงเกินไป ระดูน้ำแต่เดือนตุลาคมจนพฤศจิกายนทางอยุธยาสบาย ระดูลมเหนือแต่เดือนพฤศจิกายนจนธันวาคม ทางทะเลตะวันออกเช่นเมืองชลลงไปจนเมืองจันทบุรีสบาย ถ้าล่าไปถึงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เสด็จไปเชียงใหม่ก็ได้ เวลานั้นไม่สู้หนาวจัดแล้ว

หม่อมฉันทูลผัดไว้ในจดหมายฉะบับก่อน ว่าจะทูลอธิบายถึงเรื่งออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา ยี่ปุ่น) เมื่อเขียนจดหมายนี้ หนังสือซึ่งปรากฏรายการเรื่องออกญาเสนาภิมุขมี ๒ เรื่อง คือจดหมายเหตุของวันวลิต พ่อค้าฮอลันดา ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อรัชชกาลพระเจ้าปราสาททองแต่งไว้เรื่อง ๑ จดหมายเหตุที่เมืองยี่ปุ่น เซอรเออเนสต์สะเตาซึ่งเคยเปนอุปทูตอยู่ในกรุงเทพฯ ไปค้นพบเมื่อไปเปนราชทูตอยู่กรุงโตกิโอ แปลเปนอังกฤษแล้วเรียบเรียงพิมพ์ไว้เรื่อง ๑

อธิบายตามเรื่องพงศาวดาร เดิมพวกยี่ปุ่นเปนแต่ใช้เรือเล็กไปมาค้าขายตามประเทศที่ใกล้เคียงกับเมืองของตน เช่นเมืองเกาหลีและเมืองจีน ครั้นพวกโปรตุเกตสามารถแล่นเรือกำปั่นออกจากยุโรปได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๔๐ เที่ยวค้าขายไปจนถึงเมืองยี่ปุ่น พวกยี่ปุ่นรับจ้างเปนลูกเรือโปรตุเกต จึงเปนเหตุให้พวกยี่ปุ่นไปเที่ยวหากินถึงต่างประเทศที่เปนเมืองไกลมากขึ้นเปนลำดับมา บางพวกก็ต่อเรือใหญ่ไปเที่ยวค้าขายเอง บางพวกก็ไปตั้งภูมิลำเนาหากินอยู่ในต่างประเทศเช่นกรุงศรีอยุธยาเปนต้น ครั้นนานมาการที่พวกยี่ปุ่นที่ไปเที่ยวหากินถึงต่างประเทศเปนเหตุร้ายขึ้น ๒ อย่าง คือพวกยี่ปุ่นไปเข้ารีตถือสาสนาคริสตัง แล้วพาสาสนานั้นเข้าไปตั้งในเมืองยี่ปุ่น เกิดวิวาทบาดทะเลาะกันเองขึ้นด้วยสาสนาอย่าง ๑ ยี่ปุ่นพวกที่แล่นเรือของตนเองเที่ยวค้าขาย ไปกลายเปนสลัดปล้นสดมภ์ตามหัวเมืองต่างประเทศ ในจดหมายเหตุของพวกฮอลันดามีว่าเคยปล้นเมืองเพ็ชรบุรีเมื่อในรัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรฐ และเข้าไปเกะกะถึงกรุงศรีอยุธยาก็ครั้งหนึ่ง (ในปูมโหรก็มีว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ “ยี่ปุ่นเข้าเมือง”) ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐเหมือนกัน ตามคำฝรั่งว่าเพราะเมื่อตอนปลายรัชชกาลนั้นในกรุงไม่สู้เรียบร้อย ด้วยสมเด็จพระเอกาทศรฐมีอาการประชวรเสียพระสติอย่างเราเรียกว่า “เดือนมืด” เปนคราว ๆ

ฝ่ายเมืองยี่ปุ่นในสมัยนั้น วิธีปกครองมีอุปราชเรียกว่า โชกุน เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โชกุนเห็นว่าพวกยี่ปุ่นไปเที่ยวทำจุ้นจ้านต่าง ๆ ดังว่ามา จึงประกาศห้ามมิให้ยี่ปุ่นไปค้าขายต่างประเทศ และบังคับให้ตัดเสากระโดงเรือให้เตี้ยลงทั้งหมด มิให้แล่นใบไปไกลได้ ส่วนพวกยี่ปุ่นที่ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามต่างประเทศ ก็ห้ามมิให้กลับไปบ้านเมือง จึงมีพวกยี่ปุ่นไปค้างเติ่งอยู่ตามต่างประเทศหลายแห่ง ที่ในกรุงศรีอยุธยาก็มียี่ปุ่นเช่นนั้นอยู่มาก ได้พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใต้ปากน้ำแม่เบี้ย เหนือบ้านพวกฮอลันดา และได้รับอนุญาตให้เปนทหารอาสาพวก ๑ เหมือนอย่างชาวต่างประเทศชาติอื่นมีพวกจามเปนต้น ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ยามาดาจะได้เปนที่ออกญาเสนาภิมุขเจ้ากรมอาสายี่ปุ่น มาแต่ในรัชชกาลสมเด็จพระเอกาทศรฐหรือในรัชชกาลพระเจ้าทรงธรรม ข้อนี้หม่อมฉันจำไม่ได้ แต่เมื่อพระเจ้าปราสาททองเปนขบถนั้น ได้ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา) กับพวกอาสายี่ปุ่นเปนกำลังช่วยปราบปรามเอาชนะศัตรูได้ เมื่อพระเจ้าปราสาททองได้ราชสมบัติแล้วไม่ไว้พระทัยออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา) กับพวกอาสายี่ปุ่น จึงอุบายตั้งให้ออกญาเสนาภิมุขเปนเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ให้พาพวกยี่ปุ่นของตนออกไปอยู่เสียให้ห่างไกล ออกญาเสนาภิมุขออกไปตายที่เมืองนครศรีธรรมราช ลูกได้เปนที่แทนต่อมา แต่ไม่สามารถจะควบคุมพวกยี่ปุ่นไว้ได้ ลงปลายเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันเอง ผู้คนก็ร่อยหรอลงทุกที ในที่สุดปรากฏว่ายี่ปุ่นพวกออกญาเสนาภิมุขพากันออกจากเมืองนครศรีธรรมราช ไปทางเมืองเขมรแล้วเลยสูญไป เรื่องตามที่หม่อมฉันจำได้เปนดังทูลมา

มีเรื่องที่จะทูลบันเล็งอีกเรื่อง ๑ เดิมหม่อมฉันได้ทราบจากศาสตราจารย์ฟูแซร์ ฝรั่งเศสผู้ชำนาญเรื่องศิลปะทางพระพุทธสาสนาในอินเดีย ว่าแกแต่งหนังสือขึ้นใหม่แสดงอธิบายรูปภาพเรื่องพุทธประวัติ และรัฐบาลอินเดียได้พิมพ์หนังสือนั้นแล้ว ถ้าหม่อมฉันปราร์ถนาจะอ่านจะส่งมาให้ หม่อมฉันนึกว่าจะน่าดูจึงขอให้แกส่งมา หมายว่าจะถวายท่านในวันเฉลิมพระชันสาปีนี้ คอย ๆ ก็หายไปพึ่งได้มาเมื่อสามสี่วันนี้ ตัวสมุดนั้นเองไม่เปนหนังสืออย่างใหญ่โตงดงามถึงสมควรเปนของถวาย หม่อมฉันจึงมิได้ส่งมา แต่เมื่ออ่านดูอธิบายในหนังสือนั้นได้ความรู้แปลกดีจึงจะทูลปริยายพอเปนเค้าต่อไปนี้ คือ

๑. มูลของรูปภาพในพระพุทธสาสนา ศาสตราจารย์ฟูแชร์ตรวจหลักฐานที่มีอยู่ เห็นว่าเดิมจะเกิดขึ้นณที่บริโภคเจดีย์ ๔ แห่ง คือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ก่อนที่อื่น ด้วยมีเงินตอกตราเปนรูปดอกบัวเปนเครื่องหมายที่ประสูติ รูปต้นโพธิ์เปนเครื่องหมายที่ตรัสรู้ รูปธรรมจักรเปนเครื่องหมายที่ปฐมเทศนา และรูปสถูปเปนเครื่องหมายที่ปรินิพพาน ปรากฏเปนของเก่าก่อนเจดียวัตถุของพระเจ้าอโศกมหาราชช้านาน เงินตราเหล่านั้นตามประเพณีอินเดียแต่โบราณเปนของพ่อค้าจำหน่าย (เหมือนเช่นทำในเมืองจีนชั้นหลัง) จึงสันนิษฐานว่าพวกพ่อค้าตามที่บริโภคเจดีย์ทั้ง ๔ แห่งนั้น คิดทำรูปภาพเช่นนั้นขึ้นตีตราเงินขายเปนอนุสสรณ์แก่สัปรุษผู้อุตสาหะไปนมัสการถึงพระบริโภคเจดีย์ณที่นั้น ๆ เปนปฐมเหตุที่จะมีรูปภาพเครื่องหมายในพระพุทธสาสนา ครั้นต่อมาตั้งแต่พระเจ้าอโศกมหาราชยกพระพุทธสาสนาขึ้นเปนสาสนาสำหรับประเทศ และสร้างเจดียวัตถุใหญ่โตต่าง ๆ อันประกอบด้วยฝีมือช่าง พวกช่างเอาเครื่องหมายในเงินตรานั้นมาคิดประกอบเปนลวดลายของเจดียสถาน ในสมัยนั้นยังห้ามมิให้ทำพระพุทธรูป จึงทำดอกบัวเปนเครื่องหมายปางประสูติ บัลลังก์กับต้นโพธิ์เปนเครื่องหมายปางตรัสรู้ ธรรมจักรกับกวางเปนเครื่องหมายปางปฐมเทศนา พระสถูปเปนเครื่องหมายปางปรินิพพาน

๒. ครั้นจำเนียรกาลนานมา พวกช่างใช้รูปดอกบัว (เพราะอาจจะผูกเปนลวดลายให้งามกว่าวัตถุอีก ๓ ปาง) เปนเครื่องหมายกว้างออกไป จนกลายเปนเครื่องหมายว่าพระพุทธสาสนา เมื่อจะต้องทำรูปภาพให้เห็นชัดว่าหมายตรงปางประสูติ ช่างบางคนก็ทำเปนรูปรอยพระบาท หรือมิฉะนั้นก็ทำรูปม้าหลังเปล่าหมายเมื่อพิเณศกรม แต่โดยมากคิดเครื่องประกอบดอกบัวนั้นเอง เพิ่มเติมขึ้นต่าง ๆ เปนชั้น ๆ มา คือทำเปนรูปหม้อน้ำที่เกิดของกอบัวเพิ่มเข้าบ้าง เท่านั้นยังไม่พอเพิ่มรูปพระนางมายา ยืนหรือนั่งขัดสมาธิหรือนั่งห้อยเท้า (เรียกนั่งท่านี้ว่าลีลาสน์) บนดอกบัวบ้าง และที่สุดเติมรูปช้างพ่นน้ำร้อนน้ำเย็นเมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติเข้าด้วยบ้าง มาจนถึงสมัยเมื่อพวกโยนกชาวคันธารราษฐ์คิดทำพระพุทธรูปขึ้น จึงเอาเครื่องหมายอย่างอื่นออกเสีย คงไว้แต่รูปพระนางมายายืน และทำรูปพระโพธิสัตว์ประสูติจากสีข้างพระนางมายา

๓. รูปพระนางมายานั่งบนดอกบัวและมีช้างยืนพ่นน้ำ ๒ ตัวนั้น พวกถือสาสนาพราหมณ์ก็อ้างว่าเปนรูปนางลักษมี แต่ศาสตราจารย์ฟูแชร์ยืนยันว่าพวกพราหมณ์เอารูปในพระพุทธสาสนาไปสมมต เพราะลายจำหลักที่มหาเจดียสถานต่าง ๆ มีรูปพระนางมายาเช่นว่านั้นเปนเครื่องหมายปางประสูติอยู่เปนสำคัญ ถ้าเปนรูปนางลักษมีของพราหมณ์จะเอามาปนเปนวัตถุที่บูชาในพระพุทธสาสนาอย่างไรได้ ข้อนี้หม่อมฉันก็มีเหตุที่จะรับรองด้วยมีศิลาธรรมจักรที่พระปฐมเจดีย์จำหลักรูปพระนางมายากับช้าง ๒ ตัวไว้ตรงที่ต่อฐาน เห็นชัดว่าต้องเปนปูชนียวัตถุในพระพุทธสาสนาด้วยกันมาแต่เดิม.

เมื่อเร็ว ๆ นี้หม่อมฉันสดุ้งใจด้วยเห็นในหนังสือพิมพ์ เรียกทูลกระหม่อมหญิงกับกรมขุนชัยนาทว่า พระเจ้าบรมวงศเธอ รู้สึกว่าถ้าเรียกตามแบบเก่า “เราก็เปน พระเจ้าอัยกาเธอ แล้วหนอ” จึงเลยคิดตรวจถอยหลังขึ้นไป ว่าเจ้านายแต่ก่อนจะได้เปนพระเจ้าอัยกาเธอในเวลาดำรงพระชนม์อยู่สักกี่พระองค์ ดูเหมือนจะเริ่มมีใช้ในรัชชกาลที่ ๓ พระองค์ ๑ คือเจ้าครอกวัดโพธิ์ ต่อมาในรัชชกาลที่ ๔ ไม่มี ถึงรัชชกาลที่ ๕ มีสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรกับกรมหลวงวรเสรษฐสุดา ก็นับทางสมเด็จพระชนนี มาถึงรัชชกาลที่ ๖ มีอีกพระองค์ ๑ คือ พระองค์แม้นเขียน แล้วก็มาถึงพวกเรา มีขึ้นถึง ๑๐ พระองค์ในคราวเดียวกันดูน่าพิศวงอยู่.

จดหมายฉะบับนี้หม่อมฉันรีบเขียนส่งมาถวายในคราวเมล์วันศุกรที่ ๒๑ เพราะถ้ารอไว้จนวันจันทรตามเคย ท่านจะเสด็จไปจากสงขลาเสียแล้ว ต่อนี้ไปจะต้องหยุดจดหมายเสียคราวหนึ่งหรือสองคราว บางทีจะฝากชายแถมไปถวายที่ชุมพรได้สักคราว ๑ ด้วยเธอกำหนดจะกลับไปให้ทันรับเสด็จที่ชุมพร ต่อนั้นเมื่อเสด็จถึงหัวหินแล้วก็จะส่งจดหมายถวายได้ไม่ยาก.

หม่อมฉันหวังใจว่าท่านจะทรงเปนสุขสบายตลอดทางในขากลับเหมือนกับเมื่อขามา และคุณโตก็จะไม่เมาคลื่นหรือไม่มีคลื่นพอคุณโตจะเมาได้ให้ตลอดทาง เมื่อเสด็จถึงชุมพรถ้าโปรดโทรเลขถึงหญิงมารยาตรให้ทราบก่อนว่าจะเสด็จถึงหัวหินวันใด เห็นจะเปนการสดวกดี.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ