วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

สำนักดิศกุล หัวหิน

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ขอประทานกราบทูลตอบลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ เรื่อง ท่าทอง-กาญจนดิษฐ์-บ้านดอน-สุราษฎร์ธานี จะจบลงยังไม่ได้ จะต้องกราบทูลต่อไปเพราะยังสนุก

เมื่อไปเที่ยวด้วยเรือ “แคลดิส” ครั้งกระโน้น อันมีอินสิเดนต์ร้อยแปดนั้นจะลืมเสียไม่ได้ คำที่พูดกันเล่น เช่น “แคะ” “โกปีโหบ” และ “ฮ่า วู้วู้” อะไรเหล่านั้น มันเกิดขึ้นคราวนั้นเตือนใจอยู่ อ่าวบ้านดอนนั้นมันตื้นจริงทีเดียว เมื่อเกล้ากระหม่อมไปถึงที่นั่นคราวนี้ นายห้างอีสตเอเซียติกที่นั่นออกไปรับเข้าบ้านดอน ต้องถ่ายเรือถึงสามทอด ทีแรกลงเรือสตีมลอนช์เข้าไป ยังไม่ทันถึงเกาะปราบต้องถ่ายลงเรือยนต์ที่ย่อมลง นายห้างอธิบายว่าจะเอาเรือยนต์รับจากเรือ “มาลินี” มาทีเดียวไม่ถนัด เพราะมีคลื่นลม เรือเล็กโยนตัวมาก ไม่สดวกในการขนของ แต่เรือยนต์ที่กราบทูลแล้วนั้นก็เข้าได้เพียงพ้นเกาะปราบไปหน่อยเดียว วัดน้ำมีสองฟุตเศษ ต้องถ่ายลงเรือสำปั้นเครื่องติดท้ายอีกทีหนึ่งจึงเข้าไปถึงบ้านดอนได้

เมื่อได้เห็นการอันเปนเช่นนี้ ทำให้นึกถึงเรือ “นริศ” ซึ่งเขาว่าเดินเข้าไปจอดจนถึงบ้านดอน จะเข้าได้อย่างไร ครั้นเรือที่เราไปล่วงเข้าถึงลำแม่น้ำ เห็นมีไม้ต่อเปนรูปสามเหลี่ยมบ้าง เปนตีนกาบ้าง ทาขาวตอกไว้กับต้นลำภู เรือที่เราไปก็เดินมุ่งหัวเข้าหาเครื่องหมาย จึงเข้าใจได้ว่าบริษัททำเครื่องหมายบอกร่องน้ำไว้ให้แก่เรือ “นริศ” พอถึงบ้านดอนก็เห็นสพานท่าสูงตระหง่าน มีสลากบอกไว้ว่า “บริษัทเรือไฟไทย” ทำให้รู้ได้ว่าเรือ “นริศ” มาจอดที่สพานนี้อันอยู่ใกล้ติดกับตลาดทีเดียว เมื่อวันเกล้ากระหม่อมไปถึงนั้นเปนวันจันทร ล่วงถึงวันศุกรนายห้างบอกว่าวันนี้เรือ “นริศ” จะมาถึง จะไปดูหรือไม่ กำหนดเวลายามหนึ่ง เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเปลืองชีวิตหนัก จึงบอกเขาว่าจะไปดูพรุ่งนี้ ครั้นรุ่งขึ้นจึงไปดูที่ท่าอันเรือจอดเทียบอยู่เรียบร้อย เรือ “นริศ” นี้ เปนสิ่งที่นิยมชมชอบแก่ชาวบ้านดอนมาก ว่าเปนเรือลำเดียวที่จะไปถึงกรุงเทพ ฯ ได้โดยสดวก เปนความจริงดังนั้น ถ้าไปเรือกลไฟที่มาแวะตามท่าจะต้องหาเรือออกไป ถ้าเปนเรือใหญ่ก็ติด ถ้าเปนเรือเล็กก็จะจมได้ แล้วยังจะต้องไปเท้งเต้งคอยอยู่ในทะเลอีกกว่าเรือกลไฟจะมาถึง เปนการเสี่ยงภัยมาก

เกล้ากระหม่อมอยากทราบเหมือนกันว่าเรือ “นริศ” เดินอย่างไร แม้จะได้ทำเครื่องหมายไว้ก็ดี แต่เวลาน้ำโดยมากเปนเวลากลางคืน จะเห็นเครื่องหมายได้อย่างไร จะมิลำบากหนักหรือ พอดีเมื่อวันเรือ “นริศ” กลับจากบ้านดอน เกล้ากระหม่อมไปเที่ยวท่าทองอุแท ต้องอุปสรรคต่าง ๆ กลับถึงบ้านดอนเกือบยามหนึ่ง สวนกับเรือ “นริศ” ซึ่งเพิ่งออกจากท่าแล่นล่องน้ำไป เขามีไฟฉายติดที่หัวเรือ แล่นประดุจค่อย ๆ คลานไป ไฟฉายนั้นสอดส่ายไปรอบ ๆ ดูฝั่งแม่น้ำ ดูเรือชาวบ้านซึ่งไม่มีไฟแจวผ่านไปมา ดูน่าสงสารเห็นว่าลำบากที่สุด เขาว่าที่ปากอ่าวยิ่งลำบากกว่าในแม่น้ำขึ้นไปอีก มืดไม่เห็นอะไรที่จะหมายร่องน้ำ แต่ก่อนเอาหลักไปปัก เอากระบุงทาขาวไปครอบปลายหลักหมายร่องน้ำ แต่ไม่ค่อยสำเร็จผล เห็นจะเปนด้วยลมจัดพัดเอาหลักครอบกระบุงหลุดลอยไปเสีย เดี๋ยวนี้เขาใช้เอาเรือเล็กเดินนำคลำหาร่องไป ในการที่บริษัทจัดเรือ “นริศ” เดินเข้าไปจนถึงบ้านดอนนั้น เดิมเกล้ากระหม่อมสำคัญว่าบริษัทคิดขึ้นเอง แต่เมื่อได้ฟังตรัสเล่าว่าพระยามหิบาลเขาเดินเรือและกำหนดเข้าออกตามเวลาน้ำมาก่อน จึงเข้าใจได้ว่าบริษัทเรือไฟไทยไม่ได้คิดขึ้นเอง เอาอย่างพระยามหิบาลมาอีกทีหนึ่ง ในการทำเรือ “นริศ” มาเดินเข้าถึงบ้านดอนได้ประโยชน์มากนี้ เปนทางให้บริษัทมีความคิดต่อไปอีก เดี๋ยวนี้เขาต่อเรือมาใหม่อีกลำหนึ่ง ให้เหมาะสำหรับเดินเข้าได้ถึงปากพะนัง ให้ชื่อเรือว่า “ปากพะนัง” เดินแต่กรุงเทพ ฯ ตรงถึงปากพะนัง ดูจะทำดีกว่าเรือ “นริศ” ขึ้นไปอีก เพราะเรือนริศมีที่รับคนโดยสานมากไป ที่บรรทุกสินค้าน้อยไป เรือปากพะนังทำแก้เพราะได้ความรู้ขึ้น มีที่รับคนโดยสานน้อย ที่บรรทุกสินค้ามากตรงกันข้าม เห็นจะเหมาะแก่การดี ฟังพระดำรัสเล่าถึงเอาช้างบรรทุกเรือใบ การเอาช้างขึ้นลงนั้นใหญ่ยากเย็นมาก เดี๋ยวนี้การลำเลียงใช้เรือกลไฟ จะเอาช้างไปไหนสะบายใจเฉิบ เอาผ้าใบรัดท้องช้างชักรอกเอาขึ้นลงสูงต่ำเท่าไรก็ได้ง่ายที่สุด

การสร้างพระตำหนักสวนสราญรมที่ท่าข้าม ตามที่กราบทูลมาโดยหนังสือฉะบับก่อน มาได้พระดำรัสตรัสอธิบายสวนไปว่าพระยามหาอำมาตย์สร้างถวายประทับ เหตุดั่งนั้นเกล้ากระหม่อมจึงไม่ทราบว่าได้ทรงสร้าง และยังได้ทราบตามพระดำรัสอธิบายต่อไปอีกด้วยว่านามสุราษฎร์ธานีนั้น พระราชทานแก่ท่าข้าม ไม่ใช่พระราชทานแก่บ้านดอน เรื่องนี้ได้เกิดสงสัยใจแล้วเมื่อไปขึ้นรถไฟที่ท่าข้าม ด้วยเห็นป้ายซึ่งปักไว้ที่สถานีเขียนว่าสุราษฎร์ธานี ไม่ได้เขียนว่าท่าข้าม

เรื่องเมืองโบราณในแถวปักษ์ใต้ เกล้ากระหม่อมสงสัยมาแต่ก่อนแล้วจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ว่าที่ชุมพรจะต้องเปนเมืองเก่าแห่งหนึ่งมาก่อนเปนแน่นอน ได้เพียรถามหาเมืองร้างแก่ข้าราชการในเมืองนั้นมาหลายหน ก็ได้คำตอบแต่ว่าไม่มี แต่เกล้ากระหม่อมไม่มีความเชื่อท่านพวกข้าราชการเลย ไม่เห็นมีใครเอื้อในทางโบราณคดี อย่าหาแต่ว่าจะรู้ถึงเมืองเก่าที่ร้างแล้วเลย แต่อะไรหมิ่น ๆ ถามดูยังไม่ค่อยรู้ เกล้ากระหม่อมเคยพบมาแล้ว ไปเที่ยวนางรองเพื่อดูเมืองต่ำและเทวสถานภนมรุ้ง เขากะโปรกรามให้ไปนอนค้างที่บ้านฝ้าย พอย่างเข้าเขตต์บ้านเกล้ากระหม่อมก็เห็นคูและเชิงเทินดิน จึงออกปากว่านี่มันเมืองไม่ใช่บ้าน เขาพากันแลดูตาค้าง เห็นจะไม่เชื่อ แต่เกล้ากระหม่อมแน่ใจที่สุด และเห็นว่าเมื่อเปนเมืองแล้ว ก็จะต้องมีเทวสถานหรือพุทธาวาส พอถึงที่พักเกล้ากระหม่อมก็เรียกพวกผู้ใหญ่บ้านที่คอยรับมาไล่เลียง ว่าในแขวงนี้ใครเคยเห็นกองอิฐหรือกองศิลามีอยู่ที่ไหนบ้างหรือเปล่า มีตาคนหนึ่งบอกว่ามีอยู่ใกล้ๆ นี้เอง เกล้ากระหม่อมจึงให้พาไปดูก็สำเร็จ เปนเทวสถานลักษณเปนสามหลังติดกัน จะกราบทูลมากไปกว่านี้ไม่ได้ ย่อมทรงทราบอยู่แล้วว่าสิ่งที่ทิ้งรกร้างไม่ได้รักษานั้นย่อมจะเห็นอะไรจะแจ้งไม่ได้ ที่เกล้ากระหม่อมได้ไปพบเข้าเองในทางที่ไปนางรองคราวนั้น หมดด้วยกันถึง ๑๖ แห่ง มิใช่เล็กน้อย อีกแห่งหนึ่งก็พิลึกไปหยุดนอนที่บ้างกงจักร ใกล้แม่น้ำไพรมาศ เกล้ากระหม่อมนึกมะลึกตึกขึ้นมาแล้วออกปากว่า ทำไมบ้านนี้จึงได้ชื่อว่าบ้านกงจักร ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งตอบสวนขึ้นมาว่า มีคนไปพบหินในป่าเข้าแห่งหนึ่งรูปร่างเหมือนกงจักร เขาจึงยกเอาใส่เกวียนมาไว้ที่โคกหลังหมู่บ้าน เลยเปนที่หมายแห่งบ้านนี้ เรียกว่าบ้านกงจักร เกล้ากระหม่อมก็ทึ่งเหลือประมาณ ถามแกว่าพรุ่งนี้แกจะพาไปดูได้หรือไม่ แกก็รับว่าได้ แต่ความจริงในเวลานั้นนึกว่าจะเปนหินมีลักษณกลมแบนเท่านั้น พอรุ่งเช้าเกล้ากระหม่อมจะเดินทางต่อไป จึงให้แกพาไปดู หินที่ว่ารูปเหมือนกงจักรนั้นก็กงจักรจริงๆ อย่างที่พระปฐมเจดีย์นั้นเอง และยิ่งกว่านั้น ข้างกงจักรยังมีเศียรพระนารายณ์กลิ้งอยู่อีกเศียรหนึ่ง จึงเอาไม้ท้าวเขี่ยต้นไม้ที่ขึ้นรกอยู่โดยรอบนั้นดู ก็ปรากฎว่าโคกที่เอากงจักรขึ้นไปไว้นั้นเปนเทวสถานเก่า เกล้ากระหม่อมข้องใจเปนอย่างยิ่ง ว่ารูปกงจักรหรือธรรมจักรทั้งหลายนั้น เดิมแท้ตั้งไว้ในสถานที่อย่างไร บันดาที่ได้เห็นก็เห็นของที่เขายกพ้นที่มาแล้วทั้งนั้น ลางทีข้อนี้จะตรัสบอกได้กระมัง เมืองเก่าที่ชุมพรนั้น เกล้ากระหม่อมสงสัยว่าจะเปนที่ตำบลคะเงาะ เหตุที่ทำให้สงสัยเช่นนั้น ก็เพราะชื่อพระยาเคางะธราธิบดี เห็นใกล้คำคะเงาะมากนัก ได้เคยถามพระยาวรสิทธิเสวีวัตร (ไต้ฮัก) ว่าคะเงาะเปนอย่างไร แกตอบว่าเปนป่าช้าง ก็เลยเลิกพูดกันไป

อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธรูปที่ทำด้วยศิลาซายแดง พบที่ไหนที่ไหนมากมายนัก หวังว่าจะทรงพยากรณได้ ว่าทำมาจากไหนแต่เมื่อไร สังเกตว่าไม่สู้เปนของเก่ามากนัก ที่เมืองไชยาเก่ามีมากเหลือเกิน มีคนที่ไชยาคนหนึ่งชื่อนายละออง แสงเดช เปนผู้เอาใจใส่ในทางโบราณคดีมาก เปนก๊ายนำดูอะไรได้มาก โปรเฟสเส้อ และดอกเต้ออะไรๆ ตลอดถึงกุมภกรรณก็รู้จักทั้งนั้น อยู่ข้างดีพอใช้

ในที่สุดแห่งลายพระหัตถ์ตรัสเรื่องเจ้าพระยาวรพงศ ฟ้องคณะหนังสือพิมพ์เทิดรัฐธรรมนูญเปนคดีหมิ่นประมาท เข้าพระทัยว่าเกล้ากระหม่อมจะได้ทราบเรื่อง ขอประทานกราบทูลให้ทรงทราบว่า นับแต่วันที่ ๑๐ พฤศภาคมซึ่งเกล้ากระหม่อมได้ออกจากกรุงเทพฯ มาแล้ว หาได้พบปะกับหนังสือพิมพ์ไม่ จนกระทั่งมาถึงหัวหินจึงได้พบหนังสือพิมพ์บ้าง แต่ก็ไม่พบเรื่องที่ตรัสถึงนั้น ไม่ได้ทราบอะไรเลย

มีความสงสัยมานานแล้ว ในเรื่องชื่อวัด มงกุฎกษัตริย์ หรือมกุฎกษัตริย์ เห็นเขียนกันอยู่สองอย่างดังนั้น เหตุที่สงสัยของเกล้ากระหม่อมก็คือว่า แม้มีพระราชกำหนดให้ใช้ตัวหนังสือตามแบบกรมศึกษาธิการก็ดี จะต้องเขียนตามจำเพาะแต่ที่ใช้ในคำพูด ส่วนชื่อคนหรือชื่อสถานจะต้องเขียนตามที่พระราชทานไว้แต่ก่อนเปลี่ยนไม่ได้ เช่นพระนามกรมหลวงประจักษศิลปาคม จะเขียนเปลี่ยนให้ถูก เปนกรมหลวงปรัตยักษ์ศิลปาคมย่อมไม่ได้ ก็วัดมงกุฎกษัตริย์หรือมกุฎกษัตริย์นั้น ได้ทราบว่าเดิมพระราชทานชื่อทำนองนั้น แต่จะเปนมกุฎหรือมงกุฎหาทราบไม่ หากไม่มีคนกล้าเรียก จึงพระราชทานเปลี่ยนให้เรียกวัดพระนามบัญญัติ แต่มีข้อไขว่า เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ให้กลับเรียกวัดมกุฎหรือมงกุฎกษัตริย์ตามเดิม อะไรจะถูกตามที่พระราชทานไว้เดิมก็ไม่ทราบ บัดนี้มีคดีเกิดขึ้น กระทรวงธรรมการทักกระทรวงวังมา ว่าเขียนมงกุฎไม่ถูก ต้องเขียนมกุฎ กระทรวงวังก็ดิ้นขลุกขลัก จะยอมหรือจะโต้ก็ไม่ทราบหลักเดิม เขาปรึกษามา เกล้ากระหม่อมขอประทานพระเมตตา ได้ทรงพบประกาศหรือพระราชหัตถเลขาอย่างใดอย่างหนึ่งในเรื่องวัดนั้นหรือไม่ ถ้าได้ทรงพบมีอยู่ที่ไหนตรัสชี้ให้ตรวจดูได้ จะเปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า เมื่อหลับตานึกโดยยังไม่พบเห็นหลักฐานก็เห็นว่า ชื่อวัดนั้น โปรดเลื่อนพระปรมาภิไธยลงมาพระราชทาน คำในชื่อวัดจะต้องเหมือนพระปรมาภิไธย เมื่อระลึกถึงพระปรมาภิไธยดูก็จะลักลั่นกันอยู่ พระปรมาภิไธยเดิมเปนเจ้าฟ้ามงกุฎ พระปรมาภิไธยในเมื่อเสวยราชสมบัติแล้วดูเหมือนเปนสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ แต่มาอยู่หัวหินไม่มีเครื่องมือสอบ ถ้าเปนตามที่เข้าใจอย่างนี้น่าจะต้องยอมกระทรวงธรรมการ เพราะควรจะต้องถือเอาพระปรมาภิไธยในเมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ