วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ เมษายนเวลาบ่าย หม่อมฉันได้รับพระโทรเลขตอบโทรเลขที่หม่อมฉันถวายพรเฉลิมพระชันสาครบ ๖ รอบไปในตอนเช้า ครั้นเวลาเย็นวันนั้นหญิงมารยาตรออกมาถึง นำเครื่องเลื่อนที่ท่านประทานเนื่องในงานเฉลิมพระชันสามาส่ง ล้วนเปนของเลือกสรรโดยประณีตบรรจง หม่อมฉันมีความยินดีขอบพระเดชพระคุณ และขอบคุณคุณโตกับหญิงอี่ด้วยเปนอันมาก รุ่งขึ้นวันจันทร์เวลาเช้าไปรษณีย์นำลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๗ มาส่ง ในซองลายพระหัตถ์นั้นมีฉายาลักษณ์พระบรมรูปทูลกระหม่อมที่อยู่ ณ เมืองเพ็ชรบุรีส่งมาด้วย หม่อมฉันรู้สึกชื่นใจที่ได้เห็น พระบรมรูปองค์นั้นงดงามสู้องค์ที่อยู่วัดราชประดิษฐ์ไม่ได้อยู่เอง เพราะองค์หลังเปนของถ่ายแบบองค์ก่อน และแก้ไขในสมัยเมื่อรู้จักปั้นรูปคนดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่อสองสามวันมานี้มีพระสงฆ์กรุงเทพฯ จาริกมาถึงเมืองปีนัง ๓ องค์ เปนเปรียญและพระอันดับวัดเทพสิรินทร ๒ องค์ เปนเปรียญวัดราชประดิษฐ์องค์ ๑ มหาภุชฌงค์วัดราชประดิษฐ์บอกว่างานถวายผ้าจำนำวัสสาปีนี้เจ้านายอยู่ข้างมีน้อย ที่เปนบรมวงศผู้ใหญ่มีแต่พระองค์ท่านกับพระองค์ประดิษฐาเท่านั้น หม่อมฉันเลยถามพระสงฆ์รูปนั้นต่อไปถึงเรื่องพระสงฆ์เปนเก๊กเหม็งขึ้นอีกตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ เธอเข้าใจว่าเห็นจะมีคฤหัษฐ์ยุยง แต่อย่างไรก็ดีมีผลต้องรับถึงตัวเธอด้วย เดี๋ยวนี้คนทำบุญน้อยลง แม้ออกบิณฑบาตก็ได้เข้าไม่ใคร่พอฉัน

ที่ท่านทรงได้คำขับของพวกระเบงและกุลาตีไม้ไว้แล้วจดประทานมานั้นดีหนักหนา เพราะมันเปนของใกล้จะสูญเต็มทีอยู่แล้ว คำที่ทรงปรุงประทานมานั้นหม่อมฉันเห็นชอบด้วย เดิมคงจะเปนเช่นนั้นแต่หากมาขับกันสับสนจึงแหลกเหลวไป ได้อ่านลายพระหัตถ์ทำให้หม่อมฉันคิดวินิจฉัยต่อไปถึงหลักฐานเรื่องการเล่น ระเบง โมงครุ่ม และกุลาตีไม้ หม่อมฉันเห็นว่าคงเปนการเล่นในอินเดีย ไทยเรารับมาแต่อินเดียภาคใต้แต่โบราณจึงมีปรากฏในกฎมณเฑียรบาล นานมาแล้วหม่อมฉันไปเมืองตรังครั้ง ๑ เห็นพวกแขกกลิงที่เปนกุลีมันกำลังเล่นกัน ถือไม้มือละอันยืนเปนวงร้องเพลง ตีไม้ที่ถือนั้นกับเพื่อนที่ยืนต่อกันทั้ง ๒ ข้างเปนจังหวะ ก็นึกขึ้นในขณะนั้นว่าอ้อ นี่เองเปนมูลเดิมของกุลาตีไม้ แต่มานึกต่อไปในคราวนี้ว่าคำร้องของเดิมคงเปนภาษาทมิฬ หรือภาษาอินเดียอื่นที่ใกล้เคียงกัน ไทยเราเอามาแปลให้ร้องเปนภาษาไทย จึงเห็นเปนปัญหาว่าคำที่ทรงจดประทานมานั้น จะเปนคำแปลตรงตามคำของชาวอินเดีย หรือมาแต่งขึ้นใหม่ หรือมาแก้ไขความบ้าง อีกประการหนึ่ง เรื่องที่เล่นระเบงตามที่ได้ยินเล่ากันมา ว่าพระอิศวรจะทำพิธีโสกันต์พระคเณศร์หรือพระขันธกุมาร พวกกษัตริย์ร้อยเอ็ดเจ็ดพระนครจะไปช่วย พระขันธกุมารมาห้ามไว้ พวกกษัตริย์ไม่ฟัง จึงถูกพระขันธกุมารสาปให้สลบ แล้วต้องกลับคืนยังบ้านเมือง มาเกิดคิดสงสัยขึ้นว่าเรื่องเดิมจะไม่เปนอย่างเล่า เพราะเมื่อกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดไปพบพระขันธกุมาร พระขันธกุมารห้ามควรจะยำเกรง หรือมิฉะนั้นก็พูดจาว่ากล่าวกันโดยดี ที่กลับจะฆ่าฟันพระขันธกุมารดูไม่สมกับที่จะไปช่วยงานด้วยความเคารพพระอิศวร เรื่องระเบงนี้ก็คงมาจากอินเดียฝ่ายใต้ คือพวกทมิฬเหมือนกัน พวกทมิฬนับถือพระขันธกุมารเปนใหญ่อยู่จนทุกวันนี้ แม้ที่ในเมืองปีนังดังที่หม่อมฉันได้เคยทูลไปแต่ก่อนแล้ว น่าจะมีเรื่องที่จริงเปนอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเรื่อง ระเบง โมงครุ่ม และกุลาตีไม้ นี้ ลองตรัสไล่เลียงตาพราหมณ์ ศาสตรี ดูสักทีเปนไร บางทีจะได้ความรู้ที่เปนแก่นสารต่อไป.

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าประดิษฐาสาลี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ