วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หญิงเพียนน้องหญิงมารยาตร์ออกมาเยี่ยมหม่อมฉัน จะกลับวันศุกรที่ ๒๑ นี้ เปนโอกาสที่หม่อมฉันให้เธอพาของฝากเข้ามาถวายได้เว้นแต่รูปฉายาลักษณ์ที่ถ่ายมายังกำลังล้างอยู่ เมื่อพิมพ์แล้วหม่อมฉันจะเลือกรูปที่น่าทอดพระเนตร์ปิดสมุดส่งมาถวายต่อภายหลังของที่ได้เลือกหาส่งมาถวายคราวนี้มีอธิบายควรจะทูลให้ทรงทราบคือ

๑. ตลับรูปหัวใจลงรักปิดทอง เปนของทำที่เมืองพุกาม ที่นั่นเปนแหล่งทำเครื่องรักส่งไปขาย ณ ที่ต่างๆ มาแต่โบราณ แต่เครื่องรักของพะม่าเดิมทำแต่ลงรักน้ำเกลี้ยงสีต่างๆ วิธีที่เอาเหล็กจานเปนลวดลายต่างๆ (อย่างแอบหมากที่หม่อมฉันฝากมาให้คุณโต) นั้น เขาบอกว่าเขาเอาอย่างไปจากเมืองเชียงใหม่ ถึงชั้นหลังนี้รัฐบาลอังกฤษคิดจะบำรุงการทำเครื่องรัก จึงให้ตั้งโรงเรียนเพาะช่างรักขึ้นที่เมืองพุกาม หัดเด็กให้ทำทั้งลงรักน้ำเกลี้ยง ลงรักแกะลาย และลงรักกำมลอ ทำทั้งของที่ชอบใช้กันในพื้นเมืองและทำเลียนของฝรั่งเช่นตลับรูปหัวใจที่หม่อมฉันถวาย และทำโอเปนชามล้างมือและขวดปักดอกไม้เปนต้น เขาเชิญให้หม่อมฉันไปดูโรงเรียนและให้เอาของที่ทำด้วยฝีมีอดี ทั้งที่ในโรงเรียนและที่ทำตามบ้านพวกช่างรัก มาจัดตั้งเรียงรายไว้ให้หม่อมฉันดู ขายก็มี ไม่ขายเพราะเปนของสั่งให้ทำก็มี พอหม่อมฉันแลเห็นตลับรูปหัวใจก็ออกอุทานแก่หญิงเหลือว่า “นี่อย่างไร พวกนี้จึงรู้ว่าพ่อหาของถวายเสด็จอาว์” แล้วซื้อในทันที แอบหมากของฝากคุณโตนั้น หม่อมฉันเลือกด้วยเปนของจานลายถมรักที่เอาอย่างไปจากเชียงใหม่ ส่วนของฝากหญิงอี่หญิงอามนั้นเจ้าหญิงบอกว่าจะหาส่งไป หม่อมฉันไม่รู้จักของผู้หญิงจึงให้เธอหาส่งไปพร้อมของฝากลูกหญิงของหม่อมฉัน

๒. พระพิมพ์นั้น หม่อมฉันขุดได้ณเมืองสารเขตร์ เปนแบบพระพิมพ์พวกสมัยพระปฐมเจดีย์ราว พ.ศ. ๘๐๐ หรือ ๑๐๐๐ ปีมาแล้วพระพิมพ์สมัยเดียวกันที่เราพบในเมืองไทยสู้ที่เมืองพุกามและเมืองสารเขตร์ไม่ได้ ด้วยแบบอย่างไรที่เรามีเขามีเหมือนกัน แต่ที่เขามีเราไม่มีมีหลายอย่าง บางทีท่านจะทรงพิสวงว่าเหตุใดหม่อมฉันจึงไปพบกรุพระพิมพ์ เหตุนั้นเกิดแต่ไปพบมองสิเออ ดือ รอยเซล นักปราชญ์ฝรั่งเศสชนิดเดียวกันกับศาสตราจารย์เซเดส์ ซึ่งได้เปนตำแหน่งเจ้ากรมโบราณคดีในเมืองพะม่าอยู่แต่ก่อน แต่เดี๋ยวนี้แก่ชะราลาออกจากราชการแล้ว (ทำนองจะมีเมียพะม่า) เลยตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเมฌิโยข้างเหนือเมืองมัณฑเล แกเปนสมาชิกสยามสมาคมเคยได้ยินชื่อหม่อมฉันมาแต่ก่อนจึงมาหาหม่อมฉันที่เมืองมัณฑเล หม่อมฉันชวนแกกินกลางวัน พูดกันในเรื่องโบราณคดีเมืองพะม่า หม่อมฉันบอกแกว่าได้เคยเห็นพระพิมพ์ของโบราณที่พบณเมืองพุกาม เปนแบบเดียวกันกับที่พบณพระปฐมเจดีย์ในประเทศสยาม เชื่อได้ว่าเปนบ้านเมืองสมัยเดียวกันคือรุ่งเรืองอยู่เมื่อราว พ.ศ. ๑๖๐๐ หม่อมฉันลงไปเมืองพุกามอยากจะตรวจดูพระพิมพ์แบบต่างๆ ที่เมืองพุกามต่อไปอีก และอยากจะหาเอาไปเปนที่ระลึกบ้างจะได้หรือไม่ แกตอบว่าไม่ยากอันใด เพราะพระพิมพ์แบบต่างๆ ที่หาได้มีอยู่ในคลังพิพิธภัณฑ์เมืองพุกามอาจจะตรวจดูได้ทุกอย่าง ที่หม่อมฉันอยากจะได้ไปเปนที่ระลึกนั้นก็พอจะหาได้ ด้วยเมื่อแกเปนเจ้ากรมโบราณคดีได้พระพิมพ์แบบต่างๆ ในพระเจดีย์โบราณที่หักพังมากกว่ามาก เห็นว่าถ้าเอามาเก็บกองไว้ในคลังพิพิธภัณฑ์ ใครมิใครก็จะพากันฉวยเอาไปสูญเสียเปล่า แกจึงให้ฝังซ่อนไว้ที่ในบริเวณคลังพิพิธภัณฑ์เมืองสารเขตร์แห่งหนึ่ง มีแต่พะม่าผู้รักษาพิพิธภัณฑ์นั้นรู้แห่งกรุที่แกฝังพระพิมพ์ แกจะมีจดหมายไปให้พาหม่อมฉันไปขุดเลือกเอาพระพิมพ์ไว้เปนที่ระลึกตามชอบใจ จึงได้ขุดและได้พระพิมพ์ ๓ อย่างที่หม่อมฉันส่งมาถวายอย่างละองค์ แต่มักสึกหรอเห็นจะเปนเพราะเคยถูกตากแดดกรำฝนอยู่นาน

คราวเมล์กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ นี้ หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๕ ตามคาดและหวังใจอยู่แล้ว ทำให้เกิดความยินดีรู้สึกว่าเหมือนกับกลับมาถึงบ้าน จดหมายของหม่อมฉันมีถวายไปที่ไม่ได้ทรงรับฉะบับหนึ่งนั้น หม่อมฉันให้คัดสำเนาส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉะบับที่แล้ว ที่ทรงพระดำริจะให้ดีดพิมพ์สำเนาจดหมายที่หม่อมฉันเขียนถวายไปจากเมืองพะม่าประทานมานั้น ก็ตรงกับประสงค์ของหม่อมฉันดังทูลไปในจดหมายฉะบับลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ซึ่งสวนกับลายพระหัตถ์ฉะบับนี้

หม่อมฉันเต็มใจที่จะเข้าส่วนทำบุญอุททิศให้ตาเทาด้วย ได้สั่งหญิงมารยาตร์ไปแล้ว

จะทูลอธิบายเรื่องเมืองพะม่าบางข้อ สนองพระปรารภที่ตรัสมาในลายพระหัตถ์ฉะบับหลัง คือเรื่องพระพุทธรูปมหามัยมุนี หม่อมฉันตรวจพบในหนังสือพงศาวดารพะม่า ว่าเมื่อยังอยู่เมืองยักไข่เคยถูกตัดที่พระองค์ครั้งหนึ่ง ถูกตัดพระเพลาครั้งหนึ่ง ด้วยประสงค์จะย้ายเอาไปไว้ที่อื่น แต่ไม่สามารถจะเอาไปได้จึงเลยศักดิ์สิทธ์ใหญ่หลวง ข้อนี้เปนเหตุอันหนึ่งซึ่งทำให้พระเจ้าปะดุงพยายามย้ายเอามาเมืองอมรบุระจนได้ คงจะชำรุดมาแต่ชั้นนั้นแล้วมิมากก็น้อย ข้อที่ไฟไหม้วัดพระมหามัยมุนีที่เมืองอมรบุระหม่อมฉันได้พยายามสืบถามว่าไหม้แต่เมื่อใด ในพวกฝรั่งไม่มีใครรู้ ในพวกพะม่าบางคนบอกว่าไหม้ในรัชชกาลพระเจ้าสีป่อ เมื่อก่อนจะเสียบ้านเมืองแก่อังกฤษไม่ช้านัก ถึงเข้าใจกันว่าเหตุที่ไฟไหม้นั้นเปนลาง แต่พะม่าบางคนบอกว่าไฟไหม้วัดพระมหามัยมุนีในสมัยเมื่ออังกฤษได้เมืองแล้วไม่ช้านัก หม่อมฉันกลับมาถึงเมืองปีนังมาค้นหนังสือคัมภีร์ใหญ่ในเรื่องเมืองพะม่า เรียกว่า Upper Burma Gazetteer ที่รัฐบาลอังกฤษให้รวบรวมพิมพ์ไว้ จึงได้ความเปนแน่ว่าไฟไหม้วัดพระมหามัยมุนีแต่ในรัชกาลพระเจ้าสีป่อ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๓ (พ.ศ. ๒๔๒๖) ก่อนเสียเมืองพะม่า ๒ ปี และพระเจ้าสีป่อให้สร้างวัดให้คืนดี คงเปนเช่นที่หม่อมฉันพรรณนาทูลไปมาแต่ครั้งนั้น

เรื่องที่หม่อมฉันเคยทูลไปว่าฝีมือช่างพะม่าเลวลงกว่าแต่ก่อนหมดทุกอย่างนั้น จะต้องทูลขอแก้ถ้อยคำให้ตรงการที่เปนจริง เพราะเมื่อเลิกความคิดที่จะไปเมืองเมาะลำเลิงแล้ว หม่อมฉันมีเวลาเที่ยวเตร่ในเมืองร่างกุ้งเพิ่มขึ้น ได้ไปเห็นบ้านช่างสลักและบ้านช่างแกะ ได้ความรู้เปนเค้าเงื่อนว่าพวกช่างหัตถกรรมอยู่รวมกันเปนตำบล เหมือนอย่างพวกช่างถม ช่างตีทอง และช่างหล่อของเราที่ในกรุงเทพฯ นั่นเองเปนเช่นเดียวกัน ทั้งที่ในเมืองร่างกุ้งและที่ในเมืองมัณฑเล แต่โบราณคงจะปลูกเรือนอยู่ใกล้ ๆ กันตามพวกช่างอย่างเดียวกัน แต่เมื่อทำแผนผังบ้านเมืองมีถนนเปนอย่างฝรั่ง พวกช่างจึงเปลี่ยนเปนอยู่โรงแถวหรือเช่าห้องแถวทำการ และขายของต่อติดกันไปเปนเทือกตามประเภทช่าง สังเกตดูของที่ทำ ถ้าว่าส่วนฝีมือเช่นการจำหลักเงินและแกะงายังทำได้งามมาก ถึงช่างทำพระพุทธรูปฝีมือทำก็เกลี้ยงเกลา บกพร่องแต่ทางความคิดและความรู้ลักษณดีงาม เคยทำอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น ว่าโดยย่อก็อย่างเดียวกันกับพวกช่างหล่อของเรานั่นเอง กล่าวได้ตลอดเลยไปถึงคนซื้อด้วยไม่รู้จักเลือกซื้อแต่ของดีงาม พวกช่างก็เลยไม่กระตือรือร้นเหมือนอย่างเมื่อยังมีเจ้านายที่รู้จักติและชม และมีอำนาจที่ให้บำเหน็จหรือลงโทษเหมือนแต่โบราณ

วัดนางพระยาที่เมืองมัณฑเลนั้น ฝรั่งเรียกว่า Queen’s Monastry เปนของนางพระยาสุปยาลัตสร้างอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ริมถนนที่จะไปลงเรือวัด Incomparable พระเจ้ามินดงสร้างอยู่ใกล้เชิงเขามัณฑเลทางด้านเหนือ แต่ไฟไหม้เสียแล้วยังเหลือแต่ทราก หม่อมฉันจึงไม่ได้ไปดู

เรื่องพระศพสมเด็จหญิงน้อยนั้น เดิมหม่อมฉันคาดว่าคงจะฝังไว้ที่บันดง ต่อกลับมาถึงปีนังจึงทราบว่าได้ฝังแล้ว แต่จะขุดขึ้นส่งพระศพไปกรุงเทพฯ ตามประสงค์ของเจ้าภาพคือพระองค์เจ้าภาณุพันธยุคลเปนอาทิ และว่าทูลกระหม่อมชายจะเสด็จมาส่งพระศพ และส่งพระองค์หญิงเหม ถึงเมืองสิงคโปร์ จากนั้นพระศพจะไปเรือมาลินี ส่วนพระองค์หญิงเหม กรมพระกำแพงจะพาขึ้นเครื่องบินไปส่งถึงกรุงเทพฯ หม่อมฉันคิดอยากจะไปส่งพระศพสมเด็จหญิงน้อยที่เมืองสิงคโปร์ และจะได้ไปพบทูลกระหม่อมชายอีกด้วย แต่เมื่อมาตริตรองดูมีความขัดข้องด้วยเรื่องความสิ้นเปลือง เพราะไปพะม่ามาใหม่ๆ อย่างว่า “ยังบวม” อยู่ และก็ไม่เปนประโยชน์โภชผลอันใดแก่สมเด็จหญิงน้อย ส่วนทูลกระหม่อมชายก็ได้เฝ้ามาแล้วเมื่อปีก่อน และยังมีเหตุอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะเล่าถวายให้พิสดารสักหน่อย

เมื่อหม่อมฉันจะไปเที่ยวเมืองพะม่า ได้คิดกะโปรแกรมเปนรายวันตั้งแต่ก่อนไปสักเดือนหนึ่ง ดังหม่อมฉันได้ส่งสำเนาไปถวายเมื่อก่อนหม่อมฉันไปเมืองพะม่า ส่วนเรือที่โดยสารก็ได้ซื้อตั๋วเรือบริษัทเดียวทั้งขาไปและขากลับ เพราะเขาลดเงินให้ เมื่อไปก็ได้เดินทางอย่างในโปรแกรมนั้น ครั้นถึงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์อันเปนวันกำหนดเรือออกเวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกา ตอนเช้าวันนั้นหม่อมฉันจึงทราบว่าในเรือกาลาปาราที่จะมานั้น มีทหารแขกอินเดียมามาก ด้วยรัฐบาลเขาจะส่งทหารพวกนั้นมาเปลี่ยนทหารกาจิน (Kachin) ที่ตั้งอยู่ณเมืองไต้เผงในเขตต์แประ หม่อมฉันได้ออกปากพูดเล่นกับลูกในเวลานั้น ว่าเรากลับพ้องกับทหารอังกฤษอย่างนี้ อาจจะถูกรายงานว่าไปขอทหารอังกฤษมาตีเมืองไทยแล้วก็หัวเราะกันเล่นไม่ได้นำพาต่อมา ครั้นกลับมาถึงปีนังก็มาได้ยินว่ามีหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ ลงข่าวว่าหม่อมฉันจะไปพาพวกกะเหรี่ยงมาตีเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ถึงโจทก์กันเอะอะ ก็เกิดระแวงใจว่าที่หม่อมฉันกลับพร้อมกับทหารอังกฤษ อาจจะมีหนังสือพิมพ์ลงอีกว่าหม่อมฉันไปพาทหารอังกฤษมาเตรียมตีเมืองไทยได้ ถ้าหม่อมฉันไปพบทูลกระหม่อมชายกับกรมพระกำแพงเพ็ชรที่เมืองสิงคโปร์ ก็อาจจะกลายเปนไปประชุมปรึกษาการทัพศึก มันเปนเวลากำลังกลัวผียากที่จะป้องกัน แต่ก็ไม่อยากจะให้ขึ้นชื่อรำคาญใจจึงนึกว่าไม่ไปเสียดีกว่า.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ป.ล. หม่อมฉันพึ่งค้นพบฉายาลักษณ์รูปสัมฤทธิ์ ที่อยู่วัดพระยามหามัยมุนีกับรูปพระนอนศิลาอ่อน ณ วัดพระเกศธาตุซึ่งควรจะถวายไปกับจดหมายฉะบับก่อน จึงส่งมากับจดหมายฉะบับนี้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ