วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

เมล์มาวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มกราคมนี้ ไม่มีลายพระหัตถ์ของท่านตามเคย หม่อมฉันหวังว่าจะเปนเพราะเหตุอื่น เช่นทรงปรารภว่าหม่อมฉันกำลังเตรียมตัวไปเมืองพะม่าเปนต้น มิใช่เพราะไม่ทรงสบาย ชายใหม่กลับมาในคราวเมล์นี้มาเล่าถึงเรื่องเข้าไปกรุงเทพฯ ก็ว่าได้ไปเฝ้าท่านเห็นทรงผ่องใสสำราญดีอยู่ หม่อมฉันก็ไม่สู้วิตก หม่อมฉันจะออกจากปีนังไปเมืองพะม่าวันเสาร์ที่ ๑๘ นี้ จดหมายที่ถวายรายสัปดาหะต่อฉะบับนี้ไป จะงดไปเขียนต่อเมื่อกลับมาถึงปีนังในเดือนกุมภาพันธ์ แต่บางทีจะถวายไปรษณีย์บัตรหรือจดหมายไปจากเมืองพะม่าบ้าง เพราะส่งทางเมล์อากาศจากเมืองร่างกุ้งถึงกรุงเทพฯ ได้ในวันเดียว

ในการที่หม่อมฉันไปครั้งนี้ พระองค์หญิงใหญ่ ศิริรัตนบุษบงของทูลกระหม่อมชาย ทรงทราบจากหญิงพูนเธออยากเห็นเมืองพะม่า ทูลกระหม่อมก็ประทานอนุญาต หม่อมฉันจึงรับพาไปด้วย เพิ่มจำนวนคนไปขึ้นเปน ๖ คนทั้งนายชิตคนรับใช้ แต่รัฐบาลอังกฤษที่เมืองพะม่าเขารับจะสงเคราะห์ หวังว่าการเดินทางจะสดวกไม่ขัดข้องอย่างใด

ในสัปดาหะนี้ หม่อมฉันแต่งเรื่องบันเล็งถวายมา ๒ เรื่อง คือ อธิบายเรื่องเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีอากรเรื่อง ๑ กับวินิจฉัยอธิบายของคำว่า “ครัว” อีกเรื่อง ๑

อธิบายเรื่องเปลี่ยนวิธีเก็บเงินภาษีอากร

๑. หลายปีมาแล้วเมื่อ เซอร์ เอดวาร์ด กุ๊ก ยังเปนที่ปรึกษากระทรวงพระคลัง วันหนึ่งมาหาหม่อมฉันที่วังวรดิศ พูดขึ้นว่าแกตรวจดูจำนวนเงินแผ่นดินที่ได้ประจำปี ย้อนถอยหลังขึ้นไปถึงรัชชกาลที่ ๕ เกิดปลาดใจด้วยเห็นจำนวนเงินรายได้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๖ (พ.ศ. ๒๔๓๙) เพิ่มขึ้นปีละมากๆ ไปตรวจดูทางภาษีอากรก็ไม่ปรากฏว่าในระวางนั้นรัฐบาลได้ตั้งภาษีอากรอย่างใดขึ้นใหม่ หรือเพิ่มพิกัดอัตราภาษีเก่าอย่างใดขึ้นอีก คิดไม่เห็นว่าเงินแผ่นดินเพิ่มขึ้นมากมายด้วยเหตุใด ถามพวกข้าราชการกระทรวงพระคลังที่รับราชการอยู่ในเวลานั้น ก็ไม่มีใครรู้ แกนึกว่าบางทีหม่อมฉันจะทราบเหตุ เพราะตัวหม่อมฉันทำราชการในสมัยนั้น จึงมาถาม หม่อมฉันตอบว่าเหตุที่เงินแผ่นดินได้มากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ นั้น หม่อมฉันทราบอยู่ พอจะบอกอธิบายได้ แต่นึกขวยใจอยู่หน่อยด้วยเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันอยู่บ้าง ขออย่าให้แกเข้าใจว่าหม่อมฉันเล่าอวดดีสำหรับตัว เพราะที่จริงเปนความคิดและช่วยกันทำหลายคน แล้วหม่อมฉันจึงเล่าเรื่องตามที่เปนมาให้ เซอร์ เอดวาร์ด กุ๊ก ฟังก็พอใจ แต่เรื่องที่หม่อมฉันเล่านั้นยังไม่เคยจดลงเปนลายลักษณ์อักษร เพราะเมื่อ เซอร์ เอดวาร์ด กุ๊ก มาถาม บอกจำนวนเงินด้วยวาจา หม่อมฉันจำจำนวนไว้ไม่ได้ พึ่งมาพบบัญชีจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นครั้งนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ หม่อมฉันจึงเห็นควรจะเขียนทูลบันเล็งในจดหมายประจำสัปดาหะได้เรื่องอันเปนมูลเหตุมีดังกล่าวต่อไปนี้

๒. เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมฉันเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) นั้น ทรงพระราชดำริลักษณการปกครองหัวเมืองที่จะจัดต่อไปในภายหน้าเปนยุติ ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ จะรวมการบังคับบัญชาหัวเมือง ซึ่งเคยแยกกันอยู่ ๓ กระทรวง คือมหาดไทย กลาโหม กรมท่า ให้มารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว

ข้อ ๒ จะรวมหัวเมืองจัดเปนมณฑลตามสมควรแก่ภูมิลำเนา ให้สดวกแก่การปกครอง และมีสมุหเทศาภิบาลบังคับบัญชาการทุกมณฑล

ข้อ ๓ การเปลี่ยนแปลงที่ทรงพระราชดำรินั้น จะค่อยจัดไปเปนชั้นๆ มิให้เกิดยุ่งเหยิงในการที่เปลี่ยนแปลง

ในปีแรกหม่อมฉันเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เปนแต่ศึกษาหาความรู้ราชการในกระทรวง กับออกไปตรวจตามหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งภายหลังจัดเปนมณฑลอยุธยา มณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก กับทั้งเมืองสุพรรณบุรี (เวลานั้นเมืองนครชัยศรียังขึ้นอยู่ในกรมท่า) เพื่อหาความรู้มาคิดกะรายการที่จะจัดต่อไป ครั้นปีต่อมาถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เผอิญเกิดเหตุวิวาทกับฝรั่งเศส จะต้องส่งทหารไปเมืองอุบลทางเมืองปราจีณบุรี เพื่อจะให้สดวกแก่การส่งทหารจึงโปรดฯ ให้ตั้งมณฑลปราจีณขึ้นก่อน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุกร์ ชูโต) เปนสมุหเทศาภิบาลคนแรก ต่อมาอีกปีหนึ่งจึงตั้งมณฑลอยุธยา มณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก และตั้งมณฑลอื่นในปีต่อๆ มา

๓. ในสมัยนั้นการเก็บภาษีอากรทั้งที่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง ยังใช้กระทรวงพระคลังเรียกประมูลให้มีผู้รับผูกขาดไปเก็บภาษีอากรต่างๆ ทุกปี พระยาฤทธิรงค์ฯ ได้ไปจัดมณฑลปราจีณก่อนมณฑลอื่นอยู่ปีหนึ่ง รู้การในท้องที่ดีกว่าสมุหเทศาภิบาลคนอื่น เมื่อมีการประชุมสมุหเทศาภิบาลครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๘ พระยาฤทธิรงค์ฯ มาบอกหม่อมฉันว่าอากรค่าน้ำในมณฑลปราจีณ เงินหลวงที่ได้พระคลังยังน้อยกว่าที่ควรจะได้อยู่มาก เพราะนายอากรที่รับผูกขาดไปมีเวลาที่จะเก็บฉะเพาะปีหนึ่ง ต้องรีบรัดเก็บให้ได้กำไรภายในเวลาที่ตนมีอำนาจ เพราะฉะนั้นใครเข้าว่าประมูลก็ต้องกะจำนวนเงินไว้ให้ต่ำ ด้วยกลัวขาดทุน ยกตัวอย่างดังอากรค่าน้ำเมืองปราจีณบุรี มีผู้รับประมูลเสมอเพียงปีละ ๒๔๐๐ บาทเท่านั้น แม้จำนวนเงินเพียงเท่านั้น ใครเปนนายอากรยังต้องไปใช้วิธีเก็บเลี่ยงพระราชบัญญัติ เช่นคิดอุบายกล่าวให้ราษฎรยอมเสียเงินค่าน้ำเหมาตามครัวเรือนเปนต้น เพื่อจะให้ได้เงินโดยเร็ว แต่ที่จริงนั้นนายอากรเก็บค่าน้ำได้แต่ราษฎรที่อยู่ใกล้ ๆ พวกที่อยู่ห่างไกลออกไปนายอากรก็ไม่สามารถจะเก็บไปถึง ยังมีคนที่ไม่ต้องเสียอากรค่าน้ำอยู่โดยมาก พระยาฤทธิรงค์ฯ เห็นว่าถ้าให้เทศาภิบาลเก็บอากรค่าน้ำ ให้ส่วนลดแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ใช้เปนพนักงานเก็บ จะได้เงินหลวงเพิ่มขึ้นอีกมาก หม่อมฉันเห็นชอบด้วย จึงนำความไปทูลกรมขุนศิริธัชสังกาศซึ่งเปนเสนาบดีกระทรวงพระคลังอยู่ในเวลานั้น ท่านไม่ทรงเห็นชอบด้วยตรัสว่า “นายอากรไม่ส่งเงิน ฉันเอาตัวขังตรางเร่งได้ ถ้าเทศาฯ ไม่ส่งเงิน ฉันเอามาขังไม่ได้ เงินหลวงก็จะสูญ” เมื่อท่านตรัสอย่างนั้นหม่อมฉันก็จนใจ ต่อมาเมื่อใกล้จะสิ้นปีวันหนึ่งกรมขุนศิริธัชฯ เสด็จมาหาหม่อมฉันที่กระทรวงมหาดไทย ตรัสถามว่าที่พระยาฤทธิรงค์ฯ จะรับเก็บอากรค่าน้ำเมืองปราจีณบุรีนั้นจะรับได้จริงๆ หรือ หม่อมฉันทูลถามว่าเหตุใดจึงจะกลับโปรดให้พระยาฤทธิรงค์ฯ เก็บอากรค่าน้ำ ตรัสบอกว่านายอากรเดิมร้องขาดขอลดเงินอากรค่าน้ำเมืองปราจีณบุรี ผู้อื่นก็ไม่มีใครเข้าประมูล ดูเหมือนจะนัดแนะกันโกงกระทรวงพระคลัง จึงทรงพระดำริจะเปลี่ยนมาให้เทศาฯ เก็บ หม่อมฉันทูลถามว่าจะต้องพระประสงค์จำนวนเงินสักเท่าใด ตรัสตอบว่าเพียงเท่าที่นายอากรผูกขาดไปปีก่อน อย่าให้เงินหลวงลดลงก็จะพอพระหฤทัย หม่อมฉันจึงบอกไปยังพระยาฤทธิรงค์ฯ ตอบมาว่าจะรับเก็บ และจะส่งเงินหลวงให้ได้เท่าที่นายอากรผูกขาด แนะมาให้หม่อมฉันทำความตกลงกับกระทรวงพระคลังข้อหนึ่ง ว่าถ้าเทศาฯ เก็บเงินอากรค่าน้ำได้มากกว่าจำนวนที่นายอากรรับผูกขาดขึ้นไปเท่าใด ขอให้กระทรวงพระคลังอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยใช้เงินที่เพิ่มขึ้นนั้นปลูกสร้างสถานที่ว่าการและที่พักข้าราชการในมณฑลปราจีณซึ่งต้องการเงินอยู่ หม่อมฉันไปทูลกรมขุนศิริธัชฯ ก็ทรงยอมตามคำพระยาฤทธิรงค์ แต่การที่มอบอำนาจให้เทศาฯ เก็บอากรค่าน้ำครั้งนั้นอยู่ข้างแปลก ด้วยกรมขุนศิริธัชฯ มีรับสั่งให้ออกท้องตรานกวายุพักตร์กระทรวงพระคลัง ตั้งให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉทเปนขุนมัจฉาฯ (สร้อยว่ากระไร หม่อมฉันจำไม่ได้) ตำแหน่งนายอากรค่าน้ำเมืองปราจีณบุรี พระยาฤทธิรงค์ฯ ยังคุยอวดอยู่จนแก่ว่ามีตัวแกคนเดียว ที่เปนพระยากินพานทองแล้วได้เลื่อนที่เปน ขุน และว่ายังเก็บท้องตรากระทรวงพระคลังฉะบับนั้นไว้เปนที่ระลึก เพราะเหตุใดกรมขุนศิริธัชฯ ท่านจึงทรงทำเช่นนั้น มาคิดดูภายหลังจึงเห็นว่าท่านเตรียมเผื่อพระยาฤทธิรงค์ฯ จะทำไม่ได้ดังรับ ปีหน้าจะได้ตั้งคนอื่นได้สดวก ไม่ต้องขอโอนหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย แต่พระยาฤทธิรงค์ฯ เก็บเงินอากรค่าน้ำเมืองปราจีณบุรีได้มากกว่าจำนวนเงินที่นายอากรเคยรับผูกขาดหลายเท่า กระทรวงมหาดไทยก็เริ่มแลเห็นว่าการที่จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล อาจจะจัดการเก็บเงินภาษีอากรเปนวิธีรัฐบาลเก็บเอง ให้เงินผลประโยชน์แผ่นดินเพิ่มขึ้นได้อีกมาก แต่ยังไม่ทันไปพูดกับกระทรวงพระคลัง กรมขุนศิริธัชฯ เสด็จออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังเสียก่อน จึงยังมิได้จัดการแก้ไขอย่างไร

๔. พอกรมหมื่นมหิศรราชหฤาทัย เสด็จมาเปนเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ทรงทราบเรื่องพระยาฤทธิรงค์ฯ เก็บอากรค่าน้ำ ก็ทรงเลื่อมใสในการที่เปลี่ยนแปลงนั้น แล้วอนุญาตให้เทศาฯ เริ่มจัดการเก็บภาษีอากร และต่อมากรมหมื่นมหิศรฯ ให้กรมสรรพากรเปนพนักงานเก็บภาษีอากร และหาฝรั่งผู้ชำนาญเข้ามาจัดระเบียบการ ได้มิสเตอรแกรมมาเปนเจ้ากรมสรรพากรใน โอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล ได้มิสเตอร์ไยล์ (ซึ่งภายหลังได้เปนที่ พระยาอินทรมนตรีฯ) เปนเจ้ากรมสรรพากรนอก โอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ตั้งหน้าจัดวิธีเก็บภาษีอากรด้วยเลิกผูดขาด เปลี่ยนเปนรัฐบาลเก็บเองเปนอย่างๆ มา และการที่จัดนั้นค่อยจัดขยายออกไปเปนมณฑลๆ จำนวนเงินจึงได้เพิ่มขึ้นเปนรายปี ดังปรากฏอยู่ในบัญชีต่อไปนี้

จำนวนเงินแผ่นดินรายได้ในระวาง ร.ศ. ๑๑๔ จน ร.ศ. ๑๒๙

เมื่อ ร.ศ. ๑๑๔
(พ.ศ. ๒๔๓๕)
จำนวนเงินแผ่นดินรายได้
๑๘,๐๗๔,๖๙๐ บาท
 
ร.ศ. ๑๑๕ ๒๐,๖๔๔,๕๐๐ บาท + ๒,๕๖๙,๘๑๐ บาท
ร.ศ. ๑๑๖ ๒๔,๘๐๕๘,๐๐๑ บาท + ๔,๑๗๓,๕๐๑ บาท
ร.ศ. ๑๑๗ ๒๘,๔๙๖,๐๒๙ บาท + ๓,๖๗๘,๐๒๘ บาท
ร.ศ. ๑๑๘ ๒๙,๙๒๐,๓๖๕ บาท + ๑,๔๒๔,๓๓๖ บาท
ร.ศ. ๑๑๙ ๓๕,๖๑๑,๓๐๖ บาท + ๕,๙๖๐,๙๔๑ บาท
ร.ศ. ๑๒๐ ๓๖,๑๕๗,๙๖๓ บาท + ๕๔๖,๖๕๗ บาท
ร.ศ. ๑๒๑ ๓๙,๑๕๒,๑๒๔ บาท + ๒,๙๙๕,๑๖๑ บาท
ร.ศ. ๑๒๒ ๔๓,๕๔๘,๘๑๗ บาท + ๔,๓๐๖,๖๙๓ บาท
ร.ศ. ๑๒๓ ๔๖,๐๔๖,๔๐๔ บาท + ๒,๕๘๗,๕๘๗ บาท
ร.ศ. ๑๒๔ ๕๑,๖๕๗,๕๓๙ บาท + ๕,๖๑๒,๑๗๕ บาท
ร.ศ. ๑๒๕ ๕๗,๐๑๔,๘๐๕ บาท + ๕,๓๕๕,๒๒๖ บาท

ปีต่อไปก็ยังขึ้นต่อไปอีกแต่มาถึงตอนนี้มีเหตุอื่นประกอบ เช่นการค้าขายเจริญและรายได้เพิ่มขึ้นในภาษีอากรที่ยังผูกขาด เช่นอากรฝิ่นและสุราเปนต้น ตลอดจนรายได้ในการเดินรถไฟ.

วินิจฉัยอธิบายคำว่า “ครัว”

๑. คำว่า “ครัว” เห็นจะเปนภาษาไทย ซึ่งเดิมหมายความแต่ว่าสถานที่สำหรับประกอบอาหาร เกิดแต่ธรรมดามนุษย์ย่อม “อยู่กิน” ด้วยกันเปนสกุล Family คือ “อยู่” ในบริเวณเดียวกันและ “กิน” อาหารด้วยกัน ในบริเวณหนึ่งจะมีเรือนหลังเดียวหรือหลายหลังแล้วแต่จำนวนคนในสกุลมากหรือน้อย แต่ครัวนั้นถึงจำนวนคนจะมีเท่าใดในบริเวณหนึ่งก็มีแต่ครัวเดียว คงเปนเช่นนี้มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

๒. ครั้นถึงสมัยเมื่อมนุษย์อยู่รวมกันมากๆ ถึงตั้งเปนบ้านเมืองเกิดกิจที่ผู้ปกครองจะต้องรู้จำนวนคนในบ้านเมืองว่ามีสักเท่าใด จะเรียกรวมคนมานับเรียงตัวยากนัก จะเที่ยวถามก็ไม่เปนหลักฐาน จึงคิดวิธีสำรวจด้วยนับ “ครัว” เพราะเปนของต้องมีสกุลละหลัง ๑ เปนแน่นอน เอาจำนวนครัวเปนเกณฑ์ปริมาณจำนวนคน (บางทีคติที่ถือกันว่าสกุลหนึ่งมีจำนวน ๕ คนเปนปริมาณปานกลาง จะมีมาแต่โบราณแล้ว) คำว่า “ครัว” จึงเกิดอธิบายเปน ๒ อย่างต่างกันด้วยเหตุนั้น คือหมายความว่าสถานที่สำหรับประกอบอาหารอย่างหนึ่ง และหมายความว่าจำนวนคนในสกุล Family อย่างหนึ่ง ต่อมาจึงเกิดคำประกอบเพื่อให้เข้าใจชัดว่าครัวอย่างไหน ด้วยเรียกสถานที่ประกอบอาหารว่า “ครัวไฟ” และเรียกจำนวนคนที่อยู่ด้วยกันตามสกุลว่า “ครัวเรือน”

๓. คำว่า “ครัว” ตามที่เรียกกันแต่เดิมหรือที่มาประกอบเปนคำว่า “ครัวไฟ” นั้น คนอื่นนอกจากผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเองมิใคร่มีกิจจะต้องพูดถึง แต่คำว่า “ครัวเรือน” มีที่ใช้ในกิจการต่าง ๆ มาก เมื่อเรียกกันสั้นลงโดยสดวกปากแต่ว่า “ครัว” คำว่า “ครัว” จึงใช้หมายความว่าคนอยู่ร่วมสกุลกันเปนพื้น เช่นในหนังสือจดหมายเหตุหรือพงศาวดารว่า “เทครัว” หรือ “อพยบครอบครัว” หรือไปรบศึกได้เชลยเท่านั้นครัว แม้ในศิลาจารึกถวายคนเปนข้าพระก็ว่าถวายเท่านั้นครัว คำว่า “ครัว” ที่ใช้ในหนังสือเก่าดูเหมือนจะมีแต่หมายความว่าปริมาณคนทั้งนั้น

๔. เมื่อเร็วๆ นี้ หม่อมฉันได้ยินว่ามีสกุลหนึ่งเดิมอยู่แยกบ้านกันหลายแห่ง ทีหลังคิดจะรวมอยู่แห่งเดียวกัน แต่เกิดขัดข้องด้วย “แม่ครัว” คนประกอบอาหารเปนอริกันไม่ยอมไปอยู่ร่วมบ้านกัน เจ้าของบ้านไม่อาจทิ้งรสมือแม่ครัวของตน ก็ไปอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะได้ยินเรื่องนี้เปนเหตุ หม่อมฉันจึงเลยปรารภถึงอธิบายคำว่า “ครัว” ดังวินิจฉัยที่ทูลมา และคิดต่อไปว่าคำที่เรียกว่า “พ่อครัว” และ “แม่ครัว” นั้น แต่เดิมน่าจะหมายความว่าผู้เปนประมุขของ “ครัวเรือน” คือสกุล ภายหลังจึงเกิดเรียกผู้เปนประมุขใน “ครัวไฟ” คำว่า “พ่อครัว” และ “แม่ครัว” ก็กลายเปน “กุ๊ก” ไป

๕. คิดต่อไปถึงการที่ “แยกครัว” เมื่อพ่อแม่แต่งงานลูกให้ไปตั้งบ้านช่องอยู่่ต่างหาก ก็เปนอันตั้งครัวขึ้นใหม่ทั้งครัวไฟและครัวเรือน ครัวที่ตั้งใหม่นั้นทั้งวัตรปฏิบัติของตัวคนและอาหารที่บริโภค ย่อมประดิษฐ์ขึ้นตามความนิยมของคนต่างสกุลซึ่งมาสมพงศกัน อัชฌาศัยและรสอาหารคงผิดกับครัวเดิมทั้งสองฝ่ายมิมากก็น้อย เพราะฉะนั้นการแยกครัวย่อมสดวกกว่าที่จะรวมหลายครัวเข้าเปนครัวเดียวกันเปนธรรมดา ถึงที่กุ๊กจะเปนอริวิวาทกันหรือไม่-ก็คงลำบากอยู่นั่นเอง.

  1. ๑. พระยาอินทรมนตรี ศรีจันทรกุมาร (แอฟ. เอช, ไยลส์ จิลลานนท์)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ