วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

ตั้งแต่ท่านเสด็จไปจากสงขลาแล้ว หม่อมฉันไม่ได้คาดว่าจะได้รับลายพระหัตถ์ก่อนเสด็จไปถึงหัวหินในสัปดาหะแรกของเดือนกรกฎาคม มาได้รับลายพระหัตถ์ซึ่งประทานมาจากสุราษฎร์ธานีก็ปลาดใจและดีใจทั้ง ๒ สถาน หม่อมฉันไม่ได้ไปเมืองสุราษฎร์ธานีที่บ้านดอนกว่า ๑๕ ปีมาแล้ว แต่นึกจำได้อยู่บ้างว่า ห้างอิสต์เอเซียติคเขาตั้งต่างฟากกับบ้านดอน แต่เรือนชานสถานที่จะเปนอย่างไร หม่อมฉันไม่ได้เห็นเมื่อเขาสร้างแล้ว

เรื่องตำนานเมืองสุราษฎร์ธานีนั้น หม่อมฉันพอจะทูลให้ทรงทราบได้ตามพระประสงค์ เดิมมีเมืองท่าทองเปนเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ริมทะเลในอ่าวบ้านดอนนอกเกาะปราบออกมา หม่อมฉันไม่เคยไปดูเคยแต่แล่นเรือผ่าน เขาชี้ให้ดูว่าบ้านท่าทองอยู่ตรงนั้นและว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรเปนปึกแผ่นแล้ว ตรงที่ตั้งเมืองเดี๋ยวนี้เดิมเรียกว่าบ้านดอน เพราะเปนที่ดอนเหมือนกับเกาะกลางที่น้ำท่วมโดยรอบ ปรากฏในพงศาวดารว่าเจ้าพระยานครน้อยไปตั้งต่อเรือรบและเรือพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่บ้านดอน คือเรือรบพวกที่ทำโรงรักษาไว้ที่คลองมหานาคและคลองบางกอกใหญ่ แต่หม่อมฉันสันนิษฐานว่าที่บ้านดอนเห็นจะเปนที่ต่อเรือสำหรับใช้ทางชายทะเลแหลมมลายูมานานแล้วเพราะทางน้ำหลวง หรือที่เรียกว่าลำน้ำตาปีเดี๋ยวนี้ หาไม้แก่นได้ง่าย แม้เมื่อเสร็จการต่อเรือรบในรัชชกาลที่ ๓ แล้วก็คงมีพวกต่อเรือขาย ตั้งทำการที่บ้านดอนสืบมาจนเปนที่มีภูมิลำเนาบ้านช่องแน่นหนา ถึงรัชชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยานครน้อยกลางถึงอสัญญกรรม การปกครองเมืองนครศรีธรรมราชอ่อนลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองท่าทองไปตั้งที่บ้านดอน แล้วยกฐานะเปนเมืองจัตวาขึ้นกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่าเมืองกาญจนดิษฐ์ และทรงตั้งบุตรเจ้าพระยานครน้อยคน ๑ ชื่อพุ่ม เปนพระกาญจนดิษฐบดี ผู้ว่าราชการเมือง อยู่มาจนรัชชกาลที่ ๕ ตำบลท่าข้าม (ตรงที่ทำสถานีรถไฟ) อยู่เหนือบ้านดอนสัก ๒๐๐ เส้น ลำแม่น้ำหลวงตื้นกว่าแห่งอื่น ที่ตรงนั้นจึงเปนทางหลวงที่ข้ามช้างม้า ผู้คนเดินทางบกระวางเมืองไชยากับเมืองนครศรีธรรมราช และเปนด่านสำคัญของเมืองนคร ฯ ในเวลามีศึกสงคราม เช่นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมราช กองทัพเมืองนครฯ ก็มาตั้งรับและได้รบกับกองทัพของกรุงธน ฯ ที่ท่าข้ามนี้ เมื่อทำทางรถไฟจึงกะทางผ่านท่าข้ามด้วยสดวกแก่การทำสะพานข้ามแม่น้ำหลวง

จะทูลต่อไปถึงวินิจฉัยเรื่องรอยพระพุทธบาทของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ที่ท่านตรัสมาในลายพระหัตถ์ หม่อมฉันไม่ทราบว่ากรมพิทย์เธอได้หลักมาจากไหน แต่หม่อมฉันเห็นว่าเธอทิ้งหลักเดิมเสีย หลักเดิมนั้นคือพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตเจดียสถานไว้ ๔ แห่ง คือที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ประทานปฐมเทศนา และที่เสด็จปรินิพพาน (พระธาตุเจดีย์หาได้ทรงอนุญาตไม่) เมื่อพระพุทธองค์เข้าพระนิพพานแล้ว พุทธสาวกบูชาแต่ที่เจดียสถานทั้ง ๔ แห่ง เพราะฉะนั้นพระธาตุเจดีย์ที่แบ่งแจกไปก่อพระสถูปประดิษฐานไว้ ณ ที่ต่างๆ ๘ แห่งจึงทรุดโทรมถึงสาปสูญไปบ้าง มาจนถึงพระเจ้าอโศกมหาราชจึงไปเที่ยวค้นหา รวบรวมเอาพระพุทธสรีรธาตุมาแจกจ่ายให้ไปเที่ยวทำพระสถูปประดิษฐานไว้ ณ ที่ต่างๆ พระธาตุเจดีย์เปนของเกิดนับถือกันขึ้นภายหลังพระบริโภคเจดีย์ทั้ง ๔ แห่งที่กล่าวมาข้างต้น รูปเครื่องหมายในพระพุทธสาสนาเกิดขึ้นที่บริโภคเจดีย์ก่อนต้องเกิดมีทั้ง ๔ แห่ง ที่ไหนจะเว้นที่ประสูติ รูปเครื่องหมายปางประสูติชั้นเดิมทำเปนดอกบัวกับรอยพระบาท มีปรากฎอยู่ในลายจำหลักที่พระสัญจิเจดีย์ ก็ถูกตามวิเคราะห์ในหนังสือปฐมสมโพธิว่าพระโพธิสัตว์ยืนเปล่งอุทาน “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺมิ” บนดอกบัวเมื่อแรกประสูติ รอยพระบาทก็หมายความว่า เมื่อทรงพระดำเนินไป ๗ ก้าวบนแผ่นทองที่ท้าวมหาพรห์มเอามารองรับเมื่อแรกประสูติ หม่อมฉันเห็นว่ามูลเดิมของรูปรอยพระบาทจะเกิดขึ้นดังกล่าวมา ภายหลังจึงมาตีความกันอย่างอื่น

ระเบียบแสดงเคารพของพระภิกษุ ที่สมเด็จพระมหาสมณฯ แสดงอธิบายและทรงแนะนำนั้น หม่อมฉันพิจารณาดูตามสำเนาคัดจากแถลงการณ์คณะสงฆ์ที่ประทานมา เห็นว่ามีทั้งที่ควรชมและควรติ ที่ควรชมนั้น คือที่ทรงพิจารณากิริยาแสดงความเคารพแต่โบราณ เอามาเทียบใช้ในสมัยปัตยุบัน ที่ควรตินั้น ที่ทรงอนุมัติในการที่พระมหานิกายสูงพรรษาถวายบังคมพระองค์ ถ้าห้ามอย่าให้ถวายบังคมจะดีกว่า

ในจดหมายฉะบับนี้หม่อมฉันจะทูลบันเล็งคดีอันหนึ่ง สำหรับทรงพิจารณา คือว่าด้วยระเบียบจัดท้องที่ในการปกครอง หม่อมฉันพิจารณาดูวิธีปกครองของไทย แต่เดิมเห็นจะกำหนดเขตต์เปน ๓ ชั้นโดยลำดับกันเรียกว่า เมือง บ้าน ช่อง (ที่เอามาใช้เรียกว่า “บ้านช่อง”) คำที่เรียกว่าอำเภอหรือตำบลเปนของเขมร ไทยรับใช้ต่อภายหลัง อธิบายของเขตต์ต่าง ๆที่ทูลมาเห็นจะกำหนดดังต่อไปนี้ คือ

ซ่อง เปนที่คนแรกไปตั้งรวบรวมกันอยู่ ยังไม่เปนปึกแผ่น

บ้าน เปนที่ซึ่งคนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ประจำเปนปึกแผ่นแล้ว แต่ราษฎรปกครองกันเอง

เมือง รวมที่หลายบ้านมีรัฐบาลและโรงศาลปกครอง

เมืองยังกำหนดต่างกันเปน ๓ ชั้น คือเมืองขึ้น (หรือเมืองออก) หัวเมือง และ เมืองหลวง

พิเคราะห์คำที่เรียกว่าเมืองขึ้นและเมืองออกนั้น หมายความอย่างเดียวกัน เช่น ใช้คำทั้ง ๒ นั้นเรียกตะวันขึ้นและตะวันออก หมายความว่ามีขึ้นใหม่ เมื่อผู้ปกครองประเทศใดให้จัดตั้งหมู่บ้านใดเปนเมืองหรือมิฉะนั้นเมื่อไปตีได้เมืองใด หรือมีเมืองใดมาขออ่อนน้อมยอมอยู่ใต้บังคับก็เรียกเมืองเหล่านั้นว่าเมืองขึ้นหรือเมืองออก เพราะเพิ่มขึ้นใหม่ทำนองเดียวกัน หัวเมืองนั้นคือเมืองใหญ่อันมีเมืองขึ้นอยู่ในอาณาเขตต์ เมืองหลวงนั้นเปนที่สถิตย์ของพระราชามหากษัตริย์ผู้ปกครองประเทศ หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้

หม่อมฉันหวังใจว่าท่านเสด็จไปประทับที่สำนักดิศกุล จะทรงสบายดีสำหรับหัวหิน ขอให้ทรงระวังอย่างหนึ่งด้วยบางปีมีตัวปึ่ง ถ้าปึ่งกัดพอเปนตุ่มรู้สึกคันขึ้นมา ต้องหาอะไรจะเปนปูนกินกับหมากก็ได้หรือขี้ผึ้งก็ได้ทาที่ตรงตุ่มเสียทันที หม่อมฉันเคยหลงไปว่าปึ่งมันกัดกินเลือดเหมือนยุงและมดจะเปนตุ่มอยู่หน่อยแล้วก็ยุบหายไปเอง แต่มันไม่เปนเช่นนั้น ทิ้งไว้มันเลยกำเริบเปนแผลอักเสบ หม่อมฉันเองถึงต้องหามกลับเข้าไปรักษาที่ในกรุงเทพฯ ถ้าเอาอะไรแต้มเสียก่อนแล้วก็ไม่เปนไร ขอได้โปรดกำชับผู้ที่ไปโดยเสด็จให้รู้กันไว้ แต่ว่าบางทีปีนี้จะไม่มีปึ่งก็เปนได้.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ