วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

เมื่อคราวเมล์วันจันทรที่ ๘ หม่อมฉันได้ส่งจดหมายไปถวายที่หัวหิน ด้วยประมาณว่าคงจะเสด็จไปถึงแล้ว ในรถเมล์เที่ยวนั้นเอง เมื่อลงมาก็เชิญลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๖ ซึ่งประทานมาจากหัวหิน พนักงานไปรษณีย์นำมาส่งหม่อมฉันเมื่อวันจันทรพอหม่อมฉันส่งจดหมายไปแล้ว หญิงนิลลงมาถึงปีนังเมื่อคราวเมล์วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ บอกว่าเมื่อรถไฟผ่านหัวหิน ได้พบคุณโตกับหญิงอามฝากเนื้อกับปลามาให้หม่อมฉัน ขอได้โปรดบอกด้วยว่าหม่อมฉันขอบคุณเปนอันมาก หญิงพิลัยบอกว่าหญิงอามมีจดหมายมาบอกว่าท่านเสด็จไปประทับที่สำนักดิศกุลทรงสบาย หม่อมฉันก็ยินดีด้วย

ความในลายพระหัตถ์ที่ตรัสเล่าถึงเสด็จไปประพาสเมืองท่าทองเก่า เปนการดีนักหนา ด้วยไม่ปรากฏว่าบุคคลชั้นสูงใครเคยไป เรื่องตำนานก็ได้ความดีขึ้นกว่าที่หม่อมฉันทราบ ที่เขาเรียกว่า นายพุ่ม นั้นก็คือ พระกาญจนดิษฐฯ(พุ่ม) ลูกเจ้าพระยานครน้อยที่หม่อมฉันทูลนั่นเอง แล้วได้เลื่อนเปนพระยาเมื่อได้ช้างเผือกเข้าไปถวายคือ “พระเศวตสุนทรสวัสดิ์” เมื่อเอาเข้าไปกรุงเทพฯ หม่อมฉันได้ไปดูเมื่อจะเอาขึ้นจากเรือใบที่ท่าเตียน ไปเห็นช้างอยู่ในท้องเรือปลาดใจว่าเอาลงไปอย่างไร และจะเอาขึ้นอย่างไร ถามเขาบอกอธิบายว่า เมื่อจะเอาช้างลง เอาดินและหยวกกล้วยประสมกันถมระวางตรงที่จะบรรทุกช้างนั้น จนเต็มขึ้นมาเสมอดาดฟ้าเรือ ให้ช้างลงยืนตรงที่ถมนั้นแล้วค่อยขนดินและหยวกกล้วยขึ้น พื้นที่ช้างยืนก็ต่ำลงโดยลำดับจนถึงท้องเรือ แล้วกั้นคอกกันตัวช้างในท้องเรือ เมื่อจะเอาช้างขึ้นบกก็จะถมท้องเรือ ยกพื้นตรงที่ช้างอยู่ให้สูงขึ้นถึงดาดฟ้าอย่างนั้นเหมือนกัน ได้ฟังอธิบายเขาบอกเมื่อคราวนั้น มาอ่านหนังสือเก่ากล่าวว่าไทยเคยส่งช้างไปขายถึงอินเดียแต่โบราณ ก็เข้าใจได้ว่าเอาไปอย่างไร

ฟังตรัสเล่าถึงเรื่องเสด็จไปเมืองท่าทอง ว่าเรือไปติดและต้องลำบากในทะเลอ่าวบ้านดอน ทำให้หม่อมฉันนึกถึงความหลังที่หม่อมฉันครั่นคร้ามเคยเข็ดมาช้านาน เพราะอ่าวบ้านดอนเปนอ่าวกว้างใหญ่แต่น้ำตื้น และมักมีลมและคลื่นใหญ่ บางทีท่านจะทรงลืมไปเสียแล้ว คราวแรกเราเคยไปด้วยกันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ร.ศ. ๑๐๗) เมื่อครั้งยังอยู่ในยุทธนาธิการ ไปเรือแคลดิส กรมขุนมรุพงศ ฯ และพระยาชลยุทธ ฯ ก็ไปด้วย ได้แวะที่อ่าวบ้านดอนทอดสมออยู่ตรงเกาะปราบ แล้วลงเรือกรรเชียง หมายจะขึ้นไปดูเมืองกาญจนดิษฐ์ ตีกรรเชียงไปได้สักชั่วโมงหนึ่งทวนลมทนคลื่นโต้หน้าไม่ไหวต้องกลับ ต่อมาอีกปี ๑ หม่อมฉันไปตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองกาญจนดิษฐ์จากเมืองไชยา มีเรือไฟจูง กะเวลา ๔ ชั่วโมงจะไปถึง ไปถูกติดตื้นต้องเข็นกันเรื่อยไป กลายเปน ๘ ชั่วโมงจึงไปถึง ต้องเปลี่ยนโปรแกรมเปนประทับแรม เปนคราวแรกของการเสด็จประพาสต้น รุ่งขึ้นขาเสด็จกลับก็ไปถูกพายุฝน ไปเต็มวันจึงถึงเรือพระที่นั่งที่เมืองไชยา หม่อมฉันจึงระอาอ่าวบ้านดอนแต่นั้นมา ต่อเมื่อพระยามหิบาล ฯ เปนเจ้าเมือง เขามีเรือไฟและมีอุบาย คือกำหนดให้ขึ้นจากเรือใหญ่แต่กำลังน้ำขึ้น ไม่เลือกว่าเวลาใด หม่อมฉันเคยขึ้นเวลา ๓ ยามก็ครั้งหนึ่ง จึงไปถึงเมืองได้สดวก หม่อมฉันไปทางเรือคราวหลังที่สุดเมื่อจะสร้างทางรถไฟ ด้วยมีปัญหาว่าเมื่อมีทางรถไฟการค้าขายเจริญจะควรตั้งเมืองอยู่ที่บ้านดอน อันน้ำท่วมรอบเหมือนที่เกาะจะขยายให้ใหญ่ออกไม่ได้ หรือจะคิดย้ายเมืองไปตั้งที่ท่าข้ามให้ใกล้กับทางรถไฟ หม่อมฉันไปพิจารณาดูครั้งนั้นเห็นว่าที่ท่าข้ามมี “ควน” (คือเขาดิน) เปนที่ดอนและที่งาม จึงสั่งให้จองเตรียมไว้เปนที่สร้างเมืองข้างตอนใต้ ให้ปล่อยที่เปนทำเลค้าขายได้ข้างตอนเหนือ แล้วให้รอดูต่อไป ถ้าพวกพ่อค้าทิ้งบ้านดอนย้ายขึ้นไปตั้งใกล้ทางรถไฟ จึงจะย้ายเมืองตามขึ้นไป การค้างอยู่เพียงนั้นหม่อมฉันก็ออกจากกระทรวงมหาดไทย ออกแล้วไม่ช้าในเวลาพระยามหาอำมาตย์ ฯ เปนผู้รั้งกระทรวงมหาดไทย สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประพาสหัวเมืองแหลมมลายู พระยามหาอำมาตย์ฯ ทราบความคิดของหม่อมฉันอยู่ก่อน จึงสั่งให้ทำพลับพลารับเสด็จที่ควนท่าข้ามซึ่งหม่อมฉันสั่งให้จองไว้นั้น สมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เสด็จไปประทับโปรดที่นั้น จึงตรัสสั่งให้ย้ายเมืองจากบ้านดอนไปตั้งที่ท่าข้ามและพระราชทานนามใหม่ว่า เมืองสุราษฎร์ธานี แต่เมื่อย้ายสถานที่ในราชการไปตั้งที่ควนท่าข้ามแล้ว พวกพ่อค้าไม่ย้ายตามไปเพราะการค้าขายที่บ้านดอนยังดีกว่าที่ท่าข้าม พวกข้าราชการไปอยู่ที่ท่าข้ามได้ความลำบาก พวกพ่อค้าที่บ้านดอนก็พากันร้องทุกข์ว่าจะหาอาณาประชาบาลยากนัก จึงย้ายเมืองกลับมาตั้งที่บ้านดอนตามเดิม เปนจบเรื่องประวัติเมืองสุราษฎร์ธานี ที่หม่อมฉันได้ทูลเรื่องตอนข้างต้นไปในจดหมายฉะบับก่อน

ในเวลานี้นับว่าท่านได้เสด็จเที่ยวประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ในแหลมมลายูทั่วทุกแห่งแล้ว หม่อมฉันจะทูลบันเล็งถึงเรื่องโบราณสถานที่มีตามหัวเมืองเหล่านี้ต่อไป

โบราณสถานที่ปรากฎอยู่ในหัวเมืองปักษ์ใต้ ที่ทำให้น่าเชื่อว่าจะเคยตั้งเปนบ้านเมืองแต่โบราณมีแต่ ๓ แห่ง คือที่เมืองไชยาแห่ง ๑ (ที่เรียกว่าเมืองเวียงสระนับอยู่ในเขตต์นี้ด้วย) เมืองนครศรีธรรมราชแห่ง ๑ เมืองยะลาแห่ง ๑ ใน ๓ แห่งนี้ที่เมืองไชยาดูจะเคยเปนเมืองใหญ่โตกว่าเพื่อน เมืองนครศรีธรรมราชพึ่งมาเปนเมืองใหญ่ เมื่อรับพระพุทธสาสนาลังกาวงศ ร่วมสมัยสุโขทัย แต่เมืองยะลาไม่มีหลักฐานนอกจากพระนอน ปลาดอยู่ที่เมืองชุมพร ถ้าว่าตามระยะอยู่ห่างเมืองไชยามาข้างเหนือ พอได้ขนาดกับเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ห่างไปข้างใต้ ถ้าว่าโดยภูมิประเทศ ก็เปนที่ข้ามแหลมมลายูได้ง่ายกว่าแห่งอื่น ควรจะมีเมืองโบราณอยู่ที่ชุมพรอีกสักเมือง ๑ หม่อมฉันได้ให้ค้นทั่วทุกหนทุกแห่งก็ไม่พบสิ่งอันใดในแขวงเมืองชุมพร ที่จะส่อให้เห็นว่าเคยเปนบ้านเปนเมืองแต่โบราณ จะเปนเพราะเหตุใดยังฉงนอยู่ ถ้าว่าด้วยโบราณวัตถุ คือของที่เคลื่อนที่ได้ ของฝีมือชาวอินเดียสมัยคุปตะพบเรี่ยรายในที่หลายแห่ง แต่โบราณสถานที่ปรากฏอยู่ยังบริบูรณ์แต่พระธาตุไชยา เปนฝีมือสมัยศรีวิชัยภายหลังสมัยคุปตะมา ถึงกระนั้นพระธาตุไชยาก็เปนโบราณสถานเก่ากว่าเพื่อนที่ยังปรากฏอยู่ในเวลานี้ พระมหาธาตุนครศรีธรรมราชนั้นหม่อมฉันเคยทราบจากพระครูเทพมุนี (ปาน) ว่าเมื่อทำการปฏิสังขรณ์จะปูพื้น “วิหารพระม้า” ได้ขุดพื้นลงไปพบบรรไดพระธาตุอีกองค์ ๑ อยู่ใต้พระมหาธาตุ หม่อมฉันก็เข้าใจว่าพระมหาธาตุเดิมคงเปนมณฑปอย่างเดียวกับพระธาตุไชยา และสร้างในสมัยศรีวิชัยด้วยกัน ครั้นพวกลังกาวงศมาถึงเมื่อฟื้นพระสาสนาในคราวนั้น จึงก่อพระสถูปอย่างพระเจดีย์ลังกาสวมพระธาตุของเดิม โบราณวัตถุครั้งสมัยศรีวิชัยมีพระพิมพ์ดินดิบอีกอย่าง ๑ นอกจากนั้นวัดวาที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทธลุงที่ปรากฏอยู่ ดูเปนของครั้งสมัยอยุธยาแทบทั้งนั้น

เมื่อเร็ว ๆ นี่หญิงเหลือเอาหนังสือพิมพ์มาให้หม่อมฉันดู มีเรื่องเจ้าพระยาวรพงศฯ ฟ้องพวกคณะหนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญเปนคดีหมิ่นประมาท หม่อมฉันนึกว่าเรื่องนี้คงจะได้ผ่านพระเนตร์ท่านแล้ว ดูเปนน่าอนาถใจในความดำเนินของโลก ถึงกล้าใส่ร้ายคนว่ารื้อถอนยักยอกของอันยังปรากฏอยู่ตำตา.

 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พุ่ม ณ นคร

  2. ๒. พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ