วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

รถไฟเมลซึ่งเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ เดือนนี้ ไม่มีลายพระหัตถ์ส่งเข้าไปตามเคย แต่ไม่ตกใจอะไร คาดว่าคงเปนด้วยคับขันถูกวันงานศพพระยาพฤฒาสกัดหน้า วันเสด็จไปเมืองพะม่าสกัดหลัง ต้องทรงรีบเร่งแต่งประวัติพระยาพฤฒาให้แล้วก่อน ไม่มีเวลาจะทรงเขียนลายพระหัตถ์ประทาน ไม่ใช่ประชวน

หนังสือถวายฉะบับนี้ จะเปนฉะบับที่สุดในกาลนี้ แล้วจะงดไม่เขียนถวายมาอีกจนกว่าจะเสด็จกลับจากเมืองพะม่า

จะกราบทูลเรื่องเมืองพะม่าไว้ลางข้อ เมื่อคราวเกล้ากระหม่อมไปเที่ยว ไปนมัสการพระมหามัยมุนี นึกขึ้นมาถึงรูปพระโพธิสัตว ๕๕๐ พระชาติ ซึ่งในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าพะม่ากวาดเอาไปจากวัดพระศรีสรรเพชญ์สงสัยว่าจะเอาไปบูชาไว้ที่พระมหามัยมุนีนั้น จึงลองถามเขาดูว่ามีรูปสัตวหล่อด้วยทองคำสำฤตอยู่ที่นั้นหรือไม่ เขาบอกว่ามี เขาพาไปดู ได้เห็นมีอยู่สามรูป มีสิงห์เขมรคู่หนึ่ง กับช้างสามเศียร (ขาหัก) ตัวหนึ่ง รูปสิงห์นั้นก็ใหญ่เท่ากับที่ในวัดพระแก้ว เปนฝีมือเขมร แต่เลวกว่าที่ในวัดพระแก้วเปนอันมาก รูปช้างสามเศียรก็ใหญ่ไล่เลี่ยกัน ดูจะเปนฝีมือไทย เชื่อว่ารูปเหล่านั้น เปนของกวาดเอาไปจากเมืองไทย แต่ไม่ใช่รูปพระโพธิสัตวตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฝ่าพระบาทเสด็จไปคงจะได้ทอดพระเนตรเห็นแลทรงพิเคราะห์ดูขะบวรการปลูกสร้างแบบพะม่า จะเปนแบบหลังคาคฤห์ก็ดี เครื่องยอดก็ดี เขาทำงามยิ่งหนัก งามทั้งซวดทรง งามทั้งฝีมือฉลักเฉลาขะบวรรูปภาพแล้วเขาฉลักดีมาก ทั้งประกอบเข้ากับสิ่งที่ปลูกสร้างสนิทดีด้วย เกล้ากระหม่อมเคยกราบบังคมทูลรับสารภาพแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าว่าการปลูกสร้างของเราสู้ของพะม่าไม่ได้ ก็ตรัสรับรองว่าจริง

พระพุทธรูปมีงามๆ มากทีเดียว แต่ที่รูปงามนั้นดูจะเปนรูปของใหม่ซึ่งฝีมือเชี่ยวชาญขึ้นในภายหลัง นึกได้พระนอนฉลักด้วยศิลาขาวองค์หนึ่ง ใหญ่เห็นจะเกือบสองเท่าคน อยู่ที่ศาลาหลังหนึ่งในวงพระธาตุตะเกิงที่ร่างกุ้ง พระหล่อก็ได้เห็นกับตันเรือเอามาตั้งไว้ที่ม้าหน้ากระจกในเรือองค์หนึ่ง งามจับใจมาก พระพุทธรูปของพะม่านั้น ชายผ้าที่ห้อยจากพระอังษาลงมาที่พระอุระเขาทำพลิกแพลงไม่ค่อยซ้ำกัน ดูพิสดารมาก นึกอยากจะได้สักองค์หนึ่งก็หาไม่ได้

ทูลมาถึงเรือ เรือโฟลติลล่าที่เขาเดินรับส่งคนโดยสาร แต่ร่างกุ้งขึ้นไปมัณฑเลนั้นรู้สึกว่าดีอย่างสวรรค์ ไม่มีเรืออะไรสู้ แบ่งเปนส่วนสัดไม่กลุ้มกล้ำ พวกพนักงานทำการเดินเรืออยู่ชั้นล่างทั้งนั้น ส่วนชั้นบนพวกคนโดยสารอยู่เปนอิสระ เสด็จไปคงจะได้ทรงรู้สึก หากว่าเขาไม่ได้เปลี่ยนเรือเสียเปนอย่างใหม่ไปแล้ว

แม่น้ำอิรวดีนั้นงามหนัก แม้จะต้องไปในเรือกินเวลาหลายวันก็ไม่เบื่อชมทำเลในแม่น้ำอันมีท่วงทีต่างๆ กันเพลิน ลางแห่งกว้างดุจทะเลแลเห็นฝั่งลิบๆ แต่ดีเพียงดูงามเท่านั้น ส่วนการเดินเรือนั้นเดินยากด้วยน้ำตื้น มีร่องน้ำเดินได้แต่โดยจำเพาะ ต้องวัดน้ำตะโกนบอกกันเกือบไม่ได้หยุด ออกจะหนวกหู

ทางรถไฟนั้นแพ้ ไม่เคยเห็น ด้วยเมื่อเกล้ากระหม่อมไปเขายังไม่ได้ทำ

นึกขึ้นมาได้ถึงเมื่อไปเมืองพะม่าคราวนั้น ไปจากสิงคโปร์ด้วยเรือชื่อว่า “อาฟริกา” ในเรือนั้นแมงสาบชุมเหลือล้นพ้นประมาณ อาหารที่เปนแป้งเช่นขนมปังเปนต้น กินไม่ได้เลย เหม็นขี้แมงสาบ ใช่แต่เท่านั้น เวลานอนหลับยังดอดมาตอมแทะหนังปลายนิ้วมือ ฉุนเหลือประมาณ ต้องลุกขึ้นจุดเทียน ฉวยได้รองเท้าข้างหนึ่งออกตามหาแมงสาบทั่วเขตต์ที่คนโดยสาร พบเข้าที่ไหนก็ทุบด้วยรองเท้าตายที่นั้น จนศพแมงสาบเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไป เช้าขึ้นคนกวาดมันจะด่าเอาพอแรงหรืออย่างไรไม่ทราบ ทั้งนี้เห็นว่าเปนความผิดของกับตันที่แกไม่เอาธุระเสียเลย ได้สังเกตเวลารับประทานอาหาร ขนมปังเหม็นขี้แมงสาบจนเรากินไม่ได้ แต่ตากับตันกินได้หน้าเฉย แกไม่รู้สึกอะไรเสียเลย

หนังสือคราวนี้จะเขียนเรื่องท้ายจรณัมทูลแถมถวาย ทราบแล้วว่าไม่ใช่เปนของใหม่ที่ควรจะทูลถวายฝ่าพระบาทให้ทรงทราบ แต่เพื่อจะเขียนให้เปนลายลักษณอักษรลงไว้ ตามกระแสพระดำริของฝ่าพระบาท เพื่อจะไม่ให้การที่ไต่สวนได้สูญหายไปเสียโดยพลัน และหากว่าข้อความที่เขียนถวายนี้มีข้อใดพลั้งพลาดไปบ้าง ฝ่าพระบาทจะได้ทรงคัดค้านอธิบายเพิ่มเติมเข้า เพื่อให้เรื่องราวเปนหลักฐานดีขึ้นอีก

อันคำว่า “ท้ายจรณัม” นั้นประหลาดอยู่หนักหนา ด้วยว่าเปนคำที่มีเสน่ห์ใครๆ ก็รักจะใช้โดยไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และรูปร่างเปนอย่างไร

คำที่ประกอบด้วย “จรณัม” ในเมืองเราใช้อยู่สองอย่าง คือ “ซุ้มจรณัม” อย่างหนึ่ง กับ “ท้ายจรณัม” อีกอย่างหนึ่ง

คำซุ้มจรณัมนั้น ใช้เรียกซุ้มหน้าต่างอย่างที่ทำเปนเสามีหลังคา จะเปนหลังคาคฤห์หรือหลังคายอดก็เรียกซุ้มจรณัมเหมือนกัน

คำท้ายจรณัมนั้น มีมาในหนังสือพระราชพงศาวดาร เมื่อเจ้านายที่ใหญ่โตสิ้นพระชนม์ถวายพระเพลิงแล้ว ก็เชิญพระอัฏฐิไปบรรจุไว้ที่ท้ายจรณัมวิหารพระศรีสรรเพชญ์ ด้วยอยากจะทราบว่าที่ออกชื่อท้ายจรณัมนั้นมีลักษณเปนอย่างไร จึงได้ไปดูที่ท้ายวิหารพระศรีสรรเพชญ์ เห็นมีคันอิฐก่อติดผนังวิหารเปนห้องสี่มุม ท่วงทีเปนมุขเด็จหลังวิหาร แต่จะเปนมุขเสาลอยหรือมีผนังก็หาทราบได้ไม่ เพราะพังเสียหมดแล้ว ในนั้นมีกองอิฐก่อพอสันนิษฐานได้ว่าเปนพระเจดีย์

ดูอภิธานสํสกฤต ศัพท์ “จรณํ” เขาให้คำแปลไว้ว่าเสา จึงมาใคร่ครวญเห็นว่า ซุ้มจรณัมนั้น เดิมจะปักเสาห่างออกมาจากผนังประธานสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำหลังคาขึ้น เบื้องบนฝากผนังประธาน เหมือนอย่างซุ้มที่ตั้งพระพุทธนฤมิตรหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามฉะนั้น ถ้าทำติดกับช่องหน้าต่างก็จะเปนทีบัลโคนีของฝรั่งนั้นเอง

แต่ประเทศตะวันออกมีแดดมากฝนมาก จึงปักเสาที่มุมนอกบัลโคนีมีหลังคาครอบเพื่อกันแดดฝน ภายหลังไม่ต้องการให้เกะกะ จึงผลักเข้าไปให้แนบติดฝา กลายเปนซุ้มหน้าต่างเครื่องประดับประดาให้งามไป

ตามความเห็นเช่นนี้ เมื่อปรับกับท้ายจรณัมวิหารพระศรีสรรเพชญ์ก็เข้ากันได้ จรณัมที่นั้นจะเปนเสาลอย หรือมีฝากรุในระหว่างช่องเสาด้วยก็ไม่ขัดข้อง พระเจดีย์ที่ในซุ้มจรณัมนั้นพังเสียมากแล้ว เห็นท่าทางอะไรไม่ได้ แต่มีพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งซึ่งอยู่ไกลออกไป ทำไว้ในกลางห้างผนังจตุรัศรตั้งอยู่ลอยตัวเข้าใจว่าหลังคาห้องจะเปนมณฑปที่องค์พระเจดีย์ในนั้นทำเปนตรุเล็ก ๆ ไว้รอบองค์ มีอยู่มากหลายตรุ เห็นได้ด้วยคนคร้านไปเจาะขุดค้นหาทรัพย์ทิ้งรอยไว้ ไม่เห็นตรุนั้นจะทำไว้เพื่อสิ่งไรนอกจากบรรจุอัฏฐิ จึงคิดว่าพระเจดีย์ที่ซุ้มจรณัมท้ายวิหารพระศรีสรรเพชญ์นั้นก็คงทำอย่างเดียวกัน

โดยนัยดังกล่าวมานี้ จึงเห็นว่าคำซุ้มจรณัมนั้น ต้องตกเปนเรือนเล็กซึ่งทำติดฝากอยู่กับเรือนใหญ่ คำว่าท้ายจรณัมก็คือท้ายพระวิหารตรงที่มีซุ้มจรณัมนั้นแล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ