วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

จดหมายฉะบับนี้ หม่อมฉันทูลตอบลายพระหัตถ์ที่ประทานมาจากสำนักดิศกุล หัวหิน เมื่อวันที่ ๑๗ ฉะบับ ๑ กับวันที่ ๒๐ อีกฉะบับ ๑

หม่อมฉันเสียดายที่ต้องเสด็จกลับจากหัวหินก่อนกำหนดเดิม เพราะไม่ทรงสบายด้วยระดูกาลวิปริต หญิงอามก็มีจดหมายบอกหญิงพิลัยมาว่าพากันเปนหวัดไปหลายคน เห็นจะตรงตามที่หม่อมฉันทูลปรารภไปในจดหมายฉะบับก่อน ว่าปีนี้สังเกตระดูกาลมันออกจะวิปริตไปทุกหนทุกแห่งแม้จนในยุโรป ขอให้ทรงถือเอาเปนนิสสัยปัจจัยไว้ ถ้าเหมาะพระหฤทัยเมื่อใดก็เสด็จลงมาประทับที่สำนักดิศกุลได้ทุกเมื่อ งาน “ระเบ็ง” ของท่านนั้น บางทีจะต้องมีเมื่อเทศกาลทอดกฐินอีกคราวหนึ่งก่อนขึ้นปีใหม่ดอกกะมัง ขอให้ทรงพระดำริเตรียมไว้

จะทูลสนองลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๐ ต่อไป เรื่องเมืองเก่าที่เมืองชุมพร ซึ่งทรงสงสัยว่าจะอยู่ที่ตำบลคะเงาะนั้น ปลาดใจหม่อมฉันนักหนาทีเดียว ด้วยไม่เคยได้ยินชื่อตำบลคะเงาะมาแต่ก่อน จะเปนเพราะเหตุใดก็แปลไม่ออก หม่อมฉันเคยไปชุมพรนับครั้งไม่ถ้วน เรื่องเมืองเก่าก็ได้เอาใจใส่สืบสวนมาช้านาน ถามถึงท้องที่อันเปนภูมิลำเนาสำคัญในแขวงเมืองชุมพร เขาก็บอกแต่ชื่อตำบลอื่นเช่น รับร่อ และท่าแซะ เปนต้น แต่ตำบลคะเงาะนี้ไม่เคยมีใครบอกให้ได้ยิน ถ้าเคยได้ยินแล้วจะลืมเสียไม่ได้เลย เพราะพ้องกับชื่อออกญาเคางะธราธิบดี ศรีสุรัตวลุม หนัก ส่อให้เห็นว่าเมืองคงจะอยู่ตรงนั้น แม้เปนเวลาหมดโอกาสและสิ้นกิจแล้วก็ยังอยากรู้ หม่อมฉันคิดจะวานให้ชายแถมและชายเติมที่อยู่ชุมพรให้ช่วยสืบต่อไป

เรื่องพระพุทธรูปทำด้วยศิลาทรายสีแดงซึ่งตรัสถามมานั้น หม่อมฉันเคยเอาใจใส่พิจารณามาบ้าง สังเกตศิลาที่ใช้ทำพระพุทธรูปในเมืองไทยแต่โบราณ ใช้หินปูนที่เปนศิลาเนื้อแข็งอย่าง ๑ ใช้หินทรายที่เปนศิลาเนื้ออ่อนอย่าง ๑ พระพุทธรูปและเจดียวัตถุอย่างอื่น เช่นพระธรรมจักรเปนต้น ชั้นเก่าที่สุดทำด้วยหินปูนทั้งนั้น และหินปูนที่ใช้นั้นมีเปน ๒ อย่าง คืออย่างสีเขียวเนื้อเลอียด มักทำพระพุทธรูปทางเมืองลพบุรี มีตัวอย่างประดิษฐานอยู่ที่มุขพระระเบียงวัดเบญจมบพิตรข้างด้านนอกหลายองค์ หินปูนอย่างสีเขียวจะได้มาจากไหน แต่แรกหม่อมฉันไม่ทราบ ต่อได้เห็นศิลาที่เขาถมเปนอับเฉาทางรถไฟสายเหนือ มีชั้นศิลาเขียวอย่างนั้น จึงทราบว่าคงมีอยู่ตามภูเขาในแขวงเมืองลพบุรีนั่นเอง หินปูนอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ทำพระพุทธรูป เปนศิลาเนื้อหยาบสีจาง ใช้ทำเครื่องศิลาที่พระปฐมเจดีย์ หม่อมฉันเข้าใจว่าคงเอามาจากภูเขาในแขวงเมืองราชบุรี พอจะกล่าวเปนยุติได้ว่า ในสมัยทวาราวดีใช้หินปูนทั้งนั้น หินทรายพึ่งมาใช้เมื่อสมัยขอมมาเปนใหญ่ คงเอาวิธีการก่อสร้างทางเมืองเขมรมาทำในประเทศนี้ และทำที่เมืองลพบุรีก่อนแห่งอื่น ภูเขาหินทรายในแขวงเมืองลพบุรีก็มีมาก แต่หินทรายทางเมืองลพบุรีเปนสี (เปนสีอะไรหม่อมฉันเรียกไม่ถูก จะสมมตเรียกว่า) สีโคลน เครื่องศิลาจำหลักซึ่งสร้างในสมัยขอมใช้ศิลาทรายสีโคลนทั้งนั้น มีใช้ศิลาทรายสีแดงแต่ที่เมืองราชบุรี เพราะเขาศิลาทรายสีแดงมีอยู่ใกล้ๆ ถ้าว่าตามแบบอย่างของที่สร้าง การที่ใช้สร้างด้วยศิลาทรายสีแดงเห็นจะเริ่มใช้เมื่อปลายสมัยขอมต่อกับสมัยกรุงศรีอยุธยา และมาใช้มากต่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อหม่อมฉันไปที่พระมหาธาตุเมืองไชยา ได้นึกปลาดใจแล้วอย่างท่านทรงสังเกตว่าที่นั่นมีพระพุทธรูปศิลาทรายแดงมากกว่าที่ไหน ๆ ทางข้างใต้ เมื่อหม่อมฉันไป เขาพึ่งขุดพบพระพุทธรูปศิลาทรายแดงองค์ใหญ่ในลานพระมหาธาตุนั้น ๒ องค์เอาขึ้นตั้งไว้ องค์หนึ่งหน้าตักกว่า ๓ ศอก แปลกเพื่อนที่ทำด้วยศิลาแท่งเดียวไม่มีที่ต่อตรงไหน หม่อมฉันเห็นเปนของอัศจรรย์ ได้แนะเขาไว้ว่าให้ตั้งไว้ทั้งเปนศิลาอย่างนั้น อย่าให้ไปตกแต่งปั้นพอกหรือปิดทองให้เสียโฉม แต่เขาจะได้ทำตามคำแนะนำนั้นหรือไม่หม่อมฉันไม่ทราบ มูลเหตุที่มีพระศิลาทรายแดงที่เมืองไชยามากก็คงเปนเพราะมีภูเขาศิลาทรายสีแดงอยู่ใกล้ๆ หาได้ง่าย เหมือนอย่างทางข้างเหนือหาศิลาทรายแดงได้ง่าย ๆ ที่เมืองราชบุรี พิเคราะห์ลักษณพระพุทธรูปศิลาทรายแดงที่เมืองไชยา มีทำชั้นเก่าถึงปลายสมัยศรีวิชัยซึ่งพอทันสมัยขอมอยู่บ้าง เช่นพระพุทธรูปที่พระพักตร์แบบเดียวกันกับพระนาคปรกสัมฤทธิ์ที่หม่อมฉันได้ไปจากวัดเวียง ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานที่กรุงเทพ ฯ เดี๋ยวนี้ แต่ของที่สร้างชั้นนั้นมีน้อย เปนแบบของสร้างสมัยอยุธยามีมาก ส่อให้เห็นว่าในสมัยเมื่อสร้างพระพุทธรูปศิลาทรายแดงที่เมืองไชยานั้น เมืองไชยาคงจะยังบริบูรณ์มีผู้คนมาก และพระมหาธาตุไชยาจะยังนับถือกันเปนมหาเจดียสถาน แต่ถ้าจะชี้ลงไปจนถึงเมื่อราวศักราชเมื่อใด หม่อมฉันยังหาหลักฐานไม่ได้

ที่ตรัสถามปัญหาเรื่องชื่อวัด มกุฎกษัตริย์ หรือ มงกุฎกษัตริย์ ว่าอย่างไหนจะถูกนั้น หม่อมฉันพิจารณาด้วยอาศัยเอกสารต่าง ๆ ที่มีติดตัวอยู่ที่นี่ ได้ความพอจะถือเปนยุติได้โดยมีหลักฐานดังจะทูลต่อไปนี้ คือ

๑. คำว่า มงกุฎ ใช้เปนภาษาไทยมาแต่โบราณ เหมือนเช่นพระนามทูลกระหม่อมที่ได้พระราชทานแต่แรกก็เรียกว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรเมื่อเสวยราชย์ก็ใช้ว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ มีลายเซ็นพระราชหัตถเลขาเปนหนังสือฝรั่งจำลองพิมพ์ไว้ในหนังสือประวัติวัดมกุฎกษัตริย์ ซึ่งพระสาสนโศภนพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ นี้ ก็ใช้ตัวอักษร MONGKUT ตรงกับ มงกุฎ ดังนี้ คำว่า มงกุฎ ใช้เปนภาษามคธ แต่ทูลกระหม่อมทรงเซ็นพระนามด้วยอักษรไทยทรงเซ็นว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ มีจำลองพิมพ์ไว้ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่ ๕ ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสา ฯ ทรงพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ดังหม่อมฉันวานหญิงพิลัยวาดเส้นส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉะบับนี้ ทูลกระหม่อมเองทรงเขียนพระนามพระองค์เองทั้ง มงกุฏ และ มกุฎ ดังทูลมา คิดดูว่าจะทรงถือเกณฑ์อย่างไรก็ยังไม่เห็นชัด หรือจะใช้ว่า มงกุฎ ในทางราชการเพราะตรงกับพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตร และจะทรงเซ็นว่า มกุฎ เมื่อใช้เปนส่วนพระองค์ด้วยถูกต้องในทางภาษาเดิม จะเปนอย่างนี้ดอกกะมัง แต่อย่างไรก็ดีสำหรับวัดมกุฎกษัตริย์นั้น ในหนังสือประวัติวัดที่พระสาสนโศภนพิมพ์ มีสำเนาประกาศพระราชทานที่วิสุงคามสีมา ในประกาศนั้นเรียกว่า วัดมกุฎกษัตริยาราม เพราะฉะนั้นหม่อมฉันเห็นว่าที่ถูกควรใช้ว่า วัดมกุฎกษัตริย์ แต่ถึงจะใช้อย่างนั้นคำคนเรียกก็คงเรียกว่า วัดมงกุฎ อยู่นั่นเอง

สัปดาหะนี้ไม่มีเรื่องอะไรจะทูลนอกจากมีหนังฉายมาเล่น เปนหนังแปลกปลาดน่าดูเรื่อง ๑ เรียกว่า SEQUOIA ผูกเรื่องคล้ายกับเรื่องเสือโคของเรา คือเดิมมีลูกเสือกำพร้าตัว ๑ ลูกกวางกำพร้าตัว ๑ เด็กหญิงคน ๑ ได้มาเลี้ยงไว้ด้วยกันแต่เล็ก จนสัตว์ทั้ง ๒ นั้นเคยคุ้นรักชอบกัน ครั้นสัตว์ทั้ง ๒ นั้นเติบใหญ่ขึ้นจะเลี้ยงไว้ในบ้านไม่ได้ ต้องพาไปปล่อยป่า สัตว์ทั้ง ๒ นั้นก็เลยไปเปนมิตรกันและยังคิดถึงคุณคนที่เลี้ยง ทีหลังมามีพรานไปพยายามจะยิงกวาง เสือกับกวางนั้นช่วยกันต่อสู้ประหารพรานได้ หนังเรื่องนี้ปลาดที่พยายามหัดเสือกับกวางให้ชอบกันได้ถึง ๓ ชั่ว คือคู่แรกหัดลูกเสือลูกกวางที่ยังเล็ก ให้ชอบกันสำหรับถ่ายรูปตอนต้นเรื่อง แล้วหาเสือกับกวางที่พอรุ่นมาหัด ให้ชอบกันสำหรับถ่ายรูปตอนกลางเรื่องอีกคู่ ๑ คู่ที่สุดที่เปนเสือใหญ่กวางใหญ่นั้น หัดเสียจนชอบกันเหลือเกิน จนหยอกเอินเล่นกันเหมือนพี่น้อง น่าดูมาก ได้ยินว่าหนังเรื่องนี้เคยเข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ แล้ว แต่ไปเล่นเมื่อท่านเสด็จไม่อยู่ หม่อมฉันนึกว่าท่านยังไม่ได้ทอดพระเนตร์จึงเล่าถวาย.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ