วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ได้รับประทานแล้ว ขอประทานทูลความลางประการต่อไปนี้

ซองตัวอย่างที่สอดถวายมาคราวก่อน ไม่ได้กราบทูลอะไรประกอบ เพราะปรารถนาเพียงว่าจะให้ทรงทราบความเปนไปไว้บ้างเท่านั้น ซองที่ถวายมานั้น ไม่ใช่ใบที่ได้รับเปนครั้งแรก

เรื่องเรือน ที่จะกำหนดลงไปว่าซึ่งได้ชื่อว่าเรือนเพราะพื้นสูงนั้น ยังสงสัยอยู่มาก เรือนชาวบ้านที่มีใต้ถุนสูงโทงเทงนั้น เมื่อคิดดูว่าทำเพื่ออะไรก็เห็นว่าทำเพื่อหนีน้ำท่วม โคกที่ปลูกเรือนหลวง ซึ่งมักเรียกกันว่าโคกปราสาทนั้น ก็เพื่อหนีน้ำท่วมเหมือนกัน แล้วก็นึกต่อไปว่าเรือนหลวงซึ่งปลูกบนโคกนั้นจะมีใต้ถุนสูงโทงเทงเหมือนเรือนชาวบ้านหรือ ก็เห็นว่าไม่จำเปน เพราะหนีน้ำพ้นแล้ว ในเมืองมัญฑเลแห่งประเทศพะม่ายังมีเรือนหลวงบนโคกปรากฎอยู่ เปนเรือนพื้นเตี้ยอันต้องก้าวขึ้นเพียงคั่นหนึ่งสองคั่นทั้งนั้น และก็เห็นเหตุว่าจะมีแต่เรือนเท่านั้นจะอยู่ไม่เปนสุขสมบูรณ ต้องมีชาลาและที่ปลูกต้นไม้เล็กน้อยประกอบด้วย เรือนหลวงปลูกบนโคกนั้น เปนอันได้ความสมบูรณอย่างต้องการเต็มที่ ส่วนชาวบ้านเขาก็ไม่ยอมแพ้ เขาปลูกนอกชาลขึ้นสูงประกอบกับเรือนด้วยเหมือนกัน การปลูกต้นไม้เขาก็ปลูกใส่กระถางตั้งบนนอกชาล ถ้าต้องการต้นไม้ใหญ่เขาพยายามตีคอกถมดินขึ้นมาจนเสมอนอกชาลแล้วปลูกต้นไม้ก็มี ที่ชาวบ้านไม่ถมโคกอย่างโคกเรือนหลวงก็เพราะไม่มีกำลังที่จะทำได้ จึงใช้วิธีปลูกเรือนมีพื้นสูงแทน ความสงสัยมีอยู่ดั่งนี้

อนึ่งคำพูดกันถึงเรือนก็บันทึกกันแต่ด้วยเรื่องฝา ว่าเรือนฝาแตะ ฝากระแชงอ่อน ฝากระดาน เปนต้น หาได้บันทึกกันด้วยเรื่องพื้นเรือนไม่เลย อันชื่อว่าเรือนกับโรงนั้น ทางช่างเขาหมายกันแต่ในทางทรวดทรง คือว่าโรงนั้นมีทรงหลังคาปกคลุม ส่วนเรือนนั้นมีหลังคาเชิด ถ้าจะอ้างตัวอย่างแล้ว วิหารพระชินราชที่พิษณุโลกเปนทรงโรง โบสถ์วัดโปรดสัตวในกรุงเก่าเปนทรงเรือน เขาไม่ได้คำนึงกันถึงพื้นเลย เรือนดูจะเปนของแก้ไขมาจากโรงให้ดูงามขึ้นเท่านั้นเอง

ชื่อว่าหอ ยังเชื่อว่าหมายถึงพื้นสูงอยู่นั่นเอง ที่เรียกสิ่งที่มีพื้นต่ำว่าหอนั้นสงสัยว่าหลง เปนเรียกทีหลังเมื่อไม่รู้เสียแล้ว ว่าคำหอนั้นหมายถึง พื้นสูง เรือนหอ เห็นว่าแปลว่าเรือนพื้นสูง ออกจะต้องด้วยความเห็นทางที่ว่านี้อยู่มาก

คำว่าศาน ขอประทานกราบทูลต่อ คำเก่ามีว่า “ลูกขุนณศานหลวง” กับ “ลูกขุนณศาลา” ต่างกันอยู่ ลูกขุนณศานหลวงเข้าใจว่าคือผู้พิพากษาตุลาการผู้พิจารณาอรรถคดี ลูกขุนณศาลาเข้าใจว่าคือเสนาบดี หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกว่ารัฐบาลผู้บริหารการเมือง ศาลาลูกขุนในซึ่งรื้อเสียแล้วนั้น เข้าใจว่าเปนที่ทำการของเสนาบดีคือลูกขุนณศาลา มีตราราชสีห์คชสีห์ปรากฏอยู่ที่จั่ว หาใช่ศานของลูกขุนณศานหลวงไม่ ดูจะเปนว่าลูกขุนณศานหลวงมาอาศัยพิจารณาอรรถคดีที่ศาลาของลูกขุนณศาลาเท่านั้น ศานหลวงล้มละลายไปเสียไหน ข้อนี้ไม่มีวี่แววเลย เจว็จซึ่งตรัสถึงว่าเคยทอดพระเนตรเห็นในห้องกลางนั้น เข้าใจว่าเปนเจว็จของศาลาลูกขุนใน ไม่ใช่เจว็จของศานหลวง เจว็จอย่างนั้นเข้าใจว่ามีทุกกรมทุกกระทรวง ตามที่นึกได้มีเจว็จของกรมพระสุรัศวดีอยู่ในพิพิธภัณฑ์เดี๋ยวนี้องค์หนึ่ง และจำได้ตงิดๆ ว่าดูเหมือนที่ทิมดาบกรมวังก็เคยเห็นมี

ทีนี้จะถวายความเห็นในเรื่องโสโครก ตามพระดำริว่าที่ลงพระบังคนมีแต่สำหรับพระมหากษัตริย์ หรือทั้งเจ้านายด้วยเท่านั้น ส่วนราษฎรไปส่งทุกข์กันในทุ่งนั้นเปนการถูกต้องแล้ว จำได้ว่ากรมหลวงประจักษเคยตรัสเล่าว่า ที่หนองคายไม่มีเว็จ แม้กระนั้นจะไปเดินเล่นที่ไหนก็ไม่พบอุจาระกองสกปรกอยู่เลย ด้วยตามประเพณีของชาวบ้าน พอเวลาเช้าก็ถือพร้าหรือไม้ขว้างกาเสี้ยมปลายเข้าทุ่งเข้าป่าหาที่อันเหมาะใจ แล้วก็ขุดหลุมด้วยมีดด้วยไม้นั้นถ่ายมูลแล้วก็กลบ เปนแน่ว่าแต่ก่อนทำดังนั้นกันทั่วไป ยังปรากฏคำว่า “ไปทุ่ง” เปนพยานอยู่

เว็จมาเกิดขึ้นภายหลัง ถ้าจะจัดเปนประเภทก็เห็นว่าจะมีสองอย่าง คือเว็จน้ำอย่างหนึ่ง เว็จบกอย่างหนึ่ง เว็จน้ำจะเกิดแต่ชาวเรือทะเล ไม่มีทุ่งจะไปก็ต้องห้อยก้นลงข้างเรือถ่ายลงน้ำ แต่ทำดังนั้นพลาดท่าเรือก็เปื้อนจึงคิดทำเปนลังแขวนไว้ข้างเรือหรือท้ายเรือเปนที่นั่งให้เหมาะ ชาวบ้านพวกอยู่ริมน้ำเห็นว่าดี จึงจำมาทำตั้งในน้ำใช้บ้าง สดวกในการที่ไม่ต้องเดินออกทุ่งไปไกล ส่วนเว็จบกนั้นเห็นว่าวัดจะทำขึ้นก่อน แล้วชาวบ้านจำอย่างมาทำบ้าง จึงได้ชื่อว่า “เว็จ” มาแต่คำ “วัจจกุฏิ” (วัจเปนเว็จเปนได้ไม่ประหลาด เช่น ปัญจเปนเบญจ) เว็จของพระจะมีในพระบาลีกล่าวบังคับให้ทำประการใดยังไม่ทราบ เคยได้ฟังมาแต่ในบุพพสิกขา เมื่อบวช เห็นว่าหนังสือนั้นเปนของแต่งใหม่ คงจะปรุงไปตามควรแก่กาลเทศ ไม่ตรงพระบาลีแท้ ได้สั่งให้พระงั่วไปลองไต่ถามท่านผู้รู้ค้นหาบาลีอยู่แล้ว แต่เท่าที่ได้ฟังมาในบุพพสิกขาก็มีความคิดที่จะรักษาการให้ดีอยู่มาก เปนต้นว่าห้ามไม่ให้ทิ้งไม้ชำระลงไปในล่องเพราะกลัวจะลงไปปักเปนเข็มประคองอุจจารให้เปนกองสูงขึ้น และไม่ให้ถ่ายปัสสาวลงในล่อง ทำทางให้ไหลไปตกต่างหาก ส่วนการชำระกันในบุพพสิกขาก็ปรากฏว่ามีที่ต่างหาก ทั้งนี้เข้าใจว่าประสงค์จะไม่ใช้อุจจารเปียกให้แห้งราบไปโดยเร็ว ไม่ทำความลำบากให้ในที่จะต้องโกยต้องขน

ที่เมืองชล โดยมากชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ชายทะเล เขาไม่มีเว็จ เขาเจาะล่องไว้ในห้องเรือนมีกระดานปิด เวลาจะถ่ายทุกข์ก็เปิดถ่ายลงไปในโคลน น้ำขึ้นมาก็พาไปหมดสอาดดี ส่วนที่ชาวดอนเราถ่ายทุกข์ลงไปใต้ถุนเรือนนั้น เปนการขี้เกียจมักง่าย ผิดอนามัย จะถือเอาเปนประเพณีไม่ได้ ในการขุดหลุมทำเว็จตั้ง เมื่อเต็มหลุมแล้วกลบย้ายเว็จไปตั้งแห่งอื่นใหม่ หรือจ้างบริษัทออนเหวง (แทนที่บริษัทสอาดเก่า) เทนั้น ชอบด้วยอนามัยดีแล้ว บัดนี้ซ้ำมีซ่วมซึมขึ้นอีกด้วย ดีเลิศเปนเมืองสวรรค์ไปทีเดียว และมีทวีมากขึ้นทุกทีจนเล่นเอาบริษัทออนเหวงบ่นว่าขาดทุน เพราะบอกเลิกจ้างเทกันเสียเดือนละมาก ๆ

เมื่อวานซืนนี้ได้พบพระเจนจีนอักษร ได้ถามถึงชื่อเมืองไทยที่จีนใช้เรียก ได้ความว่าแต่ก่อนทีเดียวเมื่อยุคราชวงศหงวน เรียกเมืองไทยว่า “เสี้ยม-ก๊ก” ต่อลงมาเปลี่ยนเปน “โล-ฮก-ก๊ก” ต่อลงมาอีกเอารวมกันเปน “เสี้ยม-โล-ฮก-ก๊ก” ต่อลงมาอีกตัดเปน “เสี้ยม-โล-ก๊ก” วิถีที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้ จะเปนด้วยเหตุอย่างไร ขอถวายไว้ทรงพิจารณา ถามเอาความแปล “เสี้ยม” ว่าแสงพระอาทิตย์ ก็สมแล้วด้วยตัว “เสี้ยม” นั้นมีตัว “ยิด” คือดวงตะวันผสมอยู่ในนั้น ส่วนคำ “โล” แปลว่าหัวยาเข้าเย็น ไม่ได้เรื่อง น่าจะหมายเอาเสียง ละโว ลาว ละว้า ลัวะ อะไรนี่เอง ซึ่งได้ตัดสินกันว่าเช่นนั้นมานานแล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ