กฎมณเฑียรบาลพะม่า (ต่อ) (๓)

พระราชานุกิจ

๑. พระเจ้าแผ่นดินพะม่าเสด็จออกขุนนางวันละ ๓ ครั้ง เปนนิจ แต่โดยปกติเสด็จออกห้องที่เฝ้าแห่งอื่น ต่อเปนการมหาสมาคมอย่างเต็มยศใหญ่จึงเสด็จออกในมหาปราสาท โดยปกติเสด็จออกเช้าเวลา ๘ นาฬิกาเศษครั้ง ๑ เสด็จออกเวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกาครั้ง ๑ และเสด็จออกที่ระโหฐานเวลาค่ำ ๑๙ นาฬิกาอีกครั้ง ๑

๒. เมื่อเสด็จออกเวลาเช้า เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าเฝ้าพร้อมกันหมด ประภาษราชการแผ่นดินกับทั้งเศรษฐการ เสด็จออกเวลาบ่ายเข้าเฝ้าแต่เจ้าหน้าที่ ประภาษราชการในพระองค์และการในพระราชฐาน (เทียบกับพระราชานุกิจไทย เห็นว่าที่จริงเห็นจะทรงพิพากษาคดี) เสด็จออกเวลาค่ำมีแต่หัวหน้าข้าราชการในราชสำนัก (เห็นจะประภาษราชกิจในพระองค์และการในพระราชฐานตอนนี้) บางทีก็ทรงสนทนากับข้าราชการแต่บางคนฉะเพาะตัวต่อไป

๓. พระเจ้าแผ่นดินเสวยวันละ ๔ เวลา เวลาเช้าระวาง ๗ กับ ๘ นาฬิกา เมื่อก่อนเสด็จออกขุนนางครั้ง ๑ เวลาเที่ยงวันครั้ง ๑ เวลาเย็นครั้ง ๑ และเวลาค่ำอีกครั้ง ๑

๔. พระภรรยาเจ้าทั้งหลายกับเจ้านายผู้หญิง เปนพนักงานปฏิบัติในเวลาเสวย พระมเหษีตั้งเครื่อง พระชายาและเจ้านายผู้หญิงเชิญเครื่อง และถวายอยู่งานพัดเปนต้น

๕. เครื่อง เมื่อเสวยแล้วเลื่อนถวายเจ้านายที่ปฏิบัติเสวย

๖. เวลาเสด็จเข้าที่บรรธม มีนางสนมผลัดเวรกันอยู่ยามนอกห้องบรรธม อ่านหนังสือเช่นเรื่องชาดกเปนต้นถวายทรงฟังตลอดรุ่ง

๗. เวลาพระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่อง ฉะเพาะแต่พระมเหษีเปนพนักงานปฏิบัติ

๘. พระชายากับนักสนม ต้องผลัดเวรกันประจำยามอยู่ในพระราชมณเฑียรทั้งกลางวันกลางคืน และคอยตามเสด็จประพาสภายในพระราชวัง และมีขันทีรับใช้ด้วย

ขนบธรรมเนียมในพระราชสำนัก

๑. เจ้านาย เสนาบดี ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ต้องเข้าเฝ้าเมื่อเสด็จออกเวลาเช้าทุกวัน ถ้าใครขาดเฝ้าโดยไม่จำเปนต้องระวางโทษขัง ๓ วัน

๒. ถ้าเกิดไฟไหม้ในพระนคร เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าไปลงชื่อที่ในพระราชวังทุกคน ถ้าใครขาดโดยมิจำเปนต้องระวางโทษเอาตัวแก้ผ้ามัดตากแดด

ข้อนี้พบอธิบายในตอนพงศาวดาร ว่าเพราะผู้ก่อการขบถย่อมจุดไฟเผาบ้านเรือนเปนสัญญากัน จึงตั้งข้อบังคับให้เจ้านายและข้าราชการต้องเข้าไปในพระราชวังเมื่อเกิดไฟเพื่อแสดงความบริสุทธิและช่วยปราบผู้ร้าย

๓. เวลาเสด็จออกนั้น ขุนนางตำแหน่ง สันดอซิน (Thandawzin-เห็นจะเปนเจ้ากรมอาลักษณ์) เปนพนักงานอ่านหนังสือราชการถวายทรงฟังและอ่านรายชื่อผู้เข้าเวรประจำซองในวันนั้น ถวายให้ทรงทราบเมื่อเสด็จออกเวลาบ่ายด้วย

๔. ประตูพระนคร ๑๒ ประตู ปิดกลางคืนแต่เวลา ๒๑ นาฬิกา ไปจนรุ่งสว่างทุกวัน และปิดเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย คือ

ก) เวลาเสด็จออกมหาสมาคม (Kadaw)

ข) ไฟไหม้

ค) เกิดจลาจลในพระนคร หรือใกล้พระนคร

ฆ) เวลาเมื่อสำเร็จโทษเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่

๕. ขุนนางตำแหน่ง นะกันดอ (Nahkandaw) ผู้รับสั่ง เปนพนักงานนำรายงานราชการประจำวันในศาลาลูกขุน หลุตดอ (Hlutdaw) กับฎีกาที่มีผู้ถวาย ส่งขันทีให้นำขึ้นถวายในเวลาค่ำทุกวัน

๖. ใครจะถวายฎีกา จะยื่นที่ศาลาลูกขุน หรือที่ บเย-แตก – (Bye-taik) สำนักงานกรมวังก็ได้

๗. เมื่อทรงสั่งราชการ ผู้รับสั่งต้องนำความไปแจ้งแก่อัตวินหวุ่น (Atwinwun) หัวหน้ากรมวัง ให้เขียนส่งไปยังศาลาลูกขุน

๘. เงินภาษีอากร ที่เจ้าเมืองหรือข้าหลวงผู้เก็บส่งมาจากหัวเมือง ต้องส่งที่ศาลาลูกขุน (เมื่อลูกขุนหักจ่ายการอื่น) แล้วส่งไปยังสำนักกรมวัง (หักจ่ายในการราชสำนัก) แล้วส่ง (เงินเหลือ) ไปยังพระคลังมหาสมบัติหรือพระคลังข้างที่ตามควร

๙. ข้าราชการทุกคน เมื่อรับตำแหน่งต้องถือน้ำกระทำสัตย์

๑๐. ข้าราชการผู้ออกไปมีตำแหน่งอยู่หัวเมือง ต้องให้ภรรยาอยู่เปนตัวจำนำในพระนคร

๑๑. เจ้าประเทศราชและเจ้าเมือง ต้องมาเฝ้าปีละครั้ง ๑ เปนอย่างน้อย

๑๒. เวลาเสด็จออกมหาสมาคม (Kadaw) ในมหาปราสาท พระมหาอุปราชต้องเข้าไปทีหลังผู้อื่น ทอดที่พระมหาอุปราชประทับทางฝ่ายซ้ายพระราชบัลลังก์ เมื่อพระมหาอุปราชประทับที่และปิดประตู (ชาลาพระราชมณเฑียร) แล้วจึงเสด็จออก เมื่อเสด็จขึ้นแล้วก็ต้องให้พระมหาอุปราชเสด็จกลับก่อน แล้วผู้อื่นจึงตามออกจากท้องพระโรงตามลำดับยศ

๑๓. นอกจากพระมหาอุปราช เจ้าพระยา (Wungyi) และมะโยหวุ่น (Myowun จะเทียบยศอย่างไรสงสัยอยู่) ๒ คน บรรดาเจ้านายและข้าราชการทั้งฝ่ายทหารพลเรือน ต้องผลัดเปลี่ยนเปนเวรกันเข้าไปนอนประจำซองที่ในพระราชวัง ถ้าขาดโดยมิจำเปนต้องระวางโทษขัง ๓ วัน

๑๔. ลักษณที่เจ้านายกับข้าราชการ ไปเข้าเวรประจำซองในพระราชวังนั้น ต้องไปลงชื่อที่ท้องพระโรงรับเวรเวลา ๑๘ นาฬิกา แล้วแบ่งกันนั่งยามเปน ๓ พวก พวกหนึ่ง นั่งยามแต่ ๑๘ นาฬิกาถึงเที่ยงคืน พวกหนึ่งนั่งยามแต่เที่ยงคืนจน ๓ นาฬิกา อีกพวกหนึ่งนั่งยามแต่ ๓ นาฬิกาจนรุ่งสว่าง เวลากลางวันอยู่พร้อมกันหมดจนพวกเวรใหม่ มาเปลี่ยนเมื่อ ๑๘ นาฬิกา

๑๕. ทหารที่เข้าเวรประจำในพระราชวังนั้น เปลี่ยนกันเดือนละครั้ง ๑

๑๖. ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออก (ไปประทับแรม) นอกพระราชวัง ยิงปืน ๓ นัด เปนสัญญาปิดประตูพระนครทั้งหมด จนเสด็จกลับคืนเข้าพระราชวังแล้วจึงเปิดอย่างเดิม เจ้านายและข้าราชการต้องไปตามเสด็จ เว้นแต่ที่ติดประจำหน้าที่ ถ้าไม่ไปตามเสด็จต้องระวางโทษขัง

๑๗. ถึงวันปีใหม่วันแรกให้ยิงปืนใหญ่ ๓ นัดทุกประตูพระนครบอกให้ราษฎรรู้ฤกษ์สงกรานต์

๑๘. (ข้อนี้และต่อไปอีกข้อหนึ่ง ดูไม่เกี่ยวกับกฎมณเฑียรบาล คือ) ราษฎรเปนความกันในโรงศาล เมื่อยอมตามคำพิพากษาต้องรับเมี่ยงกินเปนสัญญา ทั้ง ๒ ฝ่ายถ้าได้กินเมี่ยงแล้วจะเอาคดีนั้นรื้อว่ากล่าวหรือุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ ใครฝ่าฝืนต้องระวางโทษ ให้เอาตัวเที่ยวตีฆ้องตระเวนและให้เฆี่ยนทุกมุมเมือง แต่ถ้าคดีถึงศาลาลูกขุน ถึงคู่ความไม่ยอมคำพิพากษาก็เปนเด็ดขาด

๑๙. โทษตระเวนแล้วเฆี่ยนนั้น มีต่อไปถึงผู้กระทำผิดในคดีเหล่านี้ คือ

ก) ลอกทองพระ

ข) ทำเงินปลอม

ค) ลักหญิงชาววัง

ฆ) วางเพลิง

ง) เปนข้าราชการรับสินบน

จ) ต้มเหล้าเถื่อน

ฉ) ปล้นสดมภ์

ผู้มีความผิดที่กล่าวต่อไปนี้ก็ต้องระวางโทษตระเวน แต่ไม่เฆี่ยนคือ

ช) เล่นเบี้ย

ซ) เมาเหล้า

ฌ) ฆ่าโค

ญ) กินเนื้อโคเปนนิจ

๒๐. ถึงเข้าวัสสา ให้เจ้าพนักงานขี่ช้างเที่ยวตีกลองประกาศแก่ชาวพระนคร เตือนให้ถือศีลทำทาน และห้ามมิให้ขายเนื้อขายปลาในพระนครตลอดวัสสา

๒๑. การเสด็จออกมหาสมาคมในมหาปราสาทโดยปกติมีปีละ ๓ ครั้ง คือ

ก) เสด็จออกเมื่อขึ้นปีใหม่เรียกว่า หนิต สิต กาดอ (Hnit thit Kadaw) ให้เจ้านายและข้าราชการถือน้ำกระทำสัตย์

ข) เสด็จออกเมื่อเข้าวัสสาเรียกว่า วาวิน กาดอ (Wawin Kadaw) เฝ้าแต่เจ้านายและข้าราชการในกรุง

ค) เสด็จออกเมื่อออกวัสสาเรียกว่า วาคยุต กาดอ (Wa-gyut Kadaw) เจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองเข้ามาสมทบด้วย มีการถือน้ำกระทำสัตย์เหมือนเมื่อขึ้นปีใหม่

๒๒. ในการเสด็จออกมหาสมาคม เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในกับทั้งภรรยาข้าราชการ ก็ต้องเข้าเฝ้าเหมือนกับฝ่ายหน้า แต่เฝ้าที่ท้องพระโรงหลัง อยู่ทางหลังวัง

๒๓. การที่เข้าเฝ้ามีข้อบังคับหลายอย่าง คือ

ก) ต่อมีรับสั่งหาหรือได้รับพระราชานุญาต จึงเข้าเฝ้าได้

ข) ต่อมีพระราชดำรัสด้วยก่อน จึงกราบทูลสนองได้

ค) เวลาเสด็จประทับอยู่ในห้องพระราชมณเฑียร หรือในพระราชอุทยาน ใครจะเข้าไปไม่ได้ เว้นแต่ตรัสเรียก

ฆ) ถ้ายังไม่เสด็จขึ้น ข้าเฝ้าจะกลับก่อนหรือจะเปลี่ยนที่นั่งไม่ได้

ง) ห้ามมิให้สูบบุหรี่หน้าที่นั่ง

จ) นอกจากพระมเหษีทั้ง ๔ ห้ามมิให้ใครใส่เกือกหน้าที่นั่ง และจะถือร่มไปในกระบวรเสด็จก็ไม่ได้

ฉ) ในมณเฑียรแก้ว (Hmannandaw) อันเปนที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่ อยู่ประจำได้แต่พระมเหษี ๔ องค์ซึ่งมีห้องอยู่ใกล้กับห้องบรรธมของพระเจ้าแผ่นดิน

ช) จะส่งสิ่งอันใดถวายพระเจ้าแผ่นดิน ต้องถวายบังคม (Shikho) ก่อน เมื่อรับอะไรจากพระหัตถ์ก็อย่างเดียวกัน

ซ) สิ่งใดซึ่งเปนเครื่องราชูปโภค จะเรียกต้องเพิ่มคำ ดอ (Daw) แปลว่า“หลวง” (Royal) เข้าข้างท้ายชื่อของสิ่งนั้น และจะจับต้องต้องถวายบังคมก่อน

ฌ) เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาใกล้ต้องถวายบังคม ๓ ครั้ง เมื่อเสด็จไปจากที่นั้นก็ต้องถวายบังคม ๓ ครั้งเหมือนกัน

ญ) นอกจากพระอัครมเหษี เมื่อทูลพระเจ้าแผ่นดินต้องกราบ (Shikhoing) ทุกครั้ง.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ