วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

สำนักดิศกุล หัวหิน

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

พอเกล้ากระหม่อมถึงหัวหินในวันเสาร์ก่อน ก็ได้ส่งหนังสือมากราบทูลให้ทราบ โดยหวังที่จะได้รับลายพระหัดถ์สัปดาหะละฉะบับตามเคย ตั้งแต่วันเสาร์นี้เปนต้นไป แต่ประสบเคราะห์ดีเกินหวัง คือพอวันอังคารก็ได้รับลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๗ ซึ่งประทานไปดักหน้าเสียแล้ว ทำให้ดีใจมาก จะกราบทูลตอบลายพระหัดถ์นั้น ตามที่มีใจผูกพันจะกราบทูล

ห้างอิสตเอเชียติกที่บ้านดอน ซึ่งทรงจำได้ว่าตั้งอยู่ต่างฟากกับเมืองนั้น เดี๋ยวนี้เขามาตั้งทางฟากเมืองแล้ว ว่าเช่าที่หลวงซึ่งเคยปลูกพลับพลาแต่ก่อน อยู่ตรงสุดถนนริมน้ำหน้าเมือง ใกล้ปากน้ำท่ากูบซึ่งไปสู่ขุนทะเลมาต่อกับแม่น้ำหลวงทีเดียว ถ้าเดินตามถนนริมน้ำหน้าเมืองไปทางเหนือน้ำ พอสุดถนนก็เข้าประตูห้างพอดี เขาเลือกที่ดี เขาแบ่งที่ห้างเปนสองแปลง แปลงหนึ่งเปนที่อยู่ อีกแปลงหนึ่งเปนโรงงาน แปลงที่อยู่อยู่ตอนหัวถนน มีเรือนชั้นเดียวพื้นสูงสองศอกสองหลัง หลังหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำ ผู้จัดการอยู่ที่นั่น อีกหลังหนึ่งอยู่บนดอนห่างแม่น้ำขึ้นไปหน่อย รักษาไว้เปนที่พักคนของห้างในกรุงเทพฯ เมื่อออกไปตรวจการ เวลาไม่มีใครออกไปก็ว่าง เขาจึงรับเราให้ไปอยู่ที่เรือนหลังนั้นได้โดยสดวก พื้นที่ทำเปนสวนเรียบร้อย มีทางเดินถึงกัน นายห้างชื่อมิสเตอ เฮนริก กนุดเสน กิริยาอัชฌาสัยดี มีความเอื้อเฟื้อที่จะช่วยเหลือมากพูดไทยได้ดี มีข้อขันที่ควรจะกราบทูล เมื่อเกล้ากระหม่อมไปอยู่ที่นั่น ข้าหลวงประจำจังหวัดมีหนังสือไปถึงนายห้าง ขออนุญาตนำข้าราชการกรมการเข้าเฝ้า นายห้างหนัก นำความมาบอกเกล้ากระหม่อม เกล้ากระหม่อมก็อนุญาตให้มา นายห้างมีหนังสือไปนัดเขาก็พากันมา นายห้างตกที่นั่งกลายเปนกรมวังไปฉิบ โรงงานตั้งต่อแปลงซึ่งจัดไว้เปนที่อยู่นั้นไป ใกล้ปากน้ำที่สองสายมาร่วมกัน เปนการสดวกที่ไม้ตกมาทั้งสองทางก็รวมถึงโรงเลื่อยทีเดียว

ตำนานเมืองสุราษฎร์ธานี ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดประทานอธิบายไปก็ลงรอยกับที่เกล้ากระหม่อมได้เที่ยวและถวายรายงานมา เมืองท่าทองมีมาเก่าอยู่ทางตวันออก แล้วย้ายมาตั้งที่เขาน้อยในย่านกลาง เปนเมืองท่าทองใหม่ น่าจะได้ชื่อเปลี่ยนเปนเมืองกาญจนดิฐในตอนนี้ (เพราะยังเปนชื่ออำเภอปรากฏอยู่ที่นั้น) แล้วย้ายมาตั้งที่บ้านดอนเปนเมืองกาญจนดิฐ แล้วยืมชื่อไชยามาเปลี่ยนเปนเมืองไชยาแล้วเปลี่ยนเปนสุราษฎร์ธานี แล้วอีกไม่ช้าสุราษฎร์ธานีจะต้องย้ายไปอยู่ท่าข้าม การย้ายเมืองนั้นไม่เปนการยากการใหญ่อะไร เจ้าเมืองไปตั้งบ้านลงที่ไหนที่นั่นก็เปนเมือง ใช่ว่าจะต้องอพยพครอบครัวพลเมืองไปด้วยก็หามิได้ ที่จริงพลเมืองเขาไปตั้งอยู่ก่อนตามความสดวกของเขา เจ้าเมืองตามไปหาพลเมือง เขาไปอยู่ที่ไหนกันมากเจ้าเมืองก็ไปอยู่ด้วย เดี๋ยวนี้ที่ว่าการอำเภอพุนพินก็ย้ายไปตั้งที่บ้านท่าข้ามแล้ว เพราะพลเมืองย้ายไปติดที่นั้น ด้วยรถไฟดึงดูดไป ตรงท่าข้ามพิจารณาเห็นไม่ใช่เปนท่าข้ามเพราะน้ำตื้นอย่างเดียว เกี่ยวแก่ความสะดวกที่จะต้องข้ามแม่น้ำแต่สายเดียวด้วย ถ้าจะหาที่ตื้นข้ามเหนือนั้นขึ้นไปก็จะต้องหาได้ดีกว่าแต่จะต้องข้ามถึงสองแม่น้ำ คือแม่น้ำพุมดวงกับแม่น้ำหลวง ทำให้ลำบากมากขึ้น ประหลาดใจที่ไปได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ไปทรงสร้างที่ประทับประพาสไว้ที่ท่าข้ามนั้น พระราชทานชื่อว่าสวนสราญรม ไม่เคยได้ทราบมาแต่ก่อนเลย บัดนี้พระธรรมวโรดมไปรื้อเอาพระตำหนักมาสร้างวัดใหม่ เรียกว่า “สำนักตรัณาราม” (ออกจะอ่านไม่ออก)

ระเบียบจัดท้องที่ในการปกครองแบบเดิม ตามที่ทรงพิจารณาเห็นว่าแบ่งเปน ๓ ชั้น คือ เมือง บ้าน ซ่อง นั้นดีนัก เกล้ากระหม่อมเห็นด้วยตามกระแสพระดำริว่าถูกทีเดียว โดยจำเพาะ คำซ่อง ทรงพระดำริค้นเอามาได้นั้นดีนัก เกล้ากระหม่อมไปเที่ยวแม่น้ำท่ากูบเมืองสุราษฎร์ เห็นมีคนอยู่ราย ๆ ไป แต่จะจดหมายว่ามีบ้านรายไปตามแม่น้ำก็จดไม่ลง เพราะรู้สึกว่ามันไม่เปนบ้าน มีมะพร้าวปลูกไว้เก้าต้นสิบต้น มีจากญี่สิบสามสิบต้น มีที่คนอาศัยอยู่ จะเรียกว่ากะท่อมหรือร้านหรือห้างอะไรก็ไม่แน่ใจ จะเรียกว่าบ้านหรือว่าสวนอะไรก็ไม่ได้ ที่แท้ควรเอาคำซ่องมาใช้อย่างที่กราบทูลนี้เปนถูกที่สุด คำซ่องเป็นช่องไปนั้นก็ไม่ประหลาด ตัว ซ กับตัว ช สับเปลี่ยนกันอยู่เสมอ เช่น บ้านซ้าง บ้านช้าง เซื่อเมือง เชื้อเมือง เปนต้น กับพระดำริที่ว่า เมืองขึ้น กับ เมืองออก เปนความหมายอันเดียวกันนั้นก็ถูกขอประทานเสนอคำเขมรถวายสนับสนุน ทิศตะวันออก เขมรเรียก ทิสเกิด ขางเกิด ข้างขึ้น (เดือนหงาย) เขมรเรียก แขเกิด คำขึ้นหรือออกหรือเกิดเปนคำหมายอย่างเดียวกัน

เรื่องพระพุทธบาทตามความเห็นกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์นั้น เธอถือเอาพระบาท ๕ ร้อยในที่ต่าง ๆ เช่นสุวัณณมาลิเกเปนหลัก ว่าหมายความว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จจารึกไปถึงที่นั้น เหยีบรอยพระบาทไว้เปนเครื่องหมาย ที่เธอกล่าวตัดปางประสูติออกเสียก็เปนความเห็นของเธอเอง อันกล่าวเพื่อตัดคำที่มีคนคิด ว่ารูปรอยพระบาทเปนเครื่องหมายปางประสูติเท่านั้นเอง

พระดำริตรัสติชมพระมหาสมณาณัติ เรื่องระเบียบการเคารพของพระนั้นถูกต้อง

เมื่อวันมาถึงหัวหินประสบลมพัด พัดอู้ ๆ เข้าทางลูกกรงหัวฝา ตลบลงมาในห้องจนตะเกียงชะนิดหลอดจุดไม่ติด ราวกับว่าอยู่กลางแจ้ง ในการนอนต้องเอาผ้ามาวงทับมุ้งเสียอีกทีหนึ่งจึงนอนได้ รุ่งขึ้นต้องให้ไปตลาดพิจารณาเอาผ้ามาม้วนหนึ่งกรุหัวฝาเสีย ที่จริงฝ่าพระบาทก็ได้ทรงกรุไว้ แต่มีเพียงสองด้านคือด้านเหนือกับตะวันออก เวลากรุผ้าสองด้านนั้นคงเปนฤดูลมว่าว เวลานี้ลมหัวเขาพัดเข้าทางตะวันตกแรงดังกราบทูลแล้ว จึงต้องกรุซ้ำทางด้านตะวันตกและใต้ เปนอันได้กรุผ้าโดยรอบ ในการทำทั้งนี้ด้วยมิได้กราบทูลก่อนนั้นเปนการละเมิดอยู่ แต่เห็นว่าไม่ได้ทำให้เสียหายอย่างไร ไม่โปรดก็ทิ้งออกเสียก็แล้วกัน

มาอยู่หัวหินรู้สึกไม่สบาย รวนจะเจ็บไปเสียด้วยซ้ำ จะโทษเอาอะไรก็ยังแลไม่เห็น แต่ไม่ใช่เปนด้วยที่ประทับนั้นแน่นอน เพราะได้ทรงทำไว้ดีทุกอย่างสมควรที่จะอยู่อย่างยิ่ง

ตามพระดำรัสประทานโอวาทในเรื่องรักษาปึ่งกัด เปนพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง แต่วิตกจะไม่ทราบว่าปึ่งกัดหรือยุงกัด เพราะยากที่จะเห็นตัวมัน

รัตนาวลี ของพระนาคารชุน ซึ่งประทานต้นฉะบับเข้าไปให้สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์จัดการแปล และท่านได้มอบให้พระสารประเสริฐแปลนั้น บัดนี้ได้แปลแล้ว และผู้แปลได้ปรึกษาพราหมณ์ศาสตรีและพระพินิจวรรณการด้วยเสร็จ ซ้ำปรึกษาสวามี นันทบุรี (“ปรัชญาเมธี”) ด้วย ได้พิมพ์ขึ้นเสร็จแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านมีเมตตาส่งมาให้เกล้ากระหม่อมฉะบับหนึ่ง แน่ใจว่าท่านคงจะได้ส่งถวายฝ่าพระบาทแล้ว เกล้ากระหม่อมยังอ่านไม่ทันไปถึงไหน แต่เห็นรูปว่าเขาแปลดี แปลเปนภาษาบาลีแล้วแปลเปนภาษาไทยอีกชั้นหนึ่งด้วย เปนการลงแรงมากทีเดียว

มีข้อสดุดใจที่พระสารประเสริฐใช้คำ ทักษิณยาน แทนคำ หีนยาน เพราะแกรังเกียจคำ หีนยาน แต่คำมหายาน ยังคงใช้อยู่ เกล้ากระหม่อมเห็นว่าเข้ากันไม่ได้ ถ้าหากใช้คำ มหายาน ก็จะต้องทนใช้คำ หีนยาน ถ้ารังเกียจคำ หีนยาน จะเปลี่ยนเปน ทักษิณยาน ก็ควรจะเปลี่ยนคำ มหายาน เปน อุตตรยาน เข้าคู่กันไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระสารประเสริฐ ตรี นาคะประทีป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ