วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๕

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๖ เมษายน ไปรษณีย์เอามาส่งวันที่ ๘ เวลาเช้า พออ่านแล้วจะกลั้นอยู่ไม่ได้ด้วยชื่นใจ จึงลงมือร่างจดหมายฉะบับนี้ในเช้าวันนั้น ทั้งรู้ว่าจะส่งไปได้ต่อวันศุกร์ที่ ๑๒ ก่อนกำหนดส่งวันจันทรตามเคย ตั้งแต่หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ตรัสบอกว่าจะเสด็จไปเที่ยวประพาส อย่าให้เขียนจดหมายไปในระวางนั้น จนกว่าจะตรัสมาให้ทราบว่าเสด็จกลับแล้ว ก็หยุดเขียน มารู้สึกอ้างว้างรำคาญอยู่บ้าง ถึงกระนั้นก็ยินดีที่ทราบว่าเสด็จแปรสถานเที่ยวเตร่บำรุงพระองค์ แต่ไม่ได้ตรัสมาให้ทราบว่าจะเสด็จไปทางไหน ปรึกษาทายกันกับลูกก็เห็นกันต่าง ๆ ต่อมาได้เห็นในหนังสือพิมพ์ Bangkok Times ว่าเสด็จไปบางปอินก็เห็นเหมาะดีเสียแต่ผิดระดูคงจะร้อนจัด ตามลายพระหัตถ์ก็ปรากฏว่าเปนอย่างคาด ระดูร้อนทางข้างเหนือใช้ไม่ได้ทีเดียว ได้แต่ลงข้างใต้ ถึงแรกระดูฝนทางบางปอินก็ไม่ดีเพราะมักมีพายุจัด ถ้าจะเสด็จเที่ยวอีกต่อนี้ไป ขอทูลแนะนำให้เสด็จทางข้างใต้ หัวหินเปนเหมาะดี ถ้าต่อไปถึงเดือนมิถุนายนมณฑลนครศรีธรรมราชเปนดี

บุญเรือง แขกกลิงไปเกิดเสียจริตนั้น หม่อมฉันรู้สึกสงสารหวังใจว่าจะรักษาหายได้ ดูมันสาพิภักดิดีอยู่ ควรคุณโตจะรักษาเอาไว้ใช้สอยต่อไป

รูปในหนังสือพิมพ์ตัดที่ประทานมานั้น หม่อมฉันทูลถวายอธิบายได้ รูปบนที่เปนประตูมีหอรบนั้น คือประตูเมืองสงขลาด้านริมทะเลสาบ นอกประตูมีตลาดและบ่อน้ำจืดรายไปตามถนน เปนของสร้างครั้งรัชชกาลที่ ๓ มีอยู่ในเรื่อง “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” รูปที่ ๒ ที่อยู่กลางเปนรูปประตูยอดนั้น ประตูสะพานหันจริง สร้างในตอนต้นรัชชกาลที่ ๕ คราวเดียวกับประตูท่าขุนนาง ประตูมีหอรบข้างบนที่มีในกรุงเทพฯ หม่อมฉันสันนิษฐานว่าประตูพระบรมมหาราชวังด้านใต้จะเก่าก่อนเพื่อน เปนของสร้างขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๒ (ดูเหมือนจะยังคงรูปอยู่จนบัดนี้) ได้แบบมาแต่เมืองจีนหรือเมืองญวน ถึงรัชชกาลที่ ๓ จึงสร้างประตูเมืองมีหอรบอยู่ข้างบนเช่นนั้น และใช้แบบนั้นต่อมาในรัชชกาลที่ ๔ หม่อมฉันยังจำ “ประตูใหม่” ที่มาแก้เปนประตูสามยอดได้อยู่ เพราะบ้านอยู่ริมประตูนั้น ประตูมีหอรบที่สร้างตามหัวเมืองนอกจากเมืองสงขลา มีเมืองนครราชสิมากับเมืองจันทบุรี สงสัยว่าเมืองราชบุรีและเมืองกาญจนบุรีก็มีด้วย แต่ ๒ เมืองข้างหลังนี้จำไม่ได้แน่ เห็นว่าเปนของสร้างครั้งรัชชกาลที่ ๓ ทั้งนั้น.

ชื่อข้าราชการในกรมรักษาพระองค์ที่เปนคู่กับหลวงอภิบาลภูวนาถนั้นคือ หลวงราชวรานุรักษ์ หม่อมฉันเคยรู้จักคน ๑ ชื่อ เหรา เปนลูกพระยาพิษณุโลก (พุ่ม) ดูเปนชื่อสมัยรัชชกาลที่ ๔ ทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับขุนผดุงสีตลาอาสน์ ขุนราชคฤหารักษ์ ชื่อตามทำเนียบเดิมเห็นจะมีแต่หลวงกันภยุบาทว์ หลวงราชเสวก.

รูปทหารไทยแต่งอย่างฝรั่ง ที่ท่านเคยทรงเห็นในหนังสือฝรั่งแต่งเรื่อง ๑ อันมีรูปหอนาฬิกาอยู่ด้วยนั้น หม่อมฉันก็ได้เคยเห็นและได้พิจารณาสมุดเล่มนั้น ดูเหมือนจะทูลเรื่องได้ เดิมเมื่อตอนปลายรัชชกาลที่ ๒ อังกฤษให้ หมอ ยอน ครอเฟิด (John Crawford) ที่เราเรียกกันว่า “การฝัด” เปนทูตเข้ามาด้วยเรือรบ มีทหารแขกอินเดียที่ฝรั่งจัดขึ้นเรียกว่า ทหารสิปอย (Sepoy) มารักษาตัวประดับเกียรติยศด้วย เมื่อครอเฟิดกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรด ฯ ให้จัดทหารไทยเอาอย่างพวกสิปอยขึ้นพวก ๑ ไทยเราเรียกว่า “ทหารสิปาย” หม่อมฉันสันนิษฐานว่าคนที่เปนทหารสิปายนั้น เห็นจะเอามาจากพวกรักษาพระองค์นั่นเอง และเข้าใจต่อไปว่าคงจะเปนมูลที่ทูลกระหม่อมทรงจัดทหารรักษาพระองค์พวกตาหว่าง ในรัชชกาลที่ ๒ นั้นยังไม่มีฝรั่งมังค่า ถ้ามีครูก็คงจะเปนแขกอินเดีย จึงเห็นว่าทหารสิป่ายชั้นเดิมเห็นจะไม่ได้ฝึกหัดอย่างฝรั่งเท่าใดนัก. หมดคดีที่จะทูลสนอง คราวนี้ถึงส่วนที่จะทูลเสนอต่อไป.

หม่อมฉันกำลังอ่านหนังสือเรื่อง ๑ เรียกว่า PAGEANT OF ASIA Dr. Kenneth Saunders ในมหาวิทยาลัย Cambridge แต่งขึ้นใหม่ อธิบายอาริยธรรมของอินเดีย จีนและยี่ปุ่น ได้ความรู้ที่สงสัยมาช้านานข้อ ๑ คือเมื่อไม่ช้ามานักพนักงานตรวจค้นโบราณวัตถุสถานเขาไปขุดค้นเมืองโบราณแห่ง ๑ ทางตะวันตก อยู่ใกล้แม่น้ำอินดุส (หรือสินธู) พบเมืองโบราณแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนสมัยพวกอาริยัน ได้สิ่งของต่าง ๆ ในซากเมืองนั้นหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือรูปลึงค์ อันเปนเจดีย์วัตถุของมนุษย์พวกนั้นมีเรี่ยรายอยู่ เปนอันได้หลักฐานว่าการบูชารูปลึงค์ พวกชาวอินเดียชั้นก่อนประวัติศาสตร์บูชากันมาแล้วช้านาน เปนแต่พวกฮินดูรับคติเดิมมาแก้ไขให้เข้ากับสาสนาฮินดูจึงเกิดมีศิวลึงค์ ความที่กล่าวนี้ยุติต้องกับหนังสือที่นายสีบรุ๊คแต่ง ว่าได้ไปพบพวกมนุษย์ที่อยู่กลางทวีปอาฟริกาบูชารูปลึงค์เปนเจดีย์วัตถุ ดูเหมือนหม่อมฉันจะได้เคยทูลไปแล้วแต่ก่อน จึงนับว่าเปนความรู้ที่ได้ใหม่อีกเรื่อง ๑.

ในคราวนี้หม่อมฉันส่งกฎมณเฑียรบาลพะม่ามาถวายอีกตอนหนึ่ง ว่าด้วยพระราชานุกิจอย่าง ๑ กับขนบธรรมเนียมในพระราชสำนักอีกอย่าง ๑ และยังมีเรื่องที่จะส่งถวายต่อไปอีก ๒ คราวจึงจะหมด ที่จริงหม่อมฉันได้แปลเสร็จแล้วตลอดเรื่อง แต่นึกว่าถ้าส่งมาถวายในคราวเดียวทั้งหมด จะลำบากในการทรงพิจารณา สู้แยกส่งมาเปนตอน ๆ ไม่ได้

หม่อมฉันหวังใจว่าทั้งพระองค์ท่านและสมาชิกจิตรพงศ ที่ไปตามเสด็จ จะได้ความสุขสบายเปนกำไรกลับมาด้วยกันทั้งหมด พวกหม่อมฉันอยู่ที่นี่ก็มีความสุขสบายดีอยู่ด้วยกัน เวลานี้ให้หลานหญิงแมวกับหญิงน้อยกลับเข้าไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ชุมพร ทางนี้ไม่มีเด็กเล่นเหงาอยู่สักนิด แต่ไม่อีกกี่วันก็จะกลับมา

มีเรื่องเนื่องกับหลานแมวที่จะทูลต่อไป วันหนึ่งอุ้มลูกหมาขึ้นมาให้หม่อมฉันดูตัว ๑ ว่าแขกเอามาขายเรียกราคาเพียง ๕๐ เซนต์จะขอซื้อไว้ หม่อมฉันเห็นว่าเอ็นดูก็ยอมให้ซื้อ และให้ชื่อว่า “ยาหยี” แล้วมานึกสงสัยว่าเหตุใดมันจึงขายเพียง ๕๐ เซนต์ มันจะลักขะโมยลูกหมาของใครมาดอกกระมัง แต่ก็ปลงใจว่าถ้ามีเจ้าของมาตามก็จะคืนให้เขา ต่อนั้นมาหลายวันจึงมาทราบเหตุที่จริง ว่าที่เมืองปีนังนี้มีกฎหมายนคราทรบังคับเจ้าของหมาให้เอาไปลงทะเบียน และเรียกค่าธรรมเนียมหมาตัวผู้ ๓ เหรียญหมาตัวเมีย ๕ เหรียญ ถ้าไม่ลงทะเบียนพบหมาเข้าจับฆ่าเสียหมด ทราบดังนี้ก็คิดเห็นเหตุว่าคงเปนเพราะเจ้าของเดิมกลัวต้องเสียค่าธรรมเนียมนั้นเอง เพราะลูกหมาตัวที่ซื้อเปนตัวเมียเลี้ยงไว้จะต้องเสียเงินมากนัก จะฆ่าเสียก็สงสารจึงเอามาเที่ยวขายราคาถูก ๆ เช่นนั้น

อนึ่งเมื่อวันที่ ๖ หม่อมฉันได้จัดเครื่องบูชาตั้งพระรูปพระแก้วมรกต กับพระรูปสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๗ พระองค์ พร้อมกันกระทำสักการบูชาในวันมหาจักรี และมีไทยด้วยกันบ้านอื่นมาบูชาด้วยบ้างหม่อมฉันขอถวายพระกุศล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมราชวงศ์บุศยทิพย์ (เทวกุล) บุญ-หลง

  2. ๒. หม่อมราชวงศ์มานินีตรีทิพย์ (เทวกุล) บุรี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ