วันที่ กุมภาพันธ์ พศ. ๒๔๗๘ ดร

สำเนาลายพระหัตถ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รับ ๑๒ กุมภ์. ๒๔๗๘

เมืองร่างกุ้ง

วันที่ กุมภาพันธ์ พศ. ๒๔๗๘

ทูลสมเด็จกรมพระนริศร

จดหมายฉะบับนี้หม่อมฉันเริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๓ กุมภ์ เวลามาในเรือบรมสุข ลำชื่อ Ceylon ของบริษัทเอราวดีก่อนจะถึงเมืองแปร Prome ด้วยหวังว่าจะทิ้งไปรษณีย์ทางอากาศณวันศุกรที่ ๗ ส่งไปถวายในวันหม่อมฉันกลับไปถึงเมืองร่างกุ้ง ทูลเรื่องต่อจดหมายที่หม่อมฉันถวายไปเมื่อก่อนจะออกจากเมืองร่างกุ้งไปเมืองมัณฑเล

การเดินทางในเมืองพะม่าถ้าไม่ได้อาศัยรัฐบาลลำบากมาก (ถ้าจะว่าก็เหมือนกับในเมืองเรานั่นเอง บางอย่างยังร้ายกว่าในเมืองเรา) เปนต้นว่ารถไฟไม่มีรถสะเบียง ต้องลงซื้อกินตามสถานี รถนอนก็ไม่มีฟูกเบาะเมาะหมอนต้องหาไปเอง นอกจากที่เมืองร่างกุ้งโฮเตลก็ไม่มีที่ไหน หม่อมฉันนึกระแวงความลำบากอยู่จึงให้บอกรัฐบาลอังกฤษเมื่อก่อนจะมา ต่อได้รับตอบว่าเขายินดีที่จะให้อุปการะทุกอย่างจึงได้มา และมาได้ห้างอีสต์เอเซียติกเขารับเปนอุปฐากอิกทาง ๑ การเดินทางจึงสะดวกดีด้วยประการทั้งปวง คือจ้างชาวอินเดียเปนบ๋อยคน ๑ เปนกุ๊กคน ๑ เช่าบริกขารเครื่องนอนจากห้าง Tomas Cook เหมือนอย่างที่ฝรั่งเขาทำกัน และว่าเหมารถสะลูนหลัง ๑ (ถูกกว่าซื้อตั๋วเรียงตัว) มีครัวไฟอยู่ในรถนั้นเสร็จ ออกจากเมืองร่างกุ้งเวลา ๒๐ น. นอนค้างคืนไปในรถ รถไฟเมืองพะม่าเขย่ากว่ารถไฟไทยมาก ถึงเจ้าหญิงร้องทุกข์ว่าเหลือทน แต่หม่อมฉันนอนหลับไม่เดือดร้อนนัก รุ่งขึ้นเวลา ๑๑ น. ถึงเมืองมัณฑเล เทศา ฯ และเจ้าเมืองคอยรับพาไปให้พักที่เรือนรับแขกของรัฐบาล (เราหากินเอง) และให้พนักงานในกรมโบราณคดีคน ๑ กับหม่อมเจ้าพะม่าซึ่งเคยรับราชการอยู่กับอังกฤษ เปนผู้รู้ขนบธรรมเนียมโบราณ อีกคน ๑ มาอยู่ด้วยและสำหรับพาไปเที่ยว ได้เที่ยวดูสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าดูทั่วทุกแห่ง นอกจากนั้นตาเจ้าผิว Pyu ที่รัฐบาลเขาให้มาอยู่ด้วย ไปพาพระองค์เจ้าลูกเธอของพระเจ้ามินดง ชายองค์ ๑ หญิงองค์ ๑ กับหม่อมเจ้าชั้นหนุ่มมาหาอีกหลายองค์ เปนอันได้พบและได้คุ้นกับพวกราชวงศ์พะม่าด้วย เสียแต่มีเหตุผเอิญเปน ด้วยพระองค์ปิ่น Pyin เจ้าผิวและตัวหม่อมชั้นหูหนักทั้ง ๓ คน ต้องตะโกนพูดกัน แม้พูดกันได้ในภาษาอังกฤษไม่ต้องมีล่าม ก็ซักไซ้กันไม่ได้มากมายนัก พระองค์หญิงตาด Tait นั้นบอกว่าจอมมารดาของเธอเทือกแถวเปนไทยที่ไปจากกรุงศรีอยุธยา ว่าเปนเชื้อเจ้าด้วย พระองค์ปิ่นบอกว่าลูกเธอของพระเจ้ามินดงเหลือแต่เธอองค์เดียว อายุได้ ๖๔ ปี เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์อายุเธอได้ ๗ ขวบ องค์หญิงยังเหลืออยู่ ๓ องค์ ลูกเธอของพระเจ้าสีป่อยังเหลือองค์หญิง ๔ องค์ เรื่องที่สนทนากันจะเอาไว้ทูลในรายงานพิศดาร

เมื่อมัณฑเลท่านเคยเสด็จไป แม้นานแล้วที่เปนสิ่งสำคัญยังจะทรงจำได้ หม่อมฉันจะทูลความเปลี่ยนแปลงที่เปนไปในระหว่างเวลาท่านทอดพระเนตรกับเวลานี้ ซึ่งอยู่ข้างหน้าเสียใจมีหลายอย่าง

๑ ตัวเมืองมัณฑเล คูเมืองและป้อมปราการยังเปนสง่าอยู่อย่างเดิม ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร ทางเข้าประตูเมืองก็ต้องเลี้ยวหลีกลับแลเข้าช่องประตูอย่างโบราณ ในเมืองทำเปนป๊าก รักษาดี

๒ ที่วังรื้อระเนียดและกำแพงหมด เหลือระเนียดไว้ให้ดูหน่อย ๑ เอาที่แนวกำแพงวังทำถนนขับรถได้รอบ ปราสาทที่ท่านทอดพระเนตรนั้นหลังคาถูกพายุพังเสียแล้ว ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ทำใหม่ตามทรงเดิม ทาดินแดงแทนปิดทอง ประดับกระจกแต่ยอด ท้องพระโรงที่ขุนนางเฝ้าหลังเหนือ ก็ทรุดด้วยเสาขาดกำลังซ่อมแซม ตำหนักรักษารื้อหมด คงอยู่แต่พระที่นั่งทั้งของเดิมและที่พระเจ้าสีป่อสร้างเปนตึกขึ้นหลายหลัง กับตำหนักพระมเหษี ๓ หมู่ที่อยู่หลังพระที่นั่ง แต่การรักษาต้องชมว่ารักษาดี แต่ว่าไม่ตกแต่ง เปนแต่ป้องกันมิให้เสียหนักไป สวนซ้ายขวาก็ยังอยู่ มีของทำขึ้นใหม่ ๒ อย่าง คือเอาตึก ๕ ห้องของพระเจ้าสีป่อหลัง ๑ จัดเปนมิวเซียม ทำรูปหุ่นแต่งตัวตามยศแบบขุนนางพะม่ากับทั้งภรรยา น่าดู ด้วยไปขอเครื่องแต่งตัวของท่านเหล่านั้นเอง คือตัวจริง เอามาแต่งหุ่นให้ดู ได้เห็นยานมาศทำที่นั่งข้างในข้างหน้าหันหน้าหากันเหมือนรถแคนดอ สีวิกาก็ได้เห็น ทำหลังคาเปนบุษบก หนักกว่าของเรามาก อีกอย่างหนึ่งนั้นเขาทำหุ่นราชมณเฑียรกับทั้งตำหนักรักษาทั้งหมด เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าสีป่อ ตั้งไว้ให้คนดูในศาลาหลัง ๑ น่าดูมาก ว่าลงทุนทำถึง ๓๐๐๐ รูปีย์ ดูแล้วต้องออกปากว่า “ไก่บินไม่ได้ทีเดียว” ฝีมือที่สร้างปราสาทราชมณเฑียรทำอย่างหยาบๆ เช่นท่านเคยตรัส เปนแต่เอาทองเข้าปิดถมให้แลดูสง่า มณเฑียรแก้วเปนทำอย่างประณีตสักหน่อย เขาบอกว่าช่างอิตาเลียนทำด้วยแก้วเอามาแต่เมืองเวนิสดูหรูไม่มีงดงามจับใจอย่างไร มีปลาดใจอย่าง ๑ ที่ฐานปลูกปราสาทราชมณเฑียรซึ่งก่อเขื่อนนั้น ไม่ได้ก่อเขื่อนรอบแล้ว — ถมที่เปนผืนเดียวกันตลอดอย่างเราเข้าใจกัน ถมที่ก่อเขื่อนข้างด้านหน้าเพียงตอนสร้างปราสาทตอน ๑ ไปถมที่ก่อเขื่อนตอนมณเฑียรแเก้วข้างหลังตอน ๑ ระหว่างนั้นตรงที่เชื่อมกัน ข้างบนปูกระดานเปนนอกชาน ดูที่พื้นแผ่นดินเห็นเสาราชมณเฑียรปักดินดูโปร่งไปถึงด้านข้างโน้น จะเปนเช่นนั้นมาแต่เดิมหรือจะมาโกยเอาดินออกเมื่อภายหลังยังคิดไม่เห็น

๓. พระพุทธรูปมหามัยมุนี เมื่อไปเห็นก็เสียใจ ท่านเคยตรัสชมว่าเปนพระงามน่าดูองค์ ๑ หม่อมฉันได้เคยเห็นรูปฉายาลักษณ์ครั้ง ๑ นมนานมาแล้ว ดูทรวดทรงก็งาม จึงตั้งตามาดู ครั้นไปเห็นเข้าจริงถึงตกใจ ด้วยยังเห็นเปนทองสัมฤทธิแต่ตรงดวงพระพักตร์ขัดไว้เปนเงา นอกจากนั้นเปนปูนปั้นผิวเหมือนหนังไก่ย่นแล้วปิดทองคำเปลวทั่วทั้งองค์ แล้วทำมงกุฎสรวมพระเศียรกับตาบทิศทรงพระองค์ด้วย ยิ่งนั่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นแปลก ด้วยพระองค์พระมหามัยมุนีตอนที่เหมือนปั้นนั้นดูไม่เปนรูปโฉมงามเสียเลย เปนต้นว่าพระศอโตเกือบเท่าพระพักตร์ พระหัตถ์ขวาที่พาดพระเพลาก็หงิกดูเหมือนกับหงายพระหัตถ์ด้วย แห่งอื่นที่เห็นวิปริตยังมีอีกหลายแห่ง จนพากันฉงนไม่รู้ว่าจะออกปากอย่างไร เมื่อออกมาจากวิหารแล้วผู้ที่พาไปเขาพูดขึ้นว่า “วัดนี้เคยถูกไฟไหม้ทั้งวัดครั้งหนึ่ง” จึงนึกเห็นเหตุว่า เมื่อไฟไหม้นั้นน่าที่พระมหามัยมุนีองค์เดิมจะถูกไฟเผาละลายเหลือคงรูปเดิมแต่พระพักตร์ นอกนั้นเอาของเดิมติดต่อแล้วเอาปูนพอกให้กลับเปนองค์พระจึงวิปริตปานนั้น แต่พะม่าคงปกปิดความจริงให้คนเข้าใจว่าองค์เดิม รูปสัตว์ทองสัมฤทธิอยู่ในบริเวณพระมหามัยมุนีนั้น หม่อมฉันได้พิจารณาโดยถ้วนถี่เห็นว่าเปนของเขมรสร้างแน่ มีรูปคน คือรูปพระศิว (มี ๓ ตา) ๒ รูป รูปช้างเอราวัณใส่หมวกอย่างจำหลักที่นครวัดรูป ๑ รูปสิงห์เบือน ๓ ตัว ๑ แต่หัวหายหมด หล่อหัวสิงห์แบบพะม่าต่อแทนเข้ากันไม่ได้

๔ เมื่ออยู่ร่างกุ้งไปเที่ยวตลาด มีพวกพะม่าที่ขายของถามว่าเปน “โยเดีย” หรือ ก็เข้าใจว่าเขาหมายความว่า “ชาวอโยธยา” หรือ เปนแต่สำเหนียกไว้ ครั้นไปถึงเมืองมัณฑเลเราไปบอกว่าเปน Siameseดูพะม่าไม่เข้าใจทีเดียว ลองบอกว่าเปน “โยเดีย” ก็พากัน “อ้อ” และเลยเกิดไมตรีจิตต์ พระองค์ปิ่นบอกหม่อมฉันว่า มีอะไรๆ ต่างๆ ที่พะม่าเอาอย่างไทยมาใช้มาก เปนต้นว่าลวดลายจำหลักที่เรียกว่าลายโยเดียมีหลายอย่าง เครื่องดนตรีและกระบวนฟ้อนรำและขับร้องก็ยังนับถือแบบโยเดียอยู่จนทุกวันนี้ แต่กลายเปนข้อที่เสียใจ ด้วย (ฉะเพาะหญิงเหลือ) ตั้งใจหมายจะดูพะม่าร้องรำอย่างไทยที่ได้แบบแผนมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ได้คุ้นเคยกับเจ้านายพะม่าก็เปนโอกาศที่จะวานให้หาพวกครูบาอาจารย์มาร้องรำให้ดู แต่ผเอิญประจวบเวลาเขาไว้ทุกข์ถวายพระเจ้ายอช งดเล่นมหรศพ เลยไม่ได้ดูเสียดายยิ่งนัก ลองไปหาซื้อแผ่นคราโมโฟนเพลงพะม่าหลายแห่ง ก็มีแต่ร้องอย่างสมัยใหม่เข้ากับเปียโนและไวโอลิน บอกว่าแผ่นเสียงร้องเพลงเข้าเครื่องดนตรีอย่างโบราณเลิกไม่ทำมาเสียนานแล้ว “พ้นทุกข์สำเร็จทุกข์”

หม่อมฉันได้ไปถึงราชธานีทั้ง ๔ เมือง ถ้าเทียบกับเมืองเรา เมืองชัยบุระ (สะแคง) อยู่อย่างเมืองธนบุรี เมืองรัตนบุระ (อังวะ) อยู่อย่างพระนคร เมืองอมรบุระอยู่อย่างที่วัดเขมา เมืองรัตนบุรณ (คือมัณฑเล) อยู่อย่างที่เมืองนนท์ เมื่อลงเรือล่องมาถึงตะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเอราวดีที่ทำใหม่ และเห็นราชธานีได้พร้อมกันทั้ง ๔ เมือง

ถึงเมืองพุกามหูผึ่งด้วยแปลกกว่าที่ไหน ๆ ที่ได้เคยเห็นมาแต่ก่อนหมดทุกแห่ง ทั้งจำนวนและรูปสัณฐานเจดียวัดถุที่มี ถ้าจะอุประมาอย่างหยาบ ๆ ต้องเปรียบว่าไปย้ายพระมหาธาตุบันดามีในพระนครศรีอยุธยา และเมืองพิษณุโลกสวรรคโลกสุโขทัย มารวมกันไว้ในกรุงเทพ ฯ ทั้งหมด นั่นและจะใกล้กับจำนวนเจดียสถานที่มีในเมืองพุกาม ปัจจัยที่ทำให้ผิดกับแห่งอื่นเปนข้อสำคัญนั้น เพราะเมืองพุกามอยู่ในภูมิลำเนาตอนอากาศแห้ง Dry zone ฝนน้อยต้นไม้ใหญ่เช่นต้นโพธิไม่ขึ้น แม้เมืองร้างมากว่า ๘๐๐ ปี (ก่อนตั้งราชวงศ์พระร่วง) เจดียสถานยังอยู่ได้ไม่พังทะลาย แม้จนเฟรสโกเขียนข้างในก็ยังอยู่หลายแห่ง เขียนงาม ๆ มากลวดลายไม่แพ้เขมรเลย แต่เจดียสถานก่อด้วยอิฐทั้งนั้น ศิลาทรายก็มีมาก แต่ไม่ใช้ก่อสร้างอย่างเขมร เปนแต่ใช้ปูพื้น หม่อมฉันเที่ยวทั้งเช้าและเย็น ๓ วันยังดูไม่ทั่ว แต่ที่สำคัญได้ดูหมดทุกแห่ง จะทูลบรรยายในรายงานพิศดาร

ที่เมืองพุกามก็ได้พักอยู่เรือนรับแขกของรัฐบาล ในวันที่ถึงนั้นได้รับโทรเลขของทูลกระหม่อมชายบอกข่าวว่าสมเด็จหญิงน้อยสิ้นพระชนม์ ทำเอาละเหี่ยไปตามกัน หม่อมฉันนึกคาดว่าท่านคงสั่งให้ฝังพระศพไว้ที่เมืองบันดุง เห็นจะไม่ต้องเอะอะอย่างเมื่อพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิ

หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายฉะบับก่อน ว่ามีความเสียใจที่ไม่มีมิวเซียมในเมืองร่างกุ้งดังคาดไว้ เรื่องนี้มาได้ความภายหลังว่า ที่จริงนั้นเดิมมีมิวเซียมใหญ่ซึ่งเซออาเธอแฟรสร้างไว้เมื่อเปนเจ้าเมือง จึงเรียกว่า “แฟรมิวเซียม” ครั้นถึง ค.ศ.๑๙๑๑ รัฐบาลจะตั้งโรงพยาบาลใหม่ หาที่อื่นเห็นไม่เหมาะกว่าตรงที่เซออาเธอแฟรได้สร้างมิวเซียม จึงเลิกมิวเซียมเสียชั่วคราว . เอาที่นั้นเปนโรงพยาบาล ของในมิวเซียมเอาแยกย้ายไปฝากไว้ในมหาวิทยาลัยบ้าง เอาใส่หีบเก็บไว้ในคลังบ้าง ยังไม่ได้สร้างมิวเซียมใหม่จนบัดนี้ ของที่ขุดค้นได้ใหม่ พบที่แขวงไหนก็ปลูกโรงเรียกว่า “มิวเซียม” เก็บรักษาไว้ที่นั่น ที่เมืองพุกามก็มีแห่งหนึ่ง หม่อมฉันได้ไปดู เปนคลังเท่านั้นเอง แต่ของที่ไปเห็น เช่นพระพิมพ์เปนต้น เปนรุ่นเดียวกันกับพระปมเจดีย์เปนแน่ แต่เมืองนครปมร้างก่อนเมืองพุกาม พนักงานโบราณคดีในเมืองพะม่าเวลานี้ตัวหัวหน้าก็ว่าง U Ngwe Zen ที่เขาให้มากับหม่อมฉันเปนแต่ผู้รั้ง เปนคนชั้นหลวงบริบาลของเรา แต่เปนคนเรียบร้อยดี ในเรื่องโบราณคดีดูไม่มีคนเอาใจใส่มากนัก ก็เห็นจะอย่างเดียวกับเมืองเรานั่นเอง

มีเรื่องเสียใจที่หม่อมฉันควรจะทูลแต่ในจดหมายฉะบับก่อนอีกเรื่อง ๑ แต่พึ่งมาตระหนักเมื่อส่งจดหมายไปแล้ว จึงจะทูลในจดหมายฉะบับนี้ คือเมื่อหม่อมฉันขึ้นไปบูชาพระเกษธาตุที่เมืองร่างกุ้ง เห็นมณฑปที่ทำ ๔ ทิศพระธาตุ และหลังอื่นที่จำหลักด้วยไม้ ดูงามไม่ตื่นตาเหมือนเมื่อมาเห็นคราวก่อน ซ้ำเห็นมณฑป “อย่างเทศ” ทำขึ้นใหม่หลายหลัง ออกฉุนถึงสั่งหญิงพิลัยให้ถ่ายรูปส่งไปทูลฟ้องเสด็จอาว์ ต่อหลายวันมาจึงนึกได้ว่า เมื่อสักห้าหกปีมานี้ไฟไหม้หมดทั้งบริเวณมณฑป และเครื่องไม้จำหลักที่ท่านและหม่อมฉันเคยชอบแต่ก่อนนั้น ไฟไหม้เสียหมดแล้ว ที่มีอยู่บัดนี้เปนของสร้างใหม่ทั้งนั้น ฝีมือเรียวเลวลงกว่าแต่ก่อนมาก หม่อมฉันได้ไปปรารภกับฝรั่ง เขาบอกว่าฝีมือช่างพะม่าทุกวันนี้ ทั้งช่างจำหลักไม้ ช่างจำหลักเงิน และช่างพระทุทธรูปเลวลงหมดทุกอย่าง ของจำหลักไม้ที่ฝีมือดียังมีวัดสะลินกับวัดนางพระยา Queen’s Temple อยู่ที่เมืองมัณฑเล แต่ก็ซวนเซจวนจะพังอยู่แล้ว เพราะไม่มีใครซ่อม ของสร้างใหม่เปนอันว่าจะหาฝีมือดีไม่ได้เลย

หม่อมฉันลงเรือล่องจากเมืองพุกาม จอดนอนกลางทาง ๒ คืน ผ่านย่านบ่อน้ำมันดินแต่ไม่ได้ขึ้นดู เห็นแต่งตั้งร่างร้านสำหรับสูบน้ำมันสลอนไปราวกับป่าต้นไม้ ทำถึง ๓ ตำบล มาถึงเมืองแปรเมื่อวันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ รัฐบาลรับรองและให้อยู่ที่เรือนรับแขกเหมือนแห่งอื่นที่ผ่านมาแล้ว เมืองแปรนั้นเปน ๒ เมือง เมืองโบราณนั้นชื่อ สรเขตร (เรียกกันว่าตำบลมอซา) อย่างเหนือน้ำ เมืองแปรเปนเมืองตั้งภายหลัง และยังเปนตัวเมืองเดี๋ยวนี้อยู่ใต้น้ำลงมา หม่อมฉันไปดูเมืองสรเขตรก่อน พอเห็นก็หูผึ่งอีก เปนเมืองเก่าก่อนเมืองพุกามขึ้นไป พระเจดีย์และรูปจำหลักเปนอย่างเก่ามาก ต้องเอาไว้ทูลในรายงานพิศดาร ไปที่นี่มีสนุกอย่าง ๑ ด้วยเขายอมให้ขุดหาพระพิมพ์ ซึ่งมองซิเออ ดือรอยเซล เจ้ากรมโบราณคดีเมืองพะม่าแต่ปลดจากราชการแล้ว กระซิบบอกหม่อมฉันให้ทราบมาแต่เมืองมัณฑเล ได้พระพิมพ์ชั้นเก่าหลายองค์ เตรียมจะส่งไปถวายเมื่อถึงปินัง เวลาบ่ายได้ขึ้นไปบูชาพระมหาธาตุสันดอ Shwe Sandaw รูปสัณฐานก็อย่างพระเจดีย์มอญปิดทองทั้งองค์ ไม่สู้ใหญ่โตนัก แต่น่าดูด้วยเครื่องไม้จำหลักต่าง ๆ เช่นมณฑปเปนต้น ของเก่ายังอยู่ดี ไม่ถูกไฟไหม้เหมือนที่พระเกษธาตุเมืองร่างกุ้ง และไม่ถูกแผ่นดินไหวเหมือนที่พระมุเตาเมืองหงสาวดี กับอีกอย่างหนึ่งอัศจรรย์ที่มีพระพุทธรูปทั้งหล่อทั้งจำหลักศิลาและปั้นงามๆ มากกว่าที่ไหนๆ ที่ได้เคยเห็นมาในเมืองพะม่า เห็นจะเปนเพราะไม่มีเหตุอันตรายก็ไม่ถูกคนชั้นหลังปฏิสังขรณ์เหมือนที่อื่น เวลาค่ำกรรมการผู้ใหญ่ที่เปนพะม่าเขาเชิญไปเลี้ยงอย่างพะม่า ปลาดใจอีกที่อาหารพะม่าเหมือนกับไทยที่กรุงเทพฯ ผิดกับอาหารในมณฑลพายัพ กินอร่อยทีเดียว แต่พะม่าไม่กินของหวานเช่นเดียวกันกับชาวมณฑลพายัพ เมื่อไปกินเลี้ยงนั้นพูดกันขึ้นถึงเรื่องหม่อมฉันอยากดูละครพะม่ารำและร้องเพลงอย่าง “โยเดีย” แต่เผอิญสบเวลาไว้ทุกข์ถวายพระเจ้ายอชไม่ได้ดู แขกคนหนึ่งเปนผู้พิพากษาบอกว่า เดี๋ยวนี้ตัวนายโรงที่เปนเอกในเมืองพะม่า ชื่อมองโปสิน เขาเล่นละครให้คนดูอยู่ที่เมืองจองเดระยะหางห่างเมืองแปรรถยนต์แล่นสักชั่วโมงครึ่ง ทางรถไฟก็ผ่านไปทางนั้น เขาแนะให้ไปรถยนต์แต่เวลา ๑๙ น จะมีเวลาดูละครสักชั่วโมงเศษ แล้วจึงขึ้นรถไฟที่สถานีเมืองนั้นกลับเมืองร่างกุ้ง ก็เปนอันตกลง พวกกรรมการเมืองแปรและเมืองจองเดรับรอง เปนอันได้ดูตัว “เจ้ากรับ” รำอย่างโยเดีย และพวกละคร (มีตัวยายครูออกมากำกับ) ร้องเพลงโยเดียให้ฟังด้วย ยังมีเค้าไทยอยู่ทั้ง ๒ อย่าง ดูแล้วขึ้นรถไฟกลับมาถึงเมืองร่างกุ้งวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เวลา ๕.๓๐ น

(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ

คัดถูกต้องตามต้นฉะบับ

<ดวงจิตร>

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ