วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ เกล้ากระหม่อมขึ้นรถกับหญิงอามและแม่โต ไปเพื่อจะเผาศพป้าของลูกชายเจริญใจ พบหญิงแดงกับหญิงโหลขี่รถมาสวนกันตามทาง เกล้ากระหม่อมก็ทราบได้ด้วยญาณว่าเธอจะมาหาเกล้ากระหม่อม แต่จะกลับมาพบกับเธอไม่ได้ เพราะที่งานศพเขาต้องการตัวเกล้ากระหม่อมโดยมีเวลาจำกัดเสียด้วย จึงจำต้องไปทางการศพก่อน ครั้นกลับมาบ้านหญิงทั้งสองเธอกลับแล้ว ฝากของประทานกับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๘ เดือนก่อนให้หญิงอี่ไว้ให้ ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ของประทานซึ่งทำที่โรงเรียนนางชีนั้น ดูน่าพิศวงมาก ชามแก้วติดตะกั่วลายและแผ่นเสียงตัดงอเปนกะบะนั้นสบใจอย่างยิ่ง เพราะเปนของที่จะพึงทิ้งแล้วเอากลับมาทำให้ใช้ได้นั้น เกล้ากระหม่อมชอบใจเสมอ เห็นที่ไหนก็ต้องลูบคลำชมความคิดที่นั่น พระรูปฉายาลักษณไม่ทราบว่าทรงถ่ายที่ไหนนึกเอาเองว่าคงขึ้นไปถ่ายบนธารน้ำตกเขาปินัง อันพระรูปฉายาลักษณนั้นจะต้องทูลว่าไม่ดี เพราะเห็นเข้าทำให้คิดถึงฝ่าพระบาทกับหลาน ๆ ทับทวีหนักขึ้น ส่วนตุ๊กตาโจนร่ม ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานเด็กหลานๆ รุ่งขึ้นจึงได้เห็นเล่นกันชุลมุน ได้ยืนดูแกเล่นแล้วอดไม่ได้ ต้องเรียกเอามาพิจารณาแล้วลองดีดด้วย เขาช่างคิดน่าเล่นเปนอันมาก ญี่ปุ่นฉลาดไม่น้อยเลย

เรื่องของญี่ปุ่นได้กราบทูลมาสองตลบแล้ว บัดนี้มาเห็นประกาศเขาบอกขายไม้อัดเข้า เตือนใจให้นึกถึงขึ้นอีก จึงได้ตัดส่งมาถวายและกราบทูลประกอบเปนสามตลบขึ้น จะทอดพระเนตรเห็นได้ไม้ล้วนอัดแผ่นหนึ่ง มีขนาด ๖'×๓' ขายราคา ๑๑๐ สตางค์ ถ้าตัดทำซองก็ได้ ๖๐ ใบ เฉลี่ยราคาตกเปนใบละสตางค์ ๑ กับเศษ ๘/๑๐ เปนของควรสู้ได้ด้วยไม่จำต้องแซมกระดาษ จึงเชื่อว่าทำด้วยไม้ล้วนอัด

ทีนี้จะทูลสนองข้อความในลายพระหัตถ์ต่อไป

พระศพกรมหมื่นอนุวัตน เมื่อตั้งที่วังประกอบลองกุดั่นน้อย เมื่อออกพระเมรุประกอบลองกุดั่นใหญ่ เขาเทียบด้วยศพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ พระเมรุนั้นเขาทำการประดับประดาสอาดประณีตเรียบร้อยดี แต่โครงใช้โครงพระเมรุครั้งสมเด็จชาย เพื่อจะไม่ต้องใช้เงินมาก โครงเมรุเก่านั้นทำไว้ติดจะเขลา เมื่อทอดพระเนตรในรูปถ่ายจึงเห็นไม่ดี ส่วนการประดับประดาเปนของละเอียด ย่อมเห็นไม่ได้ในรูปถ่ายทั้งสีสรรพวรรณะด้วย

ได้รับประทานอธิบายเรื่องเมืองตะกั่วป่า ตอนที่ ๓ มากับลายพระหัตถ์คราวนี้ด้วย เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า คราวนี้ไม่มีข้อที่ก่อความเห็นขึ้นให้ทูล “ตอด” มีแต่ได้ความรู้แจ่มแจ้งทุกประการไป มีหลายข้อที่สงสัยมาแต่ก่อน เช่นพระยาจรูญราชโภคากร (คอ-ซิมเต็ก) เปนต้น เหตุไรจึงมาตั้งรกรากอยู่เมืองหลังสวน ก็ได้ทราบความแจ่มแจ้งตามที่ได้ตรัสอธิบายไปคราวนี้ อีกข้อหนึ่งเรื่องฝรั่งเศสขอขุดคลองกระนั้น ได้ทราบแต่ในชั้นที่มีมาในรัชชกาลที่ ๕ ไม่ทราบเลยว่าเคยขอมาแต่ครั้งรัชชกาลที่ ๔ คราวหนึ่งแล้ว ในข้อที่ตรัสอธิบายถึงการส่งเงินจากภูเก็ตเปลี่ยนแปลงส่งทางแบงก์ พออ่านถึงตรงนั้นก็นึกขึ้นมาได้ถึง “เมอคันตะไลแบงก์” ทันที ตั้งใจว่าจะทูลตอด แต่ก็ทรงระลึกได้ ตรัสอ้างถึงไว้ในภายหลังเสียเสร็จแล้ว

ขอประทานกราบทูลความสงสัยข้อหนึ่ง พบในหนังสือพระมาลัยคำหลวง เขาตีพิมพ์แจกงานศพ ในนั้นเรียกเกาะลังกาว่า “ตามพปณฺณยทีป” แปลว่า เกาะแผ่นทองแดง เห็นคล้ายกับชื่อนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ทรงตรวจพบว่าเรียก “ตามฺรลิงค” จะหมายความว่าสืบมาแต่เกาะลังกาก็ได้กระมัง

มีเหตุมากระทบทำให้เกิดความไฝ่ใจที่จะทูลถามปัญหาขึ้น ๒ ข้อ คือ

๑ คำว่า “พระบาง” จะมีความหมายว่าอย่างไร มีเมืองชื่ออย่างนั้นที่นครสวรรค์แห่งหนึ่ง ในแขวงลาวกาวก็มีเมืองชื่ออย่างนั้นอีกแห่งหนึ่ง พระพุทธรูปชื่ออย่างนั้นก็มีองค์หนึ่ง เคยเอาเข้ามาไว้กรุงเทพฯ แต่เกล้ากระหม่อมไม่เคยเห็น เขาว่าก็เปนพระยืนอย่างดื่นๆ นั้นเอง ชื่อพระองค์นั้นเห็นจะเรียกตามชื่อเมือง

๒ ชายเจริญใจออกไปทำทางรถไฟกลับเข้ามาเยี่ยมบ้าน มาถามขึ้นว่า “กุมภวาปี” แปลว่ากะไร เกล้ากระหม่อมก็ออกจะจน ถ้าแปลตามศัพท์ก็ว่าหนองหม้อ แต่ว่าชื่อเดิมของมันจะชื่ออะไรก็หาทราบไม่ เคยได้ยินชื่อ “หนองบัวลำภู” มีอยู่ แต่จะอยู่ที่ไหน จะเปนที่เดียวกันนั้นหรือมิใช่ก็ไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ดี “กุมภ” แปลว่าบัวชนิดใดไม่ได้เลย ลูกชายว่าในหนังสือซึ่งหลวงวิจิตรวาทการแต่งไว้ ในเมื่อไปในกองข้าหลวงประชุมปรึกษาเรื่องแม่น้ำโขง แปล “กุมภวาปี” ว่า “บึงจรเข้” เกล้ากระหม่อมร้องค้านว่าไม่ได้เปนอันขาด จรเข้นั้นภาษาบาลีเรียกว่า “กุมภีโล” ถ้าเรียกว่า “กุมภีลวาปี” จึงจะแปลว่าบึงจรเข้ได้ คิดว่าฝ่าพระบาทคงทรงทราบกำเนิดเดิม จึงทูลถามมาเพื่อเรียนให้รู้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ