วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๗ กันยายน ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ได้รับประทานลายพระหัดถ์ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ขอประทานทูลสนองปัญหาตามความคิดเห็น ดั่งต่อไปนี้

คำนำบทละคอนที่ขึ้นต้นว่า “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” นั้นชอบกลอยู่มาก เมื่อดูประโยชน์ก็เห็นว่าที่ตั้งคำเหล่านั้นขึ้นต้น เปนการที่ไว้ช่องให้ตัวละคอนที่จะต้องทำบทรู้ตัว ว่าถึงบทของตนแล้ว แม้ว่าแต่งเปนกลอนติดกันไปไม่มี “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” คั่น ตัวละคอนที่ถึงบทจะตะครุบไม่ทัน หาความเรียบร้อยบมิได้ และสังเกตเห็นว่าคำ “เมื่อนั้น” และ “บัดนั้น” เพิ่งจะตั้งมั่นใช้กันเปนแบบในภายหลัง บทละคอนแต่ก่อนเก่าใช้คำแปลก ๆ เช่น “กล่างอ้างถึงนางพระราชมารดา” ดั่งมีในเรื่องมโนหราอย่างนี้เปนต้น เขมรเอาบทละคอนไทยไปถอดเปนภาษาเขมรเขียนให้เขมรอ่าน คำ “เมื่อนั้น” เขาถอดเปน “กาลเนาะ” ก็ตรงกับคำที่เราใช้อยู่ว่า “กาลนั้น” “ขณะนั้น” มีเหมือนกันแต่เราใช้ในที่อื่น หาได้ใช้ขึ้นต้นบทละคอนไม่ จะว่าเนื่องมาจากแปลภาษาบาลีแต่คำ “อถ” ก็ไม่ลงใจเห็นไปได้ ถ้าหากว่าใช้ในหนังสือสวดก็ว่าเช่นนั้นได้ เพราะเกิดแต่พระแปลเอาชาดกมาแต่ง ส่วนบทละคอนนั้นเปนของตัวละคอนเขาร้องด้นเอาตามใจเขา เช่นลิเกเล่นเรื่องอิเหนา เขาก็ร้องด้นเปน “ฝ่ายว่าละวะปันหยี ก็จรลีไคลคลา” คนที่แขงเขาก็คิดบทร้องของเขาขึ้นสด ๆ คนที่อ่อนก็จำมาท่องไว้เล่นต่อไป พวกกวีเห็นว่ารุ่มร่ามจึงเอามาแต่งให้ใหม่ให้เรียบร้อยแล้วเลยไม่ให้ตัวละคอนร้องเอง ไม่เกี่ยวทางบาลี ความคิดวนเวียนจับไม่ติดอยู่ดังนี้ จึงยังไม่แน่ใจลงไปได้ว่า บทละคอนขึ้นต้นว่า “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” มาแต่อะไร ทั้งจัดเปนยศเสียด้วย ตัวนายโรงเอก ใช้ “เมื่อนั้น” เสนากำนัลใช้ “บัดนั้น” ประหลาดอยู่หนักหนา

คำ “แล” นั้นก็วินิจฉัยยากเหลือเกิน ตามแบบโบราณนั้นเขียน “แล” ย่อมแปลไปได้หลายอย่างว่า ดู ก็ได้ ว่า กับ ก็ได้ ว่า แล้ว ก็ได้ และอะไร ๆ อีก อ่านก็ออกเสียงต่างๆ กัน จนภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ามาทรงบัญญัติให้เขียนตามเสียงอ่านเปน แล และ แหละ แหล่ ทำให้ยากขึ้นอีกมาก แต่ที่ฝ่าพระบาทตรัสตั้งปัญหาไปนั้น ฉะเพาะแต่คำ “แล” ที่ใช้ในท้ายความ พออ่านปัญหาที่ตรัสถามไปก็นึกได้ถึงคำเขมร ซึ่งเขาใช้มากในท้ายความ ว่า “โหง” เมื่อนึกปรับกับสำนวนไทยแล้ว คำว่า “โหง” นั้นได้แก่ “แล” ไทยเราก็มีพูดกันอยู่ว่า “ตายโหง” แต่เราเข้าใจกันเปนว่าตายไม่ดี แล้วเลยใช้เรื่อยไป เปนว่า “โหงพราย” หมายถึงผี แต่ทางเขมรคำ “โหง” จะเปนผีไปไม่ได้เลย เมื่อคิดถึงที่เอาคำ “แล” ของไทยเข้าปรับกับคำ “โหง” ของเขมร คำ “ตายโหง” ที่เราใช้ก็เปนตายแลหรือตายแหล่ พอจะไปได้ ถัดนั้นก็นึกได้ถึงกรมหลวงประจักษ์ตรัสเล่าถึงพระลาวเทศน์ ทรงทำพระสุรเสียงเอาอย่างด้วยว่า “เปตน่ะ ฉูงเท่าต้นมักพ่าวที่หน้าอาลานั่นแน” แน ก็คือ แน่ะ แน่ อาจเปนคำเดียวกับ “แล” ดุจคำว่า “เช่นนั้นแล” เปน “เช่นนั้นแน่ะ” จะได้หรือไม่ ด้วยอำนาจเสียงเราเดิมมาแต่จีน จีนพูดเสียง น กับ ล ไขว้เขวกันเสมอ เช่นป่าไม้ จีนลางคนก็ออกเสียงว่า “นิ้ม” ลางคนก็ออกเสียงว่า “ลิ้ม” หรือชื่อเมือง “ไหนัม” และ “ไหหลัม” ก็เหมือนกัน คำไทยเรา “ใด” “ไหน” “ไร” นี้ก็เปนคำเดียวกัน เปลี่ยนพยัญชนะไปได้ด้วยอำนาจเสียงจีนนำไปเหมือนกัน จะอย่างไรก็ตามทีเถิด เกล้ากระหม่อมจะขอทูลวินิจฉัยตัดให้สั้นลงว่า คำ “แล” ที่ใช้ในที่ท้ายความนั้นหมายความว่า “แล้ว” ดุจ “เช่นนี้แล” ก็คือเช่นนี้แล้ว “อย่างนั้นแล” ก็คืออย่างนั้นแล้ว จะเห็นตัวอย่างที่ชัดได้จากคำ “ควรแลฤา” ก็คือควรแล้วหรือนั้นทีเดียว

ข่าวฟ้าเชียงตุงถึงพิราลัย เกล้ากระหม่อมเห็นในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ เขาบอกชื่อทายาทเหมือนกัน แต่เขียนเปนหนังสือฝรั่ง อ่านจับเอาภาษาไม่ได้ อย่าง “ฉายเมือง” หรือ “ขุนศึก” คิดว่าคลาศเคลื่อนมากก็สิ้นความเพียรที่จะคิดแปลเลยผ่านไปเสีย แต่พอมาได้เห็นชื่อซึ่งเขียนเปนหนังสือไทยในลายพระหัดถ์ ก็แจ้งใจปรุโปร่งไปทันที พวกไทยเหนือลุ่มแม่น้ำโขงข้ามไปจนถึงลานนา เขาเรียกพยัญชนะเหมือนเสียงเขมร คือตัว ท เปน ต ตัว พ เปน ป เช่น เจ้าอินทนนท์เรียกเปนอินตนนท์ เจ้ากองไตย์ก็คือเจ้ากองไทย ได้ความดีแล้ว

เรื่องที่ตรัสเล่าถึงการไปรับไปส่งใครต่อใครที่สถานีไปรนั้น ให้รู้สึกว่าลำบากจริง เรื่องอ้ายคนแจวเรือจ้างโกงจะเอาค่าจ้างขึ้นนั้นที่สิงคโปรก็มีบ้างเหมือนกัน

ลายพระหัตถเมลนี้ หวังว่าจะได้ฟังตรัสเล่าถึงข่าวเจ้านายเสด็จมาปินังได้ปฏิบัติการรับเสด็จกันอย่างไรบ้าง

รูปคชสีห์ฉลักด้วยศิลาซายซึ่งตรัสถึงนั้น เกล้ากระหม่อมนึกได้ ดูเหมือนจะมีคู่ จำได้ว่ายืนชะเง้ออยู่ตัวหนึ่ง หมอบจมรกอยู่ตัวหนึ่ง เดิมทีคงจะทำตั้งเชิงบันไดที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่เพราะเหตุใดจึงหักป่นปี้เอามาทิ้งไว้ในหมู่เขารก ฝีมือทำไม่สู้ดีนักจึงไม่ได้เอาใจใส่ดู นอกจากรูปคชสีห์ยังนึกได้ว่ามีรูปช้างอีกตัวหนึ่ง ฉลักดี แต่ตัวเล็กนิดเดียว หมอบอยู่เหมือนกัน เพราะขาหักหมดแล้ว คิดว่าเวลาว่าง ๆ จะไปตรวจดูให้ทั่วสักที มีอะไรที่ควรจะเก็บขึ้นเชิดชูด้วยเสิมปูนต่อตั้งขึ้นไว้ให้ปรากฏแก่ตา ก็จะลองให้ความเห็นแก่กรรมการผู้รักษาลองดู เผื่อจะเปนผลสำเร็จไปได้บ้าง

ขอประทานกราบทูลรายงานการสืบเมืองชุมพรซึ่งสืบได้ความมาเล็กน้อยให้ทราบฝ่าพระบาท นายชิตคอมประโดห้างอีสตเอเซียติกที่บ้านดอน ซึ่งเขาได้ช่วยสืบเรื่องเมืองท่าทองกาญจนดิฐ ตามที่ได้กราบทูลมาก่อนแล้วนั้น เขามีหน้าที่เดินตรวจการของบริษัทจนถึงจังหวัดชุมพร เกล้ากระหม่อมจึงสั่งเขาว่าถ้าไปถึงชุมพรแล้วช่วยสืบเมืองเก่าชุมพรดูด้วย ว่าท่วงทีจะอยู่ที่ไหน บัดนี้ได้รับรายงานมา ว่าเขาได้ไปชุมพรและสืบได้ความว่า ปากน้ำท่าตะเภาซึ่งตั้งเปนเมืองเดี๋ยวนี้ เดิมเปนที่ต่อเรือตะเภา ปากน้ำชุมพรเก่าเปนปากน้ำบ่อคา ลำน้ำนั้นไหลผ่านไปทางสถานีแสงแดดและทุ่งคาใต้เมืองเดี๋ยวนี้ลงมา แต่ว่าเมืองจะตั้งที่ตรงไหนไม่มีใครทราบ ตำบลคะเงาะนั้นเขาเรียกกันว่า ตะเงาะ เปนป่าชัฎ เคยเปนเมืองนอกกฎหมาย คือมีพวกโจรไปตั้งซ่องสุมกันอยู่ที่นั้นมาก คุมกันเที่ยวตีปล้นราษฎรในแขวงใกล้เคียง สืบได้ความมาเท่านี้เพราะมีเวลาอยู่ที่นั้นน้อยนัก จะสืบสวนต่อไป ถ้าได้ความจริงอีกประการใดจะบอกมาให้ทราบ สิ้นความในรายงานเพียงเท่านี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ