เรื่องตั้งเมืองในมณฑลอุดรและอิสาณ

เดิมเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองลาวทางริมลำน้ำโขงมีกรุงศรีสัตนาคนหุต อันตั้งเมืองเวียงจันท์เปนราชธานีเปนอิสสระอยู่ตอนกลาง เมืองหลวงพระบางเปนอิสสระอยู่ข้างเหนือ เมืองจำปาศักดิ์เปนอิสสระอยู่ข้างใต้ ฝ่ายเมืองทางดอนห่างลำแม่น้ำโขงเข้ามาเปนอาณาเขตต์เมืองนครราชสีมาของไทย เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พะม่าแล้วไม่ช้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็ต้องตกอยู่ในอำนาจพะม่า ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีไทยกลับเป็นอิสสระได้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตก็อยากเปนอิสสระบ้าง จึงมาขอทอดทางไมตรีกับพระเจ้ากรุงธนบุรี (มีเรื่องแจ้งอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้โดยพิสดาร) และเมื่อสมัยกรุงธนบุรีนั้น ไทยได้อาณาเขตต์เมืองนครจำปาศักดิ์กับเหล่าเมืองพวกเขมรป่าดงมาเปนของไทย ครั้นอยู่มาพระเจ้าเวียงจันท์วิวาทกับขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อพระวอ พระวอหนีมาขอพึ่งพระบารมีอยู่ในอาณาเขตต์ไทย พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลดอนมดแดง (ใกล้กับเมืองอุบลบัดนี้) พระเจ้าเวียงจันท์บุญสารบังอาจให้กองทัพยกบุกรุกอาณาเขตต์ไทยมาจับพระวอฆ่าเสีย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้ยกกองทัพขึ้นไปปราบกรุงศรีสัตนาคนหุต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อยังดำรงพระยศเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จเปนจอมพลขึ้นไปในครั้งนั้น ตีได้เมืองเวียงจันท์และหัวเมืองขึ้นทั้งปวงมาเปนของไทย พระเจ้าเวียงจันท์บุญสารหนีไปได้แต่ตัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเชิญพระแก้วมรกตพระบางและกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองเวียงจันท์ลงมาเปนอันมาก ให้พวกชาวเวียงจันท์มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามหัวเมืองชั้นใน ที่ถูกพะม่ากวาดต้อนเอาราษฎรไปเสียจนร้างอยู่ คือ เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี และเมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา เปนต้น ส่วนพวกญาติวงศของพระเจ้าเวียงจันท์บุญสารนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทำนุบำรุงไว้เอง การที่กองทัพไทยยกขึ้นไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตครั้งนั้น พวกราษฎรเมืองลาวทั้งชาวเวียงจันท์และชาวเมืองอื่น พากันตื่นแตกหนีข้ามแม่น้ำโขงไปซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าที่ใกล้ชายแดนญวนเปนอันมาก จนเกิดมีเมืองทางนั้นขึ้นหลายเมืองในสมัยครั้งตั้งกรุงธนบุรียังหาได้จัดการปกครองเมืองลาวให้เปนปกติไม่ ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้กลับตั้งเมืองเวียงจันท์เปนประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ และทรงตั้งบุตร์พระเจ้าเวียงจันท์บุญสารให้เปนเจ้านครเวียงจันท์ เมืองจำปาศักดิ์ก็ให้เปนประเทศราช ส่วนเมืองลาวและเมืองเขมรป่าดงซึ่งเคยขึ้นเมืองนครราชสีมาอยู่แต่ก่อน มีพระราชประสงค์จะตั้งหัวเมืองชั้นนอกให้เป็นกำลังของเมืองนครราชสีมาอยู่ในระวางแดนประเทศราชเวียงจันท์และนครจำปาศักดิ์ จึงโปรดฯ ให้เกลี้ยกล่อมพวกท้าวพระยาในท้องที่ ให้ไปตั้งภูมิลำเนาตามที่ซึ่งสมควรจะบำรุงให้เกิดประโยชน์ได้ ใครพาสมัคพรรคพวกไปอยู่เปนหลักแหล่งจนเปนที่ประชุมชนเกิดขึ้นณที่ใด ก็โปรดฯ ให้ตั้งที่นั้นขึ้นเปนเมืองมีอาณาเขตต์ในการปกครอง ผู้เป็นหัวหน้าให้เปนพระยาหรือเปนพระ ที่เจ้าเมือง และทรงตั้งญาติวงศซึ่งได้ช่วยกันทำนุบำรุงท้องที่นั้นเป็นตำแหน่ง อุปราช ราชวงศ และราชบุตร ตามทำเนียบยศซึ่งนิยมกันในเมืองลาวแต่ก่อนมา ให้เมืองเหล่านี้ส่งส่วยของต่าง ๆ อันหาได้ง่ายในเมืองนั้น มาใช้ราชการในกรุงเทพฯ เปนหน้าที่ การตั้งเมืองชั้นนอกครั้งนั้น พวกท้าวพระยาพากันนิยมมีผู้เข้ารับอาสามาก เพราะได้อิสสระแก่ตระกูลของตน ใครได้เปนเจ้าเมืองมีอาณาเขตต์น้อย หรือว่าเมื่อใคร่จะได้เปนเจ้าเมือง ก็พยายามเที่ยวเกลี้ยกล่อมราษฎรที่อื่นให้มาตั้งภูมิลำเนาในอาณาเขตต์เมืองของตน เปนเหตุให้ได้พวกราษฎรซึ่งหลบหนีไปอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเมื่อครั้งตีเมืองเวียงจันท์ กลับคืนมาเปนอันมาก

หัวเมืองลาวชั้นนอกซึ่งตั้งขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๑

(เดี๋ยวนี้อยู่ในมณฑลอุดร) คือ

๑ ตั้งเมืองขอนแก่น ที่บ้านกงบอน

๒. ตั้งเมืองชนบท ที่บ้านหนองแก้ว

๓. ตั้งเมืองหนองหาร ที่หนองหารน้อย

๔. ตั้งเมืองสกลนคร ที่หนองหารใหญ่

๕. ตั้งเมืองนครพนม ที่เมืองโคตรบูรโบราณ

(เดี๋ยวนี้อยู่ในมณฑลนครราชสีมา) คือ

๖. ตั้งเมืองสุวรรณภูมิ ที่บ้านดงท้าวสาร

๗. ตั้งเมืองกาฬสินธุ์ ที่บ้านแก่งสำโรง

๘. ตั้งเมืองอุบล ที่บ้านแจละแม

๙. ตั้งเมืองรัตนบุรี ที่บ้านกุดหมาย

๑๐. ตั้งเมืองไผทสง ที่บ้านหมากเฟือง

(เมืองเขมรป่าดง เดี๋ยวนี้อยู่ในมณฑลนครราชสีมา) คือ

๑๑. ตั้งเมืองขุขันธ์ ที่บ้านปราสาท

๑๒. ตั้งเมืองสุรินทร ที่บ้านคูปะทาย

๑๓. ตั้งเมืองสังคะ ที่บ้านโคกอัดจะ

ตั้งเพิ่มขึ้นในรัชชกาลที่ ๒ (เดี๋ยวนี้อยู่ในมณฑลนครราชสีมา) คือ

๑๔. ตั้งเมืองยโสธร ที่บ้านสิงทา

๑๕. ตั้งเมืองเขมราฐ ที่บ้านโคกกงพะเนียง

ส่วนเมืองเวียงจันท์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้งให้บุตร์พระเจ้าเวียงจันท์บุญสาร เปนเจ้าเมืองต่อกันมา ๓ คน คือ เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ แล้วเจ้าอนุวงศ (ซึ่งเรียกกันแต่ว่าเจ้าอนุ) ได้ครองเมืองตอนปลายรัชชกาลที่ ๑ เจ้าอนุนั้นมีชื่อเสียงว่าเข้มแข็งในการศึกสงคราม ได้เคยช่วยรบพะม่ามีความชอบมาแต่ก่อน ทั้งมีความสวามิภักดิ์ฝักฝ่ายในกรุงเทพฯ มาก จึงเปนผู้ที่ทรงคุ้นเคยสนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาทั้งในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชชกาลนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ เกิดมีพวกกบถมาตีได้เมืองนครจำปาศักดิ์ กองทัพยกไปจากเมืองนครราชสีมาปราบพวกกบถพ่ายหนีไป แต่ไม่สามารถจับอ้ายสาเกียดโง้งหัวหน้าพวกกบถได้ เจ้าอนุจึงรับอาสาแต่งให้เจ้าราชบุตร (โย้) บุตรของตนคุมกองทัพลงไปติดตามจับอ้ายสาเกียดโง้งส่งเข้ามาถวายได้ ครั้งนั้นไม่มีตัวเจ้านายเมืองนครจำปาศักดิ์ซึ่งจะสามารถรักษาเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งเจ้าราชบุตร์ (โย้) เปนเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์เปนบำเหน็จความชอบ แต่นั้นเจ้าอนุก็มีอำนาจแผ่ลงมาทางแม่น้ำโขงตอนใต้ ครั้นสิ้นรัชชกาลที่ ๒ เมื่อเจ้าอนุลงมาถวายพระเพลิงพระบรมศพ เชื่อว่าตนเปนคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อน จึงกราบบังคมทูลขอพวกชาวเมืองเวียงจันท์ซึ่งถูกกวาดต้อนลงมาเมื่อครั้งกรุงธนบุรี จะเอากลับไปบ้านเมือง ก็คนพวกนั้นได้ลงมาอยู่หัวเมืองชั้นในเกือบ ๕๐ ปี คนที่ถูกกวาดต้อนยังเหลืออยู่น้อย มีแต่ชั้นลูกหลานที่มาเกิดหัวเมืองชั้นในเปนพื้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่พระราชทานตามพระประสงค์ เจ้าอนุก็รู้สึกอัปยศและมีความโทมนัสน้อยใจกลับขึ้นไปบ้านเมือง ครั้งนั้นประจวบมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือญวนแผ่อาณาเขตต์ขึ้นมาได้ในเมืองเขมรเมื่อรัชชกาลที่ ๒ แล้วคิดจะแผ่อำนาจเข้ามาทางเมืองลาวริมน้ำแม่โขงอีกทางหนึ่ง ให้มาเกลี้ยกล่อมเจ้าอนุ ๆ ก็เอาใจออกห่างจากไทย หมายจะไปพึ่งกำลังญวน เพื่อจะเอาหัวเมืองลาวทั้งปวงเปนอาณาเขตต์ของตน อีกอย่างหนึ่งไทยเกิดเกี่ยงแย่งกับอังกฤษเรื่องเมืองไทรมาแต่ปลายรัชชกาลที่ ๒ เมื่อแรกตั้งรัชชกาลที่ ๓ ที่ในกรุงเทพฯ ไม่ไว้ใจอังกฤษ เกรงจะยกทัพเรือจู่เข้ามา ให้เตรียมป้อมปราการป้องกันปากน้ำ ข่าวจึงลือไปถึงเมืองเวียงจันท์ว่าอังกฤษยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ เจ้าอนุเห็นได้ทีก็ก่อการเปนกบถขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙

การที่เจ้าอนุเปนกบถครั้งนั้น ไม่ใช่แต่หมายจะตั้งแข็งเมืองเปนอิสสระเท่านั้น คิดกำเริบถึงจะลงมาตีกรุงเทพฯ เก็บริบเอาทรัพย์สมบัติและกวาดต้อนผู้คนไปเปนชะเลย ด้วยประมาทว่าผู้ที่เคยชำนาญการสงครามมาแต่ก่อนหมดตัวไปเสียมากแล้ว และเชื่อว่าที่ในกรุงเทพฯ กับหัวเมืองชั้นใน กำลังติดรบพุ่งกับอังกฤษพะว้าพะวังอยู่ ความคิดของเจ้าอนุหมายจะลงมายึดเอาเมืองนครราชสีมาเปนที่มั่นสำหรับบัญชาการศึก แต่เกรงว่าพวกหัวเมืองลาวชั้นนอกซึ่งขึ้นเมืองนครราชสีมาจะกีดขวางให้ชักช้า เมื่อเจ้าอนุเกณฑ์กองทัพจึงประกาศอ้างเหตุว่าได้รับตราสั่งจากกรุงเทพฯ ว่าให้เกณฑ์กองทัพลงไปช่วยรบฝรั่ง การที่เปนกบถรู้กันแต่ในพรรคพวกที่ร่วมคิด ให้บุตร์คนใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าราชวงศเปนนายทัพหน้า เจ้าอนุเปนจอมพลยกลงมาจากเมืองเวียงจันท์ตรงลงมาเมืองนครราชสีมาทาง ๑ ให้เจ้าราชบุตร์ (โย้) ซึ่งเปนเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ยกกองทัพเข้ามาเมืองนครราชสีมาทางหัวเมืองเขมรป่าดงอีกทาง ๑ ให้เจ้าอุปราช (ติสสะ) น้องชาย คุมทัพตามเจ้าอนุลงมายึดเอาหัวเมืองลาวชั้นนอกอีกทัพ ๑ เมื่อกองทัพเจ้าอนุลงมา พวกหัวหน้าเมืองลาวชั้นนอกสำคัญว่าจะยกลงมาช่วยกรุงเทพฯ รบฝรั่ง ด้วยทราบอยู่ว่าเจ้าอนุเปนคนโปรดปรานมาแต่ก่อน ต่างก็ส่งสะเบียงอาหารและจัดการให้กองทัพเวียงจันท์ลงมาได้โดยมิรู้เท่า จนถึงเมืองนครราชสีมา เผอิญในเวลานั้นเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาปลัด ต้องออกไปราชการอยู่ทางชายพระราชอาณาเขตต์ พวกกรมการพาซื่อต้อนรับ พอเจ้าอนุเข้าตั้งอยู่ในเมืองนครราชสีมาได้ ก็แสดงการเปนกบถโดยออกหน้า ให้เจ้าราชวงศยกกองทัพหน้าลงมายังเมืองสระบุรี แต่มาทราบว่ามิได้มีศึกฝรั่งดังคำเลื่องลือ และที่ในกรุงเทพฯ กำลังเตรียมกองทัพใหญ่จะยกขึ้นไปปราบปราม พวกเวียงจันท์เห็นไม่สมหมาย ก็เปลี่ยนความคิดไปเก็บริบทรัพย์และกวาดต้อนผู้คนเมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นไปเปนชะเลย แล้วถอยกองทัพกลับไป ส่วนหัวเมืองลาวชั้นนอกนั้น แต่งให้พวกเจ้านายท้ายพระยาลงมายึดเมือง ถ้าใครไม่ยอมอ่อนน้อมก็จับฆ่าเสีย กองทัพกรุงเทพฯ ยกตามขึ้นไป ๓ ทาง คือกรมพระยาราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เสด็จเปนจอมพลยกไปทางเมืองนครราชสีมาทาง ๑ เจ้าพระยาอภัยภูธร ที่สมุหนายก ยกขึ้นไปทางเมืองเพ็ชรบูรณ์หล่มศักดิ์ทาง ๑ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (ต้นสกุล สิงหเสนี) เมื่อยังเปนที่พระยาราชสุภาวดี ยกไปทางเมืองนครจำปาศักดิ์ทาง ๑ ให้ปราบปรามพวกกบถขึ้นไปสมทบกันตีเมืองเวียงจันท์ ได้รบพุ่งกันหลายแห่งหลายพัก ในที่สุดจับได้ตัวเจ้าอนุ เจ้าอุปราช และเจ้าราชบุตร์ (โย้) กับพรรคพวกเปนอันมาก

เมื่อปราบกบถเวียงจันท์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานปรารภความ ๒ ข้อ คือข้อ ๑ ญวนกำลังหมายจะขยายอาณาเขตต์รุกแดนไทยเข้ามาทางตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าให้เมืองเวียงจันท์เปนประเทศราชอยู่ อาจจะเปนใส้ศึกในภายหน้า อีกข้อ ๑ พวกราษฎรชาวเมืองลาวกำลังระส่ำระสาย ที่อพยพหลบหนีไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็มี ที่เที่ยวซุ่มซ่อนอยู่ตามป่าตามดงก็มาก มีทั้งที่เคยเปนพวกเจ้าอนุและที่ได้ต่อสู้พวกเจ้าอนุ เพื่อจะจัดการปกครองพระราชอาณาเขตต์ทางนั้นให้เรียบร้อยต่อไป จึงโปรด ฯ ให้ทำลายเมืองเวียงจันท์เสียให้ปรากฏว่ามิได้มีประเทศราช และให้กวาดต้อนพวกชาวเมืองเวียงจันท์ ซึ่งเคยเปนพรรคพวกเจ้าอนุเข้ามาไว้เสียตามหัวเมืองชั้นใน ส่วนหัวเมืองซึ่งเคยขึ้นเมืองเวียงจันท์ โปรดฯ ให้เลือกสรรท้าวพระยาตามหัวเมืองชั้นนอกซึ่งซื่อตรงตั้งเปนเจ้าเมือง และให้พาสมัคพรรคพวกไปปกครองเมืองนั้นๆ พวกท้าวพระยาที่ได้เปนเจ้าเมือง จึงเกลี้ยกล่อมราษฎรที่ยังเที่ยวกระจัดพลัดพรายอยู่ตามที่ทั้งปวง ทั้งทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแม่น้ำโขง กลับคืนมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามเมืองนั้นๆ ท้าวพระยาบางคนก็ขอพระราชทานอนุญาตตั้งเมืองขึ้นใหม่เพื่อจะเกลี้ยกล่อมผู้คนให้มาตั้งภูมิลำเนา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดฯ ให้ตั้งเมืองชั้นนอกขึ้นทางนั้น เหมือนอย่างเมื่อครั้งรัชชกาลที่ ๑ อีก ๑๙ เมือง คือ

๑. ตั้งบ้านหนองคาย เปนเมืองหนองคาย

๒. ตั้งบ้านโพนแพง เปนเมืองโพนพิสัย

๓. ตั้งบ้านปากน้ำสงคราม เปนเมืองไชยบุรี

๔. ตั้งบ้านภูเวียง เปนเมืองภูเวียง

๕. ตั้งบ้านปากเหือง เปนเมืองเชียงคาน

๖. ตั้งบ้านคางราย เปนเมืองเรณูนคร

๗. ตั้งบ้านเมืองราม เปนเมืองรามราช

๘. ตั้งบ้านนาลาดควาย เปนเมืองอาทมาต

๙. ตั้งบ้านท่าม่วง เปนเมืองอากาศอำนวย

๑๐. ตั้งบ้านท่าขอนยาง เปนเมืองท่าขอนยาง

๑๑. ตั้งบ้านแซงบาดาล เปนเมืองแซงบาดาล

๑๒. ตั้งบ้านกุดฉิมนารายน์ เปนเมืองกุดฉิมนารายน์

๑๓. ตั้งบ้านช้องนาง เปนเมืองเสนางคนิคม

๑๔. ตั้งบ้านดอนมะเกลือ เปนเมืองลำเนาหนองปรือ

๑๕. ตั้งบ้านขั้ว เปนเมืองอำนาจเจริญ

๑๖. ตั้งบ้านคำแก้ว เปนเมืองคำเขื่อนแก้ว

๑๗. ตั้งบ้านส่วยหาง เปนเมืองสะเมียะ

๑๘. ตั้งบ้านคำทองใหญ่ เปนเมืองคำทองใหญ่

๑๙. ตั้งบ้านเซลำเพา เปนเมืองเซลำเพา

ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้ตั้งเมืองในมณฑลอุดรและอิสาณตามแบบอย่างครั้งรัชชกาลที่ ๓ ต่อมาอีกหลายเมือง คือ

๑. ตั้งบ้านสระบัว เปนเมืองกมลาสัย

๒. ตั้งบ้านกวางชโด เปนเมืองพิบูลมังสาหาร

๓. ตั้งบ้านเวินชัย เปนเมืองมหาชนะชัย

๔. ตั้งบ้านยักขุ เปนเมืองชาณุมานมณฑล

๕. ตั้งบ้านสะพือ เปนเมืองตระการพืชผล

๖ ตั้งบ้านหนองบัวลำภู เปนเมืองกุมุทาสัย

๗. ตั้งบ้านหงส์ทอง เปนเมืองธุรคมหงส์สถิตย์

๘. ตั้งบ้านห้วยลำแสน เปนเมืองกันทรารักษ์

๙. ตั้งบ้านอุทุมพร เปนเมืองอุทุมพรพิสัย

๑๐. ตั้งบ้านภูหว้า เปนเมืองภูวดลสอาง

๑๑. ตั้งบ้านกุดลิง เปนเมืองวานรนิวาส

๑๒. ตั้งบ้านโพธิสว่าง เปนเมืองสว่างแดนดิน

๑๓. ตั้งบ้านท่าทราย เปนเมืองพาลุกากรภูมิ

๑๔. ตั้งบ้านปลาเป้า เปนเมืองวาริชภูมิ

๑๕. ตั้งบ้านท่าม่วง เปนเมืองอากาศอำนวย

๑๖. ตั้งบ้านลำพัน เปนเมืองสหัสขันธ์

๑๗. ตั้งบ้านโป่ง เปนเมืองพนมไพรแดนมฤค

เมื่อได้ทำเนียบชื่อเมืองที่ตั้งในรัชชกาลที่ ๕ มา จึงจะเขียนต่อไปให้สิ้นเรื่อง.

  1. ๑. รายชื่อเมือง คัดมาจากหนังสือพงศาวดารของหม่อมอมรวงศวิจิตร ถม คเนจร ณ อยุธยา ซึ่งพิมพ์ไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ