วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

จดหมายฉะบับนี้ หม่อมฉันจะเขียนทูลความให้พิสดารสักหน่อย เพราะจะฝากกรมหมื่นเทววงศฯ เข้าไปถวาย ไม่ต้องส่งทางไปรษณีย์ ข่าวที่จะทูลในสัปดาหะนี้เปนอาทิก็คือเรื่องงานถวายพระเพลิง พระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ จะรวมความตามที่ได้รู้เห็นทูลถวาย

๑. เมื่อสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ตกรถในสมัยเมื่อพระองค์ท่านเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านได้โปรดฯ ให้พระยาอนุรักษราชมณเฑียรออกมาประจำอยู่ด้วย จนเห็นพ้นเขตต์อันตรายจึงกลับไป แต่พระอาการของสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ มีโรคดวงพระหฤทัยอ่อน และอาการพระโลหิตแล่นขึ้นเบื้องสูงแรงเปนคราว ๆ ประจำพระองค์มาแต่เดิม เมื่อมากระทบเหตุตกรถ (ตามที่ตรัสบอกหม่อมฉันเองว่า) เกิดมีอาการเจ็บในพระนาภีขึ้นอีกอย่างหนึ่งแก้ไม่หาย โรคทั้ง ๓ อย่างนั้น เปนมูลทำให้อ่อนเพลียลงเปนลำดับมา พระองค์เองก็ปรารภว่าอาจจะสิ้นพระชนม์ที่เมืองปีนัง ได้สั่งไว้ว่าถ้าสิ้นพระชนม์ให้ถวายพระเพลิงพระศพที่เมืองปีนังนี้ เอาแต่พระอัษฐิเข้าไปบรรจุ ณ อนุสสรณ์สถานในวัดราชาธิวาศ ต่อมาถึงสมัยเมื่อกรมหมื่นอนุวัตรฯเปนหัวหน้าคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โรคกำเริบเปนอาการจรประชวรหนักครั้งหนึ่ง กรมหมื่นอนุวัตรฯ ให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรออกมาอีก มาทูลพระองค์หญิงอาภาฯ ว่าจะให้ช่วยอย่างไรบ้าง ได้ทำความเข้าใจตกลงกันว่าถ้าสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ สิ้นพระชนม์ลง จะให้เจ้าพนักงานในกรุงเทพฯ ออกมาช่วยจัดในการถวายเพลิงพระศพ พระองค์หญิงอาภาเธอก็วางพระหฤทัยว่าจะเปนตามที่ได้ตกลงกันแต่ครั้งนั้นตลอดมา

๒. ครั้นสมเด็จกรมพระสวัสดิ ฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันอังคารที่ ๑๐ ธันวาคม พระองค์หญิงอาภาจึงมีโทรเลขเข้าไปยังกระทรวงวังในกรุงเทพฯ แล้วรอมาถึงวันที่ ๑๒ กรมหมื่นเทววงศฯ ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาฯ โปรดฯ ให้เปนผู้แทนพระองค์ออกมาถึงเมืองปีนัง ทูลพระองค์หญิงอาภาว่าพระองค์อาทิตย์หัวหน้าคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน วานเธอให้มาทูลถามว่าจะทำการพระศพอย่างไร พระองค์หญิงอาภาเล่าความตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่ก่อนให้กรมหมื่นเทววงศ ฯ ส่งโทรเลขไปทูลพระองค์อาทิตย์ ได้รับโทรเลขตอบมาว่าผู้สำเร็จราชการจะให้แต่ข้าหลวง ๔ คน เชิญเครื่องขมาพระศพกับผ้าไตรสำหรับสดัปกรณ์ ๒๐ ไตร และที่ใส่พระอัษฐิออกมาเมืองปีนัง และขอทราบว่าจะส่งพระอัษฐิไปถึงกรุงเทพฯ วันไร จะจัดการรับพระอัษฐิที่สถานีจิตรลดา แห่ไปบรรจุและมีการบำเพ็ญพระราชกุศลเปนของหลวง

๓. เมื่อได้ทราบความโทรเลข ก็ปรากฎว่าเจ้าภาพจะต้องจัดการถวายเพลิงพระศพเองทุกอย่าง จึงเริ่มคิดอ่านกันเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ พระองค์หญิงอาภาตรัสปรึกษาหม่อมฉัน ๆ แนะนำว่าต้องคิดเรียกตัวพระยาประสารพิธีกรออกมา ถ้าได้พระยาประสารฯ การที่จะถวายเพลิงพระศพก็คงเรียบร้อย แนะให้เธอมีโทรเลขทูลพระองค์ท่าน ๆ คงจะช่วยทรงพระดำริและเต็มพระหฤทัยสงเคราะห์ทุกอย่าง ครั้นวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พระยาประสารฯ กับพระสถาปนกิจออกมาถึง รวดเร็วปลาดใจ มารู้ภายหลังว่าพอท่านได้ทรงรับโทรเลข ก็ตรัสให้ตามตัวพระยาประสารฯและพระสถาฯ ไปเฝ้า และทรงร่างรูปพระเมรุประทานด้วยในกลางคืนวันศุกร์นั้น คนทั้งสองจึงสามารถมาได้ในรถไฟวันเสาร์ พากันสรรเสริญพระคุณที่นี่มาก

๔. พระยาประสารฯ เตรียมเครื่องสำหรับใช้ในส่วนพระศพมาด้วย พอเห็นพระยาประสารฯ ก็สิ้นวิตกหมด แต่ส่วนพระเมรุที่จะปลูกณวัดปาตูลันจัง ซึ่งสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ได้ทรงขนานนามว่า “วัดปิ่นบังอร” นั้น ยังลำบากด้วยต้องหาถรรพสัมภาระและลูกมือทำงานทั้งมีเวลาน้อยต้องทำทั้งกลางวันกลางคืน แต่พระสถาปนกิจแกก็พยายามเต็มกำลัง หม่อมฉันได้ไปดูเมื่อวันก่อนชักพระศพ เห็นรูปพระเมรุตอนข้างล่างเข้าระเบียบเรียบร้อยดี ไปแปลกตาที่หลังคาตรงเหมทำเปนรูปกรวยสี่เหลี่ยมปักยอดปลายบนปลายกรวยนั้น มาทราบต่อภายหลังว่าแบบที่ท่านทรงร่างประทานมาให้ทำหลังคาเปนรูปฉัตร หม่อมฉันก็เข้าใจว่าคงให้เปนอย่างฝาโกศ “ลังกา” หุ้มผ้าขาว ซึ่งทูลกระหม่อมทรงประดิษฐ์ขึ้นแต่ทำอย่างนั้นจะแล้วไม่ได้ทันงาน พระสถาปนกิจแกจนแต้มจึงทำเปนทรงกรวยอย่างขอไปที ถึงกระนั้นคนก็พากันชมว่างามเปนสง่าราษีสมกับพระเกียรติยศเจ้านาย เพราะชาวปีนังยังไม่มีใครเคยเห็นเมรุมีขนาดและสอาดสอ้านเหมือนเช่นนั้น

๕. พวกข้าหลวง ๔ คน นายฉัน หุ้มแพร (ซึ่งเปนพระญาติด้วยเปนลูกเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ปลื้ม สุจริตกุล) เปนหัวหน้า ออกมาถึงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ หม่อมฉันได้สังเกตในคำโทรเลขของ “ราชเลขา” อยู่ก่อนว่าส่ง “เครื่องขมา” เมื่อพบนายฉันจึงได้ถามว่าเครื่องขมาของหลวงนั้น มีเหล็กไฟหรือไม้ขีดไฟ “หน้าเพลิง” มาด้วยหรือไม่ เขาบอกว่าไม่มีหน้าเพลิง มีแต่เข้าตอกดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าจะเอาเพลิงอันใดใช้เผาพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ จะเอาโคมหรือคบไปตั้งแล้วขีดไฟจุดเปนเพลิงให้คนเผาพระศพเหมือนอย่างศพเชลยศักดิ์ ก็จะผิดประเพณี ด้วยการเผาพระศพเจ้านายตลอดจนถึงศพข้าราชการ โดยปกติย่อมมีไฟสำหรับเผาศพพระราชทานไปด้วยกันกับเครื่องขมา จึงเรียกว่า “พระราชทานเพลิง” ถ้าเผาศพในกรุงเทพฯก็มีดวงไฟจุดเทียนใส่โคมส่งไปให้ใช้ไฟนั้นเผาศพ ถ้าเผาณที่ห่างไกลจะส่งดวงไฟไปไม่ได้ก็ส่ง “หน้าเพลิง” เครื่องก่อดวงไฟ (แต่โบราณใช้เหล็กไฟ มาถึงครั้งกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เปนเสนาบดีกระทรวงวังเปลี่ยนเปนไม้ขีดไฟ) ใส่หีบเดียวกับเครื่องขมาส่งไปให้ก่อเพลิงเผาศพจึงเรียกว่า “หีบศิลาหน้าเพลิง” ไฟกับเครื่องขมาเปนของสองอย่างต่างกันแต่พระราชทานประกอบกันมาแต่โบราณ แต่ครั้งนี้ไม่มีหน้าเพลิงของหลวงพระราชทาน จะต้องหาไฟที่นี่เอง หม่อมฉันจึงคิดขึ้นถึงประเพณีที่ทูลกระหม่อมเคยทรงประพฤติ เอาแว่นส่องแดดให้เกิดดวงไฟแต่พระอาทิตย์เอามาพระราชทานเพลิงศพ หม่อมฉันเปนอาวุโสของพระราชวงศอยู่ในที่นี้ จึงรับกิจส่องแว่นหาไฟดวงอาทิตย์สำหรับเผาพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ

๖. รายการทำบุญในงานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ หม่อมฉันได้ส่งสำเนากำหนดงานมาถวายให้ท่านทรงทราบเมื่อคราวเมล์ก่อนแล้ว การที่ทำก็ทำตามกำหนดนั้น และพิธีสงฆ์ก็เหมือนอย่างเช่นทำในกรุงเทพฯ ไม่ต้องทูลอธิบาย จะทูลแต่เรื่องทำกงเต๊กที่ปีนังนี้ผิดกับในกรุงเทพฯ เปนต้นแต่เครื่องกระดาดสำหรับเผาที่นี่เขาทำงามมาก จะเอาเครื่องกระดาดที่ทำในกรุงเทพฯ เปรียบไม่ได้เลย ทำเปนปราสาท ๓ ชั้น ๓ หลังใหญ่โต นอกนั้นก็เปนรูปภาพต่างๆ ฝีมือดีกว่าทำในกรุงเทพฯ แต่ได้ยินว่าเรียกค่าทำกงเต๊กเบ็ดเสร็จถึง ๖๕๐ เหรียญ ส่วนพิธีที่พระจีนทำนั้นหม่อมฉันเสียดายอยู่ที่มิได้เห็นด้วยตาตนเอง หม่อมฉันไปดูวันแรกเวลา ๑๗.๓๐ นาฬิกา เห็นแต่โต๊ะเครื่องบูชากับฉากแขวนจัดไว้ในเต๊นที่ตั้งเปนโรงพิธี กับเห็นเครื่องกระดาดสำหรับเผาดังได้พรรณนามา สืบถามก็ไม่ได้ความว่าพระจีนจะไปทำพิธีเวลาไร เจ้าภาพก็ไม่รู้ จนใจก็ต้องกลับ ถึงวันที่ ๒ เลยเชื่อไม่ได้ไปแต่ได้ทราบจากคนที่ไปดู มาเล่าว่าพระจีนทำพิธีแต่เวลา ๒๐ ไปจนถึง ๒๒ นาฬิกา และการพิธีนั้นนอกจากสวดบูชาพระ พวกพระจีนแต่งตัวหรูหราออกมารำโคมตามกันเปนวง แปลกตาน่าดู หม่อมฉันจึงไปในวันที่ ๓ ก็ไม่ได้ดูอีก วันนั้นไม่ทำพิธีอย่างไรนอกจากเผาเครื่องกระดาดเครื่องบูชาและฉากในเต๊นก็เก็บไปหมดแล้ว จึงเปนอันไม่ได้เห็น แต่การพิธีกงเต๊กพวกจีนเขาทำกันเนืองๆ หม่อมฉันยังจะพยายามหาโอกาสไปดูให้ได้สักครั้งหนึ่ง แล้วจะทูลมาให้ทรงทราบว่าเปนอย่างไร

๗. ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๒ เวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกา ยกหีบพระศพขึ้นรถยนต์ที่เขาทำฉะเพาะสำหรับใช้ชักศพ แต่งดอกไม้หรูหรา มีรถยนต์นำ ๒ หลัง คือรถพระธรรมวโรดมอ่านพระอภิธรรมหลัง ๑ รถไฟที่จะถวายพระเพลิงหลัง ๑ แล้วถึงรถพระศพ ต่อนั้นถึงรถพระองค์หญิงอาภากับพระโอรสธิดาของสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ๕ หลัง แล้วถึงรถหม่อมฉันนำรถพวกญาติและพวกช่วยงาน รวมเบ็ดเสร็จเปนรถยนต์กว่า ๕๐ หลัง (ชาวปีนังพูดกันว่ามิใคร่เคยเห็นกระบวรรถยาวถึงเพียงนั้น) กระบวรรถแล่นไปช้า ๆ เกือบถึงชั่วโมงจึงถึงวัดปิ่นบังอร เข้าเวียนพระเมรุแต่รถพระกับรถพระศพ พระชายากับโอรสธิดาและพระราชวงศมีตัวหม่อมฉันเปนประธาน เข้ากระบวรเดินตามพระศพเวียนพระเมรุ ๓ รอบมีแต่หม่อมฉันคนเดียวที่นุ่งดำ จนหนังสือพิมพ์เอาไปลงด้วยเหตุแปลกเพื่อน วันนั้นทั้งตัวหม่อมฉันและกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ติดดาราตรามหาจักรีด้วย เมื่อยกหีบพระศพขึ้นตั้งจิตตกาธารแล้วทำพิธีศราทธพรตที่ในโบสถ์เวลานั้นผู้แทนเจ้าเมืองสิงคโปร์ กับตัวเรสิเดนต์เคาน์ซิลเลอร์เจ้าเมืองปีนังไปถึง หม่อมฉันนึกว่ามีหน้าที่ควรทำเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเสร็จการพิธีแล้วจึงไปพูดกับเขาทั้ง ๓ ว่าตัวหม่อมฉันเปนผู้แทนพระราชวงศด้วยเปนอาวุโส ขอขอบคุณเจ้าเมืองสิงคโปร์และเจ้าเมืองปีนัง ที่แสดงความอาลัยและมีแก่ใจมาช่วยงานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ พระราชวงศทรงอนุโมทนาคุณของเขายิ่งนัก เขาคำนับรับคำ แล้วพระองค์หญิงอาภาตรัสขอบคุณเขาในส่วนพระองค์เธอเอง และแทนพระโอรสธิดาของสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ เมื่อเสร็จพิธีตอนนี้หม่อมฉันทอดผ้าไตรของหลวงพระสงฆ์บังสกุลที่ในโบสถ์ แล้วก็ถึงเวลาถวายเพลิง

๘. เมื่อจะถวายพระเพลิง มีเหตุที่หม่อมฉันต้องคิดตัดสินเปนปัจจุบันทันด่วนเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง เพราะนายฉัน หุ้มแพร ผู้เชิญพานเครื่องขมา ถือเชิงเทียนจุดไฟเตรียมไว้เหมือนอย่างการพระราชทานเพลิงที่ในกรุงเทพฯ หม่อมฉันเห็นเข้าก็ปลาดใจ ถามเขาว่ามีหน้าเพลิงส่งตามออกมาหรือ เขาบอกว่าเปล่าเขาจุดไฟขึ้นโดยลำภังตัวเขาเอง หม่อมฉันจึงตอบว่าการพระราชทานเพลิงนั้นใช้ได้แต่ไฟของหลวง จะเอาไฟของคนอื่นมาไม่ได้ แล้วรับเครื่องขมาของหลวงไปวางบนตารางชั้นสูงที่ข้างหีบพระศพ ต่อนั้นการที่จะวางเครื่องขมาของเจ้านายที่ประทานมาจากต่างถิ่นก็เปนหน้าที่ของหม่อมฉันจะต้องเปนผู้วาง เกิดปัญหาต่อไปว่าจะเอาเทียนของใครจุดไฟเผาพระศพ จะเอาเทียนของหม่อมฉันเองก็เห็นไม่สมควร เพราะมีเทียนของท่านผู้สูงศักดิ์กว่าหม่อมฉันอยู่ถึง ๔ พระองค์ คือสมเด็จพระปกเกล้าฯ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระพันวัสสาฯ และพระองค์ท่าน หม่อมฉันจึงตัดสินเอาเทียนของสมเด็จพระปกเกล้าฯ จุดไฟแสงอาทิตย์วางที่ดุ้นฟืนข้างใต้หีบพระศพ แล้ววางธูปเทียนขมาของเจ้านายพระองค์อื่นๆ ต่อไปจนหมด การวางเครื่องขมาต่อหม่อมฉันไปกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ พระองค์หญิงประเวศฯ กรมหลวงสิงหวิกรมฯ และพระองค์หญิงอาภาขึ้นก่อน ต่อนั้นหม่อมฉันแนะให้กรมหมื่นเทววงศฯ พาพวกเจ้าบ้านผ่านเมืองขึ้นวางแล้วจึงถึงชั้นหม่อมเจ้าและผู้อื่นต่อไป

๙. การถวายเพลิงพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ มีผู้คนไปมากเกินคาดหมาย แลดูล้นหลามตลอดลานวัด ถ้าจะแบ่งตามความเจตนาก็เปน ๓ จำพวก คือจำพวกญาติมิตรที่ไปจากกรุงเทพฯ และไทยที่อยู่เมืองปีนังไปหมดไม่ขาดหน้าพวก ๑ จำพวกชาวปีนังต่างชาติต่างภาษาที่ได้รู้จักคุ้นเคยมากบ้างน้อยบ้างพวก ๑ และจำพวกคนที่ไปดูโดยอยากเห็นการเผาพระศพเจ้าไทยอีกพวก ๑ จำพวกหลังนี้เคยเห็นประเพณีเผาศพที่ปีนังอยู่ข้างปฏิกูล เขาอยากดูว่าศพชั้นผู้ดีของไทยทำอย่างไร เรื่องนี้ผู้ดีชาวปีนังคนหนึ่งเล่าให้หญิงเหลือฟัง ว่าการเผาศพในปีนังนั้นมักเผาศพสด เอาแต่ศพวางนอนหงายบนกองพื้นแล้วเอาน้ำมันราดจุดไฟเผาบางทีพอไฟชุมศพลุกขึ้นนั่งต้องเอาไม้กดกันลงไปน่าทุเรศ เขาจึงอยากดูว่าศพเจ้านายจะเผากันอย่างไร แต่การถวายเพลิงพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ทำเรียบร้อยไม่มีที่ติ ด้วยพระยาประสารฯ ให้เอาขึ้นตั้งทั้ง “ลอง” ซึ่งมี “หีบ” เหล็กวิลาสใส่พระศพปิดบัตรีอยู่ข้างในไว้แต่เดิม ต่อตอนดึกจึงเปิดหีบเดิมเอาพระศพลงหีบที่ทำใหม่ขึ้นตั้งสำหรับเผา ส่วนพระศพก็เรียบร้อยกว่าคาดหมายไม่มีกลิ่นอายจุ้นจ้าน พระยาประสารฯ ใช้ภาษาสนมบอกหม่อมฉันว่า “ท่านไม่กริ้ว” จึงอาจกล่าวได้ว่างานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ เปนการเรียบร้อยทุกสถาน เจ้าเมืองปีนังได้ออกปากชมกับหม่อมฉันเอง ว่าการที่ทำดูเปนเกียรติยศ Dignified ดีมาก ดั่งนี้

๑๐. วันที่ ๒๓ ตอนเช้าเมื่อเก็บพระอัษฐิหม่อมฉันไม่ได้ไปเพราะไม่มีกิจที่จะต้องทำและเกรงจะฟก แต่ปลาดอยู่ด้วยเมื่อวันก่อนต้องไปช่วยงานกรากกรำอยู่หลายชั่วโมง ไม่รู้สึกเหนื่อยเลย ต่อกลับมาถึงบ้านอาบน้ำแล้วจึงออกเพลีย ต้องลงนอนพัก ในวันที่ ๒๓ นั้นตอนเย็นมีงานทำบุญฉลองพระอัษฐิที่ตำหนักถนนพะม่า หม่อมฉันก็ไปช่วยอีก กำหนดจะส่งพระอัษฐิเข้าไปกรุงเทพ ฯ วันศุกร์ที่ ๒๗ ธันวาคม หม่อมฉันคิดว่าจะไปส่งจนถึงรถไฟ ในงานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ คราวนี้ เมื่อทำแล้วมาคิดดูเห็นว่าถวายเพลิงในเมืองปีนังดีกว่าส่งพระศพเข้าไปถวายเพลิงในกรุงเทพ ฯ เปนแน่ เพราะสังเกตเห็นเมื่อวันถวายเพลิงดูบรรดาคนที่มีส่วนช่วยหรือแม้ไปดูล้วนแต่มีไมตรีจิตต์ ไม่มีผู้ใดที่จะแสดงกิริยาอาการปราสจากความเคารพอย่างหนึ่งอย่างใด แม้เพียงแต่สักหน่อยหนึ่ง ถ้าไปถวายเพลิงในกรุงเทพฯ น่าจะไม่ปลอดได้เช่นนั้น

๑๑. หม่อมฉันยังมีความรำคาญใจอยู่แต่ที่พระองค์หญิงอาภาด้วยเธอก็มีโรคภัยเบียดเบียนไม่ปกติ เมื่อสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ แรกสิ้นพระชนม์เศร้าโศกมาก แต่ในวันต่อ ๆ มาตลอดจนวันถวายพระเพลิงมีธุระและทำการพิธีต่างๆ เนื่องในงานพระศพก็ชวนให้เพลิดเพลินไป แต่เมื่อส่งพระอัษฐิไปแล้วอยู่แต่พระองค์ น่ากลัวจะรู้สึกอ้างว้างมาก เธอตรัสว่าไปเช่าบ้านหลวงภาษาพิรัชกงสุลคนก่อนได้ จะย้ายสถานจากที่เคยอยู่แต่เดิมไปอยู่ถนนอื่น หม่อมฉันก็เห็นชอบด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังเกรงว่าจะทรุดโทรม มีแต่หม่อมสุ่นมารดาของเธอออกมาอยู่เปนเพื่อนกับลูกชายของเธอ ๒ คน ลูกสะใภ้ ๒ คน ดูเหมือนลูกหญิงฉวีจะยังอยู่ด้วยต่อไปอีกเปน ๓ คน ที่เธอไม่ยอมกลับกรุงเทพฯ นั้น หม่อมฉันเข้าใจว่าเพราะเปนห่วงลูกชาย ด้วยเข้าพระหฤทัยว่ารัฐบาลต้องการตัวอยู่แต่ก่อน สำหรับพระองค์หญิงอาภาเอง หม่อมฉันเห็นว่าทางดีที่สุดนั้นถ้าให้ออกไปยุโรปได้พบสมเด็จพระราชินีให้ชื่นใจ นั่นแหละจะค่อยแก้ความอ้างว้างให้ฟื้นขึ้นได้ แต่หม่อมฉันก็มิรู้ที่จะทำอย่างไรได้

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม จะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์นั้น

เมืองอากาศอำนวย ดูเปนชื่อใหม่เห็นจะตั้งในรัชกาลที่ ๔ หม่อมฉันได้หนังสือบอกชื่อเมืองที่ตั้งในรัชกาลที่ ๕ มาแล้ว จึงเขียนเรียงต่อเปนตอนท้ายถวายมากับจดหมายฉะบับนี้

การที่หม่อมฉันจะไปเมืองพะม่า สืบหาหนังสือนำทางมาดูแล้วคิดกะรายวัน จะต้องเปนเวลาเกือบเดือน แจ้งอยู่ในรายวันที่หม่อมฉันส่งมาถวายกับจดหมายนี้ กลเม็ดเรื่องถอดเกือก หม่อมฉันได้ปรารภอยู่แล้ว คิดว่าจะเอาเครื่องแต่งตัวอย่างอุบาสกไปด้วย คือนุ่งแดงใส่เสื้อขาวมีแพรสีนวนสำหรับเฉียงบ่า ถ้าจะต้องเข้าวัดด้วยความจำเปนเช่นวัดพระมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑเลเปนต้น หม่อมฉันคิดว่าจะแต่งอย่างอุบาสกไม่ใส่รองเท้า ดูจะไม่น่าเกลียดเท่าแต่งตัวอย่างฝรั่งแล้วไปถอดเกือกเดินใส่ถุงเท้า แต่จะต้องไปคิดพิเคราะห์ดูในท้องถิ่นมิให้ถูกฝรั่งดูหมิ่นได้

วินิจฉัยคำว่า “มิ” กับ “ไม่” นั้นเมื่อคิดดูชอบกลมาก คำว่า ไม่ เป็นภาษาไทย หมายความเปนปฏิเสธเด็ดขาดอย่างเดียว แต่คำว่า มิ นั้นมีที่ใช้แปลออกไปเช่นว่า “นิ่งมิ” เคยเห็นในหนังสือบทละคอน คนชื่อ มิ ก็มี ท่านคงจะทรงจำเจ้าจอมมิหลานคุณปลัดเสงี่ยมได้อยู่ คำ มิ ที่ใช้ประกอบกับ นิ่ง หรือที่ใช้เปนชื่อคนนี้หมายความว่า “เฉย” จะเปนศัพท์เดียวกับคำ มิ ที่ใช้ปฏิเสธได้ดอกกระมัง แต่อย่างไรก็ตามหม่อมฉันสันนิษฐานว่าคำ มิ กับคำ ไม่ ใช้แสดงอาการปฏิเสธผิดกันดังนี้ คือ มิ นั้นปฏิเสธไม่เด็ดขาด แต่ ไม่ นั้นเปนปฏิเสธเด็ดขาด ที่ทูลมานี้ว่าตามที่คิดเห็นในปัจจุบันทันด่วน บางทีตริตรองนานไปความเห็นจะเปลี่ยนไปก็เปนได้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ