วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ได้รับประทานทราบความทุกประการแล้ว

เรื่องชื่อ “สยาม” ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดตรัสบอกเพิ่มเติมไปในลายพระหัตถ์วันที่ ๑ นั้น พ้องกันกับที่เกล้ากระหม่อมกราบทูลมาในหนังสือถวายลงวันที่ ๕ ซึ่งส่งสวนกัน แต่ยังมีข้อความที่จะกราบทูลให้ทราบฝ่าพระบาทต่อไปอีกหน่อย ฝ่าพระบาทย่อมทรงทราบอยู่แล้ว ว่าญี่ปุ่นใช้หนังสือจีน แต่อ่านออกเสียงไม่เหมือนจีน เกล้ากระหม่อมจึงสอบถามพระยาเทวาธิราช ซึ่งเขาเปนนักเรียนเมืองญี่ปุ่น ว่าญี่ปุ่นเขียนชื่อเมืองไทยอย่างไร และอ่านออกเสียงเปนอย่างไร เขาว่าเขารู้แต่เพียงยุคยมาดาลงมาใช้หนังสือสามตัวเหมือนจีน ตามที่จีนแต้จิ๋วอ่านว่า “เสียม-โล-ก๊ก” แต่ญี่ปุ่นอ่านตัว “เสียม” ว่า “ฉิยา” (เขียนตัวโรมันเปน Shiya) หรืออ่านเร็ว ๆ ก็เปน “ฉยา” ส่วนตัว “โล” นั้นญี่ปุ่นอ่านว่า “มู” ตัว “ก๊ก” นั้น อ่านว่า “โกกู” รวมกันเปน “ฉยามูโกกู” แปลว่าประเทศสยาม เมื่อได้ความดังนี้พิจารณาเห็นว่า ในภาษาญี่ปุ่นตัวที่สองซึ่งอ่านว่า “มู” นั้นตกเปนตัวสกด ซึ่งจะยกออกเสียไม่ได้ ในความรู้สึกของญี่ปุ่น ละโว้ ละว้า ลาว ลัวะ อะไรเหล่านี้ไม่มีอยู่เลย นึกถึงชื่อพระราชลัญจกร “สยามโลกคัคราช” เทียบคำ “เสียมโลก๊กอ๋อง” ซึ่งทูลกระหม่อมทรงผูกขึ้นนั้น รู้สึกว่าดีใจหายทีเดียว

ขอถวายตัวอย่างคำที่ประกอบด้วยกรุง ซึ่งไม่ได้แปลจากภาษามคธมาให้ทรงพิจารณาอีกต่อไป “กรุงพลี” “กรุงพาณ” นี่ก็เปนชื่อคน ไม่ใช่เมือง เขมรมีคำ “เสด็จกรุง” ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดิน เปนคน ไม่ใช่เมืองเหมือนกัน จึงสมว่าคำกรุงในที่เหล่านี้ควรจะเปน Emperor ยังมีคำว่า “กรุงกัมพุชาธิบดี” อีก แปลได้ว่าอธิบดีแห่งกรุงกัมพุช เมืองใดๆในเขมรจะหาชื่อว่า “กัมพุช” ไม่มีเลย ต้องตกเปนชื่อชาติชื่อประเทศ คำ “กรุง” จึ่งควรตกเปน Empire

ขอบพระคุณที่ตรัสบอกชื่อคลองหน้าบ้านปลายเนินให้ทราบเกล้าได้โดยประกอบทั้งเหตุและที่มาอย่างมั่นคงด้วย เกล้ากระหม่อมเคยพาลูกเดินข้ามคลองเตยไปเที่ยวเล่นและลองขี่ควาย ได้เห็นมีลำคูต่อแต่คลองถนนตรงที่ตรงแยกคลองเตยลงไปอีก เข้าใจว่าคลองถนนตรงนั้นคงจะได้ขุดเลยคลองเตยลงไป แต่จะถึงคลองพระโขนงหรือไม่ เดินไปเที่ยวไม่ถึง หากแต่น้ำเดินแรงเสียทางคลองเตยซึ่งเปนทางใกล้ จึงทำให้คลองถนนตรงตอนต่อจากคลองเตยไปนั้นตื้นเขินกลายเปนลำคู

ถนนนิวแมนเคยได้ยิน ซ้ำได้ยินเรียกคลองข้างถนนนั้นว่าคลองอรชรด้วย

ตามที่ทรงเขียนวินิจฉัยโบราณวัตถุลางอย่างอันได้พิจารณาแล้วลงไว้นั้น เปนการดีหนัก จะได้ปรากฏเปนลายลักษณอักษรไว้ มีช่องที่จะได้ไม่สูญไปเสียเปล่าในสองอย่างซึ่งเขียนประทานไปในลายพระหัตถ์คราวนี้

วินิจฉัยเรื่องบุษบกสามองค์ในวังหน้า เห็นว่าข้อความทั้งนั้นสมควรจะถูกต้องดีแล้ว ติดใจอยู่แต่ด้วยคำเพียงคำเดียว ซึ่งตรัสเรียกว่า “บุษบกมาลา” สงสัยว่าชื่อนี้จะเปนชื่อพระที่นั่งบุษบกในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยโดยเฉพาะ ถ้าเปนเช่นนั้นเอามาใช้เรียกพระที่นั่งบุษบกในวังหน้าด้วยก็เปนผิด เพื่อจะให้พ้นจากความสงสัยจึงอยากขอประทานให้เปลี่ยนเรียกเสียใหม่ว่า “บุษบกเกริน” เปนอันจะผิดไม่ได้ ทั้งจะเข้าใจได้ดีกว่าด้วย

อนึ่งมีสิ่งซึ่งได้พบใหม่ อันประกอบกับบุษบกยอดปรางค์ จะได้กราบทูลแล้วหรือยังจำไม่ได้ นายฟอรโนช่างกรมศิลปากรไปตรวจความชำรุดแห่งพระที่นั่งพุทไธสวรรย์เพื่อทำการซ่อมแซม พบที่ใต้พระที่นั่งมีกำแพงก่อด้วยอิฐขึ้นไปจรดพื้นพระที่นั่ง มีลักษณเหมือนดังห้อง มีคูหาเข้าไปได้ในห้องนั้น ดูเหมือนจะอยู่ตรงห้องที่สามแห่งพระที่นั่งทางด้านหลัง นายฟอรโนมาถามหาความเข้าใจว่าทำไว้ทำไมกัน เกล้ากระหม่อมก็คิดบอกแก่เขาได้ทันที ว่าทำขึ้นเพื่อรับบุษบกยอดปรางค์อันเคยตั้งอยู่ในพระที่นั่งนั้น ซึ่งคงจะมีน้ำหนักมาก เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นพระที่นั่งอ่อนลงไป

วินิจฉัยเพิ่มเติมเรื่องตำนานพระโกศ มีความบกพร่องอยู่บ้างลางแห่ง คือ

๑) ในตอนกล่าวถึงโกศชั้น ๓ ว่าฝาเปนทรงปริกนั้น ถ้าใครดูโกศโดยขาดความพิจารณาแล้ว จะเห็นเปนไม่จริง เพราะโกศรุ่นเก่าที่ทำฝาเปนทรงปริกนั้นถูกต่อยอดเสียหมดแล้ว ได้ทรงบันทึกไว้ในวงเล็บจำเพาะแต่โกศไม้สิบสองใบเดียว ไม่พอ โกศโถใบเก่าก็ถูกต่อยอดเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ทรงบันทึกไว้ จึงอยากให้มีคำกล่าวอธิบายไว้เสียให้เข้าใจทั่วกัน ว่าโกศรุ่นเก่าซึ่งทำฝาเปนทรงปริกนั้น เดี๋ยวนี้ได้ต่อยอดเสียหมดแล้ว

๒) ตอนที่กล่าวด้วยการแก้โกศแปดเหลี่ยมประดับกระจกเปนโกศกุดั่นนั้น บอกลักษณะโกศเดิมไว้แต่เพียงว่า “จำหลักปิดทอง” ควรจะเติมคำว่า “ล่องชาด” ต่อเข้าอีกด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เข้าใจไปว่าปิดทองทึบ

๓) ในตอนที่กล่าวด้วยเรียกโกศกับลองไขว้กันไปนั้น เปนแต่จะกราบทูลให้ทรงทราบ ว่าสำนักพระราชวังเขาเห็นแล้วอย่างพระดำริว่าไขว้กันไป เขาจะตั้งต้นเรียกเสียใหม่ ตามหนังสือ “สมเด็จพระบรมศพ” นั้นอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องแก้ไขอะไรในข้อความซึ่งได้ทรงเรียงไว้แล้วนั้น

คำแจ้งความงานศพเจ้าเชียงตุง สิ่งโปรดประทานไปดูนั้นอึดอัดมาก ภาษาไทยเชียงตุงมันก็เพี้ยนกับภาษาไทยเราอยู่บ้างแล้ว ซ้ำปนภาษาพะม่าด้วย และยังถอดเปนหนังสือฝรั่งเสียอีกทีหนึ่งด้วย แล้วเราจะมาถอดกลับเปนภาษาไทยอีก จะถูกได้เปนอันยาก จะถวายตัวอย่างเช่นตำบลทุ่งคา (เมืองถลาง) ฝรั่งเขียนตัวฝรั่งว่า “Tongka” ที่จริงฝรั่งฟังผิดนิดเดียวคือ ทุ่ง เปน ท่ง แต่ไทยเราเอามาแปลกลับเปนว่า “ตองแก” ผิดไกลไปเปนไหน ๆ แม้กระนั้นก็จะลองถอดถวายตามบุญตามกรรม จำเพาะแต่คำที่น่าสงสัยดังต่อไปนี้

Sao Kawng Tai = เจ้ากองไทย

Kemmong = เข็มเมือง เห็นจะหมายความว่าหลักเมือง คือเข็มอย่างที่ตอกรากตึก

Sao Kawn Kiao = เจ้าก้อนแก้ว

Intaleng คำนี้จน Inta คงเปน อินท leng คิดไม่เห็น

Sawbwagyi คำนี้เปนคำพะม่าบอกตำแหน่งยศ Sawbwa ตรงกับคำไทยว่า เจ้าฟ้า gyi มีในท้ายชื่อยศใคร ๆ อยู่มาก แต่ไม่ช่างจะใส่ใจจำและสืบว่าจะแปลว่ากะไร

Haw - yin เห็นจะเปน หอเย็น กระมัง

ได้ถวายใบแจ้งความกลับคืนมานี้แล้ว การที่เผาบ้างฝังบ้างนั้น น่ารู้เหตุยิ่งหนัก

ประหลาดอยู่หนักหนา ที่ตัว ฟ นั้นมีชาติที่ออกเสียงได้และมีตัวหนังสือใช้อยู่น้อยนัก พวกเราชาวตะวันออก ตั้งแต่หนังสือและภาษามคธสํสกฤตซึ่งเปนรากเหง้าของชาวตะวันออกมาทีเดียว ไม่มีเสียง ฟ พยัญชนะ ฟ กันมาเลย เห็นได้ว่ามีมาภายหลัง พะม่า ใช้ พวา แทน ฟ้า เขมรใช้ ห๎วา แทน ฟ้า ไทยเดิมใช้ พญา เพี้ย พระ แทน ฟ้า จะว่าเสียง ฟ มาแต่จีนก็ใช่เชิง จีนเองก็ไม่มีทั่วกัน จีนหลวงมี ฟ จีนแต้จิ๋วไม่มี ฟ ใช้ ฮ แทน เช่น ฟกเกี้ยน ฮกเกี้ยน เปนตัวอย่าง ทางข้างฝรั่งเช่นกรีกเดิมก็ไม่มีตัว F ใช้ Ph แทน แต่ภาษาอาหรับมีตัว ฟา จะว่าเสียง ฟ มาแต่ภาษาอาหรับได้กระมัง ขอถวายไว้ทรงพิจารณา

เมืองตะกั่วป่า เปนเมืองเก่าแก่ซึ่งพวกฮินดูเข้ามาตั้งอยู่ก่อน มีลักษณภูมฐานเปนประการใด ยังไม่เคยไปเห็นเลย ขอประทานกราบทูลอาราธนาได้โปรดเล่าประทานบ้างจะเปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ