วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

หม่อมฉันเขียนเรื่องเมืองตะกั่วป่า หมายความจะถวายตอนสุดท้ายในสัปดาหะนี้ เขียนมาถึงเรื่องบำรุงหัวเมืองฝ่ายตะวันตก คือเมืองภูเกตเปนต้นในชั้นหลัง เรื่องเกี่ยวเนื่องถึงอภินิหารของพระยารัษฎาฯ (คอซิมบี้) อันน่าพิสวงอยู่หลายสถาน เห็นว่าควรจะบรรยายเรื่องประวัติของพระยารัษฎาฯ ด้วย แต่งมาจนถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ อันเปนวันจะต้องส่งจดหมายไปทิ้งไปรษณีย์แต่งยังไม่หมดเรื่อง จึงต้องทูลขอผัดไปอีกสักสัปดาหะ ๑ หรือบางทีจะต้องถึง ๒ สัปดาหะ เพราะหม่อมฉันจะต้องรีบแต่งเรื่องประวัติพระยาพฤฒาธิบดีส่งไปให้ทันงานศพซึ่งเขากำหนดว่าจะเผาในเดือนมกราคมนี้ด้วย

หมู่นี้กำลังตระเตรียมงานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ งานที่ทำอย่างไรหม่อมฉันได้ส่งโปรแกรมกำหนดงานถวายมากับจดหมายฉะบับนี้ให้ทรงทราบ ได้ยินว่าเจ้าเมืองสิงค์โปร์จะแต่งผู้แทนตัวมาช่วยงาน และ Resident Councillor เจ้าเมืองปีนังก็จะไปช่วยงานด้วย แต่เจ้าภาพปรึกษาตกลงกันว่า ถ้ารัฐบาลอังกฤษ จะให้เครื่องเฉลิมเกียรติยศอย่างใด เช่นให้ทหารไปแห่ศพหรือไปเปนกองเกียรติยศเปนต้น จะขอให้งดเสีย ด้วยจะทำเปนการไปรเวต แต่ในงานพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ นี้ หม่อมฉันเปนอาวุโสอยู่ในฐานะผู้แทนราชวงศอยู่ในเมืองปีนัง ตั้งใจว่าจะติดตราจักรีเปนสำคัญ ได้ยินว่ารัฐบาลจะให้แต่เจ้าพนักงานเชิญเครื่องพระราชทานขมาพระศพกับผ้าไตรและโกศออกมารับพระอัษฐิ พระเพลิงที่จะถวายจะต้องหาที่นี่ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงราชประเพณีของทูลกระหม่อม ซึ่งทรงส่องแว่นฉายแดดเอาไฟฟ้าพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย คิดว่าจะฉายแดดหาเพลิงเช่นนั้นถวายพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ

ขอทูลเปนเรื่องปกิรณกะต่อไปอีกเรื่อง ๑ วันหม่อมฉันไปทำบุญที่หน้าพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ ไปนึกขึ้นว่าการที่พระสงฆ์ชักผ้าด้วยสวด “อนิจจา วัฏสังขารา” นั้น เราเรียกเปน ๒ อย่าง ถ้าพระศพเจ้านายเรียกเปนราชาศัพท์ว่า “สดัปกรณ์” ถ้ามิใช่ศพเจ้าเรียกว่า “บังสกุล” ที่จริงผิดถนัดทีเดียว เพราะบังสกุลกับสดัปกรณ์เปนการต่างกัน บังสกุลเกิดแต่พระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์เที่ยวเก็บผ้าที่ผู้อื่นเขาทิ้งเสียแล้วเรียกว่า ผ้าเปื้อน มาตัดเปนเครื่องนุ่งห่ม ผ้าที่เขาใช้ห่อศพหรือคลุมศพที่เขาทิ้งเสียเมื่อเผาศพแล้ว อยู่ในจำพวกผ้าบังสกุลจึงไปเนื่องกับศพ ทีหลังมาเมื่อพระพุทธสาสนารุ่งเรือง เอาการที่พระภิกษุเก็บผ้าบังสกุลนั้นมาประกอบในการกุศลที่บำเพ็ญให้แก่ผู้มรณ เอาผ้าที่ดีไปทอดที่ศพแล้วนิมนต์พระสงฆ์ไปชักเรียกว่า“มหาบังสกุล” และต่อมามีผู้เลื่อมใสศรัทธาจะบำเพ็ญการกุศลเช่นนั้นให้ทันตาเห็นเอง จึงเอาผ้าทอดที่ตัวของตนเองให้พระชักบังสกุลเรียกว่า “บังสกุลเปน” การบังสกุลรวมอยู่ในชักผ้าทุกสถาน สดัปกรณ์นั้น มูลเกิดแต่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ประทานเทศนา สดัปกรณ์ คือพระธรรม ๗ คัมภีร์ สนองพระคุณพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่งด้วยความกตัญญู คนทั้งหลายจึงถือว่าการสวดสดัปกรณ เปนการบำเพ็ญกุศลด้วยความกตัญญู เวลาญาติสิ้นชีพก็นิมนต์พระมาสวดสดัปกรณ ถ้าทำโดยพิสดารก็ตั้งเตียงนิมนต์คณะสงฆ์ ๔ รูป ถ้าทำแต่โดยย่อก็นิมนต์พระสงฆ์ที่ชักบังสกุลนั้นให้สวดสตปกรณด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรเรียกว่า “สดัปกรณ” แต่ฉะเพาะสวดพระธรรม ๗ คัมภีร์นำ เช่นที่เรียกว่าสดัปกรณ์รายร้อย ถ้าเปนแต่ชักผ้าสวดแต่อนิจจาควรเรียกว่า “บังสกุล” ไม่เลือกว่ายศศักดิ์ชั้นใดจึงจะถูกต้อง

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม มีความที่จะทูลสนองลายพระหัตถ์ข้อ ๑ คือที่ทรงพบแปลศัพท์ Takkola ว่าเปนต้นไม้ชนิดหนึ่ง ฝรั่งเรียกว่า Pimenta Acris หม่อมฉันจะสืบสวนที่หอสมุดเมืองปีนัง ได้ความเปนอธิบายอย่างใดจะทูลไปให้ทรงทราบ

พิธีตั้งโป๊ปนั้น หม่อมฉันได้เคยอ่านพรรณนาลักษณพิธีเมื่อไม่ช้ามานัก ทราบรายการอยู่โดยพิสดาร จะทูลบรรยายโอกาสอื่นต่อไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ป.ล. เมื่อเขียนจดหมายฉะบับนี้เสร็จแล้ว คุณนายเกสร เสน่หามนตรี ออกมารับลูกสาวเวลาปิดโรงเรียนที่ปีนัง แวะมาหาหม่อมฉัน บอกว่าบางทีท่านจะเสด็จหนีหนาวลงมาประทับที่หาดใหญ่ชั่วคราว หม่อมฉันจึงรีบทูลเพิ่มเติม ถ้าจะเสด็จมาประทับที่หาดใหญ่จริงขอให้ทรงคิดอ่านหาโอกาสที่จะเสด็จมาเที่ยวที่เมืองปีนังได้ แม้เพียงวันหนึ่งสองวัน หม่อมฉันก็จะยินดีเหลือล้นพ้นประมาณ เสด็จมาประทับที่ซินนามอนฮอลได้ ไม่ต้องไปประทับโฮเตล.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ