วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ น

หัวหิน

วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เกล้ากระหม่อมมาถึงหัวหินแล้ววันนี้ เปนโอกาศที่จะรับลายพระหัตถ์ได้ตามเคยแล้ว

ขอประทานทูลถวายรายงานการเที่ยวให้ทราบฝ่าพระบาทต่อไป ตั้งแต่ถึงบ้านดอนวันที่ ๒๔ มิถุนายนแล้ว

วันที่ ๒๕ ไปเที่ยวโรงเลื่อยของบริษัท แต่ไปเวลาเย็นไม่ได้เห็นเขาทำงาน

วันที่ ๒๖ เข้าไปดูโรงเลื่อยของบริษัท บ่ายไปเที่ยวขุนทะเล

วันที่ ๒๗ ฝนตกไปไหนไม่ได้

วันที่ ๒๘ ไปเที่ยวบ้านท่าทอง ตามที่กราบทูลมาคราวก่อน มาได้ความบัดนี้ว่าเขาเรียกท่าทองใหม่ ยังมีท่าทองอุแทต่อไปอีก ซึ่งเปนท่าทองเก่าอันจะได้ทูลบรรยายทีหลัง บ้านท่าทองใหม่นี้เปนหมู่บ้านใหญ่ มีทั้งไทยทั้งแขก มีทั้งวัดและสุเหร่า ถามแขกผู้สูงอายุว่ามาแต่ไหน เขาบอกว่ามาแต่เมืองไทรยเมื่อครั้งไทยไปตีเมือง ตามแจ้งความเช่นนี้ ทำให้เข้าใจว่าแขกพวกนี้เปนชะเลยถูกต้อนมาไว้ที่นี้ จากบ้านท่าทองใหม่นี้ มีทางใหญ่ตัดตรงไปทางตะวันออกถามเขาว่าเปนทางไปอำเภอ (เดิมเปนเมือง) กาญจนดิฐ ที่คลองกะแดะ

วันที่ ๒๙ ไปเที่ยวท่าทองอุแท อยู่ในแม่น้ำอีกลำหนึ่ง ในอ่าวบ้านดอนแต่นอกคลองกะแดะออกไปทางตะวันออก เหตุที่พาให้ไปที่นั้น เพราะได้ความว่ามีโบราณวัตถุ ทำให้สงสัยว่าจะเปนเมืองเก่า คำอุแทนั้นแปลก สงสัยว่าจะเปนอุไทย และทีก็จะถูก เขาว่าชาวบ้านเรียกท่าทองออก หมายความว่าอยู่ตะวันออกแห่งท่าทองใหม่ แต่ไปยากเหลือเกิน เกือบไปไม่ถึง ด้วยอ่าวบ้านดอนถึงเปนทะเลก็จริง แต่น้ำตื้นเหลือเกิน เรือใหญ่ไปไม่ได้ ต้องไปเรือยนต์เล็ก แล้วไปถูกพายุฝนคลื่นซัดน้ำเข้าเรือ แต่กระนั้นเรือก็อุตส่าห์ไปติดโคลนเข้าปากน้ำไม่ได้เพราะเดินผิดร่อง ต้องเข็นกันอึดอัดอยู่ช้านานจึงหลุดเข้าปากน้ำไปได้ เข้าไปไม่ไกลก็ถึงหมู่บ้านปากน้ำท่าทอง รับคนนำทางจากนั้นนำไปอีกเลี้ยวเดียวก็ถึงเขาเทวดาลงมาตกน้ำ ที่เชิงเขามีสะพานน้ำแต่พังเสียแล้ว ขึ้นทางสะพานพังนั้นที่เชิงเขามีบ้านเรือนปลูกอยู่ เขาพาข้ามเนินไปถึงเขาอีกลูกหนึ่งเรียกว่าเขาพระนิ่ม ที่เชิงเขามีโคกรูปสี่เหลี่ยม บนโคกมีแท่นศิลาเหลือง มีพระพุทธรูปศิลาแดงชำรุดตั้งอยู่บนแท่นบนโคกนั้น ส่องให้เห็นว่าเคยเปนโบสถ์หรือวิหารมาก่อน ต่อแต่วิหารนั้นไปก็เปนทางขึ้นเขา ไปไม่สูงนักก็ถึงถ้ำ ที่ปากถ้ำทำเปนกำแพงแก้วนั้น ตรงกลางเปนช่องเดิมเปนซุ้มประตูแต่พังเสียแล้ว เหลือแต่บานประตูอยู่บานหนึ่ง ฉลักเปนรูปยักษ์ยืนบนหลังเสือ ฝีมือต้น ๆ แต่เก่า ชาวบ้านว่าอีกบานหนึ่งเปนรูปมนุษย์ ข้าหลวงประจำจังหวัดเอาไปไว้ในเมือง ตามช่องนั้นมีบันไดลงถ้ำเปนพื้นต่ำ ในถ้ำและที่กำแพงแก้วเต็มไปด้วยพระพุทธรูปต่าง ๆ แต่จะสังเกตว่าทำด้วยอะไรเมื่อครั้งไหนนั้นไม่ได้ เพราะถูกซ่อมใหม่เสียหมดแล้ว ฟังชาวบ้านแสดงความประหลาดถึงพระนอนองค์ซึ่งเปนประธานอยู่ในถ้ำ ว่าพระองค์นี้เดิมนุ่มนิ่มไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ซึ่งได้พอกศิเมนต์เสียใหม่แล้ว เหตุนั้นจึงเรียกว่าเขาพระนิ่ม เมื่อจะพอกศิเมนต์ได้ขูดปูนเก่า (ซึ่งผุยุ่ยนุ่มนิ่ม) ออก พบปูนชั้นในมีปิดทองอีกทีหนึ่ง คำบอกอันนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าถูกซ่อมแซมมาเสียหลายยุคแล้ว แต่สังเกตดูทรงฐานพระที่มีอยู่ กับทั้งลางองค์เปนพระทรงเครื่อง สังเกตเห็นว่าทั้งหมดนั้นจะไม่ได้ทำก่อนยุคกรุงเก่าขึ้นไป ตามฐานมีจารึกขีดปูนบ้าง เขียนด้วยสีบ้าง เปนหนังสือไทยก็มี จีนก็มี แต่โดยมากไม่มีแก่นสารอะไรนอกจากบอกว่าใครบูรณะ มีแต่ที่พระนอนองค์หนึ่งค่อยมีสาระ แต่ก็เปนจารึกใหม่ ๆ มีความว่าดังนี้

“ขุนประกิจกาญจนเขตร เปนผู้ปฏิสังขรณ์พระองค์นี้ สำเร็จเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ อุทิศผลถึงพระวิสุทธสงครามรามภักดี เจ้าเมืองท่าทองคนก่อนผู้สร้างวัดนี้ ได้เสียเมืองแก่พะม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙”

พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้นจารึกผิด ถามชาวบ้านก็ว่าเพิ่งแล้วเมื่อต้นปีนี้ อันควรจะเปน ๒๔๗๗ แต่อย่างไรก็ดี ให้มีใจผูกพันอยู่ที่ขุนประกิจ เห็นว่าจะเปนผู้รู้อะไรอยู่มาก ถามนายชิตคอมประโดของห้างอิสตเอเชียติกที่บ้านดอน ซึ่งนายห้างที่นั้นให้เปนผู้พาเที่ยว ว่าตัวยังอยู่หรือตายแล้วก็บอกว่ายังอยู่ เดิมเปนกำนัลตำบลทุ่งกง เดี๋ยวนี้ออกจากราชการไปค้าขายอยู่ที่ท่าข้าม ได้กำหนดใจไว้ว่าจะไปตามหาตัวสนทนากันสักที

วันที่ ๓๐ เย็นไปเที่ยวตามถนนในเมือง ค่ำนายชิตมาหา ไปเที่ยววิ่งถามคนแก่ ได้ความมาบอกว่า เดิมเมืองท่าทองตั้งอยู่ที่ท่าทองอุแท ต่อมาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชตั้งนายพุ่มมาเปนเจ้าเมืองท่าทอง นายพุ่มย้ายมาตั้งอยู่ที่เขาน้อยคลองกะแดะ ในรัชชกาลที่ ๔ โปรดตั้งให้เปนเมืองกาญจนดิฐ แล้วนายพุ่มได้ช้างเผือกเข้าไปถวายในรัชชกาลที่ ๕ ได้เปนที่พระกาญจนดิฐบดี ข้อความทั้งนี้ได้เห็นได้ฟังมาอย่างไรก็เล่ามาถวาย สันนิษฐานว่าเดิมมีเมืองท่าทองตั้งอยู่ที่ท่าทองอุแท แล้วย้ายเมืองมาตั้งที่เขาน้อย เปลี่ยนชื่อเปนเมืองกาญจนดิฐ แล้วย้ายมาตั้งที่บ้านดอน เพราะเปนแม่น้ำใหญ่ที่สดวกกว่าทุกแห่งหมดในจังหวัดนี้ ช้างเผือกที่ว่านั้นเห็นจะเปนพระมหารพีพรรณคชพงษ์

วันที่ ๑ กรกฎาคม ไปขึ้นรถไฟที่ท่าข้าม ถามหาขุนประกิจกาญจนเขตรไม่ได้ตัว ว่าไปท่าทองอุแท ไขว้โรงกันไปเสียเช่นนี้ เสียใจ ขึ้นรถไฟไปลงไชยา ไปนมัสการพระบรมธาตุ แล้วไปพักนอนที่โรงเรียนในวัดนั้นโดยความอนุเคราะห์แห่งข้าหลวงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะขอให้เขาช่วยด้วยรำลึกถึงพระธาตุไชยา เห็นว่ามาใกล้แล้วไม่ควรผ่าน เมื่อได้เห็นองค์พระธาตุก็มีใจเบิกบานเลื่อมใสเปนล้นพ้น

วันที่ ๒ เวลาเช้าไปดูวัดแก้ว ศาลหลักเมือง วัดเวียง เวลาบ่ายไปดูวัดศาลาทึง แล้วไปสถานีรถไฟ “อะไร ๆ พระองค์ก็ทรงทราบอยู่หมดแล้ว” ไม่จำต้องทูลบรรยาย คอยจนรถไฟมาจึงขึ้นรถไฟไปชุมพร ถึงที่นั้นชายแถมชายเติมมารับไปสวนแม่ใหญ่ ชายแถมนำลายพระหัตถ์ กับบุหรี่และซองของประทานมามอบให้ ได้รับไว้แล้วเปนพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ พักเที่ยวอยู่ที่สวนนั้น พบสิ่งที่ประหลาดอยู่สองอย่าง คือเห็นเขาไถนากันด้วยช้างอย่างหนึ่งว่าเปนของทำกันขึ้นใหม่ ใช้ไถฝรั่ง กับเห็นแม่ใหญ่อีกอย่างหนึ่ง อายุ ๗๗ เดินคล่องแคล่ว ไปไหนก็ไปทันถึงกัน ผิวพรรณผ่องใส ถูกแดดถูกฝนไม่เจ็บไม่ไข้ ผู้อ่อนอายุกว่าพาลจะแพ้เสียด้วยซ้ำไป

วันที่ ๖ เช้าขึ้นรถไฟไปถึงหัวหินเวลาบ่ายพักที่สำนักดิศกุล

เกล้ากระหม่อมสิ้นทั้งครอบครัวสนุกสบาย ไม่มีสิ่งใดขัดข้อง คิดถึงฝ่าพระบาทเปนอย่างยิ่ง

ได้ส่งรูปโปสตก๊าดมาถวายอีกรูปหนึ่ง ตรงข้ามกับที่ถวายมาก่อนพบที่ชุมพร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ