กฎมณเฑียรบาลพะม่า (ต่อ) (๕)

พิธี ๑๒ เดือน

เดือน ๕ (Taen) พิธีสงกรานต์ (Hnitthit Thigyandaw Pwè) ด้วยถือกันว่าเทวดามหาสงกรานต์ (Thingan Nat) ลงมาอยู่ในมนุสโลกปีละ ๓ วัน

วันแรกให้ตักน้ำในแม่น้ำเอราวดีใส่หม้อดินประดับดอกไม้ ข้าราชการผู้ใหญ่แห่มาถวายพระเจ้าแผ่นดิน และมีพิธีทำน้ำมนต์แล้วแบ่งน้ำมนต์นั้นส่งไปสรงพุทธเจดีย์ที่สำคัญทั้งในกรุงมัณฑเลและกรุงอมรบุร

วันเถลิงศก เวลาเข้าพระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จสู่มณฑปกายสนาน ทรงสระพระเกศา โหรพราหมณ์ถวายพรชัยมงคล (จะเปนในวันเถลิงศกหรือวันหลังต่อไปไม่ปรากฏ) มีการเสด็จออกมหาสมาคมเปนการเต็มยศใหญ่ที่มหาปราสาท เจ้านายและข้าราชการกับทั้งเจ้าประเทศราชไทยใหญ่ และเจ้าเมืองทั้งหลายเข้ามาเฝ้าถือน้ำที่ห้องพระโรงหน้า แล้วเสด็จออกท้องพระโรงหลังให้สตรีมีบันดาศักดิ์ทั้งในกรุงและหัวเมืองเข้าเฝ้าและถือน้ำ ส่วนประชาชน เมื่อถึงนักขัตฤกษ์สงกรานต์สาดน้ำกันแลกันตลอดทั้ง ๓ วัน

เดือน ๖ (Kason) ทำพิธีสมโภชน้ำเศก (พะม่าเรียก Nyaungye Pwè ฝรั่งแปลว่า Consecrated Water Feast)

วันขึ้น ๑๔ ค่ำเจ้าพนักงานตักน้ำในแม่น้ำเอราวดีมา (ใส่หม้อ) รักษาไว้ในเรือนหลวง (Court House) แห่งหนึ่งที่ในพระราชวัง ถึงวันกลางเดือนแบ่งน้ำนั้นเปน ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่า Nyaung Ye เชิญไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า Anaug Nyaung Ye เชิญไปถวายพระอัครมเหษี ในวันกลางเดือนนั้นเอง พระเจ้าแผ่นดินให้เจ้าพนักงานสรงน้ำพระพุทธรูปที่ในพระราชวัง รุ่งขึ้นวันแรมค่ำ ๑ สรงพระพุทธรูปด้วยน้ำส่วนของพระอัครมเหษี (มูลจะมาแต่พิธีทูลน้ำล้างพระบาทกระมัง)

เนื่องการพิธีนี้มีละคอน (Gat Pwè) ที่สนามในวังด้านหลังตั้งแต่วันขึ้นค่ำ ๑ (พระอรัญรักษา (ซอเหลียง) เปนชาวเมืองมัณฑเล เล่าว่ามีละคอนหลายวัน แต่จะกี่วันไม่ทราบ)

เดือน ๗ (Nayon) มีการพิธีต่าง ๆ ๔ พิธี คือ

๑) พิธีขอฝน (Mo-nat Puyaw Pwè)

๒) สอบพระปริยัติธรรม (Sadaw Pyan Pwè) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Patama Sa-pyan-me Pwè

๓) พิธีขออภัย (Knit-thit Kadaw Pwè) ฝรั่งแปลว่า Beg Pardon Fastival

๔) พิธีแรกนา (Mingala Ledaw Pwè)

พิธีขอฝนนั้นทำในสัปดาหะต้นของเดือน ๗ พระราชาคณะ (Sadaw) สงฆ์ ประชุมกัน ณ โรงพิธีข้างหน้าศาลาลูกขุน สวดพระปริต (Nya Payeik) คาถาพระยาปลาช่อนใน ๑๒ ตำนานขอฝน พราหมณ์ทำพิธีที่ริมประตูเมืองด้านใต้ ปลูกโรงพิธีเปนมณฑป ๒ หลัง ปั้นเทวรูปกับรูปสัตว์น้ำเปนประธานในมณฑปนั้น พราหมณ์ร่ายมนต์ขอฝนแล้วแห่เทวรูปกับรูปสัตว์เหล่านั้นไปทิ้งลงในแม่น้ำเอราวดี ในการพิธีขอฝนพระเจ้าแผ่นดินหาได้เสด็จออกไม่

การสอบพระปริยัติธรรมนั้น กำหนดวันขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๗ พระราชาคณะสงฆ์ประชุมกัน ณ สุธมมศาลา (Thuthama Zayat) และปะตันศาลา (Patan Zayat) ที่เชิงเขามัณฑเล สอบความรู้พระสงฆ์สามเณร ในการนี้เมื่อครั้งพระเจ้ามินดงเสด็จออกเสมอหลักสูตรที่สอบนั้น (มีพรรณนาไว้ในหนังสืออีกเรื่องหนึ่งว่า) จัดเปน ๔ ประโยค ให้แปลคัมภีร์ต่าง ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้

ประโยค ๑

กจฺจายน

อภิธมฺมสํคห

มาติกา

ธาตุกถา

ประโยค ๒

กจฺจายน

อภิธมฺมสํคห

มาติกา

ธาตุกถา

ยมก ๑-๕

ประโยค ๓

กจฺจายน

อภิธมฺมสํคห

มาติกา

ธาตุกถา

ยมก ๑-๑๐

อภิธานปฺปทีปิกา

ฉนฺท

อลํการ

ประโยค ๔

กจฺจายน

อภิธมฺมสํคห

มาติกา

ธาตุกถา

ยมก ๑-๑๐

ปตฺถาน กุสลฎีกา

อภิธมฺม อปฺปทีปิกา

ฉนฺท

อลํการ

สังเกตตามชื่อที่ใช้หนังสือคัมภีร์เดียวกันสอบทั้ง ๔ ประโยค พึงสันนิษฐานว่าคงเลือกตอนง่ายเปนประโยคต้น แล้วสอบตามที่ยากยิ่งขึ้นเปนลำดับไป น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่ใช้คัมภีร์พระปรมัตถเปนหลักสูตร์เปนพื้น ข้อนี้ไปเข้ากับเรื่องนิทาน (ในหนังสือเรื่องใดนึกไม่ออก) ว่าเมื่อเชิญพระไตรปิฎกมาจากลังกาทวีป พายุพัดพาเรือลำบรรทุกคัมภีร์พระวินัยพลัดไปเมืองมอญ ลำที่บรรทุกคัมภีร์พระสูตร์พลัดมาเมืองไทยจึงเปนเหตุให้พระสงฆ์มอญชำนาญพระวินัย พระสงฆ์ไทยชำนาญพระสูตร์ น่าเติมความในนิทานนั้นว่าเรือลำบรรทุกคัมภีร์พระปรมัตถ พลัดไปเมืองพะม่า แต่ถ้าว่าตามเค้าเงื่อนทางโบราณคดี พะม่าน่าจะถ่ายแบบการสอบพระปริยัติธรรมไปจากมอญ จึงจัดระเบียบเปน ๔ ประโยคอย่างเดียวกัน คงเห็นว่าความรู้พระวินัยรุ่งเรืองอยู่แล้วในเมืองมอญ (อันเปนอาณาเขตต์ของพะม่าอยู่แล้ว) จึงบำรุงความรู้พระปรมัตถในเมืองพะม่า มีเรื่องปรากฏต่อมาว่าตั้งแต่เมืองพะม่าตกเปนเมืองขึ้นของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินเปนสาสนูปถัมภก การสอบพระปริยัติธรรมก็เลิกมาช้านาน จนเมื่อเร็วๆนี้พระเถรานุเถรสงฆพะม่าเข้าชื่อกันร้องทุกข์ต่อรัฐบาลอังกฤษ ด้วยเกรงว่าพระสาสนาจะเสื่อมสูญ รัฐบาลอังกฤษจึงกลับให้มีการสอบพระปริยัติธรรมขึ้นอีก

พิธีขออภัยนั้น อธิบายว่าเปนประเพณีบ้านเมือง ผู้น้อยต้องแสดงความเคารพขออภัยผู้ใหญ่ในการพิธีนี้ เปนต้นแต่บุตรกับบิดา ญาติที่อ่อนอายุกับญาติผู้ใหญ่ บ่าวกับนายผู้น้อยกับผู้ใหญ่ จนที่สุดข้าราชการกับพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนพิธีหลวงนั้นเสด็จออกเปนการเต็มยศ แต่เดิมเจ้านายและข้าราชการต้องถือน้ำพระพิพัฒสัตยาอีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้ามินดงตรัสสั่งให้งดเสีย เพราะถือเมื่อปีใหม่แล้ว

พิธีแรกนานั้น พอฝนตกพื้นดินอ่อนก็กำหนดฤกษ์ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกทรงไถนาหลวงที่ทุ่งหลังเมืองมัณฑเล ห่างสักไมล์ ๑ แต่งพระองค์อย่างจอมทัพ เจ้านายข้าราชการแต่งเต็มยศ มีไถทองไถเงินและเครื่องแต่งตัวโคอย่างหรูหรา เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่ต้องไถนาขวัญด้วย พวกพราหมณ์ก็ทำพิธีบูชาขอพรเทวดาตลอดเวลาที่ไถนานั้น

เดือน ๘ (Waso) มีพิธีบวชนาคหลวง เรียกว่า Pyinsindaw kan Pwè หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Pyinsin Shin-pyu อย่าง ๑ กับพิธีเข้าวัสสาเรียกว่า Wawin Kadaw อย่าง ๑

พิธีบวชนาคหลวงนั้น คืออุปสมบทพวกสามเณรที่แปลหนังสือได้เปนเปรียญในปีนั้น บวชวันขึ้น ๘ ค่ำ ณ วัดหลวงที่เชิงเขามัณฑเล และมีการฉลองอย่างครึกครื้น

พิธีเข้าวัสสานั้น ในกฎมณเฑียรบาลกล่าวแต่ว่ามีการเสด็จออกมหาสมาคมที่มหาปราสาท เจ้านายข้าราชการในกรุงและเจ้าเมืองทั้งหลาย ต้องเข้ามาเฝ้าพร้อมกัน

เดือน ๙ (Wagaung) มีการ Sayedan Pwè อธิบายว่าถึงวันแรม ๘ ค่ำ พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานจตุปัจจัยทานแก่พระภิกษุสงฆ์เท่าจำนวนปีพระชันสา และทรงทำพลีกรรมแก่เทพารักษ์ (Nat) ด้วย

เดือน ๑๐ (Thawthalin) มีการพิธี Hcedaw Pwè หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Ye-thabin Hee Pwè คือแข่งเรือในแม่น้ำเอราวดี

เดือน ๑๑ (Thadingyut) พิธีออกวัสสา

ก) ให้ผูกโครงเปนเขาพระสุเมรุขึ้นที่นอกพระราชวังด้านหน้า ประดับด้วยดวงประทีป เปนที่ประชุมชาวพระนครตั้งแต่วันขึ้นค่ำ ๑ ไปจนถึงขึ้น ๓ ค่ำ

ข) ตั้งแต่วันขึ้น ๘ ค่ำมีหุ่น (คือมโหรศพ) รายรอบพระราชวัง ๗ วัน

ค) วันกลางเดือนแห่เครื่องบูชา (เห็นจะเปนผ้าป่า) ไปถวายตามวัด มีทั้งที่เปนของหลวงและของราษฎร์ มีกระบวรแห่ไปทางบกบ้าง ไปทางน้ำด้วยเรือกลไฟหรือเรือพายบ้าง มักผูกหุ่นเปนรูปสัตว์ต่าง ๆ รองเครื่องบูชา และมีเครื่องดนตรีกับคนฟ้อนรำไปในกระบวรแห่ เปนการรื่นเริงอย่างใหญ่

ฆ) เสด็จออกมหาสมาคมอย่างเมื่อเข้าวัสสาอีกครั้ง ๑ และมีการถือน้ำ ครั้งนี้อนุญาตให้พวกพ่อค้าและเศรษฐีเข้าเฝ้าด้วย

ง) ตั้งแต่แรมค่ำ ๑ ไปจนถึงแรม ๘ ค่ำ ตามวัดแต่งประทีปและมีการมโหรศพต่าง ๆ (ฉลองบุญ)

เดือน ๑๒ (Thasaungmon) มีพิธีทอดกฐิน (Kateindaw Pwè) อย่าง ๑ พิธีเผารูปปราสาทจำลอง (Tazaungdaing Pwè) อย่าง ๑

พิธีทอดกฐินนั้น วัน (ขึ้น ๑๔ ค่ำ) ก่อนวันทอดกฐินพอเวลาเย็น หมายเรียกพวกภรรยาข้าราชการเข้าไปประชุมกันในพระราชวังทางด้านหลัง พอพลบค่ำก็ลงมือปั่นฝ้ายทอผ้า กำหนดให้เสร็จเปนผืนผ้าก่อนรุ่งสว่าง ถ้าจับได้ว่าใครเอาผืนผ้าปลอมเข้าไป ทั้งสามีภรรยาต้องระวางโทษให้เอาผ้านั้นนุ่งห่ม แล้วรำซุยร้องเพลงเข้าปี่พาทย์ประจานตัว ผ้าที่ทอแล้วนั้นพอเช้าก็ตัดเย็บย้อมเปนไตร ถวายจบพระหัตถ์แล้วพระราชทานไปทอดกฐินที่พระอารามหลวงในวัน (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) นั้น หาได้เสด็จไปทอดเองไม่

อนึ่งในวันกลางเดือน ๑๒ นั้น พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปบูชาเทวรูป ณ หอเทวาลัย เจ้านายและข้าราชการทั้งปวงก็ไปบูชาด้วย

พิธีเผาโครงปราสาทจำลอง เห็นจะเปนพิธีเสดาะพระเคราะห์ในกฎมณเฑียรบาล กล่าวว่าถึงวันแรม ๘ ค่ำ ให้เอาปราสาท (Pyathat) ซึ่งผูกโครงด้วยไม้ไผ่ ๘ หลัง ถวายพระเจ้าแผ่นดินกับพระมเหษีจบพระหัตถ์ แล้วแห่ไปเผา ณ พระอารามที่สำคัญ ๘ แห่ง

เดือนอ้าย (Nadaw) มีการพิธีถวายเข้าใหม่เรียกว่า Maha Peinne Pwè -daw คือเมื่อเกี่ยวเข้าใหม่ที่ปลูกในนาหลวงได้แล้ว เอาไปถวายบูชาพระพุทธรูปมหามัยมุนี (ที่พระเจ้าปะดุงเชิญมาจากเมืองยะไข่) ขุนนางเรียกว่า Lamaing Wun กับ Lamaing Saye (สันนิษฐานว่าในกรมนา) เปนพนักงานทำพ้อม-สานผูกเปนรูปโคกระบือและกุ้ง ใส่เข้าเปลือกและพืชพรรณไม้อื่นที่เก็บเกี่ยวได้ผลในระดูเดียวกัน แล้วขนไปถวายที่วัดยะไข่

อนึ่งเมื่อถึงวันพระจันทรขึ้นด้วยกันกับดาวฤกษ์ กติ-เกยา- (Kyattiya) และ โรหิณี (Yawhani) ให้เชิญเทวรูปพระขันธกุมาร (Maha peinne) อันทรงนกยุงออกมาตั้งทรงบูชา แล้วโปรยทานและแจกผ้าแก่ประชาชน

เดือนยี่ (Pyatho) มีการพิธีออกสนามเรียกว่า Mying-daw Pwè พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จออกท้องพระโรงหน้า และปลูกปรำข้าราชการพักข้างหน้าเขื่อนราชมณเฑียรมีการกีฬาที่ท้องสนามชัย

การกีฬา ชุดแรกเปนของเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ กับนายทหาร จัดมาประกวดกัน

ก) ชนช้างตัวเปล่า

ข) ชนข้างมีคนขี่

ค) ช้างสู้เสือ (บางทีก็เสือจริงบางทีก็หุ่นเสือ)

ง) ขี่ม้าวิ่งพุ่งหอกให้ถูกเป้า

ชุดหลัง พวกทหารม้าทั้งนายไพร่ประกวดกัน

ก) ยืนบนหลังม้าวิ่งแทงห่วง

ข) ยืนบนหลังม้าวิ่งฟัน Chatty (ติดศัพท์นี้แปลไม่ออก) มิให้ตกถึงดิน

ค) ยิงเป้า

ใครตกม้าถูกปรับเอาเงินไปรวมเปนรางวัลคนชนะ

อนึ่งในเดือนนี้ เจ้าฟ้าประเทศราชไทยใหญ่ส่งกล้วยไม้ (เอื้องแซะ) มาถวายด้วย

เดือน ๓ (Tabodaw) มีพิธีทำเข้ายาคู (Yagu) คือถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำกลางคืน ให้พวกฝ่ายทหารหุง (Cooking) แป้งเข้าด้วยน้ำมะพร้าวเจือเนยและเครื่องหอม ใช้ไม้หอมต่าง ๆ มีจันทน์เปนต้นเปนฟืน รุ่งขึ้นวันกลางเดือนเอาไปถวายพระเจ้าแผ่นดินทรงเจือน้ำมนต์ แล้วส่งไปถวายพระสงฆ์ตามพระอารามในกรุงมัณฑเลและเมืองอมรบุร พวกพลเมืองต่างก็หุงเข้ายาคูถวายพระเปนประเพณีบ้านเมือง

เดือน ๔ (Tabaung) มีพิธีบวงสรวงเทพารักษ์และก่อพระทราย

การหลวงนั้น ส่งเครื่องพลีกรรมไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่รักษาประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ และบวงสรวงเทพารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ณ เทวสถานต่าง ๆ อีก ๓๗ แห่ง ส่วนประชาชนก็เส้นผีกันเปนประเพณีทั่วไป

การก่อพระทราย (ตามวัด) นั้น ทำเปนการกุศลและเปนประเพณีบ้านเมืองเหมือนกัน สิ้นเรื่องพิธี ๑๒ เดือนเพียงนี้.

ในตอนเรื่องพงศาวดารกล่าวถึงพิธีเลียบพระนครอีกอย่างหนึ่งว่าได้มีครั้งพระเจ้าสีป่อ แต่ไม่ปรากฏว่าเนื่องกับราชาภิเษก หรือพิธีประจำปี คือให้แต่งเรือพระที่นั่ง “การเวก” (เคยเห็นรูปฉายาลักษณ์เมื่อทำรับเสด็จ Prince of Wells หัวเรือเปนรูปนกหัสดีลึงค์ กลางลำมีบุษบกที่ประทับ) แห่เสด็จพระเจ้าแผ่นดินทางคลองคูรอบพระนคร และมีภาชนะสำหรับรับฎีกาตั้งรายตามฝั่งคลอง ใครมีทุกข์ร้อนถวายฎีกาได้ในเวลาเสด็จเลียบพระนคร

สันนิษฐานว่าการเลียบพระนคร ตามแบบเดิมเห็นจะเปนการจรแล้วแต่จะเสด็จเมื่อใด มีอยู่ในเรื่องเวสสันดรชาดก ก็ไม่เกี่ยวกับพิธีราชาภิเศก ในรัชชกาลหนึ่งอาจจะเลียบได้หลาย ๆ หน.

สิ้นเรื่องกฎมณเฑียรบาลพะม่าเพียงเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ