อธิบายเรื่องเมืองตะกั่วป่า ตอนที่ ๔

ตอนที่ ๔ ว่าด้วยวิธีเก็บภาษีผลประโยชน์

๑๒. หัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้ง ๔ ที่ได้กล่าวมา คือ เมืองระนอง เมืองตะกั่วป่า เมืองภูเกต และเมืองพังงา มีสิริด้วยเปนที่แร่ดีบุกมาก จึงมีชาวเมืองหาเลี้ยงชีพด้วยขุดแร่ดีบุกขายไปต่างเมืองมาไม่ขาด การขุดแร่ดีบุกนั้นจำต้องมีน้ำให้พอล้างแยกดินทรายออกจากแร่ จึงจะได้ดีบุก ใครจะขุดแร่ดีบุกจำต้องคิดหาเหมืองน้ำก่อน จึงเรียกการขุดแร่ดีบุกว่า “ทำเหมือง” แล้วเลยเรียกบริเวณที่ขุดแร่ว่า “เหมือง” ด้วยประการฉะนี้ ลักษณทำเหมืองเปน ๓ อย่างต่างกัน เรียกว่า “เหมืองแล่น” อย่างหนึ่ง “เหมืองคล้า” อย่างหนึ่ง และ “เหมืองใหญ่” อีกอย่างหนึ่ง เหมืองแล่นนั้นสำหรับคนจนทำ รู้ว่าแร่มีที่ไหนถึงเวลาฝนตกก็ไปขุด อาศัยน้ำฝนที่ไหลหรือที่ขังอยู่ล้างเอาแร่มาขาย เหมืองคล้านั้นอาศัยเหมืองน้ำอันมีอยู่โดยธรรมดาเช่นลำธารเปนต้นล้างแร่ ถ้าน้ำในเหมืองยังมีอยู่ตราบใดก็ขุดแร่อยู่ตราบนั้น ได้ผลมากกว่าทำเหมืองแล่นแต่ต้องลงทุน เพราะบางทีต้องทำทำนบเปนต้นและจ้างกรรมกรทำการต่อเปนผู้มีทุนทรัพย์หรือหลายคนเข้าทุนกันจึงทำเหมืองคล้าได้ เหมืองใหญ่นั้นทำด้วยเอาทุนเข้าทุ่มเท แร่ดีบุกมีอยู่ที่ไหนถึงที่นั้นอยู่ห่างน้ำสักเท่าใด ก็ลงทุนขุดคลองหรือทำท่อทาง ชักสายน้ำสำหรับล้างแร่มาจากภูเขาเลากาที่ห่างไกลจนถึงที่ขุดแร่ และจ้างกรรมกรทำงานนับด้วยร้อยและพัน ได้แร่และมีกำไรมากกว่าทำเหมืองอย่างอื่น ความคิดที่จะบำรุงผลประโยชน์ในหัวเมืองทั้ง ๔ จึงอยู่ในการทำเหมืองใหญ่ให้มีมากขึ้นเปนสำคัญ ก็การทำเหมืองใหญ่นั้นต้องมีทุนมากอย่างหนึ่ง กับต้องมีจำนวนกรรมกรมากด้วยอีกอย่างหนึ่ง ได้กล่าวมาแล้วถึงการที่ผู้ว่าราชการหัวเมืองทั้ง ๔ ไปหาทุนมาจากเมืองปีนังด้วยกู้เงิน หรือชักชวนให้พวกจีนพ่อค้ามาเข้าหุ้นส่วนทำเหมืองในเมืองไทย แต่คนที่จะใช้เปนกรรมกรนั้น เมืองทั้ง ๔ จำนวนราษฎรน้อยมาแต่เดิม เพราะมิใคร่มีที่ราบสำหรับทำไร่นา จึงต้องไปหาจ้างจีนใหม่ที่เมืองปีนังเอามาใช้เปนกรรมกร การนั้นมีผลทั้งดีและร้ายและมีเรื่องเนื่องไปถึงพงศาวดารควรจะแทรกอธิบายเรื่องจีนกรรมกร (กุลี) ลงไว้ให้พิสดารสักหน่อย

๑๓. เมื่อการทำเหมืองดีบุกเจริญขึ้นในแหลมมลายูตอนแดนอังกฤษ พวกทำเหมืองใหญ่ทางนั้นมีความลำบากขึ้นก่อน ด้วยในเมืองมลายูก็มีคนพลเมืองน้อยเหมือนกัน เขาจึงแต่งทนายไปเที่ยวจ้างพวกจีนที่ยากจนอยู่ในเมืองจีนมาเปนกรรมกรโดยสัญญาว่า

ก. จะออกค่าโดยสารให้ทั้งขามาและกลับ

ข. จะให้ค่าแรงตามรายวันที่ทำงาน ถ้าทำตลอดเดือนคิดถัวกันจะได้ค่าจ้างราวเดือนละ ๓๐ ถึง ๔๐ เหรียญ

ค. นอกจากเงินเดือน จะให้อาหารเลี้ยงกับทั้งที่อยู่ด้วย

ฆ. เมื่อก่อนจะมา จะให้เงินล่วงหน้าไว้สำหรับเลี้ยงครอบครัว แล้วจึงให้ผ่อนใช้จากค่าจ้าง

ง. ฝ่ายจีนที่รับจ้าง ต้องสัญญาว่าจะทำงานอยู่ ๓ ปี ถ้าหนีหายหรือบิดพริ้วในระวางนั้นยอมให้ลงโทษทางอาญา

วิธีจ้างอย่างนี้เรียกในอังกฤษว่า Indenture Labour พวกจีนสมัครรับจ้างเปนกรรมกรมาก จนมีจีนใหม่เข้ามาในแหลมมลายูเปนสายอยู่เสมอ มีพ่อค้าจีนอีกพวกหนึ่ง เห็นทางที่จะหาผลประโยชน์ได้ด้วยค้ากรรมกร จึงตั้งบริษัทจัดทนายไปอยู่ประจำตามหัวเมืองจีน คอยจ้างคนจนส่งมายังเมืองสิงคโปร์และเมืองปีนัง พวกนายเหมืองใครจะต้องการกรรมกร ก็ไปว่าจ้าง (ซื้อ) จากบริษัท การหากรรมกรก็สดวกลงไปถึงพวกนายเหมืองที่ไม่สามารถจะไปหากุลีได้เองถึงเมืองจีน เปนเหตุให้การทำเหมืองแร่ดีบุกเจริญขึ้น และมีจำนวนจีนกุลีในแดนอังกฤษตั้งหมื่นตั้งแสน เมื่อบำรุงการทำเหมืองแร่ดีบุกในหัวเมืองไทยจึงอาศัยไปจ้างกรรมกรที่เมืองปีนัง หรือรับพวกกรรมกรที่หนีนายจ้างทางแดนอังกฤษมาใช้เปนเหตุให้เกิดมีจีนใหม่เปนพลเมืองเพิ่มขึ้นในหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเปนอันมาก โดยฉะเพาะเมืองภูเกตถึงมีจีนใหม่มากกว่าจำนวนพลเมืองที่มีอยู่แต่เดิม

๑๔. ว่าถึงผลส่วนข้างดีในการที่ทำเหมืองแร่ดีบุกมากขึ้น มีหลายอย่าง คือ

ก. ได้เงินค่าภาษีดีบุก (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภาคหลวง) มากขึ้นตามปริมาณดีบุกที่ทำได้ อันนี้เปนผลประโยชน์ที่ได้โดยตรง ยังผลประโยชน์ที่ได้โดยทางอ้อมก็มีอีกหลายอย่าง เกิดแต่มีพลเมืองมากขึ้น เงินภาษีอากรอย่างอื่นก็เพิ่มขึ้นตามส่วนจำนวนคน ตามคำผู้ชำนาญการภาษีอากรในสมัยนั้น (หรือถ้าจะระบุตัว คือ พระยาดำรงสุจริต คอซิมก้อง ซึ่งเคยเปนผู้ว่าราชการเมืองระนองเปนต้น) กล่าวว่าถ้าหาคนเข้าเมืองได้คน ๑ เปนเชื่อได้ว่าเงินภาษีอากรขึ้น ๒๕ บาท ภาษีอากรที่เงินมากนั้น คือ

ข. อากรฝิ่น

ค. อากรสุรา

ฆ. อากรบ่อนเบี้ย

ง. ภาษีสินค้าเข้าเมือง

ก็การที่จัดในหัวเมืองทั้ง ๔ ครั้งนั้นเก็บผลประโยชน์ได้สดวกเพราะให้ผู้ว่าราชการเมืองผูกภาษี และปกครองเมืองไปด้วยกัน ในไม่ช้าเท่าใดก็เก็บเงินภาษีอากรได้เกินจำนวนที่รับผูกขาด เกิดเปนกำไรแก่ผู้ว่าราชการเมืองคนละมากๆ ที่เปนคนฉลาดในเศรษฐการเช่น พระยาภูเกตและพระยาระนอง ยังคิดหาประโยชน์ด้วยเอากำไรใช้ลงทุนทำการอย่างอื่น เช่นสร้างถนนหนทางร้านตลาดและโรงแถวให้คนเช่า ทั้งทดรองทุนให้คนเข้ามาตั้งค้าขาย ได้ค่าเช่าและดอกเบี้ยเปนผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าและเมืองพังงาก็เอาอย่างไปทำบ้างพอประมาณ ด้วยไม่สันทัดการค้าขาย ถึงกระนั้นถ้าว่าโดยทั่วไป การที่จัดครั้งนั้นก็สำเร็จประโยชน์ทั้ง ๓ สถาน คือ ได้เงินผลประโยชน์แผ่นดินเพิ่มขึ้น ได้กำไรแก่ตัวผู้ว่าราชการเมือง และบ้านเมืองก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นด้วย

๑๕. คราวนี้ถึงอธิบายส่วนข้างร้าย มูลเกิดแต่พวกนายเหมืองคิดหาผลประโยชน์โดยเอาเปรียบพวกกุลีด้วยอุบายต่าง ๆ เปนวิธีเกิดขึ้นในแดนอังกฤษก่อน จะพรรณนาแต่ที่มาปรากฏในเมืองไทย คือ นายเหมืองเข้ารับผูกขาดขาย ฝิ่น สุรา และตั้งบ่อนเบี้ยในตำบลที่ตั้งเหมืองของตน นอกจากนั้นตลาดที่ขายของกินและของเครื่องใช้ต่างๆ ในที่ตำบลนั้น ก็เปนของนายเหมืองตั้งขายเอากำไรอีกชั้นหนึ่ง ก็เหมืองมักอยู่ห่างไกลบ้านเมือง พวกกุลีที่อยู่ประจำเหมืองละหลายๆ ร้อยต้องทำงานหนักตลอดวัน ถึงเวลาสิ้นงานอยากหย่อนใจให้สนุกสบายก็มักพากันหันเข้าเล่นเบี้ย-และสูบฝิ่นกินสุรา หรือซื้อของที่ร้านของนายเหมือง ที่มิใช่คนรู้คิดจริง ๆ ก็ใช้เงินค่าจ้างที่ทำงานได้ให้หมดไปในกระบวรนั้น จนถึงต้องขอยืมเงินล่วงหน้าเปนลูกหนี้นายเหมือง กลายเปนคนอนาถาถูกกดขี่ใช้สอยและถูกเร่งเงินได้ความเดือดร้อน เพราะพวกกุลีมีความเดือดร้อนกันแพร่หลายก็เกิดการตั้งอั้งยี่ มีขึ้น ๒ พวกเรียกว่า “ยี่หิน” พวกหนึ่ง “ปูนเถ้าก๋ง” พวกหนึ่ง ต่างมีหัวหน้าเกลี้ยกล่อมพวกกุลีเข้าเปนพรรคพวกได้เปนอันมากทั้งในแดนอังกฤษและแดนไทย ในไม่ช้า (จะเปนในปีไร จำไม่ได้เมื่อเขียนหนังสือนี้) ก็เกิดเหตุพวกกุลีกำเริบขึ้นทั้งที่เมืองระนองและเมืองภูเกต ถึงต้องรบพุ่งกันเปนการใหญ่โต ที่เมืองระนองเจ้าเมืองกรมการระงับได้เอง แต่ที่เมืองภูเกตจำนวนจีนกุลีมากกว่าไทยที่เปนพลเมือง เจ้าเมืองกรมการและพวกนายเหมืองสู้ไม่ไหวก็ได้แต่เอาตัวรอดรอทหารกรุงเทพฯ และกำลังเมืองอื่นส่งไปช่วย ในระวางนั้นพวกกุลีเที่ยวปล้นเก็บริบทรัพย์สมบัติใคร ๆ ได้ตามชอบใจ เลยเปนจลาจลทั้งเมือง

ตรงนี้มีเรื่องน่าพรรณนาแทรกอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันเคยได้ยินจากตัว “วีรบุรุษ” ในเรื่องนั้น (คือ พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ แช่ม วัดฉลอง) เล่าให้ฟังเอง ว่าเมื่อพวกอั้งยี่เที่ยวปล้นตลาดในเมืองภูเกตสำเร็จแล้วคิดจะออกไปปล้นบ้านฉลอง ซึ่งอยู่ห่างเมืองภูเกตทางเดินสักสองสามชั่วโมง พวกชาวบ้านรู้ก็พากันอพยพหนีเข้าป่าไปโดยมาก มีบางคนไปชวนอธิการแช่มวัดฉลอง (ซึ่งภายหลังได้เปนที่ พระครูวิสุทธิวงศาจารย์) ให้ไปด้วยกัน แต่ท่านไม่ยอมไป ตอบว่า “ข้าอยู่วัดนี้มาแต่เด็กจนได้เปนสมภาร ข้าไม่ทิ้งวัด ถึงเจ๊กมันจะฆ่าก็ยอมตายอยู่ในวัด” พวกที่เปนศิษย์พากันว่า “เราจะทิ้งขรัวพ่อเสียอย่างไร ถ้าขรัวพ่อไม่ไปเราก็ต้องอยู่ด้วย” ขอให้ท่านทำอะไรพอคุ้มตัวบ้าง ท่านจึงทำผ้าประเจียดให้โพกหัวคนละผืน คนเหล่านั้นก็พากันไปรวมอยู่ที่วัดฉลอง ต่อมาสักสองวันพวกอั้งยี่ก็ไปถึง เห็นจะเปนแต่กองเล็ก ๆ ด้วยเข้าใจว่าจะไม่มีใครต่อสู้ ครั้นออกไปเห็นผู้คนรวมกันอยู่ที่วัดฉลอง ก็ตรงกรากเข้าปล้นวัดฉลองก่อน พวกลูกศิษย์ของอธิการแช่มต่อสู้รบพวกอั้งยี่แตกหนีกลับไปเมืองภูเกต พอข่าวระบือว่าพวกอั้งยี่มาแพ้ฤทธิ์ท่านสมภารวัดฉลอง พวกชาวบ้านฉลองที่หนีไปอยู่ตามป่าและภูเขา ก็พากันกลับมาเข้าซ่องวัดฉลอง มีคนมากขึ้นกว่าร้อยตั้งค่ายรายรอบวัดฉลอง ท่านอธิการแช่มลงไปอยู่ในโบสถ์ ตามคำที่ท่านเล่าเองว่า “มันพากันมากราบที่ตีนอาตมภาพ อาตมภาพก็รดน้ำมนตร์แล้วเอาผ้าประเจียดโพกหัวให้ เมื่อคนมากขึ้นเจ๊กมันเรียกว่า “ไอ้พวกหัวขาว” พวกหัวหน้าอั้งยี่ออกประกาศว่าถ้าใครตัดเอาหัวท่านอธิการแช่มไปให้ได้จะให้สินบน ๑,๐๐๐ เหรียญ แล้วยกออกไปบ้านฉลองอีก คราวนี้ยกไปเปนกระบวรทัพมีทั้งธงและตีกลองสัญญาจำนวนผู้คนก็มาก แต่ทางวัดฉลองก็เตรียมการต่อสู้อยู่พร้อมสรรพ ได้รบกันวันหนึ่งพวกกองทัพอั้งยี่ก็แตกกลับมาอีก แต่นั้นพวกอั้งยี่ก็ครั่นคร้ามไม่กล้าออกเที่ยวปล้นราษฎรตามบ้านนอก ตามคำท่านเล่าเองว่า “ขอถวายพระพร รบเจ๊กดูมันไม่ยากอะไร เพราะเจ๊กมันต้องกินเข้าต้มกลางวันแต่ไทยเราไม่ต้องกิน เมื่อรบกันที่บ้านฉลองวันนั้น ตอนเช้าเมื่อกองทัพพวกอั้งยี่ไปถึง พวกไทยเปนแต่ตั้งเอากำแพงวัดฉลองบังตัวยิงต่อสู้ ครั้นถึงเวลากลางวันพอพวกเจ๊กตีกลองสัญญาหยุดรบพากันไปกินเข้าต้ม พวกไทยก็แยกเปนปีกกาสองข้างเข้าระดมตีพวกเจ๊กเมื่อกำลังกิน ประเดี๋ยวเดียวก็แตกไปหมด” ต่อมาไม่ช้ากองทัพหัวเมืองที่ใกล้เคียงกับทั้งเรือรบและทหารเรือจากกรุงเทพ ฯ ก็ออกไปถึง ปราบปรามพวกกุลีที่กำเริบครั้งนั้นได้จนเรียบร้อย

ทางแดนอังกฤษรัฐบาลอังกฤษก็วิตกอยู่ ด้วยเกรงว่าพวกกุลีทำเหมืองจะกำเริบขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่กล้าใช้กำลังบังคับ ด้วยจำนวนจีนกุลีในแดนอังกฤษมีมากตั้งหมื่นตั้งแสน จึงใช้อุบายเอาใจหัวหน้าพวกอั้งยี่ “ยี่หิน” และ “ปูนเถ้าก๋ง” ให้คอยว่ากล่าวเกลี่ยไกล่ไม่ให้กุลีกำเริบ อย่างเดียวกันกับอุบายที่ใช้ในกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ครั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ มาจนในสมัย “กอมมิตตี้” บังคับการกระทรวงนครบาล จนเกิดเหตุพวกจีนอั้งยี่รบกันที่บางรักตรงโรงสี “ปล่องเหลี่ยม” ของห้างวินต์เซอร์ ถึงตั้งสนามเพลาะบนถนนเจริญกรุงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ท่านคงจะยังทรงจำได้ว่าปรึกษากันโยเยอยู่ในที่ประชุมเสนาบดีหลายวันว่าจะสมควรทำอย่างไร ข้างกอมมิตตี้จะให้กรมเมืองไปเจรจาว่ากล่าว แต่จะขอให้กรมยุทธนาธิการณ์จัดทหารไปตามหลังเปนกำลังรักษาตัวทูตของกอมมิตตี้ ฝ่ายกรมยุทธนาธิการณ์ปรึกษากันเห็นว่าทำเช่นนั้น จะเอาทหารไปให้เจ๊กดูหมิ่นเหมือนอย่างเคยดูหมิ่นกรมเมืองมาแต่ก่อน ถ้าจะโปรด ฯ ให้ทหารเกี่ยวข้อง ขอให้กอมมิตตี้มอบการปราบอั้งยี่ครั้งนั้นให้ทหารทำและรับผิดชอบเปนเด็ดขาด ในที่สุดกอมมิตตี้รับในที่ประชุมเสนาบดี ว่าถ้าไม่สามารถจะให้อั้งยี่เลิกรบกันได้ก่อนวันที่ ๒๑ มิถุนายน จะยอมมอบอำนาจให้กรมยุทธนาธิการณ์รับผิดชอบในการปราบอั้งยี่ หม่อมฉันจำได้มั่นคงเพราะวันที่ ๒๑ มิถุนายน ตรงกับวันเกิดของหม่อมฉัน เมื่อคืนวันที่ ๒๐ หม่อมฉันไม่ได้เข้าไปประชุม เพื่อจะนอนพักสำหรับทำบุญในวันที่ ๒๑ ในกลางคืนวันที่ ๒๐ นั้นพอเลิกประชุม สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข ฯ กับพระองค์ท่านก็เสด็จไปปลุกหม่อมฉันถึงบ้าน รับตัวขึ้นรถมายังศาลายุทธนาธิการณ์เวลาราว ๒ นาฬิกา มาปรึกษาเตรียมการกันอยู่ยังรุ่ง พอสว่างกรมพระนเรศวร์ ฯ ก็เสด็จมาบอกว่าพวกอั้งยี่เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งจะยิงกัน นครบาลห้ามไม่ไหวแล้ว กรมยุทธนาธิการณ์ก็ลงมือปราบอั้งยี่ด้วยกำลังทหารบกทหารเรือในวันที่ ๒๑ มิถุนายน แทนทำบุญวันเกิดของหม่อมฉัน จับได้พวกอั้งยี่มากว่าพันคน เราเลยต้องผลัดกันไปนอนเฝ้าอั้งยี่ที่ขังไว้ในห้องชั้นต่ำของศาลายุทธนาธิการณ์ (ที่เปนกระทรวงกลาโหมเดี๋ยวนี้) ต่อมาอีกเปนหลายวัน เพราะปราบครั้งนั้นแต่นั้นพวกอั้งยี่จึงได้กลัวรัฐบาล ไม่กล้าทนงศักดิ์อย่างแต่ก่อน ข้อขบขันนั้นพอรัฐบาลอังกฤษทางแหลมมลายู รู้ว่าไทยใช้กำลังปราบอั้งยี่ได้ก็คึกคักขึ้นมาบ้าง ออกประกาศสั่งให้เลิกอั้งยี่ทั้ง ยี่หิน และ ปูนเถ้าก๋ง มิให้มีต่อไป เรายังพูดกันเวลากินกลางวันที่ศาลายุทธนาธิการ ว่าอังกฤษเอาอย่างเรา ที่หม่อมฉันเชือนเอาเรื่องปราบอั้งยี่ที่ “ปล่องเหลี่ยม” มากล่าวเพราะมีแต่พระองค์ท่านกับตัวหม่อมฉันที่รู้เรื่องอยู่ด้วยกัน ผู้อื่นในเวลานี้เห็นจะไม่มีใครรู้หรือรู้แต่ลืมเสียหมดแล้วทั้งนั้น เราคุยอวดกันเองดูก็ไม่บาปกรรมอันใด

เรื่องอธิการแช่มวัดฉลองยังมีสาขาคดีต่อไปอีก เมื่อปราบพวกกุลีกำเริบในเมืองภูเกตสำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระราชทานบำเหน็จความชอบอธิการแช่มด้วยตั้งให้เปนพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองภูเกต คงอยู่วัดฉลองต่อมา เกียรติคุณความศักดิ์สิทธิ์ของพระครูวัดฉลอง ที่สามารถคุ้มครองชาวบ้านฉลองให้ต่อสู้ชนะเจ๊กครั้งนั้นระบือลือเลื่องจนคนทั้งหลายนับถืออย่างว่าเปนผู้วิเศษคน ๑ แต่ตัวท่านเองมิได้ถือตัวว่าเปนผู้วิเศษอย่างไร ถึงกระนั้นก็มีเรื่องเนื่องจากราษฎรนับถือพระครูวัดฉลองต่อมาอีกยืดยาว ด้วยในกาลครั้งหนึ่งมีพวกชาวเมืองภูเกต ๔-๕ คนด้วยกันแล่นเรือไปหาปลาในทะเล ไปถูกพายุเรือจวนจะถึงอัปปาง คนในเรือบนบาลศาลกล่าวเจ้าผีแห่งใด ๆ คลื่นลมก็ไม่สงบ เมื่อสิ้นคิด คนหนึ่งจึงออกปากว่าถ้ารอดได้จะไปปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง พอบนแล้วคลื่นลมก็สงบลง คนเหล่านั้นกลับไปเมืองภูเกตจึงพากันไปขอปิดทองท่านพระครูวัดฉลองแก้บน แต่แรกท่านไม่ยอม ตอบว่าจะมาปิดทองคนอย่างพระพุทธรูปอย่างไร พวกเหล่านั้นก็เฝ้าอ้อนวอนว่าถ้าท่านไม่ยอมให้ปิดทองแก้สินบน กลัวจะเกิดภัยอันตรายแก่ตัว ท่านพระครูไม่รู้ที่จะขัดอย่างไรก็ต้องยอมให้ปิดที่หน้าแข้ง โดยเอาน้ำลูบให้เปียกแล้วเอาทองปิดพอเปนพิธีแก้บนแล้วท่านก็ล้างออกเสีย ท่านเคยบอกแก่หม่อมฉันว่า ถูกปิดทองนั้นไม่สบายเลย เพราะมันคันตรงที่ปิดต้องรีบล้างเอาไว้ช้าไม่ได้ แต่เมื่อกิตติศัพท์เรื่องปิดทองพระครูวัดฉลองรู้กันแพร่หลายออกไป ใครเจ็บไข้หรือมีเหตุขัดข้องอย่างไรก็มักบนปิดทองท่านพระครูจนเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นในเมืองภูเกต หม่อมฉันออกไปเมืองภูเกตท่านพระครูวัดฉลองมาหา เคยเห็นหน้าแข้งทั้งสองข้างเปนทองเถือก ท่านบอกว่าพอเดินเข้ามาถึงเมือง คนนั้นก็ขอปิดทองคนนี้ก็ขอปิดทองด้วยอ้างว่าได้บนบวงไว้ขอแก้สินบน ท่านก็ไม่รู้ที่จะขัดเขาอย่างไร หม่อมฉันออกสนุกขึ้นมาจึงว่า “ผมก็ไม่ได้บน แต่จะขอปิดทองบ้างท่านจะว่าอย่างไร” ท่านก็มีอัชฌาศัยเปิดจีวรให้ปิดตรงที่หน้าอก ว่าเปนเจ้าเปนนายจะไปปิดที่แข้งขาหาสมควรไม่ ทีหลังมามีเรื่องแปลกปลาดเกิดขึ้นด้วยมีเด็กหญิงลูกสาวชาวตลาดคนหนึ่ง ปวดหัวตัวร้อนบ้างเล็กน้อย แต่เปนคนคะนองชอบพูดอะไรโลน ๆ ออกปากพูดเล่นว่าถ้าหายเจ็บจะปิดทองที่ลับของขรัวพ่อวัดฉลอง ครั้นหายเจ็บก็เลยลืม ต่อมาไม่ช้ากลับเจ็บอีก คราวนี้มีอาการให้จุกเสียดเปนกำลัง พ่อแม่รักษาอย่างไรก็ไม่หาย นึกผิดใจจึงถามลูกว่าได้บนบาลศาลกล่าวไว้อย่างไรบ้างหรือไม่ ลูกสาวจึงนึกขึ้นได้ถึงที่บนว่าจะปิดทองที่ลับของท่านพระครูวัดฉลอง แต่จะบอกก็อดสูจึงอำพรางเสียจนอาการกำเริบหนัก เหลือทน จึงขยายความจริงให้พ่อแม่รู้ พ่อก็ไปบอกท่านพระครู ๆ ขัดใจว่าใครจะยอมให้ทำอย่างนั้นได้ ฝ่ายพ่อก็ว่าถ้าเช่นนั้นลูกผมตายจะว่าอย่างไร ท่านพระครูก็จนใจ จึงคิดเปนวินัยกรรมนั่งทับไม้สักท้าวให้ปิดทองที่ปลายไม้นั้น เผอิญเด็กหญิงนั้นได้ปิดทองปลายไม้ท้าวท่านพระครู แล้วก็หายเจ็บ ไม้ท้าวท่านพระครูก็เลยเปนของศักดิ์สิทธิ เมื่อหม่อมฉันฟังเขาเล่าไม่เชื่อ แต่ถามท่านพระครูเห็นอ้อมแอ้มแต่ไม่ปฏิเสธจึงเข้าใจว่าเปนเรื่องจริง อภินิหารของท่านพระครูวัดฉลองนับถือกันตลอดมาจนในเมืองปีนัง ถ้าท่านมาถึงปีนังเมื่อใดก็มีคนพอใจไปขอเครื่องวิทยาคุณเช่นน้ำมนตร์เป็นต้น ที่ขอปิดทองก็มี แม้พระเจ้าพระสงฆ์ตามวัดในเกาะปีนังก็พากันยำเกรงยอมอยู่ในโอวาท บางทีถึงไปนิมนต์มาจากเมืองภูเกตให้มาตัดสินอธิกรณ์ เหมือนอย่างเปนเจ้าคณะสงฆ์ในเมืองปีนังด้วย พระครูวัดวัดฉลองอยู่มาจนแก่ชะรา ดูเหมือนถึงมรณภาพเมื่อต้นรัชชกาลที่ ๖ เมื่อหม่อมฉันตามเสด็จสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปเมืองภูเกตในรัชชกาลที่ ๗ เลยไปเยี่ยมที่วัดฉลอง เห็นเขาทำรูปฉายาลักษณ์ท่านพระครูเปนขนาดใหญ่ใส่กรอบกระจก ตั้งไว้บนที่บูชาในกุฏิของท่านด้วยกันกับไม้ท้าวที่ถือว่าศักดิสิทธิ มีรอยปิดทองเถือกทั้งที่กระจกกรอบรูปและที่ไม้ท้าว เขาบอกว่ายังมีคนบนบาลอยู่จนบัดนี้.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ