วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๙ ซึ่งสังเกตว่าท่านทรงเขียนในเวลาว่างเมื่อเสด็จมาในเรือวลัย และมาทิ้งไปรษณีย์เมื่อมาถึงเมืองสิงคโปร์ หม่อมฉันกับทั้งลูกทุกคนมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ทราบว่าเสด็จประพาสทางเรือมีความสุขสบายทั้งพระองค์และผู้ที่โดยเสด็จ คือคุณโตโดยฉะเพาะปลาดที่หายเมาคลื่นเอาเปนชนะหญิงพูนได้ จนได้ตามเสด็จลงมาประพาสถึงเมืองสิงคโปร์ นึกเสียดายอยู่นิดที่หม่อมฉันไม่ทราบก่อน ถ้าทราบก่อนเสด็จถึงเพียงสัก ๒๔ ชั่วโมงคงจะพยายามไปเฝ้าที่นั่น เพราะจากปีนังนี้อาจไปได้ไม่ยาก ไปทางเรือหรือทางรถไฟระยะทาง ๒๔ ชั่วโมง ถ้าไปเครื่องบินระยะทางไม่ถึง ๕ ชั่วโมง แต่คิดดูเมื่อได้รับลายพระหัตถ์เห็นว่าเรือวลัยคงถึงแล้วสัก ๒ วัน เรือนั้นจะกลับจากสิงคโปร์วันใดก็ทราบไม่ได้ จึงเห็นว่าพ้นวิสัยที่จะไปเฝ้าที่เมืองสิงคโปร์ แต่ที่เมืองสิงคโปร์มีพระองค์หญิงประภาวสิต เธอต้อนรับอาคันตุกะดีนัก หม่อมฉันเชื่อว่าคงได้มารับเสด็จด้วยความยินดี หลวงวุฒิสารกงสุลสยามเขาเปนคนชั้นสมัยใหม่แท้แต่เมื่อเขามาปีนังเคยมาหาหม่อมฉันดูวางอัธยาศัยไม่แสดงความรังเกียจเจ้า พระองค์หญิงประภาวสิตก็เคยออกพระโอษฐ์ชมกับหม่อมฉัน หม่อมฉันเข้าใจว่าเขาคงมาแสดงความเอื้อเฟื้อต่อพระองค์ท่านด้วยเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ดี หม่อมฉันหวังใจว่าการที่เสด็จไปประพาสถึงเมืองสิงคโปร์ คงจะสนุกสบายทั้งพระองค์ท่านตลอดจนผู้ไปตามเสด็จทุกคน หม่อมฉันขอทูลสั่งความถึงคุณโตข้อ ๑ ว่าอย่าเพ่อปลงใจว่าเมืองปีนังมันก็อย่างเดียวกับเมืองสิงคโปร์นั่นเอง เพราะที่จริง ๒ เมืองนี้ผิดกันหลายสถาน ตัวหม่อมฉันเองเคยไปนับครั้งไม่ถ้วนทั้ง ๒ แห่ง ไม่เคยชอบสิงคโปร์เพราะอากาศร้อนอับและฝนตกไม่เปนกิจจลักษณ ผู้คนพลเมืองก็เห็นแต่มุ่งหน้าหาเงินกันจ้าละหวั่นอยู่เสมอ ทั้งบ้านทั้งเมืองไปหนไหนก็รู้สึกเช่นนั้น แต่ที่ปีนังนี้แม้เปนเกาะเล็กกว่าสิงคโปร์ก็เปนที่เงียบสงัดกว่า อากาศดีกว่า ถ้าอยู่เสียทางที่เขาตั้งบ้านช่อง อย่าเข้าไปซอกแซกทางตำบลค้าขาย ก็อยู่ได้อย่างเงียบสงัดเหมือนอย่างอยู่บ้านของตนเอง นอกจากนั้นที่ปีนังมีราษฎรที่เปนไทย และมีพวกจีนที่คุ้นกับไทยมาก ทั้งมีภูเขาสูงสำหรับขึ้นหาอากาศเย็นและที่สุดส่งของมาจากบ้านก็ใกล้ ใคร ๆ มาอยู่ปีนังจึงยอมว่าสบายกว่าสิงคโปร์ทุกคน แม้จนพระองค์หญิงประภาวสิตเสด็จมาครั้ง ๑ ก็ออกพระโอษฐ์ว่าอยากย้ายมาอยู่ที่นี่ เห็นสบายกว่าสิงคโปร์ เหตุใดหม่อมฉันจึงได้สั่งถึงคุณโต เหตุนั้นเพราะที่ปีนังนี้เปนที่สำหรับชาวกรุงเทพฯ และสงขลาเขามักมาเที่ยวกัน มาจากหาดใหญ่ด้วยรถไฟเวลาบ่าย ๑๓ นาฬิกา ถึงไปร ๑๗.๕๕ นาฬิกาข้ามฟากถึงปีนัง ๑๘.๓๐ นาฬิกาได้ทุกวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดี กลับไปหาดใหญ่ออกจากปีนังเวลาเช้า ๑๐ นาฬิการถไฟออกจากไปร ไปถึงหาดใหญ่เวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกาทุกวันจันทรและวันศุกร ถ้ามาอีกอย่างหนึ่งซึ่งเปนอย่างนักเที่ยวชอบมากันโดยมาก เพราะถือกันว่าไม่ต้องพบปะใครคือมารถยนต์ หม่อมฉันเคยมาหลายเที่ยว รู้สึกว่าเวลาที่เหมาะแก่การมารถยนต์นั้น ออกจากหาดใหญ่เวลาเช้าราว ๘ นาฬิกา มาตามสบายไม่ต้องรีบร้อนราว ๒ ชั่วโมงครึ่งถึง Alorstar (เมืองไทร) แวะซื้ออะไรกินที่โฮเตลและให้รถไปเติมน้ำมันสักครึ่งชั่วโมง แล้วแล่นต่อมาทางสักชั่วโมงหนึ่งถึงสุไหงปัตตานี มีที่พักสำหรับผู้ดีเดินทางจะแวะซื้ออะไรกินก็ได้ หรือถ้าไม่แวะเลยมาทีเดียวอีกชั่วโมงเศษก็ถึง Butterworth ท่าสำหรับเอารถลงเรือจ้างข้ามมาปีนัง ถึงปีนังพอทันเวลากินเข้ากลางวัน บางคนที่มาเขาเที่ยวปีนังจนกินอาหารเย็นแล้วกลับไปหาดใหญ่ในวันนั้นก็มี แต่คงเหนื่อยเต็มที โดยมากจึงค้างพักคืนหนึ่งหรือสองคืนที่ปีนัง เที่ยวเตร่จนพอใจแล้วจึงกลับ อีกประการหนึ่งถ้าจะซื้อหาสิ่งของเครื่องใช้เปนของฝรั่งหรือยี่ปุ่น มาหาซื้อที่ปีนังดูเหมือนจะหาได้ดีและถูกกว่าให้ไปซื้อหาทางกรุงเทพฯ รายการที่ทูลมานี้คุณหญิงเหิมกับคุณนายเกสรคล่องแคล่วชำนาญทีเดียว

หม่อมฉันเตรียมเรื่องที่จะทูลสนองลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๓ เรื่อง คือเรื่องที่พระมหาเถรธรรมยุติกาขอให้หม่อมฉันแต่งประวัตินิกายสงฆธรรมยุติกาเรื่อง ๑ แต่ขอประทานรอไว้เขียนถวายในจดหมายฉะบับอื่น ด้วยอธิบายจะยืดยาวอยู่บ้าง จะทูลในจดหมายฉะบับนี้แต่เรื่องทำพิธีวิสาขะบูชา กับเรื่องที่เขาทำการ Jubilee ฉลองรัชชมังคลาของพระเจ้ายอร์ชที่ปีนังนี้

เมื่อวันวิสาขะปีนี้ หม่อมฉันได้ไปถึงวัดไทยบรรดามีในเกาะปีนังนี้ทั้ง ๕ วัด ไต่ถามเรื่องประวัติของวัดไว้ก่อนบ้าง ทราบในวันที่ไปบ้าง รวมเรื่องประวัติของวัด ๕ วัด ดังจะทูลต่อไปนี้

๑ วัดปูโลติกุส อยู่ริมถนนกาเลไวกับตรอกพะม่า วัดนี้เก่าก่อนเพื่อน เปนที่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียพระราชทานให้พวกไทยในปีนังสร้างวัด อยู่ตรงกันกับวัดพะม่าซึ่งได้พระราชทานที่อย่างเดียวกัน

๒. วัดประตูลันจัง (สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ขนานนามใหม่ว่าวัดปิ่นบังอร) วัดนี้สร้างขึ้นเปนวัดที่ ๒ อยู่ห่างวัดปูโลติกุสไปทางเหนือสัก ๒๐๐ เส้น คงเปนเพราะพวกไทยที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวนั้นจะมาทำบุญที่วัดปูโลติกุสลำบากจึงขอที่สร้างวัดขึ้นใหม่ เมื่อหม่อมฉันมาปีนังครั้งแรกกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว มีแต่วัดปูโลติกุสกับวัดประตูลันจัง ๒ วัดเท่านั้น

๓. วัดจันทราราม เขตต์อยู่ติดต่อกับวัดประตูลันจัง ได้ยินว่าเหตุที่จะสร้างวัดจันทรารามนั้น เกิดแต่พระสงฆ์ในวัดประตูลันจังรังเกียจกัน พวกสัปรุษจึงได้แยกวัดกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีพระหรือมีพระแต่องค์เดียว แม้วันวิสาขะบูชาก็ไม่ได้ทำอะไรในวัดจันทรารามนั้น.

๔. วัดสว่างอารมณ์ อยู่ทางข้างใต้ไม่ห่างวัดปูโลติกุสนัก ว่าเศรษฐีจีนคน ๑ สร้างขึ้นเมื่อไม่ช้านัก ในเวลานี้มีพระอยู่รูปเดียวชื่อท่านแดง บอกหม่อมฉันว่ามาแต่เมืองนครศรีธรรมราช แต่สำเนียงพูดเปนชาวบางกอก คำผู้อื่นพูดกันว่าพวกนักสืบมักชอบอาศัยที่วัดสว่างอารมณ์นี้

๕. วัดบุบผาราม อยู่ต่อติดกับวัดสว่างอารมณ์มาทางข้างเหนือ โบสถ์รามทำเรียบร้อยกว่าวัดอื่น พระประธานเปนแบบหล่อจำลองพระชินราชมีถึง ๒ องค์ มีพระอยู่ ๒ องค์ ๆ สมภารนับว่าเปนคนสำคัญในปีนังนี้ ชื่อขรัวตาสีแก้ว นัยว่าอายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว พอหม่อมฉันไปถึงก็ลงมาหา แสดงกิริยาอย่างคนคุ้นเคย บอกว่าเมื่อยังหนุ่มเคยอยู่วัดมงกุฎฯ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณะยังประทับอยู่วัดนั้น บางทีก็ไปอยู่วัดราชบูรณะกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) ว่าสมเด็จพระมหาสมณะไม่ทรงรังเกียจจะอยู่ที่ไหนก็ได้ตามชอบใจ มาอยู่ปีนังได้กว่า ๒๐ ปี เดิมอยู่วัดสว่างอารมณ์ไม่ถูกกับพระในวัดนั้นจึงขอที่แยกมาสร้างวัดบุบผารามขึ้นใหม่

เรื่องยูบิลีทำกันใหญ่โตมาก ตามประทีปถึง ๗ คืน หม่อมฉันนึกว่าพวกอังกฤษเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชันสาเขาก็อุตส่าห์มีแก่ใจแต่งประทีปทุกปี เรามาอยู่นี่นิ่งเฉยเสียในงานเช่นนี้ ดูใจจืดเต็มทีน่าอาย จึงให้หญิงพิลัยนายช่างคิดแต่งบ้านตามกำลัง เธอคิดทำเปนธง ๒ คันไขว้กันติดที่หน้ามุข Cinnamon Hall ธงอังกฤษข้าง ๑ ธงไทยข้าง ๑ คันธงเปนไฟฟ้า ดูก็เปนสง่าดี ในการต่าง ๆ ที่เขาทำหม่อมฉันพยายามเที่ยวดูทุกอย่าง มีการแห่จีน แห่มลายู แห่นักเรียน แห่เรือ แต่ไม่มีอย่างใดที่น่าแต่งพรรณนามาทูลเพราะทั้งจีนและมลายูมักชอบคิดทำอย่าง “หัวหรั่ง” ไปเสียทั้งนั้น ไม่มีอะไรน่าดูที่เปนของจีนแท้หรือมลายูแท้ เขาทำเหรียญที่ระลึกส่งมาขายจากประเทศอังกฤษ และพิมพ์สมุดรูปการตกแต่งยูบีลีที่ทำในปีนังนี้ หม่อมฉันจึงหาได้เหรียญที่ระลึกเหรียญ ๑ สมุดที่ระลึกเล่ม ๑ ส่งมาถวายท่านพร้อมกับจดหมายฉะบับนี้

มีความเสียใจอยู่หน่อยหนึ่งที่ต้องทูลว่าหม่อมฉันเกิดมีอาการป่วยขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ รู้สึกเสาะแสะคล้ายกับหวัดจะลงคอมา ๒ วัน ครั้นถึงวันพุธเวลาบ่ายอากาศร้อนอับ หม่อมฉันแต่งตัวเครื่องบางขึ้นรถไปตากอากาศกับหญิงเหลือ เที่ยวอยู่จนเวลาค่ำรู้สึกเย็นคล้ายกับจะสะท้าน เอาเสื้อคลุมใส่ก็สงบไป กลับมาถึงบ้านหม่อมฉันเผลอตัวไปอาบน้ำเย็นตามเคย ไม่อาบน้ำอุ่น เวลาเข้านอนรู้สึกเหมือนอย่างกับจะเปนหวัด ถึงตอนเช้ามืดเกิดหนาวเป็นกำลัง ห่มผ้า ๓ ผืนแล้วยังต้องใส่เสวตเตอร์ ถึงต้องปลุกหญิงเหลือด้วยเสียงแห้งด้วยแสบคอกระหายน้ำเปนกำลัง ลูกต่างเอะอะให้ไปตามหมอมาในเวลาเช้า หมอตรวจปรอท ๑๐๒ ว่าเปนไข้หวัด ให้ยาแล้วบังคับให้นอนแซ่วอยู่ในเตียงมีอาการทั้งไอทั้งจาม ทั้งขากคายน้ำลายและเสมหะ วุ่นตลอดวัน รุ่งขึ้นจึงค่อยคลายแต่เกิดโรคลัมเบโก คือบัตตคาตเพิ่มขึ้นทำให้ลุกนั่งยากกว่าปกติ แต่อาการค่อยคลายมาโดยลำดับ ถึงเช้าวันนี้ได้รับลายพระหัตถ์ประทานมาแต่สงขลา สั่งนัดเบิกเขียนจดหมายถึงกันตามเคย ก็มีความยินดี ประจวบอาการค่อยคลายขึ้น ก็เขียนจดหมายฉะบับนี้ส่งมาถวาย.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ป.ล. กับได้ส่งตั๋วตราไปรษณีย์อังกฤษทำเปนที่ระลึกในงานยูบีลีด้วย ๔ ดวงได้ยินว่าทำตั๋วลายเดียวกันทั้งหมด ผิดกันแต่ที่หนังสือชื่อเมือง ดูลวดลายและความคิดที่ทำก็งดงามดีอยู่

แต่เหรียญยูบีลีกับสมุดยูบีลีที่ทำที่ปีนัง ๒ สิ่งนี้ จะส่งทางไปรษณีย์ไม่ไว้ใจ จึงจะรอหาคนไปสงขลา พบที่จะไว้ใจเมื่อใดจะฝากไปถวาย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาสิทธิ์นฤมล พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

  2. ๒. หลวงวุฒิสารเนติณัติ (สุปรีดา บูรณศิริ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ