วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๕ ตุลาคมแล้ว

เมื่อเมล์มาคราวก่อนลายพระหัตถ์ หม่อมฉันได้รับปลากับผลลางสาดที่ประทาน คราวนี้มาถึงได้โดยเรียบร้อย ขอบพระคุณเปนอันมาก ลางสาดนั้นรสหวานสนิทดีจริง เปนอันหายรังเกียจลางสาด แต่เดี๋ยวนี้หม่อมฉันกำลังกลับชอบกล้วยหากมุก ซึ่งเบื่อเพราะถูกบังคับให้กินเวลาเจ็บไข้เมื่อยังเด็ก เลยเห็นเปนแต่อาหารสำหรับคนไข้ ไม่ชอบกินมาช้านาน เหตุที่มากลับชอบเพราะหญิงจงรอดตายได้ด้วยหมอเขาให้กินแต่กล้วยหากมุก กับเนื้อปลาช่อนแทนอาหารอื่น ก็ขอบคุณของสองสิ่งนั้นกลับชอบขึ้น ครั้นเมื่อเร็วๆ นี้มีใครฝากกล้วยหากมุกออกมาให้ลูกจากกรุงเทพ ฯ เห็นเขาเผาใส่มาในของหวาน หม่อมฉันนึกขึ้นถึงของหวานแบบฝรั่งอย่างหนึ่งซึ่งหญิงจงเคยทำให้กิน เปนกล้วยนึ่งจิ้มครีมค่น จึงให้ไปซื้อครีมค่นมาแล้วลองเอากล้วยหากมุกเผาจิ้มกินอร่อยพิลึก หม่อมฉันกินกล้วยหากมุกหมดใบมาหลายครั้ง ขอให้ตรัสบอกหญิงอี่ให้ลองทำตั้งเครื่องเถิด

จะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ต่อไป ศานหลวงนั้นเดิมอยู่นอกพระราชวังที่ใกล้ๆ กับสถานหลักเมือง จึงเรียกกันว่า “ศาลาลูกขุนนอก” เรียกสำนักงานกลาโหมมหาดไทยซึ่งอยู่ในวังว่า “ศาลาลูกขุนใน” (ยังเรียกอยู่ตลอดเวลาหม่อมฉันว่าการมหาดไทย) ที่ย้ายศานหลวงเข้าไปอยู่ในวัง เห็นจะเปนเมื่อรื้อศาลาลูกขุนเครื่องไม้ของเดิม สร้างเปนตึกในรัชชกาลที่ ๓ คงรื้อศาลาลูกขุนในทำใหม่ก่อน เมื่อจะรื้อศาลาลูกขุนนอกทำใหม่ จึงให้ลูกขุนศานหลวงมาอาศัยทำการที่ศาลาลูกขุนใน “ฝ่ายขวา” ของกลาโหม แต่เมื่อรื้อของเดิมแล้วการที่จะสร้างศาลาลูกขุนนอกขึ้นใหม่งดไป จะเปนเพราะเหตุใดหม่อมฉันสืบไม่ได้ความ ศานหลวงจึงเลยอาศัยศาลาลูกขุนในอยู่จนตั้งกระทรวงยุติธรรมในรัชชกาลที่ ๕ เมื่อหม่อมฉันเปนทหารมหาดเล็กเคยไปดูศาลา ที่ในตัวประธานข้างด้านเหนือใช้เปนศานหลวง ในห้องทางด้านใต้ตลอดมาจนสุดเฉลียงหลังเปนของกลาโหม ตอนในประธานที่เปนศานนั้นปูเสื่อผืนใหญ่สานด้วยหวาย มีของปลาดอย่างหนึ่งซึ่งเห็นติดตาไม่ลืม คือมีกองชานหมากโตสักเท่ากระด้งอยู่บนเสื่อกลางศาลา ๒ กอง เวลาศานเปิดใครจะคายชานหมากหรือบ้วนน้ำหมาก ก็ไปคายและบ้วนตรงนั้น โสโครกน่าเกลียดแต่ไม่เห็นรังเกียจกัน

เรื่อง วัจจกุฏิ ซึ่งตรัสสั่งให้มหางั่วไปค้นพระวินัยนั้นดีแล้ว เมื่ออ่านลายพระหัตถ์หม่อมฉันนึกถึงเรื่องวัจจกุฏิต่อไป สังเกตว่าวัดมีที่ไหนย่อมมีวัจจกุฏิด้วยทุกแห่งไม่เลือกว่าในบ้านเมืองหรือบ้านนอก และเปนวัจจกุฏิซึ่งถ่ายอุจจาระที่ลงบนพื้นแผ่นดินทั้งนั้น เมื่อคิดค้นหาเหตุก็เข้าใจว่าคงเปนด้วยวินัย ๒ สิกขาบท คือบทหนึ่งห้ามมิให้ภิกษุถ่ายอุจจาระลงในน้ำ ข้อนี้เปนเหตุให้ปลูกวัจจกุฏิบนบก อีกบทหนึ่งห้ามมิให้ภิกษุขุดดิน บทนี้น่าจะเปนเหตุให้ถ่ายอุจจาระไว้บนพื้นแผ่นดิน แต่ก็มิได้บัญญัติโดยมักง่าย ด้วยมีสิกขาบทอื่นที่ท่านทรงพรรณนามาในลายพระหัตถ์ดูระวังมิให้ภิกษุทำโสโครกเกินจำเปน แต่หม่อมฉันยังนึกสงสัยอยู่ ด้วยวัจจกุฏิในครั้งพุทธกาลคงมีแต่ตามสังฆาราม ก็โดยปกติ พระภิกษุพุทธสาวกย่อมเที่ยวจาริกไป ณ ที่ต่างๆ ในเวลาจาริกเช่นนั้นย่อมไม่มีวัจจกุฏิ จะเที่ยวถ่ายอุจจาระกองไว้บนแผ่นดิน ผิดประเพณีที่ชาวเมืองเขาย่อมขุดหลุมกลบอุจจาระของเขาเปนปกติ จะไม่ทำให้คนทั้งหลายรังเกียจความประพฤติของพระภิกษุหรือ ข้อนี้ถ้าชอบที ขอได้โปรดตรัสถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ด้วย

หมู่นี้มีเรื่องเบ็ดเตล็ดที่ในเมืองปีนังบางเรื่องซึ่งควรจะทูลได้ คือมีละคอนม้าของชาวรุสเซียเรียกว่า ISAKO’S CIRCUS ซึ่งหม่อมฉันเข้าใจว่าออกมาจากกรุงเทพฯ มาเล่นที่เมืองปีนัง หม่อมฉันไม่มีปราร์ถนาจะดูเพราะขึ้นชื่อว่าละคอนม้าก็เล่นทำนองเดียวกับที่หม่อมราโชทัยพรรณนาทั้งนั้น แต่วันหนึ่งหม่อมฉันขึ้นรถไปเที่ยวกับหญิงโหลและหญิงเป้า ไปผ่านหน้าโรงละคอนม้า นึกอยากดูสัตว์ต่างๆ ซึ่งเปนของสำหรับอวดว่าจะมีอะไรแปลกบ้าง จึงชวนกันเสียอัฐซื้อตั๋วคนละ ๑๐ เซนต์เข้าไปดู ว่าสำหรับตัวหม่อมฉันเอง เห็นแปลกแต่ลิงอย่างหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่า นิลพัสตร์ เพราะมันดำจริง ๆ ทั้งสีหนังและสีขน ตัวโตเกือบเท่าเด็ก รูปร่างก็แปลกด้วย แต่หญิงโหลกับหญิงเป้าไปเห็นอูฐกับตัวซีบรา (ม้าลาย) เข้าหูผึ่ง ด้วยไม่เคยเห็นตัวจริงมาแต่ก่อน มีละคอนพวกบาหลีมาเล่นอีกโรง ๑ หม่อมฉันกับหญิงเหลือเกิดอยากดู เพราะเมื่อไปชะวาไม่ได้เลยไปถึงบาหลี ไม่เคยเห็นกระบวรรำของพวกบาหลี จึงไปดูด้วยกัน ตัวนางเอกชื่อ DJA รำดีน่าดูพอใช้ แต่กระบวนที่เล่นเอาอย่างละคอนฝรั่งเสียโดยมาก คือเล่นเปนละคอนพูด แต่เวลาเมื่อปิดฉากจัดโรงให้พวกร้องรำออกมาเล่นสลับฉากมิให้ต้องนั่งตั้งตาคอย แต่กระบวรเต้นรำก็เอาอย่างที่เห็นในหนังฉายนั้นเอง ดูมันเปนความนิยมอย่างเดียวกันกับของเรา หม่อมฉันกับหญิงเหลือดูอยู่พอเห็นกระบวรรำอย่างบาหลีแล้วก็กลับมา แต่พวกชาวปีนังดูชอบกันมาก คนแน่นโรงทุก ๆ คืน ยังเล่นอยู่จนบัดนี้

อีกเรื่องหนึ่งเมื่อสักสองสามวันมานี้ มีพวกเจ๊กแห่กันมาผ่านหน้า Cinnamon Hall หม่อมฉันได้ยินเสียงโล่โก๊ก็ออกไปยืนดูอยู่บนดาดฟ้าหน้าเรือน เห็นกระบวรแห่นั้นมีคนถือธงและตีโล่โก๊กับเดินตามอย่างแห่จีนสามัญ แต่มีของปลาดแปลกตาอย่างหนึ่ง เห็นจะเปนกระถางธูปมีธง (อย่างเช่นงิ้วประดับข้างหลังตัวนายทหาร) ประดับหลายคัน ตั้งบนไม้คานมีคนหิ้ว ๒ คน กระถางนั้นโคลงไม่มีเวลาหยุด เมื่อมาถึงถนนแยกกระบวรหน้าเดินตรงเลยไป แต่กระถางธูปไม่ตามเลี้ยวไปทางถนนแยก กระบวรหน้าต้องวิ่งกลับมาแห่ไปทางถนนแยก หม่อมฉันเห็นดังนั้นจึงเข้าใจว่ากระถางธูปที่โคลงไม่รู้หยุดนั้น เห็นจะถือกันว่า ผีสิง เหมือนอย่างเจ้าโซเซที่เจ๊กเคยแห่กันในกรุงเทพ ฯ เคยเห็นครั้งหนึ่งนมนานมาแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นหญิงพูนกับหญิงเหลือมีกิจเข้าไปในเมือง ไปพบกระบวรแห่เช่นนั้น แต่มีคนทรง เอาเข็มแทงแก้มทลุนั่งขี่คอคนไปในกระบวร แล้วพวกอื่นในบ้านหม่อมฉันไปพบกระบวรอื่นอีก ซึ่งมีคนทรงนั่งเก้าอี้หามไป จึงสืบถามพวกจีน เขาบอกว่าแห่เจ้าผีเช่นนั้นเปนพิธีเสดาะเคราะห์บ้านเมือง ก็เปนอันได้ความว่าที่พวกเจ๊กแห่กันในบางกอกแต่ก่อน เขาทำตามแบบการมงคลของเขา และปลาดใจที่ยังทำอยู่ในเมืองปีนังจนบัดนี้

ในระหว่างสัปดาหะที่ล่วงมา หม่อมฉันได้เขียนวินิจฉัยขึ้นอีก ๓ เรื่อง จึงถวายมาในท้ายจดหมายฉะบับนี้

วินิจฉัยเรื่องประวัติโกศและหีบศพที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน

เมื่อราชบัณฑิตยสภาจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ได้ขอโกศโถใบ ๑ กับหีบศพจำหลักลายมังกรใบ ๑ มาจากกระทรวงวัง เอามาตั้งในพิพิธภัณฑสถาน และได้ขอหีบศพประดับกระจกเปนลายยามาจากวัดบวรนิเวศน ฯ อีกใบ ๑ เอามาตั้งไว้ด้วยกัน ด้วยเห็นว่าเปนของอย่างวิสามัญและมีเรื่องเนื่องกับพงศาวดาร สมควรจะรักษาไว้มิให้สูญเสีย แต่เรื่องประวัติของ ๓ สิ่งนั้นไม่มีในจดหมายเหตุเก่า หากรู้ได้ด้วยพิจารณาหาหลักฐานในที่ต่างๆ มาประกอบกัน จึงเขียนวินิจฉัยไว้ให้ปรากฏ

๑. วินิจฉัยโกศโถ โกศโถนับเปนโกศศักดิ์ชั้นต่ำสำหรับใส่ศพขุนนาง มีอยู่ในคลังโกศหลายใบ แต่ใบที่เอามาไว้ในพิพิธภัณฑสถานนี้แปลกกับโกศโถใบอื่น ๆ ด้วย

ก) เห็นได้ว่าเปนของเก่ากว่าและรูปทรงงามกว่าเพื่อน

ข) ฝาเปนทรงมงกุฎ แต่โกศโถใบอื่นฝาเปนทรงปริกทั้งนั้น

ค) คนเฝ้าคลังโกศ กลัวโกศโถใบนี้ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์

ฃ) พนักงานรักษาบอกว่าโกศใบนี้ เคยเอาออกไปใส่ศพเจ้าพระยานคร (น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราช ไปตกจากเกริ่นทับภูษามาลาตาย ตัวโกศแตกร้าวเปนหลายซีก (ตรวจดูข้างในโกศเห็นรอยแตกร้าวมีเหล็กปลิงยึดไว้หลายแห่งจริง และข้อที่ว่าโกศตกทับภูษามาลาตายที่เมืองนคร ฯ ก็มีเรื่องปรากฎจริง)

พิจารณาตามพิเคราะห์ที่กล่าวมา เห็นว่าโกศโถใบนี้เปนของสร้างเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ที่ทำฝาเปนทรงมงกุฎ ส่อว่าเดิมสร้างสำหรับพระศพเจ้านายที่ทรงศักดิ์ชั้นสูงสุด เทียบกับเรื่องพงศาวดารเห็นว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี คงโปรดให้สร้างสำหรับพระศพกรมพระเทพามาตย์พระราชชนนีพันปีหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๘ สันนิษฐานต่อมาว่าเมื่องานพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็คงใช้พระโกศใบนี้เองทรงพระศพเมื่อตั้งในพระเมรุเพราะเปนโกศชั้นสูงของพระเจ้ากรุงธนบุรีมีอยู่แล้วในเวลานั้น เห็นจะไม่สร้างพระโกศขึ้นใหม่ และอาจเปนด้วยเหตุนั้นเมื่องานศพเจ้าพระยานคร (น้อย) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรด ฯ ให้เอาโกศใบนี้ไปใส่ศพ ด้วยทรงยกย่องว่าเปนโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่คนกลัวกัน ก็อาจจะกลัวมาแต่แรกทรงพระศพพระเจ้ากรุงธนบุรี เหมือนเช่นกลัวพระแท่นและอะไรอื่น ๆ ของพระเจ้ากรุงธนบุรี มาซ้ำทับภูษามาลาตาย ก็เลยถือกันว่าเปนโกศผีสิง เรื่องตำนานน่าจะมีดังกล่าวนี้ แต่เดิมเห็นจะไม่ใช้พร่ำเพรื่อ ต่อเมื่อผู้รู้เรื่องเดิมของโกศหมดตัวไป ยังรู้กันแต่ว่าเคยใส่ศพเจ้าพระยานคร ฯ จึงใช้เปนโกศชั้นต่ำสำหรับใส่ศพขุนนางต่อมา

๒. วินิจฉัยหีบลายมังกร หีบใบนี้เปนหีบศพแบบโบราณอย่างปากฝายไม่มีฝา ตัวหีบจำหลักลายเปนรูปมังกรไทย เลยใช้สำหรับศพขุนนางชั้นต่ำ ที่มีถานันดรเพียงเปนขุนและหลวงมาแต่ก่อน แต่ผู้ที่เอาใจใส่กระบวรช่างสังเกตว่ารูปหีบและลายที่จำหลักหีบใบนี้เปนฝีมือช่างสมัยแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ เก่าก่อนหีบศพของหลวงใบอื่น ๆ จึงแนะนำให้เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้เปนของโบราณ มิได้เอาออกใช้ใส่ศพมาหลายปี ครั้นจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เอามาพิจารณาดูก็เห็นเปนของแปลก และมีลักษณะซึ่งมิได้สังเกตแต่ก่อนปรากฎหลายอย่าง คือ

ก) รูปมังกรที่จำหลัก เปนอย่างเดียวกันกับที่จำหลักหย่องพระแกลพระวิมานวังหน้า และที่หอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งช่างวังหน้าสร้างในรัชชกาลที่ ๑ เค้าอันนี้ส่อให้เห็นว่าหีบใบนี้เปนฝีมือช่างวังหน้าครั้งรัชชกาลที่ ๑

ข) หีบใบนี้ เมื่อสร้างทำเปนหีบปิดทองประดับกระจกทั้งตัว ยังมีชิ้นกระจกติดเหลืออยู่ที่หีบบ้าง แต่หากใช้ลากถูกันจนคมุกคมอม จึงมิได้สังเกตเห็นมาแต่ก่อน เค้าอันนี้ส่อให้เห็นว่ามิใช่ของเลว คงเปนของที่กรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๑ ดำรัสสั่งให้สร้างขึ้นสำหรับศพที่ศักดิ์สูง

ค) ขนาดหีบลายมังกรใบนี้ย่อมกว่าหีบศพสามัญ เค้าอันนี้ส่อให้เห็นว่าน่าจะสร้างขึ้นสำหรับศพผู้หญิง

เอาพิเคราะห์ที่พรรณนามาพิจารณาเทียบกับเรื่องพงศาวดาร สันนิษฐานว่ากรมพระราชวังบวร ฯ เห็นจะโปรดให้สร้างหีบลายมังกรใบนี้สำหรับศพ “นักชี” มารดาของนักองค์อีพระสนมเอก นักชีนั้นเปนเขมรมีบันดาศักดิ์สูง (จะเปนเจ้าหรือไม่ได้เปนไม่ทราบแน่) แต่เปนชายาของสมเด็จพระนารายณ์ (นักองค์ตน) เจ้ากรุงกัมพูชา จึงได้เปนมารดาของนักองค์อี เมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ มาบวชเปนรูปชี จึงเรียกกันว่า “นักชี” ปรากฏว่ากรมพระราชวังบวร ฯ ทรงอุปการมาก ถึงโปรดให้สร้างวัดสำหรับหลวงชีให้เปนที่สำนักชี อยู่ด้วยกันกับพวกชีบริวารที่ในวังหน้า (ตรงที่สร้างวัดบวรสถานสุทธาวาศเมื่อภายหลัง) และทรงสร้างวัดบางลำพู (คือวัดสังเวชวิศยารามบัดนี้) พระราชทานในนามของนักชีให้เปนเกียรติยศด้วย ตามเรื่องที่ปรากฏมาดูทรงยกย่องนักชีมาก แต่หากไม่มียศศักดิ์ในทางราชการ เมื่อสิ้นชีพจึงโปรดให้ทำหีบลายมังกรประดับกระจกใบนี้ใส่ศพ เห็นว่าเรื่องตำนานของหีบลายมังกรจะเปนดังกล่าวมา

๓. วินิจฉัยหีบกุดั่นลายยา หีบศพใบนี้อยู่ในหอไตรย์วัดบวรนิเวศน ฯ มาช้านาน จนไม่มีใครในวัดนั้นรู้ว่าอยู่มาแต่เมื่อใด เปนหีบศพใคร หรือใครเอาไปไว้ในหอไตรย์นั้น แต่สังเกตดูลักษณะรูปทรงเหมือนหีบทองทึบของหลวง ผิดกันแต่ทำเปนตัดมุมทั้ง ๔ มุมอย่างหนึ่ง กับประดับกระจกสีเปนอย่างลายยาทั่วทั้งหีบอีกอย่างหนึ่ง ส่อให้เห็นว่าคงเปนหีบศพผู้มีศักดิ์สูง แต่มิใช่หีบของหลวง อีกประการหนึ่งที่หีบศพใบนี้เข้าไปอยู่ในหอไตรย์วัดบวรนิเวศน ฯ ก็น่าพิศวง ด้วยวัดบวรนิเวศน ฯ มีเจ้านายชั้นสูงศักดิ์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองติดต่อกันมาถึง ๖๕ ปี ตลอดเวลานั้นจะมีใครกล้าเอาหีบศพเข้าไปไว้ในหอไตรย์ จะว่าพระองค์หนึ่งพระองค์ใดใน ๓ พระองค์นั้น ทรงยอมรับหีบศพเอามาใช้ใส่คัมภีร์พระไตรปิฎก ดูก็ไม่เห็นจะเปนได้ เพราะตู้หนังสือก็มีใช้ไม่ขาดแคลน และหีบศพก็เปนของน่ารังเกียจอยู่ ถ้าหากว่าเปนของอยู่ในหอไตรย์มาก่อน เหตุใดทั้ง ๓ พระองค์นั้นจึงไม่ทรงกำจัดหีบศพไปเสียจากหอไตรย์วัดบวรนิเวศน ฯ ดูก็ยิ่งน่าพิศวง พิเคราะห์ที่พรรณนามานี้ส่อให้เห็นว่าคงมีเรื่องตำนานของหีบศพใบนี้ ทั้งเหตุที่สร้างและเหตุที่เอาไว้ในหอไตรย์วัดบวรนิเวศน ฯ เมื่อค้นดูในเรื่องพงศาวดารและสืบถามความรู้ของผู้อื่น แล้วพิจารณาลักษณของหีบประกอบกัน จึงได้ความดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพยังเปนต่างกรมอยู่ในรัชชกาลที่ ๒ ได้พระองค์เจ้าหญิงดาราวดี พระราชธิดาของกรมพระราชวังบวร ฯ รัชชกาลที่ ๑ เปนพระอัครชายา ครั้นพระสามีเลื่อนพระยศเปนกรมพระราชวังบวร ฯ ในรัชชกาลที่ ๓ พระองค์เจ้าหญิงดาราวดี ก็ได้เปนใหญ่ข้างฝ่ายในวังหน้าเรียกกันว่า “เสด็จข้างใน” อยู่มาเจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเปนชนนีของพระองค์เจ้าหญิงดาราวดีถึงอนิจกรรม กรมพระราชวังบวร ฯ กับพระองค์เจ้าหญิงดาราวดี ทรงคาดว่าจะได้พระราชทานโกศใส่ศพเปนเกียรติยศ เพราะเปนชนนีของ “พระราชชายาพระมหาอุปราช” แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระราชดำริเช่นนั้น หาพระราชทานโกศไม่ ศพเจ้าจอมมารดาน้อยต้องใส่หีบ พระองค์เจ้าหญิงดาราวดีก็ทรงโทมนัสน้อยพระหทัย เพราะเหตุนั้นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (บางทีจะเอาอย่างครั้งกรมพระราชวังบวรรัชชกาลที่ ๑ ทำหีบศพนักชี) จึงโปรดให้สร้างหีบขึ้นใหม่สำหรับใส่ศพเจ้าจอมมารดาน้อย ตามคำพวกเชื้อสายเจ้าฟ้าอิสราพงศพระโอรสของพระองค์เจ้าหญิงดาราวดีกล่าวกัน ว่ากรมพระราชวังบวร ฯ โปรดให้ทำ “หีบแก้ว” ใส่ศพเจ้าจอมมารดาน้อย ก็ตรงกับหีบใบนี้ที่ประดับกระจกเปนลายยานั้นเอง และยังมีสิ่งสำหรับพิศูจน์อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน คือพระเสลี่ยงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (ซึ่งแปลงเป็นธรรมาสน์) ก็ประดับกระจกเปนลายยา ได้เอามาเปรียบกับหีบศพก็เห็นเปนฝีมือเดียวกัน จึงเชื่อว่าหีบศพที่ว่านี้เปนของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างเปนแน่ นอกจากนั้น ลักษณของหีบยังส่อให้เห็นต่อไปถึงพระดำริของกรมพระราชวังบวร ฯ ว่า ทรงระวังมิให้ฝ่าฝืนประเพณีที่ห้ามมิให้ผู้อื่นใช้เครื่องยศอย่างของหลวง คิดแก้ไขให้ผิดกันแต่มิให้เลวกว่าหีบของหลวง ดังจะพึงเห็นได้ คือ

ก) ที่เอารูปทรงหีบทองทึบเปนแบบ เพราะจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเปนหีบศพชั้นศักดิ์สูง

ข) ที่ทำตัดมุมทั้ง ๔ มุม เพื่อจะให้เห็นชัดว่ามิใช่หีบของหลวง

ค) ที่ประดับกระจกเปนลายยา เพื่อจะให้เห็นว่าวิเศษกว่าหีบทองทึบ

เหตุใดหีบศพใบนี้จึงได้อยู่ในหอไตรย์วัดบวรนิเวศน ฯ ข้อนี้มีเค้าอยู่ในเรื่องประวัติของวัดนั้น ว่าเมื่อจะปลงศพเจ้าจอมมารดาน้อย กรมพระราชวังบวร ฯ โปรดให้สร้างเมรุที่ในอาณาเขตต์แขวงวังหน้า ครั้นเสร็จงานศพแล้วจึงทรงสร้างวัดบวรนิเวศนขึ้นตรงที่ทำเมรุนั้น มีพระอุโบสถกับหอไตรย์และการเปรียญมาแต่แรกสร้าง ความข้อนี้ส่อให้เห็นว่าเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ ทรงสร้างหอไตรย์ในวัดบวรนิเวศน์แล้ว คงทรงอุททิศหีบซึ่งทรงสร้างสำหรับศพเจ้าจอมมารดาน้อยนั้น ให้ใช้เปนหีบสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกไว้ที่หอไตรย์แต่เดิมมา เพราะเหตุนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงครองวัดบวรนิเวศน ฯ ในเวลากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว ทรงพระราชดำริว่าหีบนั้นเปนของกรมพระราชวังบวร ฯ ผู้เปนเจ้าของวัดทรงสร้างและอุททิศประทานไว้สำหรับวัด จึงโปรดให้คงอยู่อย่างเดิม โดยทรงเคารพต่อพระกุศลเจตนาของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ก็ทรงพระดำริอย่างเดียวกัน หีบศพนั้นจึงได้อยู่ในหอไตรย์ตลอดมา จนหมดตัวผู้รู้เรื่องเดิม.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ