วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เกล้ากระหม่อมได้เขียนหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ส่งมาดักถวายด้วยรถเมล์ซึ่งออกจากกรุงเทพฯ วันนั้น หวังว่าจะได้ทรงรับ ไม่หายคราวรถเมลซึ่งเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันอังคาร ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ แปลว่าประทานไปวันที่เสด็จกลับถึงปินังทีเดียว ดีใจเปนล้นเกล้า จะได้จับบทมีหนังสือส่งไปมาต่อไปซึ่งรู้สึกว่าเปนการเพลิดเพลินอยู่มาก มีข้อความที่เขียนประทานไปในลายพระหัดถ์ฉะบับก่อนๆ อันมีความเห็นจะทูลตอบอยู่หลายข้อ แต่ไม่มีโอกาศจะทูล ต้องค้างอยู่ แต่ไม่เปนไร ไม่ใช่การเร่งร้อนจะค่อยทูลถวายย้อนหลังไปในเมื่อมีโอกาศที่จะทูลได้

ประวัติกาลแห่งรูปสัตว์ที่วัดพระมหามัยมุนี ซึ่งตรัสชี้แจงเข้าไปนั้น แน่ใจว่าถูกต้องสิ้น ในการที่พระเจ้าบุเรงนองเอารูปสัตว์ไป ๓๒ รูปนั้น คิดด้วยเกล้าว่าคงเอาแยกจำหน่ายไปบูชาไว้ในที่ศักดิสิทธิหลายสถาน ที่เราพบนี้เปนแต่ที่พระมหามัยมุนีแห่งเดียว ซึ่งชาวอารขั่นขะโมยเอาไปจากพระมุเตาในหงษาวดี ในการที่ชำรุดหักหายนั้นก็ไม่ประหลาด เพราะขนไปขนมาหลายทอดหลายถ่ายก็ต้องเปนอันตรายบ้างอยู่เอง การขนก็เห็นจะไม่ได้ระวังดีๆ เปนการที่พวกไพร่ทำตามคำสั่งนายพอแต่ให้ไปถึงได้ตามคำสั่งเท่านั้น จะฉิบหายวายวอดก็ไม่เอื้อ

เสียใจเปนอันมากที่ได้ทราบข่าวว่าพระนอนศิลาขาวองค์งามนั้นเสียเสียแล้ว นึกดูความเห็นก็ไม่ต้องกัน เกล้ากระหม่อมไม่เห็นควรเลยที่จะตกแต่งให้เปนของดีด้วยวิธีทำเลวๆ เสียหายไปเพียงไรเอาไว้อย่างนั้นก็แล้วกัน เพราะอันตรายซึ่งเกิดขึ้นแล้วเปนการแก้ไม่ได้

เรื่องเครื่องราชูปโภคก็คงกระจายไปในสามทางอย่างที่ตรัสเล่านั้นเปนแน่นอน ทางพระเจ้าสีป่อนั้นคงจะเอาไปด้วยได้แต่ของเล็ก ๆ ทางนายพันตรีสเลเดนก็คงได้ไปแต่เล็กน้อยเท่าที่หยิบทัน ส่วนใหญ่คงเปนอันตรธานไปในทางปล้น การปล้นเช่นนั้นได้ปรากฎแล้วที่วังบางขุนพรหมเมื่อเร็วๆ นี้ ที่นั้นมีผู้รักษาอยู่ด้วยซ้ำไป แม้กระนั้นพอเสด็จออกจากวังก็มีคนเข้าแย่งยื้อ กระทั่งฟูกที่บรรทมก็หาย

การฟ้อนรำนั้น ท่าทางของพะม่าก็ไม่สู้ผิดกันกับไทยมากนัก จะแยกออกว่าท่าไรเปนของพะม่า ท่าไรเปนของไทย เห็นจะแยกออกได้โดยยาก ส่วนเพลงปี่พาทย์ดนตรีนั้นก็เปนของที่กลายไปได้ ดั่งจะเล่าตัวอย่างถวาย นานแล้ว แต่ครั้งกรมหมื่นปราบยังอยู่ เกล้ากระหม่อมเดินผ่านหน้าวังไป ได้ยินพวกทหารชาวปากลัดซึ่งมาเฝ้าวังเล่นเครื่องสายกันอยู่ที่ประตูวัง ฟังเพราะดีก็เลยยืนฟังอยู่กลางถนน เปนนานจึงฟังออกว่าเปนเพลงทะแยห้าท่อน ซึ่งตัวเองก็ไล่ระนาดด้วยเพลงนั้นอยู่เสมอ แต่ควรหรือฟังไม่ออกได้ เพราะเขาเล่นตามทางมอญของเขาใช้ลูกมอญ เราถ่ายมาเล่นบ้าง เราเปนไทยก็เอาลูกไทยเข้าใช้แทน เลยกลายเปนเพลงไทยจนฟังไม่ออก แต่ที่แท้เนื้อเพลงก็ไม่ได้ผิดกันไปเลย เพลงไทยที่พะม่าจำไปทำก็ย่อมจะฟังเปลี่ยนเปนเพลงพะม่าไปได้เช่นเดียวกัน ตามที่ตรัสเล่าว่าไปหาซื้อแผ่นเสียงเพลงพะม่าอย่างเก่าไม่ได้นั้น หญิงอามให้กราบทูลว่า เมืองเราต่อไปก็จะหาซื้อไม่ได้เหมือนกัน ด้วยเวลานี้เขาก็กำลังตื่นเล่นเพลง “สากล” กันอยู่ อันเพลงพะม่านั้น เกล้ากระหม่อมฟังสังเกตเห็นว่า โดยทั่วไปเปนสำเนียงเพลงจีนกับลาว (คือไทยเหนือ) หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือร้องงิ้วกับแอ่วลาวปนกัน ตรัสถามหญิงเหลือดูเถิด จะเห็นเช่นนั้นหรือไม่ ชื่อเพลงที่จดประทานไป มีที่ทรงเดาไม่ออกอยู่เพลงหนึ่ง เกล้ากระหม่อมก็ช่วยนึกเดาเหมือนกัน แต่ก็นึกไม่ออกเหมือนกัน คำว่า Falan ควรจะเปนฝรั่ง แต่เพลงฝรั่งตีนของเราก็ไม่มี มีแต่ฝรั่งรำท้าว

ขอบพระเดชพระคุณเปนอย่างยิ่ง ที่ทรงพระเมตตาประทานรูปพิณของพะม่าไป เกล้ากระหม่อมเคยเห็นและเคยฟังเขาดีดแล้ว เขาเรียกว่า “เซา” แต่อันที่เห็นนั้นเปนของปกติเกลี้ยง ๆไม่มีลายวิจิตรพิศดารและตกแต่งอย่างรูปฉายาลักษณซึ่งประทานไปนั้น อันที่ประทานรูปไป เห็นจะตกแต่งให้งดงามสมกับหญิงรูปงามซึ่งเปนผู้ดีดบำเรอ หญิงงามในเมืองพะม่าเห็นจะมีมาก สังเกตในรูปฉายาลักษณเสื้อที่ใส่ดูเปนเดินมาหาสมัยทุกวันนี้ ซึ่งผิดกว่าเสื้อหญิงพะม่าแต่ก่อนไปมาก อันพิณซึ่งพะม่าเรียกว่า “เซา” นั้น ที่พระม้านครศรีธรรมราชก็มี เทวดาถือแห่นำพระสิทธารถไป พอเห็นเข้าเกล้ากระหม่อมก็ตกใจ สงสัยว่ารูปพระม้านั้นจะเปนพะม่าทำเสียดอกกระมัง แต่เมื่อพิจารณาไปรูปร่างก็ดี เครื่องแต่งตัวก็ดี จะได้มีทีเฉียดไปทางพะม่าก็หามิได้เลย เปนไทยโบราณแท้ ทำให้เข้าใจได้ว่า เขมร ไทย และ พะม่า แต่ก่อนมามีพิณ “เซา” เล่นด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมเขมรกับไทยจึงละทิ้งเอาจนสูญหายไป พะม่ายังคงมีเล่นอยู่ได้ เก่งหนักหนาอยู่

ในการที่ไม่ได้เสด็จไปเมืองเมาะตะมะและเมาะลำเลิงนั้น น่าเสียใจอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาไม่พอและได้ความลำบากมากก็ควรงดอยู่เอง ฝ่าพระบาทไม่ทรงเดือดร้อนในการบรรทมบนรถไฟนั้นเปนโชคดีหนักหนา เกล้ากระหม่อมนั้นเหมือนกับหลานๆ นอนในรถไฟไม่ค่อยหลับเหมือนกัน แม่โตยังซ้ำร้ายเมารถไฟเสียด้วย ได้โปรดถามหญิงพูนหญิงพิลัยหญิงเหลือ ว่าอย่างไร พรที่ให้ว่าขากลับอย่าให้เมาคลื่น ศักดิสิทธิใหม ของประทานที่จะทรงระงับไว้จนมีคนกลับกรุงเทพฯ จึงจะฝากไปประทานนั้นชอบแล้ว ส่งทางไปรษณีย์ไว้ใจไม่ได้ประเดี๋ยวหาย

ตามที่ได้ทรงมีโอกาศพบเจ้าฉายเมืองกับขุนศึกนั้น ถ้าได้ตรัสถามคำที่ปรากฎในใบแจ้งความการฝังศพเจ้าฟ้าเชียงตุงคนก่อน ซึ่งได้เคยโปรดส่งเข้าไปให้แปลเพราะสงสัยอยู่นั้น เธอคงสามารถแปลถวายได้ดีทีเดียว

เรื่องคำทุ่มโมงนั้นก็ประหลาดหนักหนา เกล้ากระหม่อมเคยได้ยินสมเด็จกรมพระยาเทววงศตรัสพุ่งออกมาก่อน ว่าแต่ก่อนกลางวันเขาคงตีฆ้องจึงเรียกว่าโมง กลางคืนเขาคงตีกลองจึงเรียกว่าทุ่ม แต่พระดำริอันนี้เกิดขึ้นเอง จะได้ทรงทราบแบบอย่างที่ไหนมาก็หามิได้ เกล้ากระหม่อมได้ฟังก็เปนแต่นึกว่าเข้าที บัดนี้ฝ่าพระบาทมาทรงทราบว่าที่เมืองพะม่า กลางวันเขาตีฆ้อง กลางคืนเขาตีกลอง จริงดังนั้น จึงเปนการประหลาดอยู่มากที่มาได้ความสมจริง

คำว่านาฬิกา แปลกันได้ความมานานแล้ว ว่ามาแต่ลอยกะลามะพร้าวแต่ก็ยังข้องใจอยู่ ที่ว่าทำไมนาฬิกากะเวลาตีไก่จึงเรียกว่า “อัน” “อันจม”

เรื่องประโคมยามที่เมืองพาราณสี ฝ่าพระบาทได้เคยตรัสเล่าให้ทราบเกล้าแล้ว และยังได้ฟังพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าด้วย ว่าที่อินเดียเขาประโคมกลอง “โนรบัด” กันบนหอรบประตูเมืองทุกยาม เพื่อทหารเปลี่ยนยาม

ให้หญิงอามคัดลายพระหัดถ์ซึ่งโปรดประทานไปแต่เมืองพะม่าได้สองฉะบับ ได้ส่งถวายมาด้วยในคราวนี้แล้ว ยังมีอีกฉะบับหนึ่งจะคัดส่งมาถวายในคราวหน้า

องค์ชายภาณุกราบถวายบังคมลาไปสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๑๙ เพื่อรับพระศพ พระศพสมเด็จหญิงน้อยคงได้ส่งมาแล้ว คงจะถึงกรุงเทพฯ ในปลายเดือนนี้ ที่ชะวาว่าเขาไม่ยอมให้เผาศพ ว่าทูลกระหม่อมชายเคยทรงรับจะสร้างเตาไฟฟ้าให้สำหรับเมือง เขาก็ไม่เอา เขาว่าไม่มีใครต้องการเผา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ